posttoday

เมืองหนังสือ (ลวง) โลก

02 พฤษภาคม 2556

วงการหนังสือมันไม่มีการตรวจสอบใดๆ สมาคมที่เข้าไปร่วมเพื่อผลักดันเมืองหนังสือโลก ว่ากันตรงๆ มันก็เข้าไปทำมาหากินกันทั้งนั้น

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

มายาคติที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามสร้างขึ้นด้วยความฉาบฉวยในโครงการเมืองหนังสือโลก ก่อร่างเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและคลางแคลงของสังคม

“นี่ไม่ใช่รางวัล เมืองหนังสือโลกมันไม่ใช่รางวัล” เวียง - วชิระ บัวสนธ์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สามัญชน ให้ความเข้าใจร่วมใหม่

ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือกว่า 30 ปีรายนี้ อธิบายว่า ทุกประเทศทุกเมืองสามารถขอเป็นเมืองหนังสือโลกได้ เพียงจัดทำแผนสนับสนุนการอ่าน การการเขียนและการพิมพ์เสนอไป เมื่อยูเนสโกพิจารณาว่าผู้ใดมีจิตใจอันประเสริฐที่จะผลิตกิจกรรม หรือสามารถดำเนินการตามพันธสัญญาเหล่านั้นได้ ก็จะประกาศให้เป็นเมืองหนังสือโลก

“อย่าไปเข้าใจผิดว่าเมื่อกทม.เป็นเมืองหนังสือโลกแล้วยูเนสโกจะช่วยอะไร ไม่เลย เขาไม่ได้ให้อะไรเลย เราทำได้เพียงเอาเงื่อนไขนี้ไปใช้หาเงิน เอาไปหาสปอนเซอร์เองเท่านั้น”

เกิดเป็นคำถาม ... เช่นนั้นแล้วเหตุใดต้องริเริ่ม ?  

“งบประมาณ ถ้าประกาศมันก็มีงบมาซื้อหนังสือ” เวียง ตอบด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ ก่อนจะเทียบเคียงยุคโครงการไทยเข้มแข็งให้เห็นภาพ ขณะนั้นมีการกำหนดวาระแห่งชาติเรื่องการอ่าน มีการตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการอ่านถึง 7,000 ล้านบาท ที่สุดแล้วโครงการก็ล้มเหลว ถามต่อว่าเงินเหล่านั้นไปเข้าสำนักพิมพ์ใด

“วงการหนังสือมันไม่มีการตรวจสอบใดๆ สมาคมที่เข้าไปร่วมเพื่อผลักดันให้กทม.ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ว่ากันตรงๆ มันก็เข้าไปทำมาหากินกันทั้งนั้น”

บรรณาธิการรายนี้ ลงลึกในรายละเอียดอีกว่า สมาคมยักษ์ใหญ่แห่งได้ตั้งบริษัทล็อบบี้ยีสต์ขึ้นมา แล้วก็บอกกับกทม.ว่าหลังจากได้ศึกษามาแล้ว กทม.ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้จึงจะได้เป็นเมืองหนังสือโลก ซึ่งกทม.ก็เอาด้วย

ปรากฏว่าตั้งแต่ยุค อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอให้กทม.เป็นเมืองหนังสือโลกมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นแผนงานไม่เข้าตาจึงไม่ได้รับเลือก เมื่อกลับมาก็มีความพยายามต่อเนื่อง โดยบริษัทดังกล่าวได้ระดมภาคีเครือข่าย 85 องค์กร เข้าร่วมเพื่อให้เสนอแนวทาง

“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่ก็เป็นองค์กรที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เขาให้มาเข้าร่วมก็ต้องการจะใช้ชื่อ ให้ดูว่ามีภาคีร่วมจัดทำแผนอย่างกว้างขวาง” ดอนเวียง (สมญานามตามที่หลายคนยกย่อง) ชำแหละอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการเชิญผู้แทนจากยูเนสโกเข้ามาดูงาน ซึ่งพบว่ามีการใช้เงินกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งการรับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในที่สุด

เหตุผลที่คณะกรรมการเมืองหนังสือโลกคัดเลือกกทม. มีด้วยกัน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การมีส่วนร่วมสูง เห็นถึงความมุ่งมั่นของแผนงานที่จะนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกวงการหนังสือเข้ามาร่วม 2.เห็นการให้ความสำคัญต่อวงการหนังสืออย่างจริงจัง 3.ยึดมั่นในพันธสัญญาในระดับสูงที่จะทำให้โครงการบรรลุผล

สำหรับงบประมาณเพื่อดำเนินงานตามพันธสัญญาที่ให้ไว้จนถึงปี 2556 มีทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท เฉพาะการสร้างหอสมุดกทม. (หอสมุดกทม.-พิพิธภัณฑ์ประวัติหนังสือไทย-ศูนย์วิจัยหนังสือและการอ่านแห่งประเทศไทย) ใช้เงินร่วม 640 ล้านบาท

คำถามคือ คุ้มค่าและเหมาะสมหรือไม่?

