posttoday

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

20 กันยายน 2555

ในปี 1927 ยุคแห่งภาพยนตร์เงียบและเป็นเพียงภาพขาวดำของฮอลลีวูด เป็นยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่วิวัฒนาการด้านเสียงที่ใกล้เข้ามาถึง

โดย...จตุรภัทร หาญจริง


ในปี 1927 ยุคแห่งภาพยนตร์เงียบและเป็นเพียงภาพขาวดำของฮอลลีวูด เป็นยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่วิวัฒนาการด้านเสียงที่ใกล้เข้ามาถึง คุณคิดว่าระหว่าง จอร์จ วาเลนติน นักแสดงภาพยนตร์เงียบที่เป็นดาวรุ่ง ผู้ยึดมั่นและภูมิใจในอาชีพของตน กับ เปปปี มิลเลอร์ นักแสดงสมทบที่ต้องการเป็นดาวดวงเด่น ผู้ซึ่งยินดีอ้าแขนรับสิ่งใหม่ที่ใกล้เข้ามา ใครคือผู้อยู่รอดในวงการภาพยนตร์ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง?

ขึ้นชื่อว่า “วงการบันเทิง” ที่สร้างความสุขให้ผู้ชมผู้ฟัง (ไม่ว่าจะหนัง เพลง วิทยุ ทีวี เคเบิล คอนเสิร์ต ฯลฯ) จากอดีตถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากย้อนกลับมาที่วงการบันเทิงไทย อดีตเกิดอะไร เปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันเกิดอะไร และกำลังทอดตัวไปสู่อนาคตในรูปแบบใด

บิ๊กบอสแห่งวงการบันเทิงไทย จะชี้โพรงให้กระรอกตัวน้อยๆ อย่างเราๆ ได้เห็นถึงหนทางแห่งการอยู่รอด...ที่เดียวเท่านั้น!

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

 

สายทิพย์ เอไทม์ ‘ธุรกิจบันเทิงคือพิศวาสบิซิเนส’

“ธุรกิจบันเทิง ไม่ใช่อะไรเลย นอกจากทำยังไงให้คนรักคนชอบ อยากดู อยากฟัง มันอาจดูไม่มีเหตุผล แต่มันมีเหตุผลของมัน การทำธุรกิจนี้สิ่งสำคัญคือใจ ถ้าคนทำงานใช้ใจลงไป ผลตอบแทนจะกลับมาด้วยใจ ตอนนี้เราหลอกกันไม่ได้ ด้วยมีโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นว่าใครใช้ใจหรือไม่ใช้ใจทำงาน สมัยก่อนเวลาที่เราทำอะไร มันจะมีภาพที่สร้างได้ ทำให้ยิ่งใหญ่คึกคักได้

แต่ ณ วันนี้ โซเชียลมีเดียทำให้เป็นจริงมากขึ้น หลอกตาไม่ได้ ถ้างานดี แป๊บเดียวคนดูเข้ามาดู ก็จะบอกว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดี คนก็จะบอกว่าไม่ดี เช่นเมื่อก่อน เวลาทำคอนเสิร์ต เราสามารถบอกคนดูผ่านแมสมีเดียว่าดีจริง ดีที่สุด ทั้งที่ตัวคอนเสิร์ตอาจจะไม่ดีจริงก็ได้ แต่พอมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น คนดูดูแล้วสามารถวิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดียได้เลยทันทีว่าห่วยแตก แล้วมันก็จะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วทันที นี่ไงคือการหลอกใครไม่ได้อีกแล้วของคนทำงาน”

สายทิพย์ เปิดใจว่า หนทางเดียวที่จะทำให้วงการบันเทิงที่เคยสนใจแต่ปริมาณและจำนวนอยู่รอดได้ คือคุณภาพ “หากคนทำงานได้ทำในสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่ดีขึ้น จะทำให้ความพิศวาสมันเกิดขึ้นจากคนดูคนฟัง แล้วเขาจะเกิดความรักความศรัทธาในคุณภาพ แม้ทำออกมาน้อยๆ ทำออกมาพอดีๆ คนก็จะยังศรัทธา ยังยินดีจะจ่ายเงินซื้อหาเพื่อความสุขความบันเทิง และคนทำงานก็จะยังอยู่ต่อไปได้อีกยาวไกล นี่คือการทำนายที่จะเกิดขึ้นจริง”

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

 

ศรัณย์ ช่อง 7 สี ‘ทีวี (นี้ยัง) เพื่อคุณ’

“จุดเปลี่ยนสำคัญในอนาคตสำหรับวงการโทรทัศน์ คือ การเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล สมัยก่อนเคยรับสัญญาณได้ไม่ค่อยชัด เราเรียกว่า ภาพมีสโนว์ แต่ปัจจุบันถ้ารับได้ก็จะชัดเท่ากับต้นฉบับ ดังนั้นทั้งสองด้าน ทั้งผู้ส่ง (สถานี) และผู้รับ (เจ้าของเครื่องรับโทรทัศน์) จะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบโทรทัศน์ในอนาคต”

