posttoday

"นาฏยมาลี"ชุดประจำชาติบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

09 ตุลาคม 2556

เปิดตัวชุดประจำชาติไทย “นาฏยมาลี” ขึ้นโชว์บนเวทีประกวดนางงามจักรวาลที่รัสเซีย

เปิดตัวชุดประจำชาติไทย “นาฏยมาลี” ขึ้นโชว์บนเวทีประกวดนางงามจักรวาลที่รัสเซีย

เปิดตัวไปแล้ว กับชุดประจำชาติประจำปี 2556 “นาฏยมาลี” ณ โรงเรียนเรวดี เมื่อบ่ายวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา งานนี้ หัวเรือใหญ่อย่าง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทจันทร์ 25 และประธานอำนวยการกองประกวด มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ กล่าวว่า กองประกวดยังคงสานต่อโครงการเพื่อให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ได้ส่งผลงาน เข้าร่วมประกวดในชุดประจำชาติสู่เวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปีนี้ มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 815 ผลงาน

โดยคณะกรรมการได้ตัดสินให้ผลงาน 'นาฏยมาลี' ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นผลงานของ นายธนาคม สิทธิอัฐกร นักศึกษาจากภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับรางวัล 20,000 บาท และผลงานได้นำมาตัดเย็บเป็นชุดประจำชาติให้กับ ชาลิตา แย้มวัณณังค์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2013 ได้สวมเพื่อโชว์บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2013 ที่ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย

สำหรับชุดประจำชาติ “นาฏยมาลี” แนวคิดหลักมาจากการนำงานหัตถกรรมดอกไม้ประดิษฐ์ของไทย คือ "อุบะ" ซึ่งเป็นเครื่องแขวนไทยโบราณ และเป็นงานประณีตศิลป์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบในพิธีมงคลต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบชุดแนวใหม่ และผู้ออกแบบยังได้แรงบันดาลใจจากนาฏยกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นางรำ" ซึ่งสามารถสื่อถึงหญิงไทยที่มีความงดงาม อ่อนช้อย และสวยสง่า เมื่อได้นำสองสิ่งที่สื่อที่ถึงอัตลักษณ์ไทยมาผสมผสาน จึงได้สร้างสรรค์เป็นชุด “นาฏยมาลี” โดยใช้หัตถกรรมเครื่องแขวนหรืออุบะมาสร้างสรรค์เป็นสไบนางที่วิจิตรงดงาม

"นาฏยมาลี"ชุดประจำชาติบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม (ศิลปะไทย) มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งร่วมพิจารณาให้ชุด "นาฏยมาลี" ชนะเลิศในการออกแบบการประกวด ชุดประจำชาติประจำปีนี้ กล่าวว่า "นาฏยมาลี" เป็นงานสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับแนวคิดครีเอทีฟไทย (Creative Thai) ซี่งการนำดอกไม้มาสื่อกับผู้หญิง นอกจากจะเป็นความงดงามทางศิลปะในขั้นที่หนึ่งแล้ว ผู้ออกแบบยังได้สร้างสรรค์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการนำประณีตศิลป์ คือ "เครื่องแขวนไทย" ที่ต้องนำ ดอกไม้มาร้อยเรียงเป็นลวดลายต่างๆ อย่างประณีตบรรจง มาผสานกับนาฏยศิลป์ ผ่าน "นางรำ" และประยุกต์สอดผสานกันอย่างงดงาม ทั้งยังสื่อถึงเอกลักษณ์ไทยและวัฒนธรรมไทยอันสูงส่งอีกด้วย

