posttoday

ชุมนุมคนบาป

25 มีนาคม 2553

ภาพรวมของหนังแม้จะไม่ใช่อย่างที่คาดหวัง แต่มันก็สร้างความมั่นใจได้เปลาะหนึ่งว่า วงการหนังไทยจะมีทางเลือกแบบทวนกระแสหลัก

ภาพรวมของหนังแม้จะไม่ใช่อย่างที่คาดหวัง แต่มันก็สร้างความมั่นใจได้เปลาะหนึ่งว่า วงการหนังไทยจะมีทางเลือกแบบทวนกระแสหลัก

โดย อัคร เกียรติอาจิณ

จั่วหัวโปรโมตด้วยถ้อยคำที่ยั่วน้ำย่อยซะขนาดนั้น บอกตามตรงมันก็ได้ผลระดับหนึ่ง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่บ้าจี้แห่ไปพิสูจน์ความจริงใน “นาคปรก” หนังอื้อฉาวที่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ แถมโดนดองถึง 3 ปีเต็ม ว่ามันจะเป็นอย่างที่เขา (กองเซ็นเซอร์และองค์กรด้านพระพุทธศาสนา) กังวลกันหรือเปล่า

แรงไหม แรงพอรับไหว แรงที่เนื้อหามุ่งโจมตี “พระชั่ว” โดยเฉพาะเหล่าภิกษุทั้งหลายที่คิดว่าเป็น “พระดี” จะตื่นตระหนกตกใจไปไย

ชุมนุมคนบาป

ส่วนตัวผมมองว่าดีกรีความแรงยังน้อยไปเสียอีก เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่รอคอย ก็อุตส่าห์ตัดสินใจรอเรตติ้งแล้ว มาขั้นนี้ต้องแรงสุดๆ ไปเลย

อย่างว่าถ้าทำแบบนั้น ก็สุ่มเสี่ยงที่หนังจะเจ๊งสนิทได้ เพราะนี่แค่ติดเรตติ้ง +18 ก็ใช่ว่ารายได้จะพุ่งกระฉูดปรู๊ดปร๊าดตามคำโปรโมต “ฉายเต็ม ไม่มีตัด ฉบับสมบูรณ์”

แต่ก็นับว่าโชคดีที่รอบฉายไปดูแบบไม่มีพวกพ่อแม่บ้าจี้หอบลูกๆ วัยประถมต้นเข้าโรง เช่นกรณีหนังฆาตกรรมอารมณ์เถื่อน “เฉือน” ที่น้องหนูร้องวี้ดว้ายขวัญกระเจิงก้นไม่ติดเก้าอี้เพราะฉากโหดๆ

สำหรับ “นาคปรก” ภาพสะท้อนที่พยายามฉายออกมา ดูเหมือนจะหนักไปทางด้านมืดของผู้คนในสังคมเสียมากกว่า “โจรใจทราม” “ตำรวจเลว” “โสเภณีขี้ฉ้อ” ทั้งหมดล้วนเกิดจาก “กิเลส” ที่ไม่เคยพอ “ตัณหา” ที่ไม่เคยดับ

ด้วยเนื้อหาแรงๆ ที่อัดแน่นจนปะทุกลายเป็นประเด็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ จึงไม่แปลกที่หนังจะไม่ผ่านเซ็นเซอร์ในสมัยยังไม่มีการจัดเรตติ้ง และเมื่อพอเข้ามาอยู่ในกฎกติกา สิ่งที่หนังนำเสนอก็แทบเป็นเรื่องพื้นๆ

อย่างน้อยๆ หนังก็ไม่ได้กุเรื่องขึ้น หรือปั้นแต่งพล็อตและตัวละคร โดยหนีห่างไปจากความจริงของแวดวงพระพุทธศาสนา ณ วันนี้อย่างที่เราได้ยินได้ฟังผ่านข่าวสักเท่าไหร่

ความเป็นฟิล์มนัวร์ช่วยให้หนังชัดเจนในการทำหน้าที่ล้วงลับตีแผ่หลุมดำของมนุษย์ มนุษย์ผู้กำลังโหยหาความสุขและพร้อมจะตักตวงจากทุกสิ่งอย่าง หน้ามืดตามัว ไร้สติที่จะแยกแยะถูกผิดชั่วดีได้ ไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักกรรม จิตเต็มไปด้วยความทุกข์ที่อำพรางไว้ 

