posttoday

ระวัง! สร้างละครบิดบทประพันธ์

08 กันยายน 2554

โจษจันกันลั่นเมืองว่า “แม่มณี” แห่ง “ทวิภพ” เวอร์ชัน 2011 ดูแล้วหงุดหงิดไม่ได้ดั่งใจ

โจษจันกันลั่นเมืองว่า “แม่มณี” แห่ง “ทวิภพ” เวอร์ชัน 2011 ดูแล้วหงุดหงิดไม่ได้ดั่งใจ

โดย.. เสน่ห์จันทน์

โจษจันกันลั่นเมืองว่า “แม่มณี” แห่ง “ทวิภพ” เวอร์ชัน 2011 ดูแล้วหงุดหงิดไม่ได้ดั่งใจ ผิดเพี้ยนไปจากบทประพันธ์เหมือนทำมาจากคนละเล่ม แม่มณีนอกจากจะแก่นแก้วเป็นม้าดีดกะโหลก ยังใส่ความเป็นสาวสมัยใหม่ใจถึงเกินงาม จ้องคุณหลวงตาเป็นมัน สร้างความผิดหวังไปตามๆ กันสำหรับคนที่เคยอ่านบทประพันธ์ของนักเขียนนามอุโฆษ “ทมยันตี”

แต่สำหรับคอละครมิตรรักของช่อง 7 ที่ไม่เคยอ่านบทประพันธ์ต้นตำรับมาก่อน ทวิภพในเวอร์ชันนี้ซึ่งได้นักแสดงนำตัวเป้งของช่อง “แพนเค้กเขมนิจ จามิกรณ์” มาแสดงนำคู่กับ “อ๋อมอรรคพันธ์ นะมาตร์” ก็ครองเรตติ้งทะลุสิบเป็นอันดับต้นๆ ของละครหลังข่าวของช่องได้สมราคา คนดูยังเพลิดเพลินสนุกสนานกับความเป็นละครได้

ระวัง! สร้างละครบิดบทประพันธ์

 

การสวมใส่คาแรกเตอร์ใหม่ๆ ให้ดูร่วมยุคสมัยจะไม่แปลก ความตลกโปกฮาของบ่าวไพร่จะกระตุกต่อมฮาได้ตามนี้ หากละครทวิภพนี้จะไม่ใช่ละครที่เกิดจากบทประพันธ์เก่าแก่ที่มีแฟนคลับเหนียวแน่นนับล้าน และไม่มีอะไรมาเปรียบเทียบ แต่ในความเป็นจริงบทประพันธ์ทวิภพเคยถูกนำไปสร้างเป็นทั้งภาพยนตร์ ละครเวที และละครโทรทัศน์ก็หลายหน ความยากของการรีเมกของเก่าก็ยากอยู่แล้ว ยังมีบทประพันธ์อันเป็นตำนานช่วยตีกรอบอีก หากเดินไม่ดี สะเปะสะปะ ก็ถูกดุด่าว่าขานได้

ในฐานะของเจ้าของบทประพันธ์เมื่อตัดสินใจขายไปแล้ว ต้องปล่อยวางและทำใจในระดับหนึ่ง ได้แต่เพียงเฝ้ามองดูว่าเจ้านั้นๆ ที่ซื้อไปทำจะทำออกมาอีท่าไหน จะสามารถจับประเด็นสำคัญมานำเสนอได้หรือไม่ ซึ่งทวิภพไม่ได้มีแค่เปลือกความรักข้ามภพ วิถีชีวิตวัฒนธรรมของ 2 ยุคเท่านั้น หากแต่ยังมีการรักษาบ้านเมืองของบรรพบุรุษ ส่วนในรายละเอียดสีสันของความเป็นละครนั้น ผู้ประพันธ์ย่อมเปิดกว้างให้กับผู้ผลิตอยู่แล้ว มิเช่นนั้นคงไม่มีการซื้อขายกันอยู่หลายๆ หน หลายเรื่องๆ

ระวัง! สร้างละครบิดบทประพันธ์

 

ไม่เพียงละครทวิภพที่ถูกโจมตีอย่างหนัก ละครน้องใหม่หน้าจออย่าง “กลรักลวงใจ” ทางช่อง 3 ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของ “ณารา” ก็กำลังถูกพ่นพิษเหมือนกัน เมื่อตัวนางเอก “บัว” ที่รับบทโดย “เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ” มีคาแรกเตอร์ที่ต่างไปจากผู้หญิงเรียบร้อยสู่สาวมั่นแห่งยุค 2011 (อีกแล้ว)

