posttoday

ป้ายล่าฆาตกร

08 เมษายน 2561

สังคมอเมริกันในรากฐานของชุมชน มีความสัมพันธ์ภายใต้ความรุนแรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดย เพรงเทพ

สังคมอเมริกันในรากฐานของชุมชน มีความสัมพันธ์ภายใต้ความรุนแรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความเป็นปัจเจกชนที่ยืนอยู่บนเส้นของตัวเองอย่างแข็งขัน จนเกิดแรงปะทะแบบไม่มีจุดจบและไม่รู้ว่าเดินไปสู่หนใด 

 เอ็บบิง เมืองเล็กในชนบทของมลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ฆ่าข่มขืนแล้วเผาเด็กสาววัยรุ่น แต่เนิ่นนานผ่านไป 7 เดือน คดีความไม่มีความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

 จนเป็นที่มาให้แม่ของเด็กสาวที่เป็นเหยื่อคนนี้ ต้องซื้อป้ายขนาดใหญ่หรือบิลบอร์ดที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 1989 เนื่องจากการตัดถนนใหม่ จำนวน 3 ป้าย เขียนคำเรียกร้องถึงผู้รับผิดชอบนั้นคือสารวัตรประจำเมือง

ป้ายล่าฆาตกร

 โดยเฉพาะป้ายหนึ่งที่เขียนอย่างร้าวรานและเจ็บปวดอย่างมิอาจถ่ายถอนว่า “ถูกข่มขืนขณะกำลังจะตาย”

 ภาพยนตร์ “Three Billboards Outside Ebbing, Missouri”  ถือว่าโดดเด่นอย่างมากบนเวทีรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลโกลเด้น โกลบส์ หรือลูกโลกทองคำครั้งที่ 75 ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฮอลลีวู้ด ที่ได้รางวัลถึง 4 สาขาคือ รางวัลภาพยนตร์
ยอดเยี่ยม สาขาดราม่า รางวัลนักแสดงนำหญิงสาขาดราม่า ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม แซม ร็อคเวลล์ และรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 อีกรางวัลของสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งอังกฤษ (บาฟต้า) จัดงานประกาศผลรางวัลประจำปีครั้งที่ 71 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 9 สาขา กวาดไปมากที่สุด 5 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบชาย
ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์บริติชยอดเยี่ยม จากการที่ทีมอำนวยการสร้างมาจากสหราชอาณาจักร

ป้ายล่าฆาตกร

 ส่วนรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90 เข้าชิงถึง 7 สาขา เรียกว่าเป็นม้ามืดของปีนี้ที่น่าจับตามอง และสุดท้ายก็ได้รางวัลไป 2 สาขา คือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

 ต้องยอมรับพลังและฝีมือการแสดงในบท มิลเดรด ฮาเยส ของฟรานเชส แม็คดอร์แมน แม่ที่ทรมานและทนทุกข์จากการสูญเสียของลูกสาว และเธอก็มีส่วนร่วมในค่ำคืนสุดท้ายของชีวิตลูก ด้วยการขับไล่และพลั้งปากแช่งออกไปจนเกิดเป็นความจริง

 การดำเนินเรื่องราวทั้งหมดมีเธอเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง ตั้งแต่เปิดฉากแรกไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่องในการขับรถมุ่งสู่ไอดาโฮ

 อีกคนที่แสดงได้ลึกและตีบทแตกกระจาย ตำรวจที่ไม่เอาไหนแต่ท้ายสุดพลิกกลับสู่ความจริงจัง เจสัน ดิ๊กซอน ซึ่งรับบทโดย แซม ร็อคเวล เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นคู่กัดของ มิลเดรด ฮาเยส

ป้ายล่าฆาตกร

 อีกคนที่เป็นกุญแจดอกสำคัญของเรื่องอีกดอก สารวัตรวิลเลียม วิลเลอห์บี้  ซึ่งรับโดย วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน เด่นแบบเรียบๆ และการฆ่าตัวตายของเขาเพื่อหนีจากโรคมะเร็งตับอ่อน ทำให้เรื่องราวทั้งหมดคลี่คลายตัวบนความขัดแย้งสองขั้วในเมืองที่แบ่งแยกกัน

 ตัวละครทุกตัวเป็นสีเทา คละเคล้าคลุมเครือทั้งดีและชั่ว เป็นมนุษย์อย่างปัจเจกโดยสมบูรณ์ ยืนบนหลักคิดตัวเองเป็นหลัก แต่จากความเห็นอกเห็นใจและดีงามยังมีอยู่ในการเชื่อมทุกอย่างให้เดินไปสู่จุดสุดท้ายในการหาตัวฆาตกร

 นับได้ว่าเป็นหนังที่ดีทั้งโครงเรื่องและรายละเอียดมีน้ำหนักและมิติที่กลมกล่อม สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับตัวละครแต่ละตัวตามท้องเรื่องได้อย่างทรงพลานุภาพ

 โดยเฉพาะบรรดาตัวประกอบทั้งหมดที่เดินเข้ามาสัมพันธ์กับตัวเอกของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสามีของเธอ ลูกชาย สาววัย 19 แฟนใหม่สามี แม่ของดิ๊กซอน ชายแคระผู้หลงรักมิลเดรด หนุ่มสำอางเจ้าของบริษัทป้ายโฆษณา สารวัตรตำรวจผิวสีคนใหม่ ฯลฯ เลือกตัวแสดงได้เยี่ยมยอดมาก และทุกตัวเล่นดีหมด ทำให้ตัวเรื่องยิ่งหนักแน่น

ป้ายล่าฆาตกร

 ภาพยนตร์จะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ก่อนและหลังการตายสารวัตรวิลเลียม วิลเลอห์บี้ ที่มีการพัฒนาของตัวละครอย่างมีเหตุผลและน้ำหนัก อย่างที่ว่าดูเหมือนจะเป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่การทำงานของตำรวจที่ไม่เอาไหน แต่จริงๆ แล้วก็ให้ความเป็นธรรมอยู่เยอะเหมือนกันในการคลี่คลายปมต่างๆ ระหว่างตำรวจและเหยื่อหรือผู้เสียหายที่หวังพึ่งตำรวจในทางกฎหมาย มีลักษณะความเป็นมนุษย์ที่มีดีมีแย่มีอคติและอารมณ์อยู่เต็มเปี่ยม

 ความแค้นของแม่ที่ต้องสะสางให้ได้ เรียกว่าเครียดแต่ดูสนุก และมีตอนจบท้ายเรื่องแบบปลายเปิด ตั้งคำถามในใจคนดูว่า สองคนที่เดินทางไปไอดาโฮ คือ มิลเดรดฮาเยส กับเจสัน ดิ๊กซอน จะจัดการกับนักข่มขืนหรือฆาตกรที่ชาญฉลาดจนกฎหมายตามไม่ทัน พวกเขาบอกว่า “ไปคิดเอาระหว่าง”

 หลังจากนั้นคนดูจินตนาการเอาเอง