posttoday

แกรมมี่ ณ ยูทูบ และคนฟังเพลง เรื่องไม่บันเทิง...ที่ยังบันเทิง

18 สิงหาคม 2555

ในฐานะคนฟังเพลง หากมีช่องทางไหนที่สามารถเข้าถึงมิวสิกวิดีโอเพลง ทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ (ได้แบบฟรีๆ) ช่องทางที่ว่าคือสวรรค์บนดิน

โดย...จตุรภัทร หาญจริง


ในฐานะคนฟังเพลง หากมีช่องทางไหนที่สามารถเข้าถึงมิวสิกวิดีโอเพลง ทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ (ได้แบบฟรีๆ) ช่องทางที่ว่าคือสวรรค์บนดิน ที่สร้างความสุขความบันเทิงให้กับคนฟังเพลงได้อย่างไร้ขีดจำกัด แต่เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์เริ่มกั้นรั้วไม่ให้คนเข้าถึงมิวสิกวิดีโอเพลงแบบฟรีๆ เรื่องบันเทิงจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่บันเทิงอีกต่อไป (แง...)

จากกรณีที่ กริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายธุรกิจเพลง) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แถลงข่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องถอดมิวสิกวิดีโอเพลงของแกรมมี่ออกจากยูทูบ เนื่องจากทั้งเพลงและมิวสิกวิดีโอเพลงล้วนมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ที่ต้องมีรายรับเข้ามา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนฟังเพลงสามารถฟังเพลงในยูทูบได้ หรือแม้กระทั่งดาวน์โหลดมิวสิกวิดีโอเพลงเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือสมาร์ตโฟนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

กรณีนี้สวนทางกับรายรับของคนทำงานเพลง ที่ทำเพลงแต่ไม่มีรายได้เข้ามา อีกทั้งประเทศไทยไม่มีธุรกิจกับยูทูบ เพราะเกิดปัญหาในข้อกฎหมายทางไอซีที ยูทูบเลยยังไม่สามารถเปิด youtube.co.th ในเมืองไทยได้ จึงไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกัน และแบ่งรายได้แบบวินวิน แกรมมี่จึงต้องหาทางออก ด้วยการนำมิวสิกวิดีโอเพลงทั้งเก่าและใหม่เผยแพร่ในเว็บไซต์ gmember.com ที่กำลังปรับระบบให้ดูให้ฟังได้เทียบเท่ายูทูบ แต่ยังคงใช้ยูทูบเป็นช่องทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ

แกรมมี่ ณ ยูทูบ และคนฟังเพลง เรื่องไม่บันเทิง...ที่ยังบันเทิง

 

สวนทางกับแนวคิดของ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาร์เอส ที่ยืนยันว่า ยังคงเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลงจากทุกค่ายของอาร์เอสผ่านทางยูทูบ เพราะเห็นข้อดีที่มีส่วนสนับสนุนในธุรกิจเพลงอยู่ “เราต้องยอมรับว่ายูทูบเป็นช่องทางที่แฟนๆ จะได้มาสัมผัสกับผลงานของศิลปินแบบใกล้ชิด สะดวก รวดเร็ว และง่ายดาย แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจเพลงของอาร์เอส หรือไม่ว่าค่ายไหนๆ ก็ตาม

ปัญหาตรงนี้เรากำลังคิดหาวิธีแก้ไขจัดการอยู่ เอาเป็นว่าหน้าที่ของค่ายเพลงคือยังต้องผลิตผลงานเพลงดีมีคุณภาพ เพื่อป้อนสู่คนฟังต่อไป ส่วนหน้าที่ของยูทูบ ก็เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานดีๆ ที่เราตั้งใจทำสู่คนฟังอย่างใกล้ชิด ส่วนหน้าที่ของธุรกิจ ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ เพื่อให้สามารถดำเนินต่อไปได้”

ด้านค่ายเพลงค่ายเล็กอย่าง เลิฟอีส ภายใต้การบริหารงานโดย บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ ให้ทัศนะไว้ว่า สำหรับค่ายเพลงค่ายเล็กที่ไม่ได้มีช่องทางเผยแพร่ ไม่มีรายการทีวีมากมายเหมือนค่ายใหญ่ ยูทูบจึงเป็นช่องทางที่มีความสำคัญ “เรามีเลิฟอีส แชนแนล ที่ยูทูบเลย ซึ่งมันเอื้อต่อการโปรโมตเพลงเป็นอย่างดี