สำหรับผู้ท่องโลกเว็บไซต์และแฟนนักอ่านของณารา ต่างลงความเห็นว่านางเอกดูระริกระรี้ที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระเอกจนออกนอกหน้า แต่งตัวเป็นสาวไซด์ไลน์ก็ดูมั่นใจกลมกลืน ไม่มีความขัดเขินแต่อย่างใด ส่วนเจ้าของบทประพันธ์เองก็เฝ้าติดตามทุกตัวละครจากตัวอักษรของเธออยู่ที่ประเทศแคนาดา

“เมื่อเขาเลือกเรื่องของเรา ก็เชื่อว่าเรื่องของเราคงจะเหมาะสมที่สุดสำหรับความต้องการของผู้จัด ซึ่งอาจจะต้องนำไปดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อความลงตัวเมื่อต้องเปลี่ยนจากสื่อหนังสือเป็นสื่อการแสดง เพราะในสัญญาได้ระบุไว้แล้วว่าอาจจะมีการดัดแปลงบางส่วนของนิยายเพื่อความเหมาะสม การปรับโครงเรื่องคิดว่าผู้จัดไม่น่าทำ เพราะโครงเรื่องนั่นแหละคือสิ่งที่ผู้จัดต้องการ ถ้าจะปรับ เข้าใจว่าปรับรายละเอียดบางอย่างของเรื่องที่ไม่สามารถถ่ายทำได้มากกว่า เมื่อขายไปแล้วก็จบ ไม่เคยได้อ่านบทละครโทรทัศน์เลยค่ะ เพราะพอหลังจากขายลิขสิทธิ์ไปแล้วก็เหมือนผู้ชมทุกท่านคือ ตามข่าวและรอดูละครอย่างเดียวเท่านั้น

ระวัง! สร้างละครบิดบทประพันธ์

อย่างเคสกลรักลวงใจ ผู้เขียนบทละครเล่าเรื่องคร่าวๆ มาว่าจะเปลี่ยนแปลงตรงจุดไหน จึงได้ท้วงไป เนื่องจากในเรื่องญาติผู้น้องของนางเอกจะต้องไปเป็นนางเอกของนิยายอีกเรื่อง แต่ด้วยความที่ผู้จัดทำละครเรื่องเดียว จึงต้องหาตัวละครมาเพิ่ม เพิ่มบทมากขึ้น จึงนำตัวละครสำคัญคนนี้จับคู่กับพระรอง เขาก็อธิบายเหตุผลให้ฟัง แต่ในส่วนนี้แฟนนักอ่านก็เสียความรู้สึกไปตามๆ กัน เพราะเขาก็มีภาพพระเอกของเขาอยู่แล้ว เราก็เสียใจนะ แต่ยอมรับ เราเข้าใจ เราทำงานยังมีข้อจำกัด ถ้าไม่เปลี่ยนบทประพันธ์ไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราเข้าใจ อภัย มองข้ามในสิ่งที่เขาก็ต้องทำ

ส่วนตัวนางเอกผิดคาดไปนิดหนึ่ง น่าจะให้ความกดดันในตัวของนางเอกมากกว่านี้ว่าทำไมต้องปลอมตัวเป็นสาวไซด์ไลน์ ทำไมถึงยอมมาอยู่ต่างประเทศกับพระเอก ไม่ใช่อยู่มาแล้วระรื่น ชุดก็น่าเกลียด ในเรื่องของเรานางเอกจะเรียบร้อย ใส่กระโปรงสั้นก็จะคอยดึงๆ และไปหาเสื้อที่เหมาะกับเขามาใส่ แต่ในเรื่องนี้นางเอกมั่นใจมาก ในเน็ตที่เข้าไปอ่านๆ มาก็ต่อว่าในประเด็นนี้กันเยอะ”

ด้าน “พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์” หนึ่งในทีมเขียนบทละครเวทีเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งเป็นบทประพันธ์ที่อยู่ในใจนักอ่านหลายคน อีกทั้งเคยถูกนำมาสร้างเป็นละครอยู่หลายหน ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังสี่แผ่นดินเวอร์ชันละครเวทีที่จะเปิดม่าน 19 ต.ค.นี้ ก็เตรียมใจน้อมรับทั้งเสียงชื่นชมและติเตียน

