posttoday

ส.ปาลกะวงศ์ คนเลี้ยงมด

28 พฤศจิกายน 2554

“ส.ปาลกะวงศ์” คือนามปากกาของ “สราวุธ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” เจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้น

โดย...มัทรียา

“ส.ปาลกะวงศ์” คือนามปากกาของ “สราวุธ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” เจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้น “คนเลี้ยงมด” มดตัวที่เขาเลี้ยงเป็นอย่างไร...

“มดที่ตัวละครของผมเลี้ยงเอาไว้ก็คือคำว่า ‘กิเลส’ ที่สื่อไปถึง ‘อำนาจ’ แล้วถูกนำมาล้อเลียนไปในทำนองว่า ไม่ว่ามดจะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ก็แพ้ความตาย เพราะฉะนั้นเมื่อตัวละครคิดจะฆ่าตัวตาย มดจึงยอมแพ้ แต่มันก็ยังสื่อไปได้อีกหลายๆ อย่าง เพราะมันเป็นความรู้สึก เป็นความปรารถนา และอารมณ์ความคิดที่แฝงฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำไปตีความอย่างไร ก็ขอให้มดมันเป็นเพียงแค่ ‘กิเลส’ เท่านั้น มดที่ใครก็สามารถเลี้ยงได้ ไม่จำเฉพาะแต่ตัวละครในเรื่อง และเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘เมตามอร์โฟซิส’ ของ ‘ฟรันซ์ คาฟกา’ ตรงในเรื่องเมตามอร์โฟซิสเขาให้มนุษย์กลายร่าง แต่ในเรื่องนี้ผมปล่อยให้มด ‘กลายร่าง’ ไปเรื่อยๆ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่มันไร้ตัวตน อันเป็นสัญลักษณ์ที่มันชอบแฝงฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์อย่างเราๆ นี่แหละ”

ทั้ง 12 เรื่องสั้นในคนเลี้ยงมด ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนความหมายที่ต้องการนำเสนอ “การใช้สัญลักษณ์ในการเขียน ก็คือการเลี่ยงที่จะไม่เขียนอะไรออกไปตรงๆ แต่บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับความสนุกของคนเขียน เราสนุกที่จะเขียนถึงสัญลักษณ์ เราก็เอาสัญลักษณ์มาเขียน ถ้าเราไม่ใช้สัญลักษณ์ เราก็ต้องจับเอาตัวละครมาตีกันในรูปแบบต่างๆ เมื่อตีกันมากๆ ให้เกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ความคิดหรืออะไร บางที

ส.ปาลกะวงศ์ คนเลี้ยงมด

มันอาจทำให้เรื่องซ้ำ เขียนไปบ่อยๆ มันก็จะกลายเป็นความเบื่อหน่าย ไม่สนุกต่อตัวคนเขียน ก็เลยต้องเอาสัญลักษณ์มาใช้บ้าง ส่วนจะให้มันเป็นสัญลักษณ์เต็มรูปแบบ หรือไม่เต็มรูปแบบก็แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่อารมณ์ความรู้สึกที่เราอยากจะถ่ายทอดออกไปในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ได้ไปกำหนด หรือว่าต้องตีตารางว่าฉันจะต้องเขียนสัญลักษณ์แบบนี้ แล้วไปต่อสัญลักษณ์แบบนั้น เพื่อที่ฉันจะได้กลายเป็นนักเขียนแนวสัญลักษณ์ ไม่ใช่ ไม่ใช่แบบนั้น พูดง่ายๆ ถ้ามันมามันก็มาของมันเอง เมื่อมันมาแล้วเราก็สนุกกับมันไปตามเรื่อง ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกในห้วงเวลานั้น”

สราวุธ เขียนเรื่องสั้นมาแล้วจำนวนมาก และได้รับการตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ เกือบร้อยเรื่อง มีผลงานรวมเล่มเรื่องสั้น 2 เรื่อง คือ “ที่เห็นและเป็นอยู่...” และเล่มล่าสุด “คนเลี้ยงมด” ทั้ง 2 เล่ม คัดเรื่องสั้นจากผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วทั้งนั้น ซึ่งเรื่องล่าสุดเขาได้มีโอกาสเป็นคนคัดเลือกเองด้วย “ทั้ง 12 เรื่อง มีความเป็นเอกเทศในตัว สิ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ในคราบของตัวละครที่เฝ้ามองความเป็นไปของสังคม แล้วมันเกิดความขัดแย้งทางอารมณ์ขึ้นมา แต่ไม่ได้ตอกย้ำ เพียงแต่ต้องการจะล้อเลียนมากกว่า”

สิ่งที่ สราวุธ ต้องการนำเสนอในผลงานเรื่องสั้นของเขา “พฤติกรรมด้านในของมนุษย์ที่มันปราศจากตัวตน อย่างที่เขาเรียกกันว่า หนังสือเล่มในของตัวละคร ซึ่งนั่นก็คือความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตัวละครที่มีต่อสังคม ต่อคนรอบข้าง ให้มันเป็นแนวนามธรรม หรือไม่ก็ออกไปทางเสียดเย้ยว่าถ้าหากเขาไปเจอสภาวะเช่นนี้ เขาจะคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เขาจะแสดงออกหรือเก็บกดมันไว้ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ แต่มันยากอยู่นะ กับการจะให้เจาะลึกลงไปถึงความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตัวละคร เนื่องจากมันไม่มีตำราตายตัว เราต้องไปเจอะเจอมันเข้ากับตัวเอง เราจึงจะเข้าถึงมันได้ ซึ่งบางครั้งแม้เราจะเจอะเจอมันเข้ากับตัวเอง แต่เราก็ไม่เข้าใจมัน ไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ว่าทำไมเดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย ทำไมมันจึงไม่ยอมสงบแล้วหยุดนิ่ง”

ผลงานที่ผ่านๆ มามีแต่เรื่องสั้น จนถูกขนานนามว่านักเขียนเรื่องสั้น แต่ทว่างานนิยายก็เป็นแนวทางที่ สราวุธ ชอบและอยากเขียน “ที่จริงฝึกเขียนนวนิยายมาก่อน และตอนนี้ก็ยังคิดที่จะเขียนนวนิยายอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรมันจะสำเร็จ รู้สึกว่ามันยาก ใช้เวลานานถึงนานมาก พอเขียนเรื่องสั้นได้ก็เขียนมันไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เขียนจนกระทั่งเกิดความรักกับเรื่องสั้น เราก็เลยดูเหมือนสนใจเรื่องสั้นเป็นพิเศษ แต่กับเรื่องสั้นมันเหมือนเป็นทางของเราไปแล้ว ทางที่เราไม่มีวันรู้ว่าก้าวสุดท้ายของการเขียนเรื่องสั้นมันอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าก่อนที่จะถึงก้าวสุดท้าย ฉันยังต้องเขียนมันอยู่ แล้วมันก็มีเสน่ห์แบบว่าเรื่องสั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้แต่ในห้องสุขา”