posttoday

ภาพจำลองสังคม อุดมคติคนแอฟริกัน-อเมริกัน

25 กุมภาพันธ์ 2561

ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาลของมาร์เวล

โดย  เพรงเทพ

ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาลของมาร์เวล ซึ่งเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่นำเรื่องราวจากพื้นฐานของคอมิกหรือการ์ตูนแบบมาร์เวล ซึ่งมีรสนิยมแบบวัฒนธรรมอเมริกันออกสู่ชาวโลกมากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

 แบล็ก แพนเธอร์ (Black Panther) จึงเป็นเรื่องล่าสุดที่ถูกใจคอภาพยนตร์แนวนี้ได้รับความสำเร็จอย่างท่วมท้น

 แชดวิก โบสแมน พระเอกที่รับบท แบล็ก แพนเธอร์ โผล่หน้าโผล่ตามาชิมลางใน “กัปตันอเมริกา : ศึกฮีโร่ระห่ำโลก” ในปี 2016 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ภาพจำลองสังคม อุดมคติคนแอฟริกัน-อเมริกัน

 คราวนี้มาสู่เรื่องราวของตัวเองในการเข้ารับตำแหน่งเป็นราชาและผู้พิทักษ์ราชอาณาจักรวากันดา รวมถึงการปกป้องแร่ไวเบรเนียมอันล้ำค่าไม่ให้หลุดออกสู่โลกภายนอก วางตัวเองซ่อนอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากวิกฤตการณ์โลกภายนอกทั้งในทวีปแอฟริกา สหรัฐอเมริกา และจากทั้งโลก

คงไม่ต้องพูดถึงตัวเรื่องราวของเนื้อเรื่องที่มีครบรสตามสูตรภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ ที่ต้องปกป้องโลกให้พ้นจากหายนะที่จะเกิดขึ้นจากความหลงผิดของอำนาจอธรรม

 ในเรื่องนี้ก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างลูกพี่ลูกน้องเพื่อแย่งชิงบัลลังก์เสือดำ ในการที่จะปิดประเทศอยู่อย่างสันโดษ สงบ สันติ หรือเพื่อออกไปใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรล้ำค่านำไปปลดแอกจากโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำสงครามในนามการปลดแอกเพื่อคนผิวสี

ภาพจำลองสังคม อุดมคติคนแอฟริกัน-อเมริกัน

 การเดินเรื่องเป็นไปตามสูตรทุกอย่าง ดูได้รสบันเทิงเร้าใจสนุก มีผสมผสานดราม่าเข้ามาอย่างกลืนกลายกลมกล่อม ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงที่นำลักษณะหนังซูเปอร์ฮีโร่ในสไตล์ยุคทศวรรษที่ 80 คลี่คลายมาสู่ความร่วมสมัยในยุคนี้ได้อย่างชาญฉลาด

 สำหรับสิ่งที่น่าสนใจกับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้ ในมิติทางสังคมการเมืองแบบอเมริกัน คือประเด็นความขัดแย้งของการนำราชอาณาจักรวากันดาให้แยกเป็นเอกเทศสันโดษจากโลกภายนอก นับได้ว่าเป็นการนำภาพจำลองหรือแนวคิดของประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในระยะนี้ ยืนอยู่บนทางสองแพร่งว่ายึดถือหลักการอยู่โดดเดี่ยวหรือการที่ต้องเข้าไปร่วมในสังคมโลก

 ชาวอเมริกันมีความหวังที่จะหลีกเลี่ยงสงครามคราวต่อไป โดยการตั้งตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดโดยรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายของความเป็นกลาง ปี 1935 และ 1939 ซึ่งห้ามสหรัฐอเมริกาไม่ให้ทำการค้าขายกับประเทศคู่สงคราม ตลอดจนห้ามมิให้ประเทศคู่สงครามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกู้ยืมเงินทั้งสิ้น

ภาพจำลองสังคม อุดมคติคนแอฟริกัน-อเมริกัน

 สหรัฐอเมริกาได้ยอมจำกัดสิทธิเสรีภาพในการค้าขายในทะเลหลวงด้วยตนเอง เพื่อมิให้ไปกระทบกระทั่งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่นโยบายนี้มิได้ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดของตนได้ในเวลาต่อมา

 สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีรูสเวลต์ มีหลัก 5 ประการ ในการวางตัวเป็นกลางและโดดเดี่ยวตัวเองในยุคนั้น คือ

 - เชื่อในพรมแดนธรรมชาติที่ดีเยี่ยมเปรียบเสมือนเป็นกำแพงสกัดกั้นการรุกรานใดๆ

 - คนอเมริกันส่วนใหญ่คิดว่าสงครามไม่ดีเพราะสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วแทนที่จะมีความสงบสุข สิ่งที่ปรากฏคือคงเกิดกรณีพิพาททางการค้าด้วยกำแพงภาษีนำเข้าที่สูง ไม่สามารถลดอาวุธและกองกำลังทหารระหว่างกันได้ และเกิดระบบเผด็จการรวบอำนาจ

 - ความล้มเหลวของสันนิบาตชาติ (ต่อมาพัฒนาเป็นองค์การสหประชาชาติ)

 - สหรัฐอเมริกาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับคู่กรณีพิพาททั้งทางการค้าและการเงิน เพราะจะฉุดให้สหรัฐอเมริกาต้องเข้าร่วมในสงคราม เช่น ต้องเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1

 - คนอเมริกันกลุ่มที่ยึดมั่นในนโยบายโดดเดี่ยว คือต้องการให้รัฐบาลกลางสนใจในกิจการและปัญหาภายในประเทศ แยกสหรัฐอเมริกาออกจากการเข้ายุ่งเกี่ยวในปัญหาโลก มีจำนวนมากกว่ากลุ่มคนอเมริกันที่ต้องการให้รัฐบาลกลางสนใจเหตุการณ์ภายนอก และนำสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงรวมแก้ไขปัญหาโลก

ภาพจำลองสังคม อุดมคติคนแอฟริกัน-อเมริกัน

 นโยบายในยุคนั้นของสหรัฐอเมริกาตรงกับการเขียนเรื่องให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรวากันดาของภาพยนตร์ แบล็ก แพนเธอร์ อย่างแยกกันไม่ออก

 อีกส่วนที่ตรงกันก็คือฝ่ายที่นิยมการออกสู่โลกภายนอกและสงครามป้องกันตัวเอง ปลดแอกจากความกดขี่และไม่เป็นธรรม แต่เป็นคนละเรื่องเดียวกันคือ พรรคแบล็ก แพนเธอร์ (องค์การเสือดำ) ของคนแอฟริกัน-อเมริกัน ในยุคนั้น คือปี 1966 ที่มีคอมิกหรือการ์ตูนเรื่องนี้ออกมา

 พรรคนี้เป็นองค์การทางการเมืองในสหรัฐ มี บ๊อบบี้ จี. ซีล และ ฮิวอี้ พี. นิวตัน เป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มจากการก่อตัวเป็นชุมนุมที่รณรงค์ให้ชาวผิวดำใช้สิทธิรัฐธรรมนูญติดอาวุธเพื่อปกป้องตน มีนโยบายสนับสนุนให้มีการขบถที่ติดอาวุธต่อระบบการเหยียดผิว และความอยุติธรรมต่างๆ ได้รับความนิยมสูงสุดระหว่างปี 1967-1968 คาดว่ามีสมาชิกมากกว่า 5,000 คน จนรัฐบาลสหรัฐต้องกวาดล้างพรรคนี้ โดยใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ผู้นำของพรรคนี้หลายคนถูกลอบสังหาร และจับกุมคุมขังด้วยการยัดเยียดข้อหาร้ายแรง หน่วยงานของพรรคถูกเจ้าหน้าที่บุกทำลาย พรรคนี้สลายลงในปี 1972

 เมื่อดูภาพยนตร์ “Black Panther” ลองหยิบเอาประวัติศาสตร์ที่ถูกนำไปจำลองสร้างเรื่องใหม่ในภาพยนตร์มาอ่านดู ก็จะพบแง่มุมของวิธีคิดแบบอเมริกันหรืออเมริกันศึกษาได้อย่างดีทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมในการมองสังคมจริงๆ ทางประวัติศาสตร์ผ่านกรอบของเรื่องสมมติเพื่อความบันเทิง