posttoday

กำเนิด “กรรมาชน”

17 ธันวาคม 2564

เล่าขานตำนานเพลง โดยประสาร มฤคพิทักษ์

    

          “ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน

           ติดปีกบินไปให้ไกล   ไกลแสนไกล

          จะขอเป็นนกพิราบขาว

          เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี ........”

กำเนิด “กรรมาชน”

“เพื่อมวลชน”เป็นเพลงแจ้งเกิดของวงดนตรีเพื่อชีวิต “กรรมาชน”  ในยุคปี 2517  ที่ขบวนนักศึกษาประชาชน กรรมกร ชาวนา  มีความเข้มแข็ง ทรงพลัง  ร่วมกระแสสังคมไทยที่เปิดบรรยากาศประชาธิปไตย  อันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 14  ตุลาคม  2516

ก่อนจะเป็นวง “กรรมาชน”  อันลือลั่นนั้น

อ๊อด - พิชัย  สุธาประดิษฐ์  นักดนตรีและโฆษกของวง  เล่าว่า

“ในปี 2516  ขณะที่จุฬาฯ  มีวงดนตรี “ลูกทุ่งถาปัด”    ม. เกษตร มี “ลูกทุ่งเกษตร”  ของมหิดลมี “ลูกทุ่งวิดยา” ก็เล่นเพลงลูกทุ่งทั่วไป  ตอนนั้น จิ้น – กุลศักดิ์  เรืองคงเกียรติ เป็นแกนหลัก เขาเป็นมือแซกโซโฟนของวง Imagine ที่โด่งดังมาพร้อมๆ กับวง The Impossible  ผมเองเล่นขลุ่ย

เราไปออกค่ายเผยแพร่ประชาธิปไตยที่ อ. ตะโก  จ. นครสวรรค์”

นิด - อมร  แสงมณี   นักร้องคนสำคัญของกรรมาชน  บอกว่า

“พอกลับมาจากค่าย  ความคิดของเพื่อนๆ เปลี่ยนไปเลย  ไปพบชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดราคาข้าว  ขณะที่นิดเองไปอีกค่ายหนึ่ง เป็นค่ายของสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์

แทนที่จะเล่นแต่เพลงลูกทุ่งกันอย่างเก่า  จิ้นชวนเพื่อนๆ ในวงหันมาเล่นเพลงของคาราวาน  เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์  ซึ่งจะเข้ายุคสมัยของสถานการณ์ขณะนั้นได้ดีกว่า แล้วนิดก็ถูกชักชวนมาเป็นนักร้องหญิงคนเดียวของวงตอนนั้น”

อ๊อด - พิชัย  เล่าว่า

“ตอนนั้นมีงานรับน้องใหม่  ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ของมหิดล  จัดที่ใต้ตึกฟิสิกส์ ข้างสระน้ำ  จิ้นเตรียมวงไปเล่นเพลงคนกับควาย  เพลงเปิบข้าว  เพลงข้าวคอยฝน”

ตี้ – กิตติพงษ์  บุญประสิทธิ์  (สามีของนิตยา โพธิคามบำรุง  นิด - ผู้ร้องเพลงบินหลา)  เล่าว่า

“เนื้อหาและลีลาที่เร่าร้อนด้วยเครื่องไฟฟ้า เล่นในแนวฮาร์ทร็อค  ไม่น่าเชื่อว่าการแสดงในครั้งนั้น จะสะกดและตรึงตรานักศึกษาแทบทุกคน ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นเป็นวง“กรรมาชน” อย่างจริงจังในเวลาต่อมา”

อ๊อด - พิชัย   ยังเล่าต่อว่า

“คืนนั้น นายกองค์การนักศึกษา ม. มหิดล  คือ เหวง โตจิราการ ขอคุยด้วยกับจิ้นและผม   บอกว่า  เล่นได้ดีมาก รู้ไหมเพลง คนกับควายเป็นของวงคาราวาน  เดี๋ยวพี่จะขอเพลงของเขามาเพิ่มให้ เข้าห้องอัดเลย  พี่จะพูดกับคาราวานเอง”

นั่นคือการเปิดตัว “กรรมาชน” ในมหิดล อย่างสง่างาม

กรรมาชนเปิดตัวต่อสาธารณะนอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อได้ขึ้นเวทีหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์  ในวันครบรอบหนึ่งปี  14 ตุลา   เมื่อวันที่ 14  ตุลาคม  2517

