posttoday

‘ชั้นครู’ ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน

13 ธันวาคม 2555

เสียงเล่าลือเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ทำให้หลายคนขยาด ไม่ว่าจะเป็นความยาวมากกว่า 2 ชั่วโมง หรือประเด็นยุบยับจนสับสน

เสียงเล่าลือเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ทำให้หลายคนขยาด ไม่ว่าจะเป็นความยาวมากกว่า 2 ชั่วโมง หรือประเด็นยุบยับจนสับสน

โดย...แหนงดู

เสียงเล่าลือเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ทำให้หลายคนขยาด ไม่ว่าจะเป็นความยาวมากกว่า 2 ชั่วโมง หรือประเด็นยุบยับจนสับสน หรือเนื้อหาซึ่งวนๆ เวียนๆ ไม่ไปไหน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลายเหตุผลที่สนับสนุนให้ไปดู The Master หนึ่งในนั้น ก็คือฝีมือระดับ “เมพขิงขิง” ของ 2 นักแสดงนำ และองค์ประกอบความเป็นหนังแบบเริ่ดๆ

นี่คือหนังเรื่องที่ 6 ของ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับชาวอเมริกันวัย 42 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจาก Boogie Nights, Magnolia และ There Will Be Blood เขาปฏิเสธว่า งานนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับลัทธิไซเอนโทโลจีรวมทั้งเจ้าลัทธิ แอล รอน ฮับบาร์ด แต่เมื่อได้ดูก็ให้คิดไป (เอง) ว่าคล้ายๆ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ เฟรดดี (วาคีน ฟินิกซ์) นาวิกโยธินปลดประจำการกลับบ้านพร้อมจิตใจบกพร่องและชีวิตที่ไร้จุดหมาย เฟรดดีไม่มีอนาคตทั้งยังพยายามวิ่งหนีอดีต เขาระหกระเหินเร่ร่อนจากเมืองสู่เมือง กระทั่งบังเอิญได้ไปพบกับ แลงคาสเตอร์ ดอดด์ (ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน) เจ้าลัทธิ เดอะ คอส บนเรือยอชต์ลำหนึ่ง

จากแรกที่ประทับใจในความสามารถการผสมเหล้าของ เฟรดดี (ไม่ว่ามีอะไรในมือ เขาสามารถนำมาปรุงเป็นเครื่องดื่มแรงๆ ได้ ไม่ว่าจะน้ำมะพร้าว น้ำยาล้างฟิลม์ ทินเนอร์ น้ำมัน ฯลฯ) ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองแน่นแฟ้นพัฒนา

‘ชั้นครู’ ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน

 

แลงคาสเตอร์ ดอดด์ ผู้บอกกล่าวว่าตัวเองเป็นนักเขียน หมอ นักฟิสิกส์ และนักปรัชญา เขาตั้งตนเป็น “เดอะ มาสเตอร์” ผู้พยายามพิสูจน์ให้ผู้คนเชื่อเกี่ยวกับการระลึกชาติและจิตใต้สำนึก เพราะลัทธิเพิ่งจะอยู่ในช่วงต้นของการเผยแพร่ เดอะ มาสเตอร์ จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อที่เรียกพลังศรัทธา

ลัทธิเดอะ คอส เชื่อว่า มนุษย์แตกต่างกับสัตว์ตรงที่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกความต้องการของตัวเองได้ และหน้าที่ของ เดอะ คอส ก็คืนช่วยให้คนควบคุมส่วนที่เป็น “สัตว์” ภายในเอาไว้ให้ได้

เฟรดดีผู้นิยมใช้อารมณ์และความรุนแรงจึงกลายเป็น “เคส” ที่ท้าทาย แลงคาสเตอร์ ดอดด์ พยายามจะนำหลักการความเชื่อของตนมาเปลี่ยนแปลงเฟรดดี แม้ว่าวันเวลาที่ใช้ไปกับการติดตามลัทธินี้ไม่ได้ทำให้เฟรดดีเชื่องขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เขากล้าเผชิญกับความจริงและอดีต ชีวิตของเขายังต้องแสวงหาและลัทธินี้ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

