posttoday

‘ภาพหลายมิติ’เพศที่สามในหนังในละคร

06 กันยายน 2555

ในยุคที่ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือละครเวที เริ่มมีความหลากหลายทางเพศของตัวละครมากขึ้น เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีลีลาท่าทางและภาษาที่แซ่บเวอร์

โดย...จตุรภัทร หาญจริง

ในยุคที่ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือละครเวที เริ่มมีความหลากหลายทางเพศของตัวละครมากขึ้น เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีลีลาท่าทางและภาษาที่แซ่บเวอร์ ที่เราเรียกกันจนติดปากว่า“กะเทย”หรือ“เกย์”ได้โผล่พ้นขึ้นมาหายใจทางหน้าจอมากขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ที่ลีลาท่าทางและการใช้ภาษาของพวกเขา กลายเป็นภาพจำและความคุ้นชินของคนดูไปเสียแล้ว

ทำให้เกิดคำถามสงสัยว่า คนดูจะมีโอกาสได้เห็น“ชีวิตอันหลากหลายมิติ”ของพวกเขาบ้างไหม และพวกเขาจะมีโอกาสได้เปิดเผยชีวิตหลากหลายมิติได้มากน้อยเพียงใด นี่คือคำถามที่เหวี่ยงกลับไปยังกลุ่มผู้จัดทำ (และกลุ่มคนดู) ที่ต้องช่วยกันค้นหาคำตอบ!

สำหรับละครโทรทัศน์ เราอาจจะเห็นชาวเกย์เป็นตัวสร้างสีสันของละคร ไม่เป็นเพื่อนนางเอก ก็เป็นเพื่อนตัวอิจฉา ไม่ก็เป็นคนใช้เพียงแค่นั้น แต่เมื่อชาวเกย์ในสังคมจริงเริ่มมีตัวตนมากขึ้น เกย์ในละครเลยเขยิบบทบาทเป็นตัวเดินเรื่องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย คนดูเลยได้เห็นมิติอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความนึกคิด จิตใจ ความรัก ความสัมพันธ์ และความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างใน

รักแปดพันเก้าที่เราได้เห็นมิติอันหลากหลายของคู่รักเกย์ ชื่อจอนและทีที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเป็นดารานักแสดงของจอนที่ต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง และครอบครัวของจอนที่กีดกันทีต่างๆ นานา ทำให้เขาทั้งคู่ต้องฝ่าฟันเพื่อให้ได้อยู่ด้วยกันอย่างคู่รักทั่วๆ ไปในสังคม

‘ภาพหลายมิติ’เพศที่สามในหนังในละคร

 

เช่นเดียวกับก้องบดินทร์กับพีรวิชญ์จากละครเรื่องพรุ่งนี้ก็รักเธอที่โดยสภาพของตัวละครนั้น ฝ่ายหนึ่ง (ก้องบดินทร์) พยายามปิดบังความเป็นเกย์ของตัวเองมาตลอด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง (พีรวิชญ์)ก็ตามตื๊อ จนก้องบดินทร์ใจอ่อนยอมแอบคบหาด้วย แต่เมื่อพี่ชายของพีรวิชญ์จับได้ว่าทั้งคู่คบหากัน เขาโกรธจัดจนตั้งใจขับรถชนคนทั้งคู่ แต่ก้องบดินทร์ผลักพีรวิชญ์ออก ทำให้ได้รับบาดเจ็บต้องพิการตลอดชีวิต ก้องบดินทร์ตัดสินใจบอกเลิกพีรวิชญ์ เพราะไม่อยากให้เขาต้องเป็นทุกข์

หรือเรืองยศจากละครเรื่องมงกุฎดอกส้มที่มีความเป็นเกย์ (สาว) อยู่ในตัวสูง มีอารมณ์ความรู้สึกหึงหวงในแบบของผู้หญิง แต่เนื่องจากอยู่ในบริบทของสังคมไทยที่ยังไม่เปิดโอกาสให้ได้เผยตัวตนอันแท้จริง ทำให้เรืองยศต้องเก็บงำความรู้สึกรักเพื่อนของตัวเอง (ก้องเกียรติ) ไว้ในใจ

ยังมีละครเรื่องน้ำตาลไหม้ที่ตัวละครชื่อตาวเกย์ควีน นักเรียนนอก ลูกผู้ดี ที่ต้องหาผู้หญิงมาแต่งงาน เพราะกลัวพ่อแม่รับไม่ได้ที่ตัวเองเป็นเกย์ (แต่ก็แอบปรนเปรอเงินให้เด็กหนุ่มที่หล่อล่ำ ที่คิดหวังปอกลอกเงินจากตาวเพียงแค่นั้น) แต่ก็ถือได้ว่าตาวคือตัวละครสำคัญในเรื่อง ที่ทำให้เรื่องราวดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ

