posttoday

"ลุคอิซึม"ลัทธิใหม่บูชาความสวย

12 กันยายน 2554

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนที่มีหน้าตาดีนั้นจะได้รับการยอมรับและการปรนนิบัติจากคนในสังคมดีกว่ากลุ่มคนที่มีหน้าตาธรรมดา

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนที่มีหน้าตาดีนั้นจะได้รับการยอมรับและการปรนนิบัติจากคนในสังคมดีกว่ากลุ่มคนที่มีหน้าตาธรรมดา

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความคิดว่า กลุ่มคนหน้าตาสวยหล่อดุจหลุดออกมาจากเทพนิยาย เป็นกลุ่มคนที่ดูน่าสนใจ น่าคบหา น่าคุยด้วย หรือแม้แต่มีความรู้สึกอยากได้ “คนรู้ใจ” ที่มีหน้าตาดี เราขอแจ้งว่าพฤติกรรมทั้งหมดของคุณเข้าข่าย “ลุคอิซึม” (Lookism) หรือ ลัทธิใหม่ที่คนในสังคมจะเลือกปฏิบัติต่อกันโดยใช้รูปลักษณ์ภายนอกเป็นเกณฑ์ เช่น หากเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าตาสวยหล่อก็มักจะได้รับการปรนนิบัติและการยอมรับจากคนในสังคมเป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคนที่มีหน้าตาธรรมดาๆ ก็มักจะถูกคนในสังคมดูถูกเหยียดหยามและถูกมองข้ามไปโดยปริยาย

โดย “ลุคอิซึม” ถือเป็นประเด็นสุดฮอตในสหรัฐ จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันนับสิบคดีเลยทีเดียว

ดังที่เห็นได้จากเคสตัวอย่างของ เชอร์ลีย์ ไอวีย์ สาวใหญ่ชาวอเมริกันวัย 61 ปี ที่ได้ยื่นฟ้องอดีตเจ้านายใหญ่ในข้อหา “ลุคอิซึม” โดยเจ้าหล่อนอ้างว่า สาเหตุที่ต้องลาออกจากงานที่กระทรวงควบคุมและคุ้มครองผู้บริโภคในกรุงวอชิงตัน ก็เพราะต้องเผชิญกับความเครียดอย่างหนัก ภายหลังจากที่หัวหน้ากล่าวกับเธอว่า เขาคงจะชื่นชอบในตัวเธอมากกว่านี้ ถ้าเจ้าหล่อนสวยกว่านี้

"ลุคอิซึม"ลัทธิใหม่บูชาความสวย

โดย เดเนียล แฮมเมอร์เมช นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐมองว่า กลุ่มคนที่มีหน้าตาแย่ ก็ไม่ต่างอะไรกับการมีความบกพร่องทางร่างกาย เพราะคงไม่สามารถแก้ไขอะไรเพื่อทำให้หน้าตาดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และคงต้องทนอยู่กับหน้าตาแย่ๆ อย่างนี้ไปตลอดทั้งชีวิต ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ควรที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเฉกเช่นเดียวกับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย กลุ่มชนสัญชาติแอฟริกัน อเมริกัน และชนกลุ่มน้อยสัญชาติอื่นๆ เพื่อให้ได้รับความเท่าเทียมกันทางสังคม

“หน้าตาดี” มีชัยไปกว่าครึ่ง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนที่มีหน้าตาดีนั้นจะได้รับการยอมรับและการปรนนิบัติจากคนในสังคมดีกว่ากลุ่มคนที่มีหน้าตาธรรมดาๆ อย่างมาก

ผลการวิจัยของแฮมเมอร์เมช ชี้ว่าการมีหน้าตาหล่อสวยทำให้มีโอกาสพบเจอคู่ครองที่ร่ำรวย ได้รับโทษจำคุกหรือถูกปรับน้อยกว่า หรือแม้แต่จะได้ราคาประเมินที่ดีกว่าตลาด เมื่อไปจำนองบ้านกับธนาคารอีกด้วย

นอกจากนี้ การมีหน้าตาดียังมีผลให้คนคนนั้นมักจะได้รับการจ้างงาน ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า หรือได้พบเจอกับอุปสรรคด้านหน้าที่การงานน้อยกว่าคนที่หน้าตาแย่อีกด้วย

และเพื่อเป็นการพิสูจน์ทฤษฎี “หน้าตาดีได้งานทำ” กลุ่มนักวิจัยชาวสหรัฐจึงลงมือทำการทดลองจากสถานการณ์จริง ด้วยการจ้างเอมี และโดเนีย นักแสดงสาวมือสมัครเล่น 2 คน เพื่อส่งไปลองสมัครงานในบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐ โดยที่โดเนียเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตาสะสวยที่มาพร้อมกับหุ่นอวบอึ๋มเต็มขั้น ในขณะที่เอมีเป็นสาวน้อยหน้าตาธรรมดาๆ จนเกือบเข้าข่ายหน้าตาแย่

และเพื่อเป็นการพิสูจน์ให้ได้ผลที่แน่ชัด ทางนักวิจัยได้ติดกล้องสอดแนมเพื่อดูความเคลื่อนไหวภายในห้องสัมภาษณ์ให้เห็นกันแบบเต็มๆ ตาอีกด้วย

