posttoday

หยุดแบน!!! ภาพยนตร์ไทย (ได้ไหม)

18 มิถุนายน 2556

แบน หรือการแบน หมายถึง การกำจัดสิ่งที่ไม่พึงพอใจออกไปให้พ้นทาง ในวงเสวนา “สิทธิภาพยนตร์ไทย : ฐานะสื่อและการกำกับดูแล”

โดย...โจ เกียรติอาจิณ / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

แบน หรือการแบน หมายถึง การกำจัดสิ่งที่ไม่พึงพอใจออกไปให้พ้นทาง ในวงเสวนา “สิทธิภาพยนตร์ไทย : ฐานะสื่อและการกำกับดูแล” ก็มีการหยิบยกเรื่องภาพยนตร์ไทยที่ถูกแบนมาพูดได้อย่างน่าสนใจ

คนวงการภาพยนตร์ขานรับกับการเลิกแบนหนังของพวกเขา รวมทั้งภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่นๆ ก็ไม่สมควรที่จะถูกแบน

วันนั้นหลายๆ เสียง หลายๆ ความคิดเห็น ก่อกระตุกและฉุกให้เกิดการพูดคุย ว่าจะอะไรและยังไงกับการเลิกแบนภาพยนตร์

ส่วนใหญ่อยากให้ปรับเปลี่ยนคนที่ทำงานและหน่วยงานที่ทำหน้าที่เซ็นเซอร์ โดยเลือกสรรคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ ตัวจริง เสียงจริง ไม่ใช่ตัวปลอม ตัวหลอกที่สวมบทบาทในมาดข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง ไม่กระจ่างแจ้งในการตีความหมายงานศิลปะ

ขณะเดียวกัน ทุกคนก็เสนอทางออกว่าควรแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยใส่คำว่า “สื่อมวลชน” แทนที่คำว่า “วัสดุ” ที่นิยามภาพยนตร์ ว่าเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียง สามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์

“วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มองว่าภาพยนตร์มีพลังสูง แต่คนของรัฐกลับไม่เข้าใจในความเป็นภาพยนตร์ ทำให้นำไปสู่การแบน หรือห้ามฉายแบบไร้เหตุผล

“ถ้าจะสู้เราก็ต้องสู้แบบไม่ถอย และควรจะดึงคนเหล่านั้นมาร่วมสุมหัวกับเราด้วย เราจึงจะรู้ว่าเขาคิดยังไง ทีนี้เขาก็จะเล่าบางอย่างให้เราฟัง เพราะที่ผ่านมามันเหมือนเราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง และเขาก็ไม่รู้ว่าเราคิดยังไง มันเป็นการสื่อสารฝ่ายเดียว หรือพูดง่ายๆ คือเราได้แต่พูดให้กับกำแพงฟัง ฉะนั้นถ้าทำลายกำแพงลงได้ ก็จะกลายเป็นการพูดกับคนละ ไม่ใช่กำแพง แล้วคราวนี้มันก็จะมีเสียงสะท้อนกลับมาบ้าง”

“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับมือรางวัล และเคยมีประสบการณ์ภาพยนตร์โดนแบน บอก การแบนสามารถทำได้ หากภาพยนตร์เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เรื่องเพศ กระทำต่อเด็กและเยาวชน แต่ต้องไม่แบนเพราะเหตุผลที่ว่าเป็นภาพยนตร์ขัดต่อภาพลักษณ์ของรัฐ

“หนังสามารถเลือกข้างได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง การยึดหลักความปรองดองเป็นเทคนิคของรัฐบาล คนทำหนังต้องไม่ใช่อย่างนั้น แล้วรัฐก็ต้องมีหน้าที่แนะนำประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเป็นศาลตัดสิน เพราะที่สุดแล้วมันก็มีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่แล้ว ถ้าหนังเรื่องนั้นมันรุนแรง หรือมีเนื้อหาที่ไปเข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็ใช้กฎหมายควบคุมเลย ผมว่าถึงแม้จะเปลี่ยนกฎหมายหรือ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แต่คนบังคับใช้ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม ความคิดเดิมๆ ก็ยังไม่ถูกเปลี่ยน ทำให้ทุกอย่างเหมือนเดิม”

อีกหนึ่งรายที่เป็นผู้ประสบภัย ภาพยนตร์โดนแบน “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” เล่าแบบทีเล่นทีจริง กับประสบการณ์โดนแบนภาพยนตร์