เรื่องราวของเกย์ในละครโทรทัศน์ สะท้อนภาพของเกย์ในสังคมได้อย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นคู่เกย์ที่รักกัน แต่ต้องปิดบังสังคม หรือปิดบังสังคมด้วยการแต่งงานกับผู้หญิงบังหน้า แต่แอบเลี้ยงต้อยเด็กหนุ่มไว้ หรือแอบรักเพื่อนสนิทจนต้องเก็บกด เพราะต้องทนเห็นคนที่ตัวเองรักทำหวานใส่ผู้หญิง แต่โวยวายไม่ได้ หรือความรักที่ถูกครอบครัวกีดกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้เห็นได้ว่า คนที่เป็นเกย์ต่างประสบปัญหาภาวะบีบคั้นจิตใจ ที่สังคมเปิดที่ทางให้เขาได้ยืนหายใจอย่างมีความสุขได้“แคบ”เหลือเกิน

‘ภาพหลายมิติ’เพศที่สามในหนังในละคร

คนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องIt Gets Betterไม่ได้ขอให้มารักคงได้พบกับเรื่องราวของดินเด็กมัธยมที่พ่อจับได้ว่าเป็นกะเทย เลยมัดมือชกให้บวชเณรแล้วส่งไปอยู่วัดในชนบท โดยหวังว่าจะช่วยให้เขากลับมาเป็นผู้ชายได้ แต่เณรดินก็ได้พบกับหลวงพี่แสงพระพี่เลี้ยงที่ดูแลเอาใจใส่เณรดินเป็นอย่างดี จนทำให้เณรดินเกิดความรู้สึกพิเศษ แต่เณรดินก็ต้องพยายามสะกดความรู้สึกของตัวเองไว้ เพราะอยู่ในผ้าเหลือง

ภาพยนตร์เรื่องเพื่อน...กูรักมึงว่ะโศกนาฏกรรมความรักระหว่างเมฆมือปืนหนุ่ม กับอิฐชายหนุ่มที่รู้สึกเหมือนมีอะไรขาดหายไปในชีวิตรักของเขา กับผู้หญิงที่เขากำลังจะแต่งงาน เป็นความบังเอิญที่ทำให้เมฆและอิฐต้องใช้ชีวิตด้วยกัน จนเกิดเป็นความรัก เลยเถิดเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แต่ด้วยภารกิจของเมฆ ทำให้เมฆต้องตัดใจจากอิฐ และเดินออกจากชีวิตอิฐไป สิ่งที่อิฐทำได้คือการเฝ้าตามหาเมฆ ผู้เป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตที่อิฐได้พบเจอแล้ว

ยังมีภาพยนตร์นอกกระแสเรื่อง“A Moment in Juneณ ขณะรัก”เรื่องราวของปกรณ์และพลคู่เกย์ที่ค้นพบว่าการใช้ชีวิตร่วมกันนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทั้งสองจึงตกลงที่จะแยกกันสักพัก และสัญญาว่าจะกลับมาเจอกันอีกครั้งที่สถานีรถไฟ

แม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามที่ถือเป็นจุดกำเนิดของความรู้สึกพิเศษของเด็กผู้ชายสองคน ที่อาจกลายเป็นหนทางสู่การเป็นเกย์เต็มขั้น ผ่านตัวละครมิวกับโต้งแต่ท้ายที่สุดเมื่อเด็กทั้งสองต้องเลือกทางเดินที่ชัดเจนของตัวเอง ต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง (ภายใต้การชี้นำของผู้ใหญ่) การเลือกหนทางเดินของเด็กทั้งสองคนนี้อาจทำให้ใครคนหนึ่งค้นพบ และใครอีกคนผิดหวังเสียใจ แต่เมื่อพวกเขาก้าวผ่านและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่ที่สุด

‘ภาพหลายมิติ’เพศที่สามในหนังในละคร

หน้าที่ของภาพยนตร์ คือ การสะท้อนปมชีวิต มุมมองความคิด และความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในใจของตัวละคร ทำให้ตัวละครสามารถฉายชีวิตอันหลากหลายมิติของตัวเองได้ละเอียดขึ้น และทำให้คนดูสะเทือนใจไปกับชีวิตที่พบเจอแต่ทางเลือกอันมืดมน โดยเฉพาะทางเลือกของเพศที่สาม ที่สังคมบีบบังคับให้ต้องอาศัยการปิดบังตัวตน หลีกหนีรสนิยมความรักแท้จริง เพื่อก้าวเดินไปบนทางที่สังคมเห็นว่าถูกว่าควร

กินรีสีรุ้ง เดอะมิวสิคัล (La Cage aux Folles)ละครเวทีที่ทำให้เราได้เห็นถึงความรักของคนเป็นพ่อกับแม่ อย่างจอร์จและอิซซี่ที่มีต่อต้นลูกชายที่ตัวเองไม่ได้คลอดออกมา แต่ทว่าก็รักอย่างไม่มีเงื่อนไข และเป็นความรักที่เพศสภาพก็ไม่อาจต้านทานเพศวิถีที่จอร์จกับอิซซี่ได้เลือกแล้ว“ถึงฉันจะเป็นเกย์ แต่ฉันก็เป็นพ่อและแม่ที่ดีให้กับลูกได้ ไม่แพ้ชายจริงหญิงแท้”