The Master สะท้อนภาพสังคมอเมริกาหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่าง เดอะ มาสเตอร์ กับ เฟรดดี สิ่งที่ดึงดูดพวกเขาคือความคล้ายคลึงและแตกต่าง คนหนึ่งปลดปล่อยสิ่งที่เป็นออกมา ขณะที่คนหนึ่งเก็บกดไว้ แลงคาสเตอร์ ดอดด์พยายามช่วยให้เฟรดดีเป็นคนปกติ แต่คนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดอาจจะเป็นตัวเขาเอง

หนังเรื่องนี้รวมหลากประเด็นทั้งเรื่องสังคม ปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา สัญลักษณ์ การตีความ ฯลฯ ไม่ใช่หนังดูง่ายๆ ระหว่าง 2 ชั่วโมงกว่า อาจก่อเกิดเป็นภาวะอึนๆ เบื่อหน่าย สับสน จับจุดหาประเด็นไม่เจอ อะไรวะ (เกาหัว) แต่ไม่ง่วง สมองหมุนติ้วๆ ตลอดเวลาเพราะทำงานหนัก นี่อาจจะเป็นความตั้งใจของคนสร้าง เพื่อให้คนดูอยู่ในภาวะเดียวกับตัวละคร และทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังอย่างรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

‘ชั้นครู’ ไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน

 

ด้วยการแสดงที่เยี่ยมยอดทำให้เราอภัยทุกๆ อย่าง วาคีน ฟินิกซ์ เป็นเฟรดดีได้อย่างน่าทึ่ง สีหน้า ท่าทาง การแสดงออก บ่งบอกถึงความผิดปกติ ผิดที่ผิดทาง เราเห็นเงาของมาร์ลอน แบรนโด ซ่อนอยู่ในตัวของเขาเด่นชัด เขาน่าจะเป็นตัวเต็งออสการ์ของปีนี้ ส่วน ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน นั้นมีคาริสมาแบบผู้นำลัทธิ การแสดงความรู้สึกซับซ้อนแนบเนียน ขณะที่ เอมี อดัมส์ อาจจะบทไม่เยอะ แต่ดูนิ่งลึกและเป็น เดอะ มาสเตอร์ ที่แท้จริง

หนังเรื่องนี้ยังมีองค์ประกอบยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ถ่ายทำด้วยกล้องย้อนยุคและฟิลม์ 65 มม. เกือบทุกซีนสวยงามมีมนต์ขลัง รวมทั้งสกอร์เท่ๆ เมาๆ ผสมผสานระหว่างดนตรีคลาสสิกกับดนตรีทดลอง หม่น เหงา อ้างว้าง สะกดใจโดย จอห์นนี กรีนวูด มือกีตาร์วงเรดิโอเฮด

งานชิ้นนี้ คือการแสดงถึงพรสวรรค์อันล้นพ้นในฐานะนักเขียนและผู้กำกับของพอล โทมัส แอนเดอร์สัน เป็นงานสำหรับคนดูหนังแบบ “ซีเรียสเป็นพิเศษ” เหมือนกับที่วันนี้เรายังไม่กระจ่างในหลายๆ จุดของ There Will Be Blood พรุ่งนี้และอนาคตอีกหลายปีเราก็คงไม่กระจ่างเกี่ยวกับ The Master ไปเสียทุกประเด็น

เป็นหนังที่ดูรอบเดียวอาจจะเก็บรายละเอียดได้ไม่หมด แต่ถ้าใครดูมากกว่า 2 ครั้ง ก็คงไม่เป็นอะไรมากไปกว่าแฟนพันธุ์แท้ของ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับชาวอเมริกันอนาคตรุ่งขวัญใจนักวิจารณ์ 

 

&<2288;