คาราวานเล่นเพลง กรรมาชน  เปิบข้าว  เพื่อมวลชน  คนกับควาย  กูจะปฏิวัติ  แสงดาวแห่งศรัทธา  ชาวนารำพึง  สู้ไม่ถอย  เจ้าพระยาฮาเฮ  มาร์ชประชาชนเดิน เป็นการเล่นที่ฮึกเหิมมีพลังมาก

ตี้ – กิตติพงษ์    เล่าว่า

“วันนั้นขณะที่เล่นอยู่ เครื่องแอมพ์ตัวหนึ่งเกิดระเบิดขึ้น การแสดงต้องหยุดชะงักลงทันที  อารมณ์ของผู้ชมที่อยากให้วงเล่นต่อไป  ทำให้ผู้ชมคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า ‘ช่วยกันบริจาคเงินซื้อเครื่องแอมพ์ใหม่ให้กรรมาชน’ แล้วมีคนเปิดหมวกเดินรับเงินกันเดี๋ยวนั้น ชั่วเวลาไม่ถึง 10 นาที    เรามีเงินพอ  ปู่ - ปรีดา และ หนู - พิทักษ์ นั่งแท็กซี่บึ่งไปบ้านหม้อ ขนแอมพ์ตัวใหม่มาติดตั้งแล้วแสดงต่อ  เป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ”

ตั้งแต่วันนั้นมา  กรรมาชน เป็นวงดนตรีที่ติดลมบน  งานไหนงานนั้น  เป็นวงที่การชุมนุมทุกครั้งเรียกร้องให้ไปเล่น

“เพลง ‘เพื่อมวลชน’ เป็นเพลงสัญลักษณ์ของกรรมาชน  ใครแต่ง  ทำไมจึงแต่งเพลงนี้”  ผู้เขียนถาม โฆษก  อ๊อด - พิชัย   ได้รับคำตอบว่า

“เพลงนี้  จิ้นแต่งทำนองก่อน เป็นสไตล์ของจิ้นเลย  จะแต่งทำนองก่อนแต่งเนื้อ แล้วค่อยมาแต่งเนื้อทีหลังโดยมี นพ (นพพร ยศถา)  ผู้มีฝีมือในทางวรรณศิลป์ ช่วยกันเกลาเนื้อร้อง

หลังจากกรรมาชนเป็นที่รู้จัก  ในปี 17 – 18  ก็ถูกเชิญไปเล่นบ่อยมาก  ไปเล่นร่วมต่อสู้กับกรรมกรที่โรงงานอ้อมน้อย  บางคืนก็นอนในที่ชุมนุม รุ่งเช้าก็ไปเรียนหนังสือ ตอนเย็นไปเล่นต่อ   ไปเล่นในการต่อสู้ของชาวนาภาคเหนือ ภาคใต้ไปมาหมด

วันหนึ่งไปเล่นที่นครพนม  ก่อนขึ้นเวทีเล่น ได้พบกับพี่น้องเชื้อสายเวียดนาม  มีการเอ่ยถึงบทกวีของเวียดนาม  มีเนื้อหาทำนองว่า ‘หากเกิดเป็นนก จะขอเป็นพิราบขาว เพื่อบินสู่เสรีภาพ  หากเกิดเป็นเมฆ ก็จะให้ฝนเพื่อให้น้ำต่อทุ่งนา’ อะไรทำนองนี้

จิ้นเลยได้ความคิดมาทำเพลง “เพื่อมวลชน” และเป็นเพลงพระเอกของวงเลย”

(เปิดเพลง เพื่อมวลชน  เสียงร้องของ นิด (มาลี) หรือ อมร แสงมณี)

                      

  เพลงเพื่อมวลชน

ศิลปิน   กรรมาชน  

จิ้น / นพพร  ยศถา แต่งเนื้อ

จิ้น  แต่งทำนอง

   ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน

    ติดปีกบินไปให้ไกล  ไกลแสนไกล

    จะขอ เป็นนกพิราบขาว

    เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี

                        ถ้าหากฉันเกิดเป็นเมฆ  บนนภา

                     จะนำพาความร่มเย็น  เพื่อท้องนา

                        หากฉันเกิดเป็น  เม็ดทราย

                     จะถมกายเป็นทางเพื่อมวลชน

                             ชีวา  ยอมพลีให้

                           มวลชน  ที่ทุกข์ทน

                     ขอพลีตน  ไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง

มีเกร็ดเล่าสู่กันฟัง  จากนิด (อมร)  นักร้องหญิง เจ้าของเสียงเพลง  เพื่อมวลชน  และเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา  แห่งวงกรรมาชน เธอเล่าว่า