เวียง ขมวดประเด็นเร้าให้คิด โครงการเมืองหนังสือโลกมีงบทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท ก่อนได้รับเลือกใช้ไปกว่า 200 ล้านบาท เหลืออีกประมาณ 1,100 ล้านบาท จากนี้จึงอยู่ที่จะใช้ทำอะไรต่อ ซึ่งอยากให้มีสติและทำอะไรให้จริงจัง ไม่ใช่เอาแต่สร้างภาพอย่างที่ผ่านๆ มา

“รู้ไหมว่ากิจกรรมวันเปิดงาน ช่วงวันที่ 21-23 เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้เงินไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท และเฉพาะนิทรรศการ 35 ปีซีไรต์ ใช้งบไปถึง 12 ล้านบาท ร้ายไปกว่านั้นคือบริษัทเอกชนที่มารับเหมางานจากกทม.ก็ไม่รู้จักหนังสือและนักเขียนเลยด้วยซ้ำ”

กิจกรรมที่ทำไปแล้วคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่เงินอีกร่วม 1,000 ล้าน ควรที่จะทำอะไรให้มันเป็นเนื้อเป็นหนัง นักคิดนักเขียนผู้นี้ หยิบรูปธรรมให้จับต้อง เช่น การสนับสนุนร้านหนังสืออิสระร้านละ 1 แสนบาทต่อปี แล้วบอกให้เขาช่วยขายหนังสือที่ดีๆ และไปจัดกิจกรรมอะไรดีๆ โดยขณะนี้ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศที่เข้าที่เข้าทางมีสัก 20-30 แห่ง ใช้งบประมาณไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับการสร้างห้องสมุดเพิ่ม ถามว่าจะทำไปทำไม สร้างแล้วจะเอาเงินที่ไหนซื้อหนังสือ ก็ต้องตั้งงบมาอีก พวกพ่อค้าแม่ค้านิสัยคอรัปชั่นก็รีบผลิตหนังสือมาขายอีก กินหัวคิวกันอีก มันไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ควรทำคือใช้ห้องสมุดเดิมแต่เข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

“ลองไปถามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดู ปกติค่าใช้บริการหอสมุดอยู่ที่ 20 บาท ถามเขาว่าเดือนละเท่าไร ถ้าเขาบอกว่ามีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท ก็ให้เขาไปเลย 5 หมื่นบาท เพื่อให้จัดบริการฟรีไม่ต้องคิดเงินกับผู้มาใช้ นอกจากนี้ลองคุยกับเขาดูว่าจะขยายเวลาให้บริการได้หรือไม่ ก็จ่ายชดเชยค่าล่วงเวลาให้เขา มันเป็นเงินไม่เท่าไร แล้วยังทำได้ทั้งห้องสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาอื่นๆ”

“หรือแม้แต่การทำกิจกรรมต่อเนื่อง ก็ทำได้ง่ายๆ เช่น เดือนนี้เราจะอ่านเรื่องเหยื่ออธรรมกัน เดือนนี้จะอ่านเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือเดือนนี้จะอ่านคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ก็ทำนิทรรศการไป จัดเวทีไป มันทำได้เรื่อยๆ งบประมาณไม่เท่าไรและได้ผลจริง”

เวียง บอกว่า อย่าคิดว่าเมื่อกทม.เป็นเมืองหนังสือโลกแล้วอะไรจะเปลี่ยน และอย่าไปถามหาความสำเร็จจากโครงการนี้ สิ่งที่ทำได้คือช่วยกันภาวนาให้ผู้ดำเนินโครงการเกิดสำนึกและเกรงใจเจ้าของภาษีเท่านั้น

“แต่ผมก็ไม่มีความหวังเอาซะเลย”