นอกจากนี้ ศรัณย์ยังมองว่า การนำแอพพลิเคชันบันเทิงไปผูกกับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ เช่น สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต ทำให้เกิดความสะดวกสบายและรวดเร็ว นี่คือการค่อยๆ เปลี่ยนไปของวงการบันเทิง

“ตอนนี้มีคนดาวน์โหลดแอพพลิเคชันบันเทิงมากขึ้นในแต่ละวัน แม้จะยังมีคนที่ไม่รู้ ไม่ชำนาญ และไม่กล้า ทำให้ลังเล สุดท้ายเมื่อแอพพลิเคชันบันเทิงมันโตขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะปรับตัวให้เคลื่อนไหวไปตาม ซึ่งหากอนาคตมันไปไกลกว่านี้ แต่คนทำงานไม่ปรับตัวก็คงจะอยู่ลำบาก เพราะฉะนั้นคนทำงานต้องปรับตัวเพื่อสร้างความสุขความบันเทิงผ่านทุกช่องทางการสื่อสารให้กับคนดูคงฟัง”

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

 

อรรถพล ทรูวิชั่นส์ ‘กลุ่มคนดูชอบอะไร...คือหัวใจสำคัญ’

“ตอนนี้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ดูทีวีน้อยลง แต่รับความบันเทิงผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้คนทำงานต้องมองให้ทะลุว่า เจเนอเรชันใหม่ๆ ดูทีวีมากแค่ไหน เพื่อจะได้ทำตลาดให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่จะเข้าสู่ทีวีออนดีมานด์มากขึ้น หมายถึงเขาจะเลือกสนใจแต่รายการที่ตัวเองสนใจ ในช่วงเวลาที่ตัวเองสนใจเท่านั้น เพราะเขามีเสรีภาพในการเลือกรับความบันเทิงให้กับตัวเอง ซึ่งคนทำงานอย่างเราๆ ยัดเยียดให้เขาไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”

นอกจากทีวีออนดีมานด์ที่ถูกใจคนเจเนอเรชันใหม่ อรรถพลยังมองว่า ต่อไปวิดีโอออนดีมานด์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง “โดยฉพาะรายการจากต่างประเทศ จะมีการขายเป็นตอนๆ ชอบตอนไหนก็สั่งซื้อตอนนั้นมาดูเหมือนเพลง ชอบเพลงไหนก็ดาวน์โหลดเพลงนั้นมาฟัง” แล้วคนที่อยู่ในยุคที่ยังไม่เชี่ยวชาญในเรื่องแบบนี้ล่ะ จะทำอย่างไร อรรถพล ให้คำตอบว่า สำหรับคนที่อยู่ในยุคที่ยังไม่เชี่ยวชาญที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะยังคงเปิดรับความบันเทิงผ่านเทรดิชันทีวีต่อไป โดยคนทำงานมองข้ามคนกลุ่มนี้ไปไม่ได้ เพราะภายใน 510 ปีนี้ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมาก “เราสามารถทำรายการเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นโอกาสทองครับ”

ท้ายที่สุด อรรถพล ยังยืนยันว่า ต่อให้วงการบันเทิงมีรูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนแปลงไปยังไง หัวใจสำคัญของคนทำงานต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายชอบอะไร เข้าถึงได้อย่างไร แล้วจะทำยังไงให้เขาเกิดความพึงพอใจสูงสุด “นี่คือแนวทางการปรับตัว ที่ทำให้อยู่รอดและเป็นผู้ชนะได้ในที่สุดครับ”

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

 

บอย โกสิยพงษ์ ‘ตราบใดที่เพลงยังมีความหมายสำหรับมนุษย์’

“เดี๋ยวนี้คนทำเพลงเข้าถึงคนฟังได้ง่ายขึ้นเยอะ เพราะมีโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ แม้จะมีข้อเสียบ้างในเรื่องของการขาย แต่ถ้าเราทำเพลงแล้วเข้าถึงคนฟังได้ ไม่ว่าจะวิธีไหนก็เป็นสิ่งที่ดี อาจจะดีกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป ในแง่การเข้าถึงคนฟัง”

บอยกล่าวถึงยุคที่คนฟังเพลงสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ ซึ่งนี่คืออุปสรรคใหญ่หลวงของธุรกิจเพลง แต่เขาก็มีความเชื่อว่า หากคนทำเพลงช่วยกันทำให้คนฟังได้รับรู้ว่าเพลงต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่างคนฟังเพลงจะเกิดการสนับสนุน ขอเพียงคนทำเพลงทำให้คนฟังได้กลับมาศรัทธากับบทเพลงอีกครั้ง

“ความศรัทธาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนทำเพลงทำด้วยความรักและความศรัทธา ทำเพลงออกมาให้ดีที่สุด และมีความหมายต่อมนุษย์มากที่สุด รวมทั้งอย่าเพิ่งหมดความหวัง เพราะตราบใดที่ยังมีความหวัง ก็จะยังต่อสู้กันต่อไปได้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์มันจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ตามสำหรับคนฟังเพลง ถ้าเกิดเพลง ไม่ว่าใครทำ มันเกิดมีความหมายกับคุณ ก็ขอให้ช่วยสนับสนุนด้วยครับ วงการเพลงจะได้ไปได้ต่อ”

นี่คือคำกล่าวของคนที่อยู่กับธุรกิจเพลงมาอย่างยาวนาน และจะยังคงอยู่ต่อไปด้วยความเชื่อที่ว่า “ตราบใดที่บทเพลงยังมีความหมายสำหรับมนุษย์ เขาก็ยังมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์บทเพลง”

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

 


วิสูตร จีทีเอช ‘หวังให้หนัง ยังคงคุณค่าในโรงหนัง’

ภาพรวมของวงการภาพยนตร์ไทย วิสูตร กล่าวว่า มีความหลากหลายก็จริง แต่ตัวคอนเซปต์อาจจะยังไม่ค่อยโดน อีกทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศปรับเพดานทุนสร้างให้สูงขึ้น กล้าลงทุนมากขึ้น จากลงทุน 100 ล้านบาท ตอนนี้ 200-300 ล้านบาท เลยทำให้เห็นความต่างของจำนวนเงินที่มากหมายมหาศาล นำมาซึ่งคุณภาพของภาพยนตร์ที่มากมายมหาศาลตามมา

“ยอมรับว่าหนังไทยยังคงเพดานอยู่ที่ 20 ล้านบาท บางกลุ่มอาจจะไม่กล้าลงทุน เลยทำให้คุณภาพของหนังออกมาประมาณหนึ่ง ถ้าเทียบกับหนังฝรั่ง เราเลยสู้ตรงนี้ไม่ได้ แต่ไม่ต้องกลัว หนังไทยเรายังสู้ได้ในเรื่องของไอเดีย แนวคิด และความเป็นไทยของเรา”

วิสูตร ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่เหนือไปกว่านั้น คือ ในเมื่อเราสู้ในเรื่องของเงินลงทุน เพื่อให้ภาพยนตร์มีคุณภาพสูงเหมือนต่างประเทศไม่ได้ กลุ่มคนทำหนังสามารถช่วยกันสร้างแนวทางการเติบโต แบบไม่ใช่ต่างคนต่างทำต่างคนต่างอยู่ได้

บิ๊กบอส...ชี้โพรง...วงการบันเทิง

 

“ตราบใดที่ผู้สร้างยังคงต่างคนต่างคิดต่างทำ หนังไทยก็ไม่ต่างจากเดิม เพราะทุกคนมีเพดานการสร้างของตัวเองอยู่ การที่ใครจะใช้ทุนสร้างเท่าไหร่ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ขอแค่อยากจะให้ดูแนวหนังกันนิดนึง อย่าทำตามๆ กันไป มันจะทำให้หน้าตาไปในทิศทางเดียว ขอให้มั่นใจในแนวทางของตัวเอง แล้วก็ทำไปเลย อย่าแคร์ว่าหนังของใครทำเงินดี แล้วก็ทำตาม มันจะได้มีความหลากหลายมากกว่านี้

ที่สำคัญคือคนดู เป็นไปได้ไหมที่คนดูจะยังคงดูหนังในโรงหนังเพื่อออกไปสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้กับชีวิต ไม่ใช่ดาวน์โหลดหนังมาดูโดยไม่แคร์คนทำหนังเลย อย่างมีคนพูดกันในเน็ตว่า โหลดหนังมาแล้ว ยังไม่ได้ดูเลย พอคนทำหนังได้เห็นหรือได้ยินคำพูดแบบนี้มันเจ็บนะ คุณไม่ดูหนังไทยก็ได้ แต่ขออย่าลักลอบดาวน์โหลดหรือซื้อซีดีหรือดีวีดีปลอมเพื่อทำร้ายกัน เท่านี้เป็นพอครับ”


หากใจความสำคัญของทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่กล่าวว่า “สิ่งมีชีวิตต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดถึงจะอยู่รอด” สะท้อนให้คนทำงานบันเทิง และคนที่เสพความบันเทิงผ่านสื่อต่างๆ ได้เห็นอะไรบางอย่าง นั่นอาจหมายถึง การร่วมมือร่วมใจ เข้าอกเข้าใจกัน เพื่อช่วยกันทำให้วงการบันเทิงไทยแข็งแรงและเติบโตต่อไปได้ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำร้ายกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งนี่อาจเป็นหนทางแห่งการอยู่รอดได้อย่างแท้จริง...