posttoday

เด็กชายผู้จับสายลมมาเป็นน้ำ

24 มีนาคม 2562

“เราจะไม่สวดอ้อนวอนขอฝนเหมือนบรรพบุรุษของเรา แต่ให้ลูกหลานเรียนหนังสือ...”

“เราจะไม่สวดอ้อนวอนขอฝนเหมือนบรรพบุรุษของเรา แต่ให้ลูกหลานเรียนหนังสือ...”

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากฐานของเรื่องจริงปี 2001 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ประเทศมาลาวี เกิดกลียุคข้าวยากหมากแพงบ้านแตกสากแหรกขาด

เมืองคาซุงกู มีเด็กชายวัยรุ่นตอนต้นวัย 13 ปี วิลเลียม คัมควัมบา ได้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากหนังสือวิทยาศาสตร์พลังงาน และเขาได้สร้างกังหันลมแปรสร้างพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้เครื่องสูบน้ำทำงาน และสูบน้ำขึ้นจากบ่อไปปลูกข้าวโพดและพืชผักในฤดูแล้งขาดฝน เพื่อช่วยหมู่บ้านของเขาให้รอดพ้นจากความอดอยาก

เด็กชายผู้จับสายลมมาเป็นน้ำ

ความจริงก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ในปีนี้ มีหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยชื่อ “ชัยชนะของไอ้หนู : The Boy Who Harnessed the Wind” ออกมาในเมืองไทยหลายปีแล้ว เป็นสำนวนแปลของคำเมือง โดยที่หนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนร่วมกันระหว่างเด็กชายเจ้าของเรื่อง วิลเลียม คัมควัมบา ซึ่งปัจจุบันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขียนร่วมกับ ไบรอันมีลเลอร์ ได้ชนะเลิศรางวัล Alex Award2010 ด้วย

จุดที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การกำกับและแสดงเองโดยนักแสดงมากฝีมือ ชีวิเทล อีจีโอฟอร์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์ “12 years a slave”

ที่สำคัญภาพยนตร์ “The Boy Who Harnessed the Wind” คว้ารางวัล Alfred P. Sloan Prize ใน Sundance Film Festival 2019 (สาขารางวัลภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยี)

เด็กชายผู้จับสายลมมาเป็นน้ำ

ว่าไปแล้ว สำหรับคอภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงคงต้องหลีกเลี่ยงภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องราวของชีวิตยากจนดราม่าที่หนักหน่วงแนวสัจนิยมใหม่ และจบแบบฮอลลีวู้ดอิงโลกสวยของเด็กชายตัวเล็กๆ ในประเทศโลกที่ 3 ที่จับใจยิ่งนัก

การเล่าเรื่องที่วางเป็นองก์เรียงร้อยกัน5 องก์ 1.หว่าน 2.งอกเงย 3.เก็บเกี่ยว 4.หิวโหย และ 5.ลม ซึ่งถือว่าเก่งอยู่พอสมควร เพราะสามารถกุมธีมได้อย่างเป็นเอกภาพ ภายใต้เส้นเวลาและสถานการณ์ต่างๆ ที่ค่อยๆ งวดถึงขั้นวิกฤตสุด แล้วค่อยๆ คลี่คลายตัวอย่างสวยงาม

ภาพยนตร์ในแนวสัจนิยมใหม่ มักจะมีฉากหลังที่อิงความคิดวิพากษ์ทางการเมืองลงไปอย่างแนบเนียน เช่นกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ คำพูดจากปากของพ่อวิลเลียมที่โพล่งขึ้นมาอย่างเหลืออดในตอนหนึ่งซึ่งเป็นช่วงแห่ขบวนรถหาเสียงว่า “ประชาธิปไตยก็เหมือนมันสำปะหลังนำเข้า มันเน่าเร็ว”

การบริหารประเทศไม่ดีและไม่สามารถประกันราคาพืชผลในช่วงฝนทิ้งช่วงเกิดฤดูแล้งอันยาวนาน ประชาชนขาดแคลนอาหาร แต่นักการเมืองและผู้บริหารประเทศร่ำรวย โดยไม่สนใจฟังเสียงประชาชน สะท้อนภาพออกมาอย่างชัดเจน รวมถึงแทรกเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเป็นสถานการณ์กระทบจากต่างประเทศเอาไว้ด้วย

เด็กชายผู้จับสายลมมาเป็นน้ำ

เด็กๆ เรียนหนังสือพอเติบโตก็หายเข้าเมืองสู่ถิ่นที่เจริญกว่าชุมชนและท้องถิ่นแตกแยกต่างคนเอาตัวรอด ยุคบรรพบุรุษขอฝนแต่สามัคคี จนทำให้ฝ่าวิกฤตภัยธรรมชาติเอาตัวรอดมาได้

ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องด้วยแนวสกุลศิลปะสัจนิยมใหม่ (Neo-Realism) ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานคล้ายคลึงกับสัจนิยมเก่า แต่จะมองระบบโครงสร้างเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของแต่ะรัฐมากกว่าการมองพฤติกรรมของมนุษย์เป็นตัวกำหนด

นักปรัชญาสัจนิยมใหม่ ได้แก่ จอร์จ เอดเวิร์ด มัวร์ ได้กล่าวว่ามนุษย์เราสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้โดยตรงเรารับรู้อย่างไรความจริงก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความแตกต่างระหว่างสภาพที่เป็นจริงกับสภาพที่ปรากฏ เช่น เรารับรู้ว่าดอกกุหลาบสีแดง ในความเป็นจริงดอกกุหลาบก็มีสีแดงแบบเดียวกับที่เรารับรู้

เด็กชายผู้จับสายลมมาเป็นน้ำ

เมื่อสัจนิยมใหม่มาผสมผสานกับความโลกสวยแบบฮอลลีวู้ด ก็เลยมีความรื่นรมย์สมใจอยู่ในตัวเรื่องตอนท้ายสุด และก็ยังเชิดชูความเป็นอเมริกันไลเซชัน อย่างคำพูดของตัวละครเอกที่ว่า “อเมริกาผลิตไฟฟ้าจากลม ถ้ามีไฟฟ้าเราก็หาน้ำได้”

แน่นอน การชี้ประเด็นให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเรียนรู้ที่จะสามารถยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชน ได้สะท้อนออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างคมชัด

เครื่องสูบน้ำเสีย แต่ไม่สามารถหาไฟฟ้ามาทำให้มันทำงานได้ แต่สำหรับเด็กคนหนึ่ง ความรู้จากพลังงานทางเลือกจากพลังงานลม ได้เปลี่ยนทุกสิ่งและนำพาทุกอย่างไปข้างหน้าอย่างน่าชื่นชม เหมือนคำที่บอกว่า “พระเจ้าเป็นเหมือนดังลมที่สัมผัสทุกสิ่ง”