posttoday

ปฐวี พินิจกุล กับธุรกิจท่อน้ำซึมรักษ์โลก

27 สิงหาคม 2561

ท่อน้ำซึมเป็นแนวคิดต่อยอดมาจากท่อน้ำหยดที่ใช้ในการเกษตรทั่วไป แต่จุดอ่อนของท่อน้ำหยด ก็คือการให้น้ำได้เฉพาะจุดเหมาะกับสวนที่ต้องการให้น้ำเฉพาะต้นไม้ใหญ่

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี

ปกติแล้วท่อน้ำที่เรารู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีจะต้องเป็นท่อน้ำที่มีความสามารถในการเก็บน้ำยืดหยุ่นแข็งแรง แต่ท่อน้ำที่เราเห็นอยู่นี้กลับรั่วซึมไปทั่ว ไม่เก็บกักน้ำ สร้างความประหลาดใจให้เราไม่น้อย ปฐวี พินิจกุล นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รีบเข้ามาทักทายพร้อมกล่าวแนะนำผลงานชิ้นนี้แก่เราในงาน โอเพ่น เฮาส์ 2018 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในทันที

ซึมซ่านทั่วพื้นดิน

“ท่อน้ำซึมเป็นแนวคิดต่อยอดมาจากท่อน้ำหยดที่ใช้ในการเกษตรทั่วไปครับ แต่จุดอ่อนของท่อน้ำหยด ก็คือ การให้น้ำได้เฉพาะจุดเหมาะกับสวนที่ต้องการให้น้ำเฉพาะต้นไม้ใหญ่ แต่ปัจจุบันการเกษตรกรมีการปลูกพืชหลักและพืชรองควบคู่กันไป ทำให้ท่อน้ำหยดไม่ครอบคลุมความต้องการน้ำของพืชได้มากพอ

เกษตรกรจึงใช้สปริงเกอร์ในการให้น้ำในบริเวณกว้างแทน สปริงเกอร์มีการใช้น้ำในปริมาณมากและต้องใช้ปั๊ม ซึ่งจะสิ้นเปลืองทั้งน้ำแล้วก็กำลังไฟฟ้า แต่ว่าท่อน้ำซึมสามารถให้น้ำกับพืชได้ตลอดแนวท่อ ไม่จำเป็นต้องปลูกเป็นจุดๆ และท่อน้ำซึมยังสามารถวางได้ทั้งบนดินและใต้ดิน

ฉะนั้นการประยุกต์การใช้งานของท่อน้ำซึมค่อนข้างที่จะหลากหลายอรรถประโยชน์กว่า ให้น้ำและความชุ่มชื้นกับดินแก่ต้นไม้ได้ดีกว่าท่อน้ำหยด อีกทั้งยังม้วนเก็บง่ายเพราะว่าตัวท่อมีความอ่อนนุ่ม มีความยืดหยุ่นแข็งแรงทนทาน ดีกว่าท่อพลาสติกที่ใช้กับท่อน้ำหยดทั่วๆ ไป

การให้น้ำแบบนี้จะประหยัดน้ำกว่าการให้สปริงเกอร์หลายเท่า แต่หากเทียบกับการให้แบบหยดน้ำ เรายอมรับว่าหยดน้ำมีความประหยัดน้ำมากกว่า เพราะให้น้ำเฉพาะจุดเฉพาะต้น แต่ท่อน้ำซึมก็จะได้เปรียบมากกว่าตรงที่ให้ความชุ่มชื้นกับต้นไม้ทุกต้นที่อยู่ในบริเวณนั้น ต้นไม้บางชนิดมีรากลึกก็สามารถขุดวางท่อให้น้ำในจุดที่รากสามารถดูดซึมได้ง่าย ผลผลิตก็จะได้มากกว่าปกติ”

ปฐวี พินิจกุล กับธุรกิจท่อน้ำซึมรักษ์โลก

ต่อยอดเพื่อวางจำหน่าย

แต่กว่าจะพัฒนาจนได้อย่างที่เห็น เป็นธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนไม่จบของปฐวี ก็เรียกว่าได้ผ่านปัญหาและการดำเนินการมาไม่น้อย “ตอนนี้ท่อน้ำซึมอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการวางจำหน่าย แต่หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่เราต้องทำให้บริษัทที่เราวิจัยร่วมกันเห็นผลประโยชน์และโอกาส ของการผลิตท่อน้ำซึมให้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม

เห็นข้อดีเหมือนที่เรามองเห็นว่าช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เกิดขยะยางรถยนต์มากมายแล้วไม่สามารถจัดการนำขยะเหล่านั้นนำมารีไซเคิลได้อย่างถูกต้องหรือมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวเกษตรกรยางพาราก็ประสบปัญหายางพาราหรือยางดิบธรรมชาติราคาตกต่ำ

ผมจึงมองเห็นว่าเราน่าจะเอายางรถยนต์มารีไซเคิลร่วมกับการนำยางธรรมชาติเข้ามาผสมผสานสร้างสินค้าใหม่ขึ้นมา ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการรีไซเคิลยางเก่า ขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการนำยางพารามาสร้างสินค้าใหม่เพิ่มช่องทางการนำวัตถุดิบมาใช้ป้องกันราคาตกต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ขณะเดียวกันปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ทำให้ช่วงฤดูแล้งเกิดการขาดแคลนน้ำไม่พอใช้ ดังนั้นการนำท่อน้ำซึมมาใช้งานจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะว่าท่อน้ำซึมเป็นอุปกรณ์การให้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมอัตราการให้น้ำต่อพื้นที่ตารางเมตรต่อชั่วโมงได้ ใช้งานง่ายสะดวกม้วนเก็บง่าย

ระยะเวลาในการวิจัยผลงานชุดนี้ทั้งหมดของผมใช้เวลาในการคิดพัฒนาประมาณ 1 ปี โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากคนที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ซึ่งใช้เวลาในการคิดคว้ากันอยู่ประมาณ 4 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีทั้งท่อพลาสติก ท่อยางอื่นๆ ผมก็ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็เอามาประยุกต์แล้วก็ปรับปรุงพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่ลงตัวมากขึ้น

ในการพัฒนาผมก็มีการพูดคุยกับบริษัทที่รับผลิตมาตั้งแต่เริ่มต้น ก็คือ บริษัท แสงไทยผลิตยาง และอาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เพราะสถาบันเองไม่เครื่องมือและเงินทุนมากพอที่จะผลิตท่อในปริมาณมากๆ หากต้องการให้งานวิจัยเอามาใช้ได้จริง เรามีความจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือแล้วก็องค์ความรู้ในการผลิตยางของบริษัทผู้ผลิตเข้ามาร่วมในการพัฒนาสินค้าชนิดนี้ขึ้นมา แล้วเซ็นสัญญาตกลงทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาวางขายทางการตลาดได้แล้วจดอนุสิทธิบัตรร่วมกัน

ระหว่างการพัฒนาก็มีปัญหาหลายอย่างที่เราพบ หลักๆ ก็คือสินค้าตัวนี้เราใช้วัสดุที่ใช้แล้วมารีไซเคิลคือยางรถยนต์ ดังนั้นปัญหาแรก ก็คือ วัสดุไม่สามารถทนแรงดันน้ำได้ แม้ว่าจะนำยางพาราดิบมาร่วมเป็นส่วนผสมด้วยก็ตาม เราจึงเสริมความแข็งแรงความยืดหยุ่นให้กับท่อด้วยการใช้ผ้าใบที่อยู่ในเส้นยางรถยนต์เข้ามาเสริมให้กับท่อน้ำซึม

เท่ากับว่าเรานำยางเก่ามารีไซเคิลได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงแค่เส้นใยเหล็กที่สามารถนำไปรีไซเคิลทำอย่างอื่นได้อีก ผลผลิตที่ออกมาได้ก็คิดว่าได้ในปริมาณที่มากพอสมควรหากเทียบน้ำหนักยากหนึ่งเส้นหนักหลายกิโลกรัมกับท่อน้ำซึมความยาว 1 เมตร หนักอยู่แค่ประมาณ 120 กรัมเท่านั้น ให้ยาว 20 เมตร ก็ยังเบาจนแบกกลับบ้านเองได้ไหว

