posttoday

25หนังมรดกชาติไทย เสียดายถ้าไม่ได้ดู

15 ตุลาคม 2555

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

กำลังเบื่อกับการดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่พอดี

เมื่อรู้ข่าวว่ามีการประกาศให้ภาพยนตร์ไทย25เรื่อง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย เลยเกิดความสนใจ ลองไปหาลิสต์รายชื่อหนังทั้งหมดมาดู ปรากฏว่าฟินครับบ !!!!

แต่ละเรื่องล้วนน่าค้นหา บางเรื่องไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน บางเรื่องอดทึ่งไม่ได้ว่าไปขวนขวายหามาจากไหน ผลงานภาพยนตร์ระดับคลาสสิกทั้งนั้น

ไปดูกันดีกว่าว่าภาพยนตร์ที่เรียกว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติไทยเรานั้น มีอะไรน่าสนใจบ้าง

25หนังมรดกชาติไทย เสียดายถ้าไม่ได้ดู

 

โชคสองชั้น (2470)

หนังไทยแท้ๆ เรื่องแรก สร้างเอง แสดงเอง โดยคนไทย ถ่ายด้วยฟิล์ม 25 มม. ขาวดำ ความยาวชั่วโมงครึ่ง แต่ถูกพบโดยบังเอิญเพียงเศษฟิล์มเนกาทีฟเสื่อมสภาพ กินเวลาฉายเพียง 1.30 นาที แต่โชคดีบนความโชคร้ายคือเศษที่ตัดต่อไว้นี้ทำให้เราได้เห็นฉากพระเอกสู้กับผู้ร้าย ไล่ล่าสุดระทึก

ชีวิตก่อน 2475 (2473)

ในสมัยรัชกาลที่ 7 การเล่นถ่ายภาพยนตร์ขนาดเล็ก 16 มม. ซึ่งเรียกกันว่าภาพยนตร์สมัครเล่น เป็นงานอดิเรกของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ขุนนาง ตลอดจนราษฎรสามัญผู้มีอันจะกินนิยมเล่นกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงถ่ายบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ประจำวันและเทศกาลต่างๆ ของชีวิตในวัง ที่พิเศษคือการบันทึกภาพวินาทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แห่รัฐธรรมนูญ (2476)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นที่สำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งในสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นภาพยนตร์เพียงม้วนเดียวที่เกี่ยวพันกับกรณีเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่พบในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนคร พ.ศ. 2481 (2481)

บันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ยุวกษัตริย์ พระชนมายุเพียง 13 พรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล จะเสด็จฯ นิวัตพระนครหรือสยามเป็นการชั่วคราว นับเป็นครั้งแรกที่แผ่นดินสยาม ซึ่งว่างเว้นจากการมีกษัตริย์ประทับอยู่ในประเทศนับจากปี 2476

การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย (2488)

ถ่ายทำโดยช่างถ่ายภาพยนตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นฟิล์มภาพขาวดำ 35 มม. ไม่มีเสียง บันทึกเหตุการณ์การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย ที่นำโดย ปรีดี พนมยงค์ ราว 8,000 คน กระทำพิธีสวนสนามพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ บนถนนราชดำเนินกลาง ใจกลางพระนคร ในวันที่ 25 ก.ย. 2487

25หนังมรดกชาติไทย เสียดายถ้าไม่ได้ดู

 

ทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 (2487)

บันทึกเหตุการณ์จากเครื่องบิน บี 29 ลำหนึ่งในฝูงบินที่ได้รับมอบภารกิจบินมาทิ้งระเบิดถล่มกรุงเทพฯ ในเวลากลางวัน ฉายภาพกรุงเทพฯ จากมุมสูง เต็มไปด้วยเรือกสวนไร่นา แม่น้ำเจ้าพระยา สงบเงียบ ก่อนที่ระเบิดลูกแรกจะลงไปเบื้องล่าง แผ่นดินลุกเป็นไฟ ควันหนาทึบพวยพุ่ง ทำให้คนไทยได้สัมผัสอิทธิฤทธิ์ของสงครามโลกเป็นครั้งแรก