“จำได้ว่ามีผู้หญิงโทรมาหาเราว่าจะตัดมั้ยคะ ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออกมั้ยคะ เราก็อืมอ่ะนะ ให้เราตัดฉากไม่เหมาะสมทิ้ง เราก็บอกไปว่า ช่วยระบุชัดๆ ได้มั้ยว่าฉากไหนและตรงไหนที่ไม่เหมาะสม ผู้หญิงคนนั้นก็บอกว่าทั้งเรื่องแหละค่ะ เราก็โมโหสิคะ (หัวเราะ) จะให้ตัดทั้งเรื่อง โดยไม่มีลิสต์ว่าฉากไหนควรตัด เราก็ตอบไปว่า ไม่ตัดค่ะ เพราะเรามั่นใจว่าไม่มีฉากไหนไม่เหมาะสม และเราก็คิดว่าเนื้อหาที่นำเสนอนั้น เป็นหนังที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรจะฉายได้ในเรตติ้ง ฉ 20+ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการมากกว่า ในเมื่อมีเรตติ้งแล้วก็ควรจะให้เรตติ้งนั้นกับหนังเรา ไม่ใช่มาแบน”

อดีตผู้กำกับรุ่นป๋า “รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์” ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เมื่อครั้งสมัยหนุ่มๆ ให้ฟังว่า การเซ็นเซอร์คือแรงสั่นสะเทือนที่สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวต่อชีวิตผู้กำกับอย่างยิ่งยวด

“จริงๆ หนังไทยมีหลากแนวนะครับ ไม่ใช่มีแต่เรื่องผัวๆ เมียๆ หรือหนังผี หนังตลก แต่ที่เราไม่ได้เห็นก็เพราะมันถูกคุมกำเนิดตลอดเวลาโดยระบบเซ็นเซอร์ จนคนสร้างและนายทุนก็เริ่มไม่อยากจะทำหนังที่สุ่มเสี่ยงที่จะต้องโดนเซ็นเซอร์ ทำไปแล้วไม่คุ้ม ทำไปแล้วโดนเซ็นเซอร์ ในฐานะคนทำ ก็เป็นอะไรที่เจ็บปวดนะครับ ที่ต้องมาโดนคุมกำเนิดจากคนที่ไม่มีความเข้าใจในภาษาหนัง และผมก็เชื่อว่าคนที่เดือดร้อนส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้กำกับอิสระ หรือผู้กำกับอินดี้ที่ไม่มีค่าย หรือสังกัดใหญ่คอยคุ้มฝน”

ผู้กำกับภาพยนตร์ที่กระโดดมากำกับละคร “นนทรีย์ นิมิบุตร” และต้องโดนแบนในที่สุด บอกอย่างอารมณ์ชิลๆ ว่า ปัญหาที่ประสบพบเจอมา เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย จนทำให้เกิดการสะดุด

“เท่าที่ผมสัมผัสมา ผมว่าความไม่ต่อเนื่องของรัฐบาล มีผลอย่างมากที่ทำให้อะไรหลายๆ อย่างที่เราเสนอให้เปลี่ยนหรือแก้ไข เช่น พ.ร.บ. หรือกฎหมาย ไม่ไปถึงเป้าที่เราตั้งใจไว้ รัฐมนตรีเปลี่ยนใหม่ ก็ต้องมานั่งเริ่มต้นใหม่หมด สิ่งที่เราเรียกร้องก็จะต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ นี่ละผมว่าคือสิ่งที่บั่นทอนวงการหนังไทย ส่วนกรณีละคร “เหนือเมฆ” ผมว่าเป็นมติของช่องที่สามารถทำได้ ซึ่งผมเองก็ไม่อยากรู้หรอกว่ามีใคร หรืออะไรทำให้ต้องโดนห้ามฉาย ก็เป็นเรื่องของระบบการเซ็นเซอร์ของช่องที่ควบคุมกันแบบนี้อยู่แล้ว จะต่างจากหนังที่ต้องส่งให้กองเซ็นเซอร์เป็นคนตรวจสอบก่อนฉาย”

การแบนภาพยนตร์ไทยยังจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกมั้ย และวงการภาพยนตร์ไทยจะสามารถปลดแอกเป็นอิสระจากคำว่าแบนได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าจับตากันต่อไปยาวๆ เพราะจากความคิดเห็น จากคำบอกเล่าของเหล่าคนในแวดวงภาพยนตร์สั้นๆ คือ ทุกคนต้องการ “หยุดแบน”