ละครเวทีเรื่องฉันผู้ชายนะยะ(ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีบรอดเวย์เรื่องBoys in the Bandของ มาร์ท ครอว์ลีย์) ที่นำเสนอแก๊งกะเทยเพื่อนยาก ที่มารวมตัวกันในงานวันเกิดของเต้ย แต่เรื่องราวเข้มข้นอยู่ตรงที่ตัวละครที่ชื่อมดกะเทยแอ๊บแมนที่มีความรู้สึกดีๆ ต่ออั้นแต่ไม่อาจแสดงตัวหรือแสดงอาการ หรือแสดงความรู้สึกที่จริงแท้ออกไปได้ นั่นเป็นเพราะกลัวต้องเสียความเป็นเพื่อนไปชั่วนิรันดร์

ขณะที่ละครเวทีฟอร์มเล็ก ที่นำเสนอความรักความผูกพันของเหล่าเพื่อนเกย์ อย่างThe Odd Couple(Queer Version) รักนะ...อีดอกที่เปิดทำการแสดงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. และจะสิ้นสุดการแสดงในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ณ เดโมเครซี เธียเตอร์ สตูดิโอ โดยเป็นผลงานการร่วมดัดแปลงบทและกำกับการแสดงโดยพันพัสสา ธูปเทียนอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าให้ฟังว่า สำหรับเวอร์ชันนี้เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของชาวเกย์หลากหลายรูปแบบที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความรักและความเข้าใจของเพื่อนเป็นพลังที่สำคัญในชีวิต

“เราค้นพบว่ากลุ่มเกย์ค่อนข้างเหนียวแน่นกันมาก เพราะชีวิตของพวกเขามีความโดดเดี่ยวซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในใจ รวมทั้งชีวิตไม่ได้ปลอดภัยมากนัก บั้นปลายชีวิตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ คนที่เรารักในวันนี้ จะเชื่อใจหรือยึดให้อยู่กับเราได้นานแค่ไหน เราก็ไม่รู้ หรือแม้กระทั่งพื้นฐานของครอบครัว จะมีสักกี่ครอบครัวที่โอบอุ้มเขาอย่างที่เขาเป็น พอเขาเป็นแบบนี้ บางทีก็ทำให้เกิดช่องว่าง ดังนั้นพวกเดียวกันจึงเข้าใจกัน และทำให้แน่นแฟ้นกันมาก เรารู้สึกว่าตรงนี้มันดีจังเลย”

‘ภาพหลายมิติ’เพศที่สามในหนังในละคร

พันพัสสา มองว่า บทบาทของเกย์ในบ้านเรา ในแง่ของศิลปะการแสดง ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในบทบาทสร้างสีสันให้กับเรื่องราว มากกว่าเป็นตัวเดินเรื่อง หรือดรามา หรือซีเรียสจริงจังกับชีวิต

“ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ที่เด่นชัดของความเป็นเกย์ อยู่ตรงกลางระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เป็นส่วนผสมที่ให้เซนส์ของความตลก เขามีเซนส์ของผู้หญิง แต่ก็มีความห้าวห่ามของผู้ชาย ทำให้กล้าทำโน่นทำนี่ได้ อีกทั้งคนดูในบ้านเราชอบดูละครคอมมิดีมากกว่าดรามา ดังนั้นผู้จัดส่วนใหญ่มักจะเพลย์เซฟตัวเองให้ปลอดภัยที่สุด เขาเลยขายความเป็นเกย์ในรูปแบบคอมมิดี ตลกโปกฮาก๋ากั่น”

พันพัสสา บอกอีกว่า โดยธรรมชาติของคนไทย เหมือนจะยอมรับ แต่ก็เป็นการยอมรับแบบประนีประนอมกับทุกความต่างที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงความเป็นเกย์ด้วย“แต่การยอมรับของเขาก็มีลิมิต เช่น ฉันมีให้เธอแค่นี้นะ ถ้าเยอะกว่านี้ไม่รับนะ ฉันยอมรับเธอนะ แต่ก็อย่าล้ำเส้นนะ ฉันจัดวางเธอไว้แบบนี้ ถ้าไม่ใช่แบบนี้ ฉันก็จะโวยนะ

จริงๆ แล้ว ด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นเกย์ สิ่งที่เขาแสดงออกมามันน่ารัก เพราะฉะนั้นคนไทยไม่ได้เทกเขาแบบว่ารังเกียจหรอก แต่เทกเขาอย่างที่เขาน่ารัก แต่ถ้าเขาไม่ใช่แบบน่ารัก แต่เป็นอย่างอื่น คนไทยก็จะกระอักกระอ่วน หรือถ้ามีเกย์ที่ดรามา โหด หรือเหวี่ยง ก็จะถูกผลักออกไปโดยทันที”

กลุ่มกะเทย หรือเกย์ก็เป็นคน นอกจากมีมุมที่สนุกสนานเบิกบานใจแล้ว พวกเขาก็มีมิติอื่นๆ เหมือนคนทั่วไปนั่นแหละ