ระวัง! สร้างละครบิดบทประพันธ์

 

“เราเป็นคนถอดบทประพันธ์ เวลาเราเขียนไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น แต่อย่าบิดเบือนให้เสียเรื่อง กระทบกับเส้นเรื่อง ความตั้งใจเดิม สิ่งที่เราคิดจะนำเสนอก็คือธีมที่หนังสือจะนำเสนอ ที่เราจะดัดแปลง ตัดทอน หรือเพิ่มเติม อยู่ในเกณฑ์ที่เรานำเสนอ จะได้ไม่หลงทาง อย่างสี่แผ่นดินเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุด ถ้าคนอ่านจะรู้ว่ารายละเอียดในหนังสือเขาเยอะมาก มุมที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นำเสนอค่อนข้างหลากหลายและแข็งแรง ตัวละครทุกตัวมีรายละเอียด มีแบ็กกราวด์

แต่เรามาทำเป็นละครเวทีเต็มที่ 3 ชั่วโมง เราต้องยอมตัดบางอย่างออกไป ต้องยอมไม่ถูกใจบางคนบ้าง แต่เรายึดแกนหลักเรื่องนี้ว่าอยากบอกสารอะไรไปกับคนดู เอาสิ่งจำเป็นไว้ ซึ่งความจำเป็นก็เยอะมาก สิบคนก็จำเป็นต่างกัน ดังนั้นพอทำออกมาก็คงมีถูกใจไม่ถูกใจกันบ้าง เป็นธรรมดาทุกๆ ครั้งที่หยิบบทประพันธ์เดิมมาทำ เพราะคนมีความรู้สึกชอบรักหวงแหนบทประพันธ์ คนที่เป็นแฟนสี่แผ่นดินจะชอบไหม มันจะอยู่ในใจของคนทำงานทุกคนอยู่แล้วว่าแฟนของสี่แผ่นดินจะรู้สึกอย่างไร เพราะสารที่เราส่งออกไปเรามีความตั้งใจอย่างมากที่จะส่งไปให้คนดู เราคำนึงถึงคนดู เราแคร์คนดูเป็นคนแรก และคนที่เคยอ่านสี่แผ่นดิน”

ระวัง! สร้างละครบิดบทประพันธ์

อย่างไรก็ตาม พิมพ์มาดา เคยผ่านการเขียนบทละครเวทีจากบทประพันธ์ชั้นครูมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ทวิภพ ฟ้าจรดทราย ข้างหลังภาพ “เขียนบทที่มาจากหนังสือจะง่ายในเรื่องของโครง แต่ความยากคือเราจะถ่ายถอดบทประพันธ์เดิมออกมาให้โดนใจไหม เพราะบทประพันธ์มีแฟนอยู่แล้ว มีคนรู้จัก มีสารที่คนดูอินกันอยู่ ทำยังไงไม่บิดของเขาไปจนเสียเรื่อง จนถูกด่าว่าไปแต่งใหม่เถอะ ตรงนี้เราก็ทำการบ้านเยอะ อย่างทวิภพอ่านหลายรอบมาก จนจับได้ว่าเสน่ห์อยู่ที่ไหน ทำออกมาคุณทมยันตีก็ชื่นชมว่าเราถอดออกมาได้ตามที่ท่านต้องการนำเสนอ ในเรื่องของการสูญเสียแผ่นดิน ยอมสูญเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ เราเอาธีมนี้มาเป็นธีมหลักของเรื่อง ไม่ได้เน้นรักข้ามภพ”

ท้ายสุด พิมพ์มาดา กล่าวว่า “การที่หยิบบทประพันธ์สักเรื่องมาทำ สิ่งแรกต้องคำนึงถึง คือ บทเรื่องนั้นเขาต้องการนำเสนออะไร สอนให้รู้ว่าอะไร แล้วตรงกับจุดประสงค์ที่เราต้องนำเสนอ บางทีไม่ได้ตรงเสียทีเดียว แต่เซตอัพมันตรงหรือดัดแปลงเรื่องนิดหน่อยได้ แต่ต้องซื่อสัตย์ ให้เกียรติผู้ประพันธ์ เพราะผู้ประพันธ์ทุกคนรักผลงานของเขา ถ้าเราถอดหัวใจออกมาได้ เราซื่อสัตย์กับบทประพันธ์และงานก็จะดีกับเราเอง”