นงนารถ จิรกิตติ แห่งห้องเสื้อ “โนริโกะ” ผู้ตัดเย็บชุดประจำชาติได้กล่าวว่า การตัดเย็บชุด “นาฏยมาลี” มี 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ เสื้อ กระโปรงและสายคาดเอว ซึ่งใช้ผ้าไหมไทยสอดดิ้นทอง ทำให้เกิดความแวววาว หรูหรา และยังสื่อถึงความรุ่งเรือง สง่างาม ส่วนที่ 2 คือ ช่วงไหล่ใช้การพับ จับกลีบดอกไม้และปักกลีบดอกไม้ให้สมบูรณ์ ส่วนสุดท้ายคือเสื้อคลุมด้านนอกหรือสไบนางนั้น ซึ่งเป็น ชิ้นงาน ที่ยากที่สุดและเป็นจุดเด่นที่สุดของชุดนี้ เพราะผ้าคลุมร้อยจากดอกพุดด้วยมือเป็นตาข่ายทั้งผืน เป็นเสมือนอุบะหรือเครื่องแขวนขนาดใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยทั้งฝีมือและความชำนาญเป็นอย่างมาก แม้ชุดนี้ มีความยากในการตัดเย็บพอสมควร แต่จะช่วยส่งเสริมบุคลิกชาลิตาให้ดูโด่ดเด่นบนเวทีโลกมากขึ้น ทั้งยัง สื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนและลงตัว

นอกจากการแสดงแบบชุดประจำชาติแล้ว ชาลิตา แย้มวัณณังค์ ยังได้แสดงแบบชุดราตรี 2 ชุด ซึ่งจะขึ้นแสดงบนเวทีประกวดด้วย คือ ชุดราตรีสำหรับถ่ายภาพในกองประกวด (Portrait) ซึ่งออกแบบและตัดเย็บโดยห้องเสื้อวทานิกา เป็นชุดราตรีเกาะอกสีเหลือง ตัดเย็บด้วยผ้าไหมชีฟอง จับเดรปแบบมูราจ หรือเข้ารูปทั้งตัว และชุดราตรีหลัก (Evening Gown) ซึ่งจะต้องสวมขึ้นเวที ประกวดมิสยูนิเวิร์สรอบตัดสิน คือ ชุดที่มีชื่อว่า ไฟร์เวิร์ค (Firework) หรือดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นชุดราตรีเกาะอกเข้ารูป สีดาร์ก คาราเมล (Dark Caramel) ปักเลื่อมสีคอปเปอร์ (Copper) กระจายเป็นรูปพลุดอกไม้ไฟ ตัดเย็บโดยห้องเสื้ออะมอเร่ (AMORE)

"นาฏยมาลี"ชุดประจำชาติบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส

งานนี้ น้องลิตาของแฟนคลับนางงาม ได้เผยถึงความในใจกับผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า ตนเองรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้สวมใส่ชุดประจำชาติชุดนี้ เพราะเป็นชุดที่เหมาะสมกับตนเอง เวลาสวมใส่แล้วมีความมั่นใจ เพราะชุดได้แสดงถึงความอ่อนหวานของหญิงไทย โดยส่วนตัวชอบสีทอง และชอบดอกไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ชาลิตา ยังได้เคลียร์ถึงประเด็นที่แฟนนางงามบางกลุ่ม อยากให้เธอใส่จริตนางงามลาตินอเมริกาเข้าไปเยอะๆ เธอได้เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ว่า ขอให้เธอได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองบนเวทีประกวด อย่าให้เธอเป็นในแบบที่เธอไม่ได้เป็น สิ่งสำคัญที่สุดคือ "the best you can be"  ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่าความเป็นตัวของตัวเองของเธอ จะทำให้เธอใช้เวลาในการประกวดในครั้งนี้ได้อย่างมีความสุขที่สุด

จากกรณีนี้นี่เอง ทำให้สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพจอห์น โรเบิร์ต พาวเวอร์ ได้นำชาลิตาเข้าคอร์สเรียนด้านจิตวิทยา เพื่อให้ชาลิตาได้ดึงความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเอง และการรับมือกับแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นในการประกวด ได้อย่างดีที่สุด ชาลิตา เผยว่า การเข้าเรียนด้านจิตวิทยา ช่วยฟื้นฟูจิตใจเธอได้มาก จากการที่เธอต้องแบกรับความคาดหวังที่แฟนนางงามต่างคาดหวังว่าเธอจะต้องคว้าชัยชนะในครั้งนี้

ชาลิตา แย้มวัณณังค์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2013 จะออกเดินทางไปประกวด มิสยูนิเวิร์ส 2013 ที่กรุงมอสโก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ในวันที่ 18 ต.ค. นี้ ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 974  จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 10.10 น. ส่วนการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2013 รอบตัดสินจะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย.  ณ เมืองไทย จะถ่ายทอดสดหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

"นาฏยมาลี"ชุดประจำชาติบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส