posttoday

‘บันเทิงคดี’ ในวันที่นิตยสารดนตรีซบเซา

16 เมษายน 2556

แม้จะปิดตัวลงนานเกือบสองทศวรรษ ทว่าชื่อของนิตยสารบันเทิงคดียังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของนักอ่านผู้รักเสียงดนตรี

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

แม้จะปิดตัวลงนานเกือบสองทศวรรษ ทว่าชื่อของนิตยสารบันเทิงคดียังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของนักอ่านผู้รักเสียงดนตรี

วันนี้ นิตยสารเล่มนี้กำลังจะหวนคืนสู่แผงอีกครั้ง นับเป็นภารกิจแสนท้าทายในวันที่โซเชียลมีเดียแผ่อิทธิพลเขย่าวงการนิตยสารให้สั่นสะเทือนอย่างไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน

กวาดสายตาไปบนชั้นหนังสือร้านบุ๊กสโตร์ชั้นนำยันแผงลอยริมฟุตปาท จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของนิตยสารดนตรีเปรียบเสมือนจุดเล็กกระจิริดบนแผนที่ภูมิศาสตร์ ที่ผ่านมา เมืองไทยมีนิตยสารดนตรีถือกำเนิดขึ้นไม่ถึง 30 หัว เท่าที่ยังจำกันได้ โลกดนตรี, บันเทิงคดี, สีสัน, สตาร์พิคส์, รถไฟดนตรี, ครอสโรด, เดอะ กีต้าร์แม็ก, มิวสิคไทม์, โอเวอร์ไดร์ฟ, ดีดีที, เจเนอเรชัน เทอเรอริสต์, ฮัมมิง, มิวสิค เอ็กเพรส และอื่นๆ

หลายเล่มล้มหายตายจาก บ้างผลุบๆ โผล่ๆ อีกไม่น้อยเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็วเสียจนผู้คนยังจำชื่อไม่ได้ด้วยซ้ำ เหลือเพียงไม่กี่เล่มที่ยังโลดแล่นอยู่บนแผง แต่จำต้องปรับเนื้อหา เปลี่ยนรูปเล่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งราคากระดาษแพง โฆษณาหดหาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนอ่าน รวมถึงกระแสถาโถมรุนแรงของโซเชียลมีเดีย

“ผมมองเห็นนิตยสารสีสันเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่ชัดเจนว่าเป็นมิวสิก แมกกาซีน” คำกล่าวอย่างมั่นใจของ ดีเจ-ซี้ดนรเศรษฐ หมัดคง คอลัมนิสต์ดนตรีชื่อดังและอดีตบรรณาธิการนิตยสารเจเนอเรชัน เทอเรอริสต์ นิตยสารดนตรีแนวอินดี้อันลือลั่นในอดีต

“หนังสือจะไม่หายไปหรอกครับ แต่นิตยสารดนตรีเพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้เป็นเพียงคอลัมน์ประกอบข้างในเล่มอีกไม่นานคงไม่มีเหลือแน่ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ไม่อ่านนิตยสารดนตรีกันแล้ว แต่นิยมเข้ากูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ แล้วโกหกตัวเองว่าสามารถเข้าถึงดนตรีได้ทั่วโลก

กลุ่มคนอ่านนิตยสารยังเป็นกลุ่มเดิม เป็นคนรุ่นเก่าที่ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงดนตรีแทบทั้งนั้น ส่วนมากคือหนอนหนังสือที่ยังมองเห็นคุณค่าของข้อมูลรายละเอียดของศิลปิน เพลง อยากรู้อยากฟังความคิดเห็น คำวิจารณ์ คำแนะนำ”

ดีเจซี้ดเชื่อว่าคนเราจะได้พบอะไรดีๆ ในชีวิตได้จากการอ่านหนังสือ

“แต่เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือน้อยมาก ชอบอ่านอะไรที่มันสำเร็จรูป สั้นๆ ยาวไปไม่อ่าน แถมยังชอบไปค้นคว้าเอาจากวิกิพีเดีย ซึ่งแม่งโคตรมั่วเลย” เขาส่ายหัว

ปิโยรส หลักคำ บรรณาธิการนิตยสารมิวสิค เอ็กเพรส นิตยสารดนตรีสากลชื่อดังอายุกว่า 23 ปี ซึ่งปรับตัวหันมาทำเว็บไซต์ www.musicexpress.in.th แทนการออกเป็นนิตยสารรายเดือน

“เว็บไซต์มิวสิค เอ็กเพรส จะเน้นข่าวสารดนตรีสากล ทั้งป๊อป ร็อก อินดี้ ซึ่งส่วนใหญ่เขาไม่ทำกัน แล้วแต่เราเปิดพื้นที่ให้ ส่วนจะมีแฟนๆ เข้ามากันแค่ไหนก็คงสื่อได้ในระดับหนึ่ง ถ้าไม่ค่อยมีใครมาเล่นกัน วันหนึ่งเว็บนี้คงต้องปิดตัว

“ส่วนหนังสือเราทำออกมาในรูปแบบนิตยสารฉบับวาระพิเศษ แต่ละเล่มจะเป็นการสรุปเรื่องราวที่น่าสนใจของวงการเพลงในรอบ 1 ปี หรืออาจเป็นฉบับรวมศิลปิน ฉบับพิเศษของศิลปินใดศิลปินหนึ่งก็ได้

“คนไม่หยุดติดตามข่าวสารดนตรีหรอกครับ เพียงแต่เดี๋ยวนี้พอมีโซเชียลมีเดีย คนก็เลยหันไปเสพบนมือถือแทนการอ่านหนังสือ มันง่ายกว่า สะดวกกว่า เป็นแบบนี้คนทำนิตยสารดนตรีได้รับผลกระทบแน่นอน”

ในสายตาของบรรณาธิการคนนี้ มองว่า วันข้างหน้าทุกเล่มอาจต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาเป็นอีแมกกาซีนกันเต็มตัว

“ผมไม่เคยปฏิเสธความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ทุกวันนี้ยังติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต มีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมทั้งภาพและเสียง ขณะเดียวกันก็ยังอ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามนิตยสารเล่มใหม่ๆ ที่แผงหนังสือ ยังไปเดินร้านซีดีคอยดูว่ามีใครออกอัลบั้มใหม่ๆ เป็นประจำ

ของบางสิ่งไม่ได้มาเพื่อแทนที่ของที่มีอยู่เดิม แต่เป็นแค่การช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ของมันให้มากขึ้นเท่านั้น ความสุขของคนรักดนตรี รวมไปถึงคนที่รักการอ่านหนังสือ บางครั้งก็ไม่ได้วัดกันที่ความสะดวกจากการเสพสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบเท่านั้น แต่เป็นคุณค่าและความรู้สึกทางจิตใจที่เทคโนโลยีใดๆ คงไม่อาจมาเทียบแทนได้ง่ายๆ” ปิโยรส ว่า

ถึงอย่างไร เขาเชื่อว่าคนรักดนตรีตัวจริงก็ยังต้องซื้อนิตยสารมาอ่าน มาเก็บสะสมอยู่ดี เพราะหัวอกนักฟังเพลงยุคเก่าถือว่านิตยสารดนตรีที่พวกเขาชื่นชอบ ล้วนมีคุณค่าทางจิตใจอย่างยากจะอธิบายได้

กลับมาที่นิตยสารบันเทิงคดีที่กำลังจะหวนคืนสู่แผงอีกครั้งในรอบ 17 ปี ซัน-มาโนช พุฒตาล ผู้ก่อตั้งนิตยสารบันเทิงคดี บอกว่า หลังปิดตัวลงหันไปทำค่ายเพลง ดีเจรายการวิทยุ เล่นดนตรี เขียนหนังสือ แต่ในใจยังเฝ้าฝันถึงการนำนิตยสารบันเทิงคดีกลับมาอยู่เสมอ

“ตอนทำบันเทิงคดีคราวนั้น ผมอายุเพียง 30 ต้นๆ ยังหนุ่ม ยังระห่ำ เริ่มทำโดยการเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้นึกถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่คิดถึงคนอ่านเลย” เขาสารภาพจากใจก่อนเล่าต่อว่า

“เวลาเจอใครเขาก็ทักว่าเมื่อไหร่จะกลับมาทำหนังสืออีก จริงๆ ไม่ตั้งใจที่จะทำอีกแล้ว เพราะรู้สึกว่าการทำหนังสือมันเหนื่อย มันต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทีมงาน โรงพิมพ์ สายส่ง คนอ่าน ทั้งที่ส่วนตัวชอบทำงานคนเดียว

พอได้เข้าไปทำนิตยสารคู่สร้างคู่สมกับพี่ชาย (ดำรง พุฒตาล) เต็มตัว ความสนุกคึกคักก็กลับมาเหมือนเดิม หน้าที่หลักคือเดินทางไปประเทศต่างๆ เดือนละครั้งสองครั้ง พบเห็นพบเจออะไรก็เอามาเล่า

