posttoday

เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์

08 ธันวาคม 2564

กำเนิดคาราวาน

เมื่อ 15 พ.ย. 2564 ผู้สูงวัย 2 คนไปพบกันที่ อ. ภูผาม่าน จ. ขอนแก่น คนหนึ่งเป็นคนแต่งเพลง อีกคนเป็นคนร้องเพลง คนแต่งเพลง “คนกับควาย” ส่งมอบควายสองตัวให้กับคนร้องเพลงในวันนั้น เป็นปฏิสัมพันธ์ของสองคนซึ่งเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนานกว่า 50 ปี คือ สมคิด สิงสง กับ สุรชัย จันทิมาธร ผู้สร้างตำนานเพลง “คนกับควาย” นั่นเอง

สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ได้รับยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 โดยระบุว่า

“ในด้านดนตรีและเพลง การเป็นนายวงดนตรีคาราวาน ทำให้สุรชัยเป็นตำนานแห่งเพลงเพื่อชีวิต เป็น “อาจารย์ใหญ่” ต้นแบบของแนวเพลงนี้ การเขียนวรรณกรรม การเขียนเพลง การเล่นดนตรี เป็นน้ำเนื้อเดียวกันในชีวิตของสุรชัย จันทิมาธร ช่วงเวลาที่กระแสความคิดเพื่อชีวิตมีอิทธิพลในสังคมไทยอย่างแข็งแกร่ง ชื่อของสุรชัย จันทิมาธร จึงเป็นหมุดหมายที่ตรึงแน่นอยู่บนพื้นที่แห่งศิลปวัฒนธรรมไทยที่กาลเวลาไม่อาจลบเลือน”

เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์

สุรชัย จันทิมาธร เจ้าของนามปากกา ท.เสน เจนจัด เกิดเมื่อปี 2491 พ่อเป็นครู ชื่อ ยุทธ จันทิมาธร เขาสะท้อนชีวิตวัยเด็กผ่านเพลง “พ่อ” มีเนื้อหาว่า

“เมื่อตอนเล็กเล็ก เล่นอยู่ตามทุ่งนา

หาปูหาปลา ในเรี่ยวในรู

ชีวิตกลางแจ้ง มีพ่อเป็นครู

ได้เรียนได้รู้ หากินดิ้นรน.............”

ได้ชื่อเล่นว่า “หงา” เป็นภาษาท้องถิ่นเขมรสุรินทร์ แปลว่า “น่ารักน่าชัง”

ตอนเป็นนักเรียนชอบเขียนรูป พ่อส่งเสริมด้วยดีและวาดหวังให้หงาเป็นครูสอนวาดเขียน เขาเกิดมาชอบเป็นนักดนตรี พ่อบอกว่า “แม่เขาก็ห่วงว่ามันจะไปร้องเพลงหากินยังไง แม่เขาวิตกมาก” 

พ่อเป็นปัญญาชนท้องถิ่น ที่อ่านหนังสือหลายเล่ม ทั้งชัยพฤกษ์ วิทยาสาร สยามรัฐ ปิตุภูมิ และยังอ่านหนังสือเล่มของนักเขียนดังหลายคน หงาผู้เป็นลูก จึงได้นิสัยอ่านหนังสือตามพ่อ

ตอนอายุ 13 – 15 ปี อยู่ที่รัตนบุรี หงาเป็นนักมวยเด็ก ได้ฉายา “หล่อฟิต ศิษย์รัตน์” ที่มีฝีมือคนหนึ่งในท้องถิ่น

ปี 2508 หงานั่งรถไฟเข้ามาแสวงโอกาสในกรุงเทพฯ ไปอาศัยอยู่บ้านพี่ชายแถวบางกระบือ เขาผิดหวังมากที่สอบเข้า รร. เพาะช่างไม่ได้ เพราะหวังจะมีอาชีพเป็นช่างวาดเขียน ต้องไปเรียนที่ รร. การช่างนนทบุรี เขากลายเป็นนักพูดดาวเด่นประจำโรงเรียน โดยหัดวาดภาพการ์ตูนไปด้วย ต่อมาได้รับการชักนำให้รู้จักกับ รงค์ วงษ์สวรรค์ คำสิงห์ ศรีนอก สุวรรณี สุคนธา ซึ่งเป็นศิลปินรุ่นพี่ ก็คบหากันเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ก็คบหาใกล้ชิดกับศิลปินแถบโคราช เช่น ศรีศักดิ์ นพรัตน์ มงคล อุทก สุขสันต์ เหมือนนิรุทธ์

