posttoday

เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์

01 ธันวาคม 2564

จากเพลงชีวิต สู่เพลงเพื่อชีวิต (1)

เราอาจกล่าวได้ว่า เพลงลูกทุ่งนั้นเองที่เป็นตาน้ำของเพลงชีวิต และเพลงชีวิตนั้นเองที่เป็น ต้นธารเพลงเพื่อชีวิต

แสงนภา บุญราศรี เป็นนักละครร้องในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้ฝากผลงานเพลงคนปาดตาล และเพลงคนลากรถขยะ เอาไว้

ต่อมาในช่วงปี 2490 ครูสุเทพ โชคสกุล แต่งเพลงมนต์การเมือง ที่ประชดนักการเมืองไว้อย่างเผ็ดร้อน โดยมี คำรณ สัมบุณณานนท์ เป็นนักร้องผู้กล้า ซึ่งต่อมายังร้องเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน อีกหลายเพลง เช่น เพลงคนเหมือนกัน เพลงตาสีกำสรวล ส่วนเพลงกลิ่นโคลนสาบควายนั้น มีชาญ เย็นแข เป็นผู้ร้อง

เพลงในยุคนั้นสะท้อนชีวิตชาวนา กรรมกร และสะท้อนภาพการเมืองที่ไม่สุจริต

เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์

อาจกล่าวได้ว่า เพลงเพื่อชีวิตจริงๆ นั้น ระลอกใหญ่จริงๆ ออกมาจากในคุก โดยฝีมือของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับขังคุกด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ยาวนานกว่า 6 ปี และถูกปล่อยออกมาโดยไม่มีความผิดใดๆ ในปี 2507

6 ปีเศษในคุกลาดยาว จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เขียนหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” นำเสนอให้เห็นว่า

“ศิลปะทั้งผองต้องเพื่อเกื้อชีวิต

ให้มวลมิตรผู้ใช้แรงทุกแห่งหน

ใช่เพื่อศิลปะอย่างที่นับสัปดน

ใช่เพื่อตนศิลปินชีวินเดียว”

จิตรแต่งเพลงเพื่อชีวิตมากมายจากในคุก เช่น เพลงมาร์ชชาวนาไทย เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ แสงดาวแห่งศรัทธา รำวงวันเมย์เดย์ ศักดิ์ศรีของแรงงาน

โดยเฉพาะเพลง แสงดาวแห่งศรัทธานั้นแต่งได้ยอดเยี่ยมทั้งทำนองและเนื้อร้องที่ทรงคุณค่า ให้ความหวังแก่ผู้ประสบชะตากรรมทุกคนว่า “แม้ผืนฟ้ามืดดับ เดือนลับมลาย ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง”

เมื่อมาถึงยุค 14 ตุลาคม 2516 ควรกล่าวได้ว่า หงา คาราวาน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพ่อใหญ่ของเพลงเพื่อชีวิต และยังมี กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือ จิ้น กรรมาชน แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงเพื่อชีวิตไว้ชุดใหญ่จนสืบต่อเป็นเพลงเพื่อชีวิตอีกหลายวงต่อมา

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายคนที่ประกอบส่วนร่วมสร้างกระแสเพลงเพื่อชีวิตให้คึกคักมีพลังต่อเนื่องตลอดมา

หนึ่งในเพลงทรงพลังที่ผู้คนร้องและจดจำกันได้ดีคือเพลง สู้ไม่ถอย

“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย

มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่

รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู

พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม”

อาจมีบางคนเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า เพลงสู้ไม่ถอยนี้เป็นเพลงประจำตัวของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เนื่องมาจากการชุมนุมเดินขบวนต่อสู้เพื่อต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 - พฤษภาคม 2557 ซึ่งชุมนุมกันยาวนานราว 6 เดือนเศษนั้น เพลงนี้ถูกเปิดกระจายเสียงปลุกเร้าพลังต่อสู้อยู่ทุกวัน ทุกเวที ทุกการเคลื่อนขบวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่คุณสุเทพ กำลังจะขึ้นเวทีเพื่อปราศรัย เสียงเพลงนี้จะกระหึ่มขึ้นพร้อมกับเสียงร้องของมวลชนนับหมื่นนับแสนคน ร้องคลอขึ้นพร้อมกันในเวลานั้น

อาจเรียกได้ว่า ไม่มีเพลงใดๆ ที่สามารถเร้าพลัง สู้รบได้ดีเท่าเพลงนี้อีกแล้ว

ความจริงเพลงนี้ มาจากมันสมองของคนชื่อ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่แต่งขึ้นขณะเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2516

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 รัฐบาล ถนอม - ประภาส - ณรงค์ ซึ่งยึดอำนาจตนเอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 กลายเป็นการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีการต่ออายุราชการให้กับ  จอมพลประภาส จารุเสถียร ให้เป็น ผบ.ทบ. ต่อไป ในการที่เกิดกรณีนายทหารและดารา ไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร แล้วเฮลิคอปเตอร์ตก เมื่อเดือนเมษายน 2516

นักศึกษารามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” ในหนังสือขนาด 8 หน้ายก ราคาขายเล่มละบาทนั้นเอง มีหน้าว่างอยู่หนึ่งหน้า ฝ่ายจัดทำหนังสือมีหน้าที่หารูปภาพหรือข้อความมาใส่อีกหนึ่งหน้า ให้ครบยกเพื่อเข้าแท่นพิมพ์ต่อไป

สุเมธ สุวิทยะเสถียร จึงปรึกษากับ ประเดิม ดำรงเจริญ ว่ามีหน้าว่างอยู่หนึ่งหน้า จะเอาอะไรใส่ดี ประเดิมออกความคิดว่า