เหตุมหัศจรรย์ (2498)

หนังการ์ตูนหรือแอนิเมชันเรื่องแรกของประเทศไทย โดย ปยุต เงากระจ่าง ออกฉายสู่สาธารณะครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2498 ใช้วิธีพากย์และทำเสียงประกอบสดขณะฉายในโรง

สวรรค์มืด (2501)

หนังรักหวานชื่นและขมขื่นที่เรียบง่ายที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เป็นภาพยนตร์รักและอุดมคติ ความรักระหว่างหนุ่มพนักงานเก็บขยะเทศบาลกรุงเทพฯ กับสาวคนจรข้างถนน กำกับโดย รัตน์ เปสตันยี

แม่นาคพระโขนง (2502)

ออกฉายเมื่อปี 2502 ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมเป็นประวัติการณ์ ทำรายได้สูงถึง 1 ล้านบาท นับได้ว่าเป็นแม่นาคภาพยนตร์ฉบับที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุด

การชกมวยชิงแชมเปียนโลกระหว่าง โผน กิ่งเพชร-ปาสคาล เปเรส พ.ศ. 2503 เวทีมวยลุมพินี กรุงเทพฯ (2503)

ไม่มีการถ่ายทอดสดทางวิทยุหรือโทรทัศน์ แต่มีการถ่ายภาพยนตร์บันทึกการชกไว้โดยตลอด ด้วยฟิล์ม 16 มม. ขาว-ดำ โดยสำนักงานสรรพสิริ (สรรพสิริ วิริยะสิริ) ผลการชกปรากฏโผนเป็นฝ่ายชนะคะแนน กลายเป็นนักชกแชมเปียนโลกคนแรกของไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการบันทึกความทรงจำครั้งหนึ่งของชาติ ในชั่วขณะหรือวาระแห่งความปีติ ความฮึกเหิม และกระแสความสุขร่วมกันของคนไทย

มือโจร (2504)

ในบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ไทยยุคฟิล์ม 16 มม. วิจิตร คุณาวุฒิ นับว่าเป็นผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านความตั้งใจที่จะสร้างผลงานที่มีคุณภาพและคุณค่าทางศิลปะ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาลงทุนสร้างด้วยตนเอง ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในการประกวดตุ๊กตาทองเมื่อปี 2504

25หนังมรดกชาติไทย เสียดายถ้าไม่ได้ดู

 

เรือนแพ (2504)

ผลงานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เจ้านายนักสร้างภาพยนตร์ ฉายภาพชายหนุ่ม 3 ชีวิตบนเรือนแพที่พักพิง ซึ่งมีความฝันและเป้าหมายในอนาคตไปคนละทาง นักมวย นักเรียนกฎหมาย และนักร้อง ทั้งสามต่างหวังปองรักหญิงคนเดียวกัน จึงเป็นเวทีของการชิงรัก การเสียสละ การเสียใจและการสูญเสียทุกสิ่งในที่สุด เป็นโศกนาฏกรรม

บันทึกรักของพิมพ์ฉวี (2505)

เรื่องแรกของเพชรา เชาวราษฎร์ และเป็นเรื่องแรกที่แสดงนำคู่กับ มิตร ชัยบัญชา ก่อนที่ทั้งคู่จะกลายเป็นดาราคู่ขวัญของวงการภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลาสิบปีเต็มต่อจากนั้น

เงิน เงิน เงิน (2508)

นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฏร์ คู่พระนางยอดนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เป็นหนังที่สามารถเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทย ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ชัดเจน ทำหน้าที่ปลอบประโลมใจคนยากคนจนให้มีความหวังที่จะฝันว่าจะมีพระเอกในฝัน หนุ่มหล่อ ลูกมหาเศรษฐีมาช่วย มาหลงรัก และครองรักกับเราอย่างชื่นมื่นสุขใจยิ่งกว่าอะไร

เสน่ห์บางกอก (2509)

ภาพยนตร์ในระบบ 16 มม. แบบพากย์สด จากบทประพันธ์ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าเรื่องของ แพร หนุ่มลูกทุ่งบ้านศาลาเกวียน ซึ่งหลงใหลใฝ่ฝันจะไปหาความเจริญของเมืองบางกอก ถึงขนาดยอมหนีการบวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ และหนีการที่จะต้องแต่งงานกับสไบ สาวลูกบ้านนาที่พ่อแม่เลือกไว้ให้ เป็นภาพยนตร์ที่งดงามและซื่อตรง บันทึกค่านิยมของหนุ่มสาวบ้านนอกที่ใฝ่ฝันจะเข้าไปแสวงโชคหรือชุบตัวในเมืองกรุง

พยาธิตัวจี๊ดGnathostoma Spinigerum and Gnathostomiasis in Thailand(2510)

เกียรติประวัติสำคัญของวงการแพทย์ไทยและเป็นเกียรติภูมิของชาติ คนไทยน้อยคนจะรู้ว่าผู้ที่ค้นพบวงจรของพยาธิตัวจี๊ดเป็นรายแรกของโลกคือ นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง การค้นพบนี้ทำให้ประเทศสยามมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะช่วยให้โลกสามารถหาทางป้องกันการติดต่อของโรคนี้ได้

ยิงเป้านักโทษค้ายาเสพติด (2510)

เมื่อปี 2510 คณะรัฐมนตรี สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจคณะปฏิวัติให้ศาลทหารตัดสินประหารชีวิต ผู้ต้องหาค้ายาเสพติด เป็นชายไทยเชื้อสายจีนสองคน ช่างถ่ายภาพยนตร์ข่าวของสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง 4 ได้เข้าไปถ่ายทำพิธีการประหารชีวิตอย่างละเอียด เป็นเจตนาของทางการที่ต้องการแสดงตัวอย่างให้นักค้ายาเสพติดเกรงกลัวอาญาบ้านเมือง

25หนังมรดกชาติไทย เสียดายถ้าไม่ได้ดู

 

อินทรีทอง (2513)

ภาพยนตร์ไทยที่ก่อให้เกิดข่าวครึกโครม ตกใจคนไทยทั้งประเทศ เมื่อ มิตร ชัยบัญชา ผู้กำกับและผู้แสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบเหตุ ตกจากการโหนบันไดที่โรยจากเฮลิคอปเตอร์ขณะกำลังถ่ายทำฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ และเสียชีวิตคาที่เกิดเหตุที่หาดดงตาล พัทยา

ดาไลลามะในสวนโมกข์ (2515)

ถ่ายด้วยฟิล์มขนาด 8 มม. เมื่อองค์ดาไลลามะ ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต เดินทางมาเยี่ยมท่านพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกขพลาราม นับเป็นภาพยนตร์ที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันหนึ่งในสวนโมกข์ของสองผู้นำจิตวิญาณที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่จัดแสดง สร้างความเจริญตาและใจแก่ผู้ที่ได้เห็นภาพยนตร์นี้

หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (2517)

เด็กไทย โดยเฉพาะเด็กชายในยุค 2510-2520 ไม่ว่าอยู่ที่ใดในเมืองไทย ไม่รอดพ้นจากอำนาจมนต์สนุกของภาพยนตร์ชุดทางทีวีจากญี่ปุ่น คือ ชุดยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน ฮีโร่ของเด็กทั้งเด็กญี่ปุ่นและเด็กไทย เด็กๆ ต่างชื่นชมและบูชาพวกยอดมนุษย์ที่คอยพิทักษ์โลกโดยการปราบเหล่าร้ายสัตว์ประหลาดพิลึกกึกกือสารพัด สร้างโดย สมโภช แสงเดือนฉาย

ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (2520)