ชะตากรรมน้อมนำให้หงาคบหาเพื่อนมิตรในแวดวงนักเขียน เพราะมีใจชอบงานเขียนอยู่แล้ว ต่อมาสนิทกับ ประเสริฐ จันดำ นักกลอนจากรั้วสวนกุหลาบรุ่นพี่ แล้ว นเรศ นโรปกรณ์ ฝากฝังให้เขาและประเสริฐเข้าทำงานหนังสือพิมพ์ “เกียรติศักดิ์” เขาทั้งสองเป็นเด็กวัดอาศัยนอนอยู่ที่วัด กันมาตุยาราม

เขาชอบเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ ชอบเรื่องสั้น“สัญชาตญาณมืด” อันโด่งดังของ อ.อุดากร ชอบงานเขียนแนวโรแมนติกของ ร. จันทพิมพะ หงาจึงสั่งสมวิทยายุทธด้านการขีดเขียนจากนักเขียนรุ่นใหญ่และรุ่นใกล้กันไว้มากมาย

จึงไม่ประหลาดใจที่รางวัลศิลปินแห่งชาติ แทนที่จะเป็นสาขาการแสดง กลับเป็นสาขาวรรณศิลป์

ผมเองรู้จักกับหงา ตอนที่เขามาป้วนเปี้ยนอยู่ที่ สนง. ทนายความธรรมรังสี เมื่อปี 2515 – 16 เขามีกีตาร์ติดมือตลอด เล่นเพลงฝรั่งที่ผมไม่ค่อยรู้จัก ในช่วงที่ผมและเพื่อนๆ เช่น ธีรยุทธ บุญมี ธัญญา ชุนชฎาธาร อาศัย สนง. แห่งนี้เป็นฐานที่มั่น เคลื่อนไหวตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เยาวชนก้าวหน้าในยุคนั้น มีสถานที่สองแห่งพบปะเสวนากัน หนึ่ง คือสำนักศึกษิตสยาม ที่ชั้นบนร้านหนังสือของ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ สนง. ธรรมรังสี ซึ่งคุณไขแสง สุกใส ได้ระดมทุนจัดหาให้พวกเราใช้ทำกิจกรรมกัน

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า สองสานักนี้เองเป็นสายธารประวัติศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวยุค 14 ตุลาคม 2516

ผมไม่คาดคิดว่าหนุ่มผมหยิกเกรียน ที่มาดีดกีตาร์อยู่บนสำนักงาน จะกลายมาเป็นพ่อใหญ่ ที่เป็นต้นตำนานเพลงเพื่อชีวิตในยุค 50 ปีก่อนต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้

ขอตัดฉากกลับมาที่ สมคิด สิงสง ชาวนาปัญญาชนจากรั้วธรรมศาสตร์ ที่มีฐานอยู่หมู่บ้านซับแดง อ. มัญจาคีรี จ. ขอนแก่น

สมคิด เป็นนักเขียนที่แนบแน่นชีวิตตนเองกับท้องไร่ท้องนามาตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้สมคิด กับหงา คาราวาน ที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ โดยเฉพาะในจังหวะคุกรุ่นแห่งการชุมนุมในธรรมศาสตร์ก่อนเคลื่อนขบวนใหญ่ ทำให้ทั้งสองคนผูกพันและร่วมวงสุราอาหารด้วยกันตลอดมา

เมื่อ 15 พ.ย. 2564 การส่งมอบควายของสมคิดให้กับหงา ที่รีสอร์ทภูผาม่าน จึงเป็นประวัติศาสตร์ทบทวนให้เห็นถึงเพลง “คนกับควาย” ว่ามีที่มาอย่างไร

สมคิด สิงสง ชอบใจเพลง Master of War ของ Bob Dylan ที่หงา ดีดกีตาร์เล่นอยู่ เพลงนั้นบรรยายถึงความเลวร้ายของสงครามไว้อย่างไพเราะ ว่า

“คุณสร้างปืน สร้างเครื่องบินมรณะ

สร้างระเบิด ทำลายล้าง โดยมีความตาย

และรอยเลือดของผู้คนเป็นสิ่งตอบแทน...........”

ด้วยเนื้อหาและท่วงทำนองที่กินใจ ทำให้สมคิดได้แรงบันดาลใจ ความเป็นนักศึกษาจากบ้านนอกคอกนา ฟ้าร้องก็คิดถึงบ้าน คิดถึงไร่นา คิดถึงควาย ยิ่งได้แรงเชียร์จากหงา เช่นนี้ ก็ยิ่งมานะแต่งเพลงจนจบ

คนกับควาย

คำร้อง สมคิด สิงสง

นักร้อง สุรชัย จันทิมาธร

...คนกับคนทำนาประสาคน

คนกับควายทำนาประสาควาย

คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ

ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน

แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน

สำราญเรื่อยมาพอสุขใจ

ไปเถิดไปพวกเราไปเถิดไป

ไปเถิดไปแบกไถไปทำนา

ยากจนหม่นหมองมานานนัก

นานนักน้ำตามันตกใน

ยากแค้นลำเค็ญในหัวใจ

ร้อนรุ่มเพียงใดไม่หวั่นเกรง

เป็นบทเพลงเสียงเพลง

แห่งความตาย

ความเป็นคนสลายลงไปพลัน

กฎุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น

ชนชั้นชาวนาจึงต่ำลง

เหยียดหยามชาวนาว่าป่าดง

สำคัญมั่นคงคือความตาย...