ตอนนี้เลิฟอีสเน้นการทำเพลงเป็นซิงเกิล เพื่อให้ดาวน์โหลดมากกว่าออกเป็นอัลบั้ม ยูทูบทำให้ซิงเกิลที่ออกไปเข้าถึงคนฟังได้เร็ว พอเร็วก็จะทำให้คนเข้ามาดู หากยอดวิวของแต่ละเพลงมีสูง ยอดดาวน์โหลดก็จะสูงตามมา อีกทั้งเรายังหารายได้จากการนำศิลปินที่ออกเพลงเป็นซิงเกิลไปร้องเพลงฮิตของเขาตามคอนเสิร์ต หรืออีเวนต์ ซึ่งทำให้ศิลปินมีรายได้ ค่ายเพลงก็อยู่ได้ และคนทำงานเพลงยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้”

แกรมมี่ ณ ยูทูบ และคนฟังเพลง เรื่องไม่บันเทิง...ที่ยังบันเทิง

 

ย้อนกลับไปที่ฝั่งแกรมมี่ หากลองมองให้ดี จะพบว่าวิธีคิดในการถอดเอ็มวีออกจากยูทูบ แล้วชี้นำให้คนฟังเพลงเข้าไปในเว็บไซต์ gmember.com นั้น เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะเมื่อคนฟังเพลงเข้าไปในเว็บไซต์นี้ อย่างน้อยก็ได้ดูได้ฟังเพลง ได้อัพเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งของตัวศิลปิน คนทำงานเพลง คอนเสิร์ต และกิจกรรมดีๆ ที่ผลักดันให้คนฟังเพลงอยากจะเสียตังค์ดาวน์โหลดเพลง ซื้อซีดีเพลง หรือซื้อวีซีดีคาราโอเกะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งซื้อบัตรชมคอนเสิร์ต (ที่เป็นรายได้มหาศาลของคนทำงานเพลง) เรียกได้ว่า เว็บไซต์ที่แกรมมี่พัฒนานั้น เป็นวันสต็อปช็อปปิ้งกันเลยทีเดียว แกรมมี่ยังตั้งใจทำทุกวิถีทางให้เพลงมีคุณค่าทางใจต่อคนฟังเพลงให้ได้มากที่สุด เพราะรู้ว่า เมื่อคนรักและศรัทธาสิ่งใด ก็พร้อมจะเสียเงินซื้ออย่างไม่มีเงื่อนไข

หากมองในมุมของผู้ผลิต นี่คือวิธีการเพิ่มพูนรายได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากเพลงหนึ่งเพลงมีต้นทุนมากมาย ที่ต้องแจกจ่ายไปทั้งคนเขียนเพลง คนทำทำนอง คนเรียบเรียง นักร้อง นักดนตรี คอรัส โปรดิวเซอร์ ฯลฯ โดยเฉพาะเมื่อมีการผลิตเป็นมิวสิกวิดีโอก็ยิ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก

แต่ถ้ามองในมุมของผู้บริโภค ก็มีแสดงทัศนะอย่างหลากหลาย บ้างก็บอกอย่างไม่แอ๊บ... “โดยส่วนตัวจะหาดาวน์โหลดเพลงตามแหล่งที่มีให้โหลดฟรี แต่ถ้าเป็นศิลปินที่ติดตามผลงานจริงจัง และเขามีคอนเสิร์ตก็จะซื้อบัตรไปดู ส่วนเหตุผลที่ไม่ซื้อซีดี เพราะพอมีให้ดาวน์โหลดก็ไม่อยากซื้อแล้ว เพราะซื้อไว้ก็กองๆ ทิ้งไว้ ของเก่าๆ ที่เคยซื้อก็ต้องโละทิ้ง เพราะไม่ได้สะสมเป็นกิจจะลักษณะ” บ้างก็ว่าผู้บริโภคจะซื้อซีดีแผ่นแท้มาก็ต่อเมื่อเขาคลั่งไคล้ หรือเป็นแฟนคลับที่รักศิลปินจริงๆ เท่านั้น “ส่วนเพลงทั่วๆ ไปที่ฟังตามกระแส ไม่ซื้อ เสียดายเงิน ส่วนใหญ่ก็ดาวน์โหลดเอา ถ้าไม่มีให้ดาวน์โหลด หรือให้ดูมิวสิกวิดีโอผ่านทางยูทูบ ก็เฉยๆ นะ ไม่ฟังไม่ดูก็ได้ ไม่แคร์เท่าไหร่” หรือ.. “จริงๆ ชอบซื้อซีดีมาฟัง ส่วนในยูทูบก็แค่เข้าไปลองฟังดูว่า เพลงเพราะมั้ย อยากเข้าไปฟังก่อนว่าถูกใจหรือเปล่า ถ้าถูกใจก็ซื้อ” บ้างก็บอกว่า “ถ้าหากฟังแล้วชอบแค่เพลงเดียว ก็ดาวน์โหลด แต่ถ้าชอบหลายเพลงก็ซื้อซีดีแผ่นแท้เก็บไว้สะสม ส่วนแผ่นเอ็มพี 3 เลิกสนใจนานแล้ว เพราะคิดว่า การอุดหนุนที่ถูกวิธีจะเป็นการสนับสนุนแล้วให้กำลังใจมากกว่า ในส่วนของยูทูบ ก็เป็นแค่ช่องทางในการฟังตัวอย่างเพลงเท่านั้น”

