posttoday

เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์

18 พฤศจิกายน 2564

เจ้าการะเกด ชักกริชไล่แทงฐานทัพฝรั่ง

ในขณะที่เพลง สุกี้ยากี้ (ชื่อเดิม Ue o Muite Aruko แปลว่า แหงนมองฟ้า เดินหน้าไป) ของญี่ปุ่น เป็นเพลงต่อต้านการครอบงำทางทหารของอเมริกา เพลงพื้นบ้านของอินโดนีเซีย ชื่อ BENGAWAN SOLO เป็นเพลงต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นต่ออินโดนีเซีย และเพลงเจ้าการะเกด เป็นเพลงต่อต้านมหาอำนาจอเมริกา โดยนำทำนองมาจากเพลงพื้นบ้านสมัยกรุงศรีอยุธยา

               “เจ้าการะเกดเอย เจ้าขี่ม้าเทศจะไปท้ายวัง

                ชักกริชออกมาแกว่ง ว่าจะแทงฝรั่ง

               ใครห้ามก็ไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย ....”

เป็นเพลงพื้นบ้านสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เมืองไทยหลายชาติในตอนนั้น

เล่าขานตำนานเพลง โดย ประสาร มฤคพิทักษ์

เจ้าการะเกด เป็นหนุ่มสยามมียศสูง ชอบขี่ม้าเทศถือกริชเป็นอาวุธ กริช เป็นอาวุธของแขกเปอร์เซียเพื่อจะแทงฝรั่งแสดงว่าในเวลานั้นผู้คนในอยุธยาแบ่งเป็นขั้วและต่างก็มีพวกพ้องของตัวเอง รวมทั้งมีกลุ่มที่เป็นอริกับฝรั่งต่างชาติด้วย

ทำไมประเทศไทย ต้องมีฐานทัพอเมริกามาตั้งไว้ถึง 8 แห่ง คือ ตาคลี โคราช อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม อู่ตะเภา ดอนเมือง น้ำพอง (ขอนแก่น) ฐานทัพอุดรธานีเป็นกองบัญชาการใหญ่ ในปี 2512 นั้น สหรัฐมีเครื่องบินรบประจำการในไทยถึง 600 ลำ

ช่วงนั้นเป็นยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยาวมาถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

ยุคสงครามเย็นในเวลานั้นสหรัฐทำสงครามต้านคอมมิวนิสต์จีนและรัสเซีย แล้วดึงไทยเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐในเอเชีย

ปี 2510 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร อนุญาตให้สหรัฐนำเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B52 มาประจำการที่สนามบินอู่ตะเภา แทนที่จะใช้เส้นทางบินเดิมจากเกาะกวม เพราะไทยอยู่ใกล้เวียดนามมากกว่า ไทยจึงเป็นพื้นที่กันชนให้กับสหรัฐจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์ อินโดจีนซึ่งทางการไทยก็หวาดผวาต่อภัยคอมมิวนิสต์เช่นกัน สงครามเวียดนามเป็นสงครามอธรรมที่สหรัฐกระทำต่อประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่อยู่คนละซีกโลก เพียงเพราะต้องการเอาชนะคอมมิวนิสต์

การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ประชาชน เพื่อต่อต้านสหรัฐในการทำสงครามเวียดนามเป็นไปอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ยุคก่อน 14 ตุลา 16 ด้วยซ้ำ มีวารสารรายสะดวกชื่อ “ภัยขาว” ออกมาพิมพ์ขาย นิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่มี อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการในช่วงนั้นก็ประกาศต่อต้านฐานทัพอเมริกา

ในสหรัฐเอง นักศึกษาจำนวนมากออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่ทำสงครามเวียดนาม แม้แต่ มูฮัมหมัด อาลี นักมวยสีผิวแชมป์โลกรุ่นเฮพวี่เวท 3 สมัย ที่มีคนรู้จักมากที่สุดในโลก ก็ยังไม่ยอมถูกเกณฑ์ทหารเพื่อไปรบในสงครามเวียดนาม เขาพูดว่า “ทำไมต้องให้ผมแต่งเครื่องแบบ แล้วเดินทางออกจากบ้านไป 10,000 ไมล์ เพื่อไปทิ้งระเบิดและยิงปืนใส่คนเวียดนาม” เขาถูกศาลสั่งจาคุก 5 ปี เขาขอประกันตัวออกมาสู้คดีในที่สุดศาลฎีกาสูงสุดสั่งยกฟ้อง

เพลงเจ้าการะเกดนำเอาอดีตมารับใช้เหตุการณ์ในยุคนั้น โดยให้เจ้าการะเกดยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นพระเอกชักกริชออกมาไล่ฐานทัพฝรั่งออกไปจากบ้านเมือง เพื่อยืนยันให้โลกรู้ว่าไทยเป็นประเทศอิสระเสรี ไทยไม่ใช่ทาส ไทยไม่ต้องการรบกับเวียดนาม ไทยจะต้องเป็นเอกราชที่พ้นจากพันธนาการครอบงำของมหาอำนาจอเมริกา

อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ อดีตนักดนตรีประจำวงดนตรีไทย ต้นกล้า เล่าว่า เขาปรึกษากับ รังสิต จงญานสิทโธ เพื่อนมือขิมและมือซอของวงว่า “ผมอยากแต่งพลงขับไล่ฐานทัพอเมริกา จะเอาทำนองเพลงอะไรดีให้มันมีพลังและมีความหมาย รังสิตแนะว่า เพลงพื้นบ้านเจ้าการะเกดไง เป็นเพลงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้กล้าชักกริชแทงฝรั่งอยู่แล้วเหมาะเลย เอามาผสมกับแอ่วเคล้าซอ ที่ใช้กับซออู้ และร้องด้นว่า ‘โอ่นอ โอ้นอ’ นี่หละลงตัวแล้ว จึงได้เพลงนี้ออกมา”

นับเป็นเพลงของวงดนตรีไทยต้นกล้า ที่ร่วมแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม เข้าราวีกับมหาอำนาจอเมริกาที่ทรงพลังมากเพลงหนึ่ง

ในวาระ 30 ปี 14 ตุลา เมื่อ 14 ตุลาคม 2546 รัฐบาลประกาศให้ 14 ตุลา เป็นวันประชาธิปไตย ในปีนั้นมีการแสดงดนตรีเพื่อชีวิต ณ สนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ มีการปรับเนื้อร้องของเพลงเจ้าการะเกดใหม่ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้แต่งคำร้อง แทนที่จะไล่ฝรั่ง จึงให้เจ้าการะเกดชักชวนคนรุ่นใหม่ให้สนใจดนตรีไทย โดย ชินกร ไกรลาศ เป็นผู้ร้องในวันนั้น

ฐานทัพอเมริกาในไทย เกิดขึ้นเมื่อปี 2506 และต้องถอนฐานทัพออกไปในปี 2518 การชุมนุมเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษา ประชาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ถนนวิทยุ เกิดขึ้นเมื่อ 21 มีนาคม 2518 รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบัญชาให้รัฐบาลสหรัฐถอนฐานทัพอเมริกาออกไปจนหมดสิ้น

และแน่นอน เจ้าการะเกด ชักกริชออกมาแทงฝรั่งอเมริกาจนจำต้องขนเครื่องบินและยุทโธปกรณ์กลับบ้านตนเองอย่างเจ็บปวด และต้องพ่ายแพ้ในสงครามอธรรมปี 2518 ที่อเมริกาปราชัยต่อลาว กัมพูชา และเวียดนามนั้นเอง

                      เพลงเจ้าการะเกด

ขับร้อง - รังสิต จงญานสิทโธ

คำร้อง - อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์

วงดนตรี – ต้นกล้า

(สร้อย) เจ้าการะเกดเอย ..... เจ้าขี่ม้าเทศ จะไปท้ายวัง

           ชักกริชออกมาแกว่ง ..... เอ๋ยว่าจะแทงฝรั่ง

           ใครห้าม ก็ไม่ฟัง ..... เจ้าการะเกดเอย

เจ้าการะเกด เขาไปแล้ว ..... เป็นทิวเป็นแถวทุกแห่ง

ไปตามตะวันสีแดง ..... ที่สาดทั่วแผ่นดินไทย

ไปกับกริช คู่มือ ..... กระชับถือด้วยมั่นใจ

เลือดใคร ก็เลือดใคร ..... คงจะได้นองปฐพี 

 

แผ่นดิน ถิ่นกำเนิด ..... ตั้งแต่เกิดมาจนเป็นผี

ไอ้กันมันกล้า มาราวี .....ทำย่ำยีวุ่นวาย

ออกไป เอ๊ยไป ออกไปเอ๊ยไป เอ้าไสหัว (สร้อย)

จากอุบลราชธานี ..... มาถึงตาคลีอู่ตะเภา

น้ำพองนั่นเป็นของเรา ..... แต่มันทำเป็นซ่องโจร

จากระเบิดมหาภัย ..... เป็นเปลวไฟที่ลุกโชน

ดินชะอุ่ม เป็นหลุมโคลน ..... ทุกตารางบนแผ่นดิน

บ้านแตก สาแหรกขาด ..... ด้วยอุบาทว์จากเครื่องบิน

เสียงร้องไห้ จะมีใครยิน ..... นอกจากเราประชาชน

ออกไป เอ๊ยไป ออกไปเอ๊ยไป เอ้าไสหัว (สร้อย)

ประเทศไร้เอกราช ..... เพราะถูกต่างชาติมันมาครอบงำ

ฐานทัพนั่นเลวระยำ ..... มันเหยียบย่ามันทำลาย

จักรพรรดินิยมชั่ว ..... เถอะไสหัวมันออกไป

ชูธง ประชาไทย ..... ผสานใจเป็นสายธาร

ไปเถิด เจ้าการะเกด ..... ไปเพื่อประเทศไม่เกินนาน

ใครฤา จะต้านทาน ..... แรงมหาประชาชน

ออกไป เอ๊ยไป ออกไปเอ๊ยไป เอ้าไสหัว (สร้อย)

โดย : ประสาร มฤคพิทักษ์ / [email protected]