posttoday

ความลับในผ้าห่อศพ

28 กันยายน 2554

นี่ไม่ใช่ผ้าธรรมดาที่เห็นปกติทั่วไป เพราะมันคือ “ผ้าห่อศพ” ที่ซุกซ่อนความลับให้ค้นหาอีกตั้งมากมาย

โดย...วิชช์ญะ ยุติ

นี่ไม่ใช่ผ้าธรรมดาที่เห็นปกติทั่วไป เพราะมันคือ “ผ้าห่อศพ” ที่ซุกซ่อนความลับให้ค้นหาอีกตั้งมากมาย

เมื่อเท้าเราแหย่เข้าไปในห้องโถงแห่งนั้น อันเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานที่ใช้ชื่อสั้นๆ ว่า Shroud ความตื่นเต้นระคนกับอาการหนาวๆ ร้อนๆ ก็บังเกิดขึ้นอย่างทันควัน

อาจเพราะความหมายตรงตัวของ Shroud ก็คือ ผ้าห่อศพ เราฐานะผู้ไม่สันทัดเรื่องศพ ความตาย และเรื่องลี้ลับ จึงต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงไม่ใช่น้อย

ความลับในผ้าห่อศพ

ชุดทหารแขวนพระเครื่อง พระเครื่องใส่คอสตูมด้ายถัก ศาลพระภูมิทำจากถุงสีรุ้ง ยันต์นำโชคขนาดยักษ์ พระพุทธรูปโมบายเชือกป่าน นี่เป็นเมนหลักของนิทรรศการที่ “จักกาย ศิริบุตร” ภูมิใจนำเสนอ

จักกาย ยอมรับว่าเป็นการจัดแสดงผลงานที่ค่อนข้างพลิกโฉมหน้าของเขาไปมาก ก่อนหน้าจำได้จะมีไม่กี่ชิ้น แต่ครั้งนี้แฟนๆ จะได้จุใจถึง 17 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นตื่นตาตื่นใจด้วยการจัดวางที่ดูมีมิติชวนสัมผัส นั่นทำให้เป็นนิทรรศการที่ท้าทายสำหรับเขา นำมาซึ่งความตื่นไหวพอสมควร จากความใหญ่และความแปลกของพื้นที่ (ที่เรากำลังยืนเหวอๆ อยู่นั่นไง)

“มันใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอลเลยล่ะครับ แล้วผมเองก็ไม่เคยนำงานขึ้นผนัง ส่วนใหญ่จะวางกองๆ กับพื้น ก่อนที่จะมาติดตั้งผมก็ยังนึกภาพไม่ออกว่ามันจะออกมายังไง ก็ตามสไตล์การทำงานของผมแหละ คือจะไม่ค่อยเคลียร์กับความคิดตัวเองหรอก และพร้อมจะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้าเกิดว่ามันไม่ใช่”

ความลับในผ้าห่อศพ

ทั้ง 17 ชิ้นจะเชื่อมโยงความนึกคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยตัวชิ้นงานจะถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าที่มีนัยในตัวเอง ทว่าก็ไม่ยากนักที่จะตีความหมายจากสิ่งเหล่านั้นที่ซุกซ่อนไว้ ความลับและความจริงจะค่อยๆ เผยออกมาผ่านวัสดุที่เราคุ้นชิน

แม้จะใช้ชื่อนิทรรศการโต้งๆ ว่าผ้าห่อศพ แต่ศิลปินก็หาได้นำผ้าศพจริงๆ มาทำเป็นชิ้นงานเลย เขาเพียงแค่หยิบยื่นเพื่อต้องการสื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหมายเชิงนัยที่แฝงไว้ในตัวชิ้นงานต่างหาก

“คำว่าผ้าห่อศพผมว่ามันคือการปกคลุม ซึ่งมันก็เหมือนสังคมไทยนะ ที่พยายามจะปกปิดห่อหุ้มปกคลุมบางสิ่งบางอย่างไว้ สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด อาจจะแค่ผิวๆ ที่ถูกเผยออกมา ที่เหลือยังถูกปกปิดไว้ให้เกิดความคลุมเครือต่อไป”

ความลับในผ้าห่อศพ

ผลงานที่จักกายสร้างสรรค์ขึ้น ไม่มีเจตนาจะไปกระทบกระเทียบใคร หรือกระแทกแดกดันความเชื่อความศรัทธาของใคร เขายืนยันอย่างนั้น และเขาเองก็ยังไม่ลืมสอดแทรกเรื่องผ้าที่เคยปรากฏในนิทรรศการชุดก่อนๆ ผ้าถูกนำมาถักทอด้วยสองมือของเขาผสมผสานแนวคิดการปกปิดความจริง จนก่อเกิดเป็นคอนเซปต์ผ้าห่อศพ

“ผมก็ยังให้ความสำคัญของผ้าอยู่นะ เพียงแต่ว่าผมพยายามจะทำให้มันเป็นมากกว่า 2 มิติ อย่างครั้งนี้ก็เป็นงาน 3 มิติ ที่เอาเทคนิคที่เรียบง่ายที่สุด เทคนิคแบบขวัญเรือนมาก ซึ่งป้าๆ ยายๆ ทำกัน คือการใช้เข็มกับด้ายนี่ละ มาต่อยอดให้เป็นแต่ละชิ้นงาน”

ผ้าห่อศพผืนนี้ ถ้าพิจารณาให้ลุ่มลึก ก็จะพบว่ามันเต็มไปด้วยการเสียดสีการเย้ยหยันคนไทยและสังคมไทยได้อย่างแสบสัน เจ็บๆ คันๆ มันส์ๆ ขณะดียวกัน ก็ยังยั่วล้อและยอกย้อนความรู้สึก ทั้งเรื่องความเชื่อและพลังศรัทธา เหมือนเป็นการจงใจกระทุ้งศอกใส่สีข้างพวกที่บ้าบอคอแตกในค่านิยมประหลาดๆ โดยหลงคิดว่าสิ่งที่ไหว้ สิ่งที่นับถือ สิ่งที่บูชา นั่นคือความจริงและความสุขของชีวิต