แกรมมี่ ณ ยูทูบ และคนฟังเพลง เรื่องไม่บันเทิง...ที่ยังบันเทิง

 

ทัศนะของผู้บริโภคสรุปได้ว่า หากพวกเขารัก ชอบ ศรัทธาในตัวศิลปิน พวกเขาก็ยินดีเสียสตางค์ซื้อหา ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

กรณีของอัลบั้ม คลับ ฟรายเดย์ เบส ออน ทรู สตอรี บาย เอิ้น พิยะดา คืออัลบั้มที่ใช้ประโยชน์จากยูทูบได้อย่างคุ้มค่าที่สุด หัวเรือใหญ่อย่าง ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา และฟันเฟืองสำคัญอย่าง หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ ต่างก็ยอมรับในประโยชน์นี้ “การทำเพลงแค่หนึ่งเพลงในยุคสมัยนี้ ถ้าไม่มีช่องทางเผยแพร่ที่เข้าถึงกลุ่มคนฟังได้อย่างแท้จริง ก็ยากที่จะทำให้เพลงเป็นที่รู้จักได้โดยเร็ว แต่เพลงและมิวสิกวิดีโอเพลงก็ต้องทำหน้าที่ของมันให้ดีที่สุด และเข้าถึงหัวใจคนให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน จึงจะทำให้เพลง (รวมทั้งอัลบั้ม) ประสบความสำเร็จ

หรือกรณีของกลุ่มศิลปินน้องใหม่มาแรงอย่าง วัชราวลี ยูทูบคือช่องทางเผยแพร่ผลงานเพลง ที่ทำให้พวกเขาเกิดและเติบโตจนเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลงได้โดยไม่ต้องพึ่งสื่อกระแสหลักแต่อย่างใด

เมื่อช่องทางการเผยแพร่ “แบบฟรีๆ” (แต่ไม่ได้ฟรีในแง่การผลิต) อย่างยูทูบ กำลังเป็นประเด็นลักลั่นในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ หากทุกคนมองอย่างเป็นกลาง ยูทูบยังคงเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ได้อย่างดีเยี่ยม แต่หากยังอยากให้เรื่องบันเทิงยังคงเป็นเรื่องบันเทิงอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องเศร้าใจกับการมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง “เข้าใจเขา เข้าใจเรา” น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด

หากคนฟังเพลงไม่ทำร้ายคนทำเพลงด้วยการ “ลักลอบ” แต่ถ้า “ชอบ” ก็เสียเงินดาวน์โหลด หรือซื้อซีดีแผ่นแท้เพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำเพลงมีเงินทุนในการทำเพลงที่ใช่ เพลงที่โดน เพลงที่เพราะ และมีคุณภาพต่อไป ส่วนคนทำเพลง (ไม่ว่าค่ายเล็กหรือค่ายใหญ่) เมื่อได้เงินจากคนฟังมาแล้ว ก็ต้องใช้เงินจากคนฟังให้คุ้มค่ามากที่สุด หยุดผลิตผลงานเพลงแบบดูถูกคนฟัง หรือไม่ทำให้เพลงกลายเป็นสินค้าขยะชิ้นหนึ่ง ที่ไม่มีคุณค่าทางใจใดๆ จนคนฟังไม่อยากเสียตังค์ซื้อ (อย่าลืมว่าเงินทองหายากขึ้นทุกปี)

นี่อาจเป็นหนทางสู่การทำให้วงการเพลงยังเดินทางต่อไปได้โดยไม่ล่มสลาย (อย่างที่กลัวๆ) เร็วกว่าที่คิด!

แกรมมี่ ณ ยูทูบ และคนฟังเพลง เรื่องไม่บันเทิง...ที่ยังบันเทิง