หงา คาราวาน เล่าในวันนั้น ว่า

“สมัยเป็นหนุ่ม ผมเจอสมคิดครั้งแรก ในวงสนทนาสุราอาหาร แวดวงนักคิด นักเขียน คนทำหนังสือ ตอนนั้นสมคิดเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เป็นคนธรรมศาสตร์ที่บ้านนอกมากๆ แล้วยังมีบ้านนอกยิ่งกว่าอีกคน คือ ประเสริฐ จันดา มาจากบุรีรัมย์ ก็ถูกคอกัน ตะลอนไปด้วยกัน ไปนอนสำนักงานทนายความ (ธรรมรังสี บางขุนพรหม) ไปที่นั่นโน่นนี่ ผมเล่นกีตาร์เพลง Master of War ของ Bob Dylan สมคิดสีไวโอลิน และชอบเพลงนี้มาก นี่เป็น 3-4 วันต่อเนื่อง ตอนนั้นอายุใกล้เบญจเพส ยังไม่มีคาราวานตอนนั้น

สมคิดชอบเพลงนี้ก็ถามว่า ‘ขอทำเป็นเพลงไทยได้ไหม’ ผมก็ปิ๊ง บอกว่า ‘เอาซิ เขียนโลด’ ก็เลยกลายเป็นเพลงคนกับควาย แล้วออกเล่นครั้งแรกในงานแต่งงานของ วีระประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ผู้กำกับหนังและละครชื่อดังในยุคต่อมา แต่ตอนนั้นยังเป็นคนทำหนังสือ เขาแต่งงานกับคุณแดง จากธรรมศาสตร์ ที่โรงแรมมณเฑียร เราก็ไปงานกัน มีวิสา คัญทัพ เจ้าของบทกวี ‘สีทองผ่องอำไพ’

ที่ทุกคนรู้จัก มีประเสริฐ จันดา สมคิด สิงสง ก็มายืนข้างผม ผมก็ร้องเพลงนี้ เล่นกีตาร์ตัวเดียวของผมนี่แหละ เพลงคนกับควาย เป็นงานแต่งงานที่ประหลาดมาก เพราะมีเพลงเพื่อชีวิตเกิดขึ้นตรงนั้น วีระประวัติกับแม่แดงที่แต่งงานกันวันนั้นเองที่มีลูก ชื่อ เคน ธีรเดช พระเอกรุ่นใหญ่ในปัจจุบันนี้ นี่เป็นเรื่องกำเนิดคนกับควายที่ไม่ค่อยมีคนรับรู้”

เพลง ‘คนกับควาย’ นี้เอง กลายเป็นเพลงแจ้งเกิดให้กับวงคาราวาน เดิมที่เป็นศิลปินเดี่ยวกัน เมื่อมาพบสบอัธยาศัยกันอีก 3 รวมเป็น 4 คนคือ หงา คาราวาน (กีตาร์ / ร้องนำ) วีระศักดิ์ สุนทรศรี (กีตาร์) มงคล อุทก (พิณ/หวูด) และทองกราน ทานา (ไวโอลิน) เป็นคนคอเดียวกันที่ผสมวงได้ลงตัว

กระแสเปิดกว้างประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลา มีการเคลื่อนไหวทั้งกรรมกร ชาวนา อย่างคึกคักกว้างขวาง ทำให้เพลงคนกับควาย เป็นเพลงร่วมกระแสที่ฮิตติดปากเยาวชนยุคนั้น

น่าสังเกตว่า เพลงยุคแรกของคาราวาน เป็นเพลงของคนนอกวงแต่งขึ้น เช่น เพลงนกสีเหลือง ของวินัย อุกฤษณ์ เพลงคนกับควาย ของสมคิด สิงสง เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร ภูมิศักดิ์ เพลงเปิบข้าว ก็มาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ แม้แต่เพลงเซิ้งอิสาน ก็มาจาก อุทัย มหาวงศ์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นต้น

เราอาจจารึกไว้ได้ว่า คาราวาน เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตในยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่สร้างผลงานเพลงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะวงไว้อย่างสง่างาม แนบแน่นไปกับความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน เป็นหนึ่งเดียวกันกับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม สร้างผลสะเทือนให้กับสังคมไทยมากมายอย่างไม่อาจลบเลือนได้ 

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์ / [email protected]