และแล้วผลลัพธ์ก็ออกมาตรงกับทฤษฎีเป๊ะ เมื่อพบว่า โดเนีย ซึ่งเป็นหญิงสาวที่มีหน้าตาและส่วนสัดดีกว่า ได้รับการดูแลจากฝ่ายบุคคลและเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์งานอย่างดีและเป็นกันเอง แถมทางบริษัทยังบอกโดเนียอีกว่า โดเนียสามารถพักรับประทานอาหารกลางวันได้นานเท่าไรก็ได้ ซึ่งขัดกับสิ่งที่บอกกับ เอมี หญิงสาวที่หน้าตาขี้เหร่ว่า ทางบริษัทมีข้อบังคับให้พนักงานสามารถพักกลางวันได้เพียง 45 นาทีเท่านั้น

และถึงแม้ว่าทางนักวิจัยจึงได้เขียนเรซูเม หรือประวัติการศึกษาและประสบการณ์ทำงานของทั้งสองสาวขึ้นมาใหม่ให้เหมือนกันเด๊ะทุกประการ แต่ก็ต้องกับอึ้งเมื่อพบว่า ทางบริษัทติดต่อกลับโดเนียเพียงคนเดียว เพื่อแจ้งว่าทางบริษัทมีความยินดีที่จะรับเข้าทำงานในทันที

เช่นเดียวกับเมื่อนักวิจัยได้ทำการทดลองเดียวกันโดยเปลี่ยนจากผู้สมัครหญิงเป็นผู้สมัครชาย ก็พบว่าผลลัพธ์ออกมาเหมือนกันทุกประการ คือ หนุ่มน้อยที่มีหน้าตาคมเข้มและมีหุ่นบึกบึนกล้ามปูกว่าชายหนุ่มอีกคน ถูกจ้างงานภายหลังจากสัมภาษณ์เสร็จในทันที

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ทดลองให้สาวสวยสองคนที่แต่งตัวเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ลองยืนขอความช่วยเหลือจากคนทั่วไป ด้วยการจอดรถไว้ริมถนนและบอกว่าน้ำมันรถหมด

ผลปรากฏว่ามีผู้ใช้รถใช้ถนนจอดรถสอบถามและเสนอตัวไปซื้อน้ำมันที่ปั๊มให้หญิงสาวคนที่หน้าตาดีกว่านับสิบคัน ในขณะที่มีคนเดินถนนเพียง 2-3 คนเดินมาบอกหญิงสาวหน้าตาบ้านๆ อย่างไร้ความรู้สึกว่า “ปั๊มน้ำมันอยู่ข้างหน้า เดินไปซื้อเองสิ”

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอล โดมิเนียน ให้เหตุผลถึงการเลือกคนเข้าทำงานโดยดูจากคนที่มีหน้าตาที่ถูกใจว่า เป็นกระบวนการตัดสินใจที่ได้รับอิทธิพลจากจิตใต้สำนึกของมนุษย์

"ลุคอิซึม"ลัทธิใหม่บูชาความสวย

เช่นเดียวกับผลการวิจัยของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจนเนอรัล สถาบันแพทยศาสตร์ของ ฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ซึ่งได้ศึกษาการทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ชาย พบว่า เมื่อมนุษย์ไม่ว่าหญิงหรือชายเห็นรูปของเพศตรงข้ามที่มีหน้าตาดีได้รูปมีเสน่ห์และมีรูปร่างได้สัดส่วน สมองส่วนที่แสดงความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเป็นสมองส่วนเดียวกับเมื่อคนที่กำลังหิวเห็นอาหาร นักพนันเห็นเงิน หรือคนที่ติดยาเห็นยาเสพติด จะเริ่มทำงานอย่างรุนแรงในทันที

หน้าตาดีแต่ฝีมือไม่เข้าขั้น...ดันดังกว่า

หากต้องยกตัวอย่างกลุ่มคนที่ได้ดี เพราะหน้าตา ชื่อของ แอนนา คูร์นิโควา นักเทนนิสสาวเจ้าของฉายา “นางฟ้าหน้าคอร์ต” ก็เข้ามาติดโผโดยปริยาย เพราะถึงแม้ว่าฝีมือการหวดลูกสักหลาดของเจ้าหล่อนจะไม่ได้โดดเด่น โดยรั้งอันดับแค่ที่ 37 ของนักเทนนิสหญิงเท่านั้น แต่ทว่า คูร์นิโควา ก็สามารถกระโดดขึ้นมาอยู่แถวหน้าในวงการเทนนิสจนเป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างรายได้มากกว่านักเทนนิสหญิงคนอื่นๆ ที่อยู่ในอันดับที่สูงกว่านับล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยหน้าตาสุดจิ้มลิ้มและทรวดทรงสุดเซ็กซี่ของเจ้าหล่อนนั่นเอง

อย่างนี้เข้าข่าย “ช่วยไม่ได้เกิดมาหน้าตาดี” ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็ “เสียของ” แย่เลย