ชุมนุมคนบาป

ไม่ว่าจะความบังเอิญ หรือตั้งใจก็ตาม สถานะของวัดที่หนังใช้เป็นฉากหลักตลอดทั้งเรื่อง นับแต่ผู้คนที่มี “กิเลสหนา ตัณหากลับ” เข้าไปอาศัยอยู่ ที่นั่นก็ได้เปลี่ยนสถานะใหม่ จากสถานปฏิบัติธรรม ศูนย์รวมจิตใจ หรือแหล่งเรียนรู้เผยแพร่คำสอนพระพุทธศาสนา เหลือเพียงเป็นที่ “ชุมนุมคนบาป” ซึ่งหลอมรวมเอาคนบาปทุกประเภทมาชุมนุมกัน

คนบาปแบบรู้ตัวแต่กำเนิด คนบาปโดยไม่รู้ตัวเพราะหลงผิด คนบาปแบบไหลไปตามน้ำตามสถานการณ์ หนังได้นำเสนออย่างไม่อ้อมค้อม พร้อมทิ้งนัยเชิงสัญลักษณ์ผ่านสิ่งต่างๆ ที่สอดแทรกในหนังเป็นระยะ รวมทั้งมุมกล้อง องค์ประกอบแสง และดนตรีประกอบ ก็เสริมความน่าสนใจให้แก่หนัง

แต่ภายใต้เงื่อนไขการเล่าเรื่องที่คล้ายจะรวบรัดพอสมควร (ก็ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหน) นี่เองอาจเป็นจุดด้อยที่ทำให้หนังขาดความละเมียดในอารมณ์ บางครั้งจังหวะช้าเนิบ คนดูคงอินไปกับตัวละครมากกว่าการเร่งเครื่องเพื่อความกระชับ

ผู้กำกับ “ภวัต พนังคศิริ” อาจมีเป้าประสงค์อื่น นอกเหนือจากกลัวว่าคนดูจะเบื่อหน่ายไปกับการตีแผ่ด้านมืดของมนุษย์ซ้ำๆ จนย่นย่อให้หนังเหมาะกับเวลา (หรือเปล่า) แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น “นาคปรก” เวอร์ชันเข้าฉายปัจจุบันย่อมไม่ใช่เวอร์ชันฉบับเต็มอย่างแน่นอน เพราะเท่าที่สัมผัส ดูเหมือนมันยังขาดความเป็นหนังแรงๆ อีกตั้งเยอะ ซึ่งอาจเป็นแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกหั่นทิ้งไป แต่นั่นกลับมีความสำคัญและช่วยเติมเต็มให้หนังเข้มข้นยิ่งขึ้น

ด้านการแสดง นักแสดงแคสติงลงตัวทุกตัวละคร ไม่ประดักประเดิดในการมารับบทแรงๆ คนมีของอย่างนักแสดงมือฉมัง เรียกว่าไม่เสียยี่ห้อ เต๋า เร เต้ ทราย อาสะอาดที่ยังคงมาตรฐานรุ่นใหญ่ไม่ไก่กา อารัชนูมาน้อยแต่นิ่งและได้มากกับฉากอารมณ์ เอพศิน กับบทตำรวจที่เป็นตัวแปรของเรื่องราวทั้งหมด แต่ที่ขอยกตำแหน่งขโมยซีนให้ได้คะแนนไปแบบเหนือชั้น คือเณรน้อยจอมจุ้น ผู้ลดทอนบรรยากาศความขึ้งเคียดและเป็นสีสันให้หนัง 

ถึงอย่างนั้น ภาพรวมของหนังแม้จะไม่ใช่อย่างที่คาดหวัง แต่มันก็สร้างความมั่นใจได้เปลาะหนึ่งว่า วงการหนังไทยจะมีทางเลือกแบบทวนกระแสหลักที่ได้ค่ายใหญ่เป็นแบ็กอัพให้และอาจต้องใช้พละกำลังต่อสู้อย่างเหนื่อยยากแสนเข็ญกับคนที่ไม่เห็นด้วยก็เถอะ