“เอางี้ ซิ เหตุการณ์ต่ออายุราชการ กับเรื่องล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ บวกกันแล้วเขียนลงไป”

ทั้งสองคนช่วยกันร่างช่วยกันเกลา กลายมาเป็นเหมือนคำโฆษณาล้อมกรอบวางลงตรงกลางหน้าว่างนั้นว่า

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่

มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี

เนื่องจากสถานการณ์ ภายนอกและภายใน

ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ”

คำเสียดสีรัฐบาลที่ถึงอกถึงใจเช่นนี้เอง เป็นเหตุให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ลบชื่อกองบรรณาธิการ 9 คน ให้พ้นจากสภาพนักศึกษารามคำแหง เช่น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ วิสา คัญทัพ บุญส่ง ชเลธร สุเมธ สุวิทยะเสถียร ประเดิม ดำรงเจริญ

นี่เองเป็นเหตุให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในยุคนั้นซึ่งมี ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการจัดชุมนุมเดินขบวนครั้งสำคัญ ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาทั้งจุฬา ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตร ศิลปากร รวมตัวกันไปเปิดปราศรัยกันหน้าทบวงมหาวิทยลัย ถนนราชดำเนินนอก แล้วเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 22 มิถุนายน 2516

พอตกเย็นวันนั้น มีนักศึกษา ประชาชน มาชุมนุมกันหลายพันคน ก็ต้องมีการปราศรัยเพื่อตรึงคนไว้ สุรชัย จันทิมาธร และวีระศักดิ์ สุนทรศรี ยังเป็นศิลปินเดี่ยว ยังมีเพลงเล่นไม่กี่เพลง ก็ไปเล่นเพลงของ บ็อบ ไดแลน บทกวี “ดอกไม้จะบาน” ของ จิรนันท์ พิตรปรีชา ก็เอามาอ่านกันในวันนั้น

คนใกล้ชิดกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เล่าว่า

“เสกสรรค์ เขาเห็นว่ามันต้องมีเพลงเชียร์การชุมนุมออกมา ไม่งั้นก็จะมีแต่เพลงปลุกใจแบบเก่าๆ ก็เลยแต่งเพลง สู้ไม่ถอย ตอนนั้นแต่งออกมาแค่ 4 วรรคแรก แล้วเอามาร้องปลุกใจกันในที่ชุมนุมนั้น กลายเป็นเพลงติดปากมวลชนเพลงหนึ่ง ต่อมาช่วงหลัง 14 ตุลา เสกสรรค์ เห็นว่าเพลงมันสั้นไปจึงแต่งต่ออีก 2 ท่อน”

‘ เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่

สู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น

เขาจะฟาด เขาจะฟัน เราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย

สู้เข้าไปอย่าได้หนี

เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่

รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย สู้เข้าไปพวกเราเสรีชน ’

แล้วเพลงนี้ จิ้น กรรมาชน นาไปเรียบเรียงเสียงประสาน กลายเป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้มชุดแรกของกรรมาชน โดยจิ้น เป็นผู้ร้องเอง จิ้นยังแต่งเพลง “มาร์ชประชาชนเดิน” ขึ้นมาอีกเพลงหนึ่งเข้าอยู่ในอัลบั้มชุดเดียวกัน

    เพลงมาร์ชประชาชนเดิน

เร็วเร็วมา มาร่วมกันเดิน

เรามาเดิน เหล่าประชาชน

จงร่วมใจ เดินเข้าไป 

จงคว้าชัยมา ให้มวลชนไทย

ความตายนั่นหรือ

เราไม่กลัว เราไม่เกรง

ใครมาข่มเหง เราจะสู้ เราไม่ถอย

เราจะสู้จนชีพหลุดลอย

ไทยจะต้องเป็นไทย

ด้วยทำนองเพลงมาร์ชทั้งสองเพลง จึงเอามาเล่นต่อเหมือนเป็นเพลงเดียวกันที่เข้ากันได้ทั้งเนื้อหาและท่วงทำนอง

กรรมาชน เปิดการแสดงครั้งแรกในงาน 14 ตุลาคม 2517 ครบรอบหนึ่งปีของเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์

เป็นการเปิดตัววงกรรมาชน ซึ่งนักดนตรี และนักร้องเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในเวลานั้น รวมถึง กิติพงษ์ - นิตยา บุญประสิทธิ์ (นิด - ตี้) กรรมาชนด้วย

และแล้วเพลงสู้ไม่ถอย ก็กลายเป็นเพลงสาธารณะ เพลงหนึ่งที่การชุมนุมเดินขบวนทุกครั้งต่างก็ใช้เพลงนี้เป็นเพลงปลุกใจเรื่อยมา

ธรรมดา เพลงทั้งหลายล้วนมีลิขสิทธิ์ คือเจ้าของเพลงผู้แต่งเนื้อและทำนอง หรือไม่ก็ขายเพลงให้กับบริษัท ธุรกิจเพลง ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ใครนำไปเล่นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ตามราคาที่กำหนด

แต่สไตล์เพลง “สู้ไม่ถอย” นี้ มีคนแต่งที่มีตัวตนก็จริง แต่กลายเป็นเพลงที่มวลชนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นี้ไปแล้ว การที่ผู้คนนับล้านๆ คน ต่างก็เป็นเจ้าของเล่นร้องกันได้อย่างไม่เลือกกลุ่มเลือกสี มันมีค่ามหาศาลมากกว่าจำนวนเงินใดๆ เสียอีก

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์ / [email protected]