ประกอบกับความเป็นนักเล่าเรื่องที่สั่งสมมาเรื่อยๆ จากรายการวิทยุ (คนกรุงเก่าเล่าเรื่อง ทางคลื่นเอฟเอ็ม 96.5) ทำให้เราคิดว่าถ้าจะทำหนังสือบันเทิงคดีอีกครั้งน่าจะเป็นแนวเล่าเรื่อง อีกทั้งนิสัยอยากรู้อยากเห็น เมื่อเห็นแล้วก็อยากเล่า อยากบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย”

จากนักเพลงสู่นักเล่าเรื่อง เหตุผลทั้งปวงจึงกลายมาเป็นนิตยสารบันเทิงคดี เวอร์ชันโฉมใหม่ ภายใต้คอนเซปต์ “สารพัดเรื่องเล่าของนักอยากเล่าเรื่อง” โดยมี วิสูตร แสงอรุณเลิศ มารับหน้าที่บรรณาธิการ

“เคยคุยกับพี่ซันว่าถ้าเอากลับมาทำใหม่ไม่ควรจะเหมือนเดิม เพราะถ้าทำเหมือนเดิมก็ไม่น่าจะรอด

ผมอยากจะบอกว่านิตยสารบันเทิงคดีไม่ใช่นิตยสารดนตรีอีกต่อไปแล้ว แต่กลายมาเป็นนิตยสารรวมเรื่องเล่า ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ประสบการณ์ เรื่องเล่าที่ผู้คนสนใจ สนุก ตื่นเต้น ชวนติดตาม อ่านง่าย เข้าถึงคนอ่านทุกกลุ่ม”

วิสูตรไม่ห่วงเรื่องชื่อเสียงของบันเทิงคดีจะจืดจาง เมื่อรูปเล่มเนื้อหาที่เปลี่ยนไปอาจทำให้แฟนพันธุ์แท้ผิดหวัง แต่บันเทิงคดีคือ มาโนช พุฒตาล และมาโนช พุฒตาล ก็คือบันเทิงคดี อีกทั้งคำว่าบันเทิงคดีกินความหมายตรงตัวอยู่แล้วว่าเป็นสาระอันสนุกสนานเพลิดเพลิน

“มันคงไม่สามารถตอบสนองแฟนเพลงกลุ่มเก่าได้ แต่ว่าก็ต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เชื่อว่าคนอ่านน่าจะรับกับความเป็นไปได้

ผมเองก็ไม่สามารถเป็นตัวผมเองได้ในทุกวัน แค่เล่นกีตาร์ผมยังเล่นเปลี่ยนไปจากเดิม ตอนแรกชอบเล่นแนวเฮฟวีเมทัล ปัจจุบันแทบจะเล่นกีตาร์โปร่งธรรมดาด้วยซ้ำ เพราะผมเข้าใจว่ามันเล่าเรื่องง่ายกว่ามาก ตรงไปตรงมา ทื่อๆ ไม่ได้แปลว่าจะสู้กับวงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเรื่องราวที่เรานำเสนอ”

มาโนช เอ่ยความในใจให้ฟังอีกครั้ง และหวังว่าแฟนบันเทิงคดีจะเข้าใจ ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของนิตยสารไปด้วยพร้อมกัน

นี่เป็นการกลับมาอีกครั้งของนิตยสารบันเทิงคดี นิตยสารในตำนานของนักอ่านผู้รักเสียงดนตรี การกลับมาคราวนี้ พร้อมรูปเล่ม เนื้อหา และวิธีการนำเสนอที่พลิกโฉมใหม่ อาจเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้ ท่ามกลางความผันผวนของแวดวงนิตยสารเมืองไทย

พิสูจน์พร้อมกันบนแผง 1 พ.ค.นี้

นิตยสารบันเทิงคดี วางแผงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 ออกมาทั้งหมด 100 เล่ม ก่อนจะปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2539 ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ

นิตยสารดนตรีที่มีอายุยืนยาวที่สุดในเมืองไทย (43 ปี) คือ เดอะกีต้าร์ วางขายฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยมี เล็ก วงศ์สว่าง เป็นบรรณาธิการ นิตยสารเกี่ยวกับวงการดนตรีรายเดือน และเป็นนิตยสารเพลงไทยใส่คอร์ดกีตาร์เล่มแรกของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการแยกนิตยสารเดอะกีต้าร์เป็นสองฉบับ คือ “The Guitar Mag” เจาะลึกข่าวสารดนตรีอย่างเข้มข้น พร้อมกับคอลัมน์สอนกีตาร์ และ “The Guitar Express” รวบรวมเนื้อเพลงไทยล่าสุดพร้อมคอร์ดกีตาร์ล้วนๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของนิตยสารบันเทิงคดีได้ที่ https://www.facebook.com/btkdmagazine