ปฐวี พินิจกุล กับธุรกิจท่อน้ำซึมรักษ์โลก

สินค้านี้หากเทียบกับคู่แข่งแล้วตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่งในตลาดโดยตรง แต่ถามว่าเคยมีคนทำมาก่อนหน้านี้ไหม ก็เคยมีครับ แต่ว่าเป็นสินค้าที่เข้ามาจากท่อพลาสติกซึ่งไม่ได้รับความนิยม เพราะมีปัญหาเรื่องการขนส่งแล้วก็น้ำหนัก รวมทั้งการติดตั้งที่ค่อนข้างที่ซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่า เทียบกับของเราแล้วท่อน้ำซึมน้ำหนักเบา อายุใช้งานยาวนาน มีความยืดหยุ่น วางแนวท่อได้สะดวก ติดตั้งง่ายกว่ามาก

ท่อน้ำซึมก็จะมีหลายเกรดหลายขนาด ตามความต้องการปริมาณน้ำของพืชแต่ละชนิด ถ้าเป็นต้นไม้ใหญ่มีความต้องการน้ำในปริมาณมาก ก็สามารถใช้ท่อน้ำซึมรุ่นที่มีการให้น้ำสูง หากเป็นพืชขนาดเล็กมีความต้องการน้ำในปริมาณน้อยก็สามารถใช้ท่อน้ำซึมขนาดเล็กตามระดับความเหมาะสม

เกษตรกรจะรู้อยู่แล้วว่าพืชแต่ละชนิดมีความต้องการใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน บริเวณรากอยู่ตื้นอยู่ลึกอย่างไรที่จะวางแนวท่อผิวดินหรือใต้ดินท่อน้ำซึมนี้ทำได้หมด ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะใช้น้ำเพียงแค่ 3 ลิตร ใน 1 ชม.เท่านั้น เทียบกับสปริงเกอร์แล้วน้อยกว่ากันหลายเท่า”

อย่าเอางานขึ้นหิ้ง

นักศึกษาหนุ่มทิ้งท้ายกับเราว่า “ในสถาบันการศึกษาต่างๆ มีงานวิจัยดีๆ ค่อนข้างมาก แต่เราจะทำอย่างไรที่จะเอางานลงมาจากหิ้งแล้วเอามาวางขายจริงๆ ซึ่งผมว่าต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้วิจัยกับบริษัทต่างๆ ในการที่จะเห็นพ้องต้องกัน มองเห็นว่าจะเป็นสินค้าที่มีอนาคต สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ ก็จะทำให้งานวิจัยที่คิดค้นกันมานั้นไม่สูญเปล่า

อย่างท่อน้ำซึมเองก็เกิดจากการแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาโลกร้อน แก้ปัญหารีไซเคิล แก้ปัญหายางราคาตกต่ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งมีผลประโยชน์ที่ได้มากกว่าที่จะเก็บไว้เป็นแค่งานวิจัยอย่างเดียวเท่านั้น ทุกวันนี้เราใช้ศักยภาพของสถาบันการศึกษาไม่เต็มที่ ควรมีหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมมือและพัฒนาร่วมกันได้

สำหรับคนที่มีผลงาน มีแนวคิดที่ดี ในการพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อะไรออกมาก็ตาม ผมอยากบอกว่า อย่าทำเป็นแค่โปรเจกต์จบ แล้วปล่อยมันไว้เป็นความฝัน ให้มองว่าเป็นโอกาสที่จะพัฒนาสินค้าของไทยให้มีคุณภาพ ลองติดต่อกับบริษัทต่างๆ ดู เพราะพวกเขาก็มีแนวคิดที่จะหานวัตกรรมมาผลิตสินค้าใหม่อยู่แล้ว

ควรไปขอความร่วมมือแล้วก็ตกลงพัฒนาสินค้าเซ็นสัญญาความตกลงร่วมกัน นอกจากจะได้ผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว งานวิจัยของเราก็ยังได้ไปสู่สายตาประชาชน สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากขึ้นอีกด้วย”