“นักวิชาการคนหนึ่ง  เดี๋ยวนี้ไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ไปเขียนแท็กในเว็บไซด์ว่า ‘เท่าที่ผมจำได้ เพลงเพื่อมวลชนนี้  คนร้องต้นฉบับ  ไม่ใช่นักศึกษามหิดล’   

เห็นเขากล้าบิดเบือนอย่างนี้  ก็เลยโต้กลับไปว่า นักศึกษามหิดล ชื่อ “นิด” คนนี้แหละเป็นคนร้องต้นฉบับตัวจริงเสียงจริง จะมาเถียงกับคนร้องไหม  ไม่รู้ว่าเขาไปนั่งเทียนเขียนแบบนั้นได้อย่างไร”

ในยุคนั้น  เรียกได้ว่าวงกรรมาชน เล่นดนตรีท่ามกลางการก่อกวน และเสียงระเบิดของกลุ่มอันธพาลการเมือง อย่างเข้มข้น  ผู้ชุมนุมมีเจ็บและตายหลายคน  รวมถึงกรณีเดินขบวนประท้วงเรือมายาเกซ  ของนาวิกโยธินอเมริกา ที่แล่นผ่านน่านน้ำไทยโดยไม่ขออนุญาต  ทำให้เกิดการเดินขบวนใหญ่ขับไล่ฐานทัพอเมริกา เมื่อ 4  กรกฎาคม  2518  ไปประท้วงที่หน้าสถานทูตอเมริกา  ถนนวิทยุ  กรรมาชนเล่นเพลงบนหลังคารถหกล้อ  ระเบิดโยนลงที่ขบวนบริเวณสยามสแควร์  ผู้ชุมนุมบาดเจ็บไปหลายคน

เพราะเหตุที่มีชุมนุมที่ไหน  มีระเบิดลงที่นั่น ทำให้ จิ้น กรรมาชนกับเพื่อน เห็นว่า เพียงเพลง “สู้ไม่ถอย” เพลงเดียว ไม่พอเสียแล้ว  จึงแต่งเพลง “มาร์ชประชาชนเดิน”  เพลง “กรรมาชน” ขึ้นมา ร่วมสร้างพลังสู้รบของมวลชนให้ยืนหยัดสู้อย่างไม่ท้อถอยต่อไป

กำเนิด “กรรมาชน”

         

                      เพลง    กรรมาชน

                       วง กรรมาชน

                           จิ้น แต่งเนื้อและทำนอง

                        มองข้าวในนาแล้วพาใจเศร้าอาดูร

                        ดอกเบี้ยเพิ่มพูนนายทุนมันขูดรีดไถไป

           

                         โรยอ่อนรอนรอนกรรมกรทุกข์ยากทำงาน

                        รายได้เจือจานเหมือนดังขอทานแย่งเขากิน

           

                        กรรมกร  ชาวนา  จงมาร่วมกัน  สรรสร้างโลกใหม่

                        กรรมกร  ชาวนา  จงมาร่วมกัน  สรรสร้างโลกใหม่

 

                        ด้วยจิตและกายของเราร่วมกันบันดาล

                        พลังแห่งแรงงานเท่านั้นสร้างโลก ให้โสภา

 

                        กรรมกร  ชาวนา  จงมาร่วมกัน  สรรสร้างโลกใหม่

                        กรรมกร  ชาวนา  จงมาร่วมกัน  สรรสร้างโลกใหม่    

          น่าสังเกตว่า  เพลงคนกับควาย หากวงคาราวานเล่น จะมีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ ให้ความรู้สึกเคลิ้มคล้อย แต่เพลงเดียวกันนี้ หากวงกรรมาชนเล่น จะมีลีลาเร่งเร้าปลุกพลังฮึกเหิม เป็นแบบฉบับของตนเอง

            กรรมาชน  จึงเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต ที่บรรเลงเพลงท่ามกลางเสียงระเบิดอยู่เป็นประจำ  เหตุผลก็เป็นเพราะว่า  ทุกเพลงของกรรมาชน ล้วนมีพลังแห่งการสู้รบเพื่อเสรีภาพ ความเป็นธรรม เชิดชูกรรมกร  ชาวนา  และผู้คนที่ยากไร้ทั้งมวลนั้นเอง และยังเป็นพลังร่วมสำคัญในแนวรบทางวัฒนธรรม ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ 

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์ / [email protected]