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้เกิดกระแสหนังไทยที่มีเนื้อหาสาระสะท้อนปัญหาสังคมอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ผลงานของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เล่าเรื่องของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ซึ่งมีปัญหาเล็กๆ แต่ปัญหานั้นสะท้อนถึงปัญหาใหญ่ของทั้งสังคม หนังนี้ยังสื่อสารถึงจิตวิญญาณของคนอีสานที่ระหกระเหินจากบ้านเกิดไปหากินต่างถิ่น

ครูบ้านนอก (2521)

สร้างจากนิยายชื่อเรื่องเดียวกันของคำหมาน คนไค เป็นภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนอีสานและทีมงานคนอีสาน คือ กมล กุลตังวัฒนา อดีตนักพากย์หนัง กำกับโดย สุรสีห์ ผาธรรม ประเด็นเด่นของหนังคือการกล่าวถึงครู จิตวิญญาณของครู อุดมการณ์ของครู ผู้ท้าทายอำนาจอันมิชอบธรรม

เมืองในหมอก (2521)

ผลงานการกำกับของ เพิ่มพล เชยอรุณ ดัดแปลงบทละครเรื่อง“ความเข้าใจผิด”ของ อัลแบร์ กามูส์ แต่ไม่ได้รับการต้อนรับจากแฟนภาพยนตร์นัก ความสำคัญของเมืองในหมอกก็คือความที่มันมลังเมลือง และใช้เป็นตัวชี้วัดรสนิยมของคนดูและคนสร้างศิลปะได้หรือไม่

คนจร (2542)

กำกับโดย อรรถพร ไทยหิรัญ เป็นภาพยนตร์ไทยที่พิเศษ แปลก ประหลาด เป็นหนังที่นักดูหนัง ไม่ว่าที่ใดในโลกจะต้องรู้สึกว่าหนังนี้คนทำไม่ธรรมดา เพราะหนังเขาได้รับการปรุงแต่งให้มองผ่านด้วยทัศนะของคติ การตีความและตีค่าเหตุการณ์ ตัวละครหรือปรากฏการณ์ต่างๆ โดยความเป็นตัวตนของผู้สร้างเอง

สวรรค์บ้านนา (2552)

เล่าเรื่องสวรรค์ของชาวนา เพื่อบอกว่าสวรรค์บ้านนามีอยู่จริงหรือว่าสวรรค์หาย กลายเป็นนรก เรื่องชาวนาผู้ไม่มีที่นาของตนเอง กลายเป็นกรรมกรนา รับจ้างทำนาของคนอื่นที่อาจไม่ใช่ชาวนา เรื่องของหนี้สินนอกระบบที่รัดรึงชาวนาดุจโซ่ตรวนหรือเชือกผูกคอ เป็นภาพยนตร์สารคดีที่พูดแทนจิตวิญญาณของชาวนาในยุคสมัยเรา

โดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อธิบายถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกภาพยนตร์เป็นมรดกของชาติว่า ต้องเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหามาทดแทน มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนตรงตามต้นฉบับ หรือเป็นภาพยนตร์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคม แล้วต้องเป็นผลงานของคนไทย หรือเกี่ยวข้องกับคนไทยหรือชาติไทย

“สิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นมรดกของคนรุ่นเก่าสร้างสมไว้ เด็กๆ วัยรุ่นมองว่าเชย ตกสมัย แต่ถึงเวลาหนึ่ง เขาก็จะพบความจริงว่าคนสมัยก่อนคิดอะไรไว้ดีแล้ว เขาจะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ศึกษาตั้งแต่ต้น เป็นธรรมดาที่วัยรุ่นทั่วโลกจะมองหาสิ่งใหม่ๆ ในที่สุดก็จะพบว่าแท้จริงไม่มีอะไรใหม่ในโลกนี้ บางเรื่องสร้างขึ้นอย่างยากลำบาก บางเรื่องสร้างอีกไม่ได้ สร้างได้ครั้งเดียว จะบอกว่าไม่ดูเสียชาติเกิดก็ยังได้”