posttoday

ขวัญ เกตุศิริ งานอินทีเรียร์ต้องใส่ใจในรายละเอียด

07 สิงหาคม 2561

ฝีมือด้านการออกแบบของ ขวัญ เกตุศิริ แห่งบริษัท โซลล์ลีฟวิ่ง เรียกว่า เล็กพริกขี้หนู จัดจ้านเกินตัว

เรื่อง : วราภรณ์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ฝีมือด้านการออกแบบของ ขวัญ เกตุศิริ แห่งบริษัท โซลล์ลีฟวิ่ง เรียกว่า เล็กพริกขี้หนู จัดจ้านเกินตัว เธอมีลูกค้าระดับเอลิสต์มากมายที่ให้เธอเนรมิตออกแบบบ้านออกมาได้มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นเจ้าของบ้านมากที่สุด ทำงานจริงจัง จริงใจกับลูกค้า นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้ขวัญสามารถครองใจลูกค้าระดับบนได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากออกแบบตกแต่งบ้านให้ครูอ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง แล้ว เธอยังฝากฝีไม้ลายมือตกแต่งภายในบ้านให้พิธีกรมากความสามารถ กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ และต้า-รรินทร์ ทองมา แห่งโอแอนด์บี แบรนด์กระเป๋าเครื่องหนังเสื้อผ้าแฟชั่นอีกด้วย ซึ่งบ้าน 2 หลังแรกมีรางวัลด้านการตกแต่งไพรเวท เรสซิเดนซ์ระดับนานาชาติการันตีฝีมือด้วย

ปัจจุบัน ขวัญนั่งในตำแหน่งเอ็มดี ผู้ก่อตั้ง และ Chief Designer บริษัท Zoul Living ทำงานด้านออกแบบเรสซิเดนซ์ คอมเมอร์เชียล อินทีเรียร์ ดีไซน์ เอ็กซ์เพิร์ต กว่า 10 ปีที่เธอคร่ำหวอดอยู่ในวงการออกแบบตกแต่งภายใน หลังจากเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอเข้าทำงานที่แรกที่บริษัทตกแต่งภายใน สหัสชา ต่อมาคือ เปีย อินทีเรียร์ ดีไซน์ และบริษัท Orbit ในตำแหน่ง ซีเนียร์ อินทีเรียร์ ก่อนที่จะมาเปิดบริษัทออกแบบตกแต่งตามความฝันของตัวเอง ผลงานที่สร้างชื่อและเป็นผลงานที่เธอภาคภูมิใจก็คือ เธอออกแบบมีมากมาย เช่น ออกแบบห้องพักส่วนตัวบนเรสซิเดนซ์สุดหรูให้เหล่าคนดัง อาทิ กาละแมร์ พัชรศรี และครูอ้อย ฐิตินาถ โดยมีรางวัลด้านการออกแบบระดับโลกการันตีฝีมือ เอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ด 2017 ของอังกฤษ และรางวัลด้านการออกแบบไพรเวท เรสซิเดนซ์ จากนิตยสารด้านออกแบบแชนเดอเลียร์ เฟอร์นิเจอร์ แอนด์ไตติ้งของอิตาลีมาแล้ว ซึ่งกว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ จะลุกขึ้นมาเปิดบริษัทตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยคำสอนของครูอ้อย ที่เธอจำฝังใจ คือ ถ้าไม่ใช่เราแล้วจะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่ตอนนี้แล้วจะเมื่อไหร่ ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ

“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขวัญรู้สึกสับสนว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบตกแต่งที่เมืองนอกดี หรือจะออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง พอได้เรียนกับครูอ้อยทำให้ขวัญกล้าโต พอมีบริษัทของตัวเองทำให้ขวัญมีหน้าที่ที่รับผิดชอบมากขึ้น เช่น ต้องดูด้านการเงิน การบริหารองค์กรให้เติบโต เพราะเราเป็นเจ้าของบริษัทเราต้องรู้ภาพรวมทั้งหมดของบริษัท ตอนเปิดบริษัทใหม่ๆ ขวัญก็เจออุปสรรคเยอะเหมือนกัน เช่น ระยะแรกๆ ลูกค้าเรายังไม่เยอะมาก เราก็ต้องวิ่งหาลูกค้า อีกส่วนหนึ่งคือหาทีมงานมาช่วยงาน บางทีงานมาก คนไม่พอกับงาน หรืองานไม่พอกับคน ปัญหาคนไม่พอกับงาน เราต้องรีบหาคนเพิ่ม ด้วยการใช้เอาต์ซอร์สเข้ามาช่วยงาน ส่วนปัญหางานไม่พอกับคนก็ต้องหางานมาเพิ่ม แต่ขวัญโชคดีตอนเปิดบริษัท เราได้โปรเจกต์ออกแบบบ้านให้ครูอ้อยเป็นหลังแรก ก็คือห้องเดิมที่คุณกาละแมร์ซื้อไป พอทำบ้านหลังนั้น ผลงานออกแบบของบริษัทได้ลงแมกกาซีนเยอะมาก และยังได้รับรางวัลเอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ด 2017 ด้านไพรเวท เรสซิเดนซ์ของอังกฤษ ทำให้ขวัญรู้สึกดีใจเพราะอย่างน้อยๆ งานที่เราออกแบบได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ”

ขวัญ เกตุศิริ งานอินทีเรียร์ต้องใส่ใจในรายละเอียด

อีกแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้ขวัญอยากเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน อาจจะได้เห็นภาพคุณปู่ที่เป็นศิลปินที่เก่งทั้งการเล่นดนตรีไทยและดนตรีสากลหลายชนิด ภาพที่เธอเห็นจนชินตาตั้งแต่เด็กๆ คือเห็นคุณปู่ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว เล่นอิเล็กโทน และคีย์บอร์ดเสียงไพเราะ นอกจากนี้คุณปู่ยังเป็นช่างไม้ที่เก่งมาก คุณปู่สามารถสร้างบ้านไม้ที่เธออยู่ตั้งแต่เด็กๆ ด้วยตนเองทั้งหลัง ตอนโตเธอจึงเลือกเรียนมัณฑนศิลป์ ออกแบบตกแต่งภายใน

สิ่งที่ทำให้ผลงานของขวัญได้รางวัลนอกจากการทุ่มเทใส่ใจในการทำงานแล้ว นอกเหนือไปกว่านั้นคือ เรื่อง “สไตล์” ที่เธอใส่ใจ

“เวลาขวัญออกแบบบ้านให้ลูกค้าท่านใด ขวัญจะดูเรื่องบุคลิก การใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน บุคลิกของบ้านจะออกมาเป็นอย่างไร ขวัญจะออกแบบโดยใส่บุคลิกภาพเจ้าของบ้านลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบบ้าน ร้านค้า โรงแรม ซึ่งขวัญว่าหมดยุคแล้วกับการใส่สไตล์ของดีไซเนอร์ลงไป เราต้องมองหาไอเดนทิตี้ของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าขององค์กร บริษัทของลูกค้าเป็นอย่างไร เราต้องถอดออกมา ด้วยอาศัยการพูดคุย การสังเกตดูการแต่งกาย สีที่เจ้าของบ้านชอบ ไลฟ์สไตล์ที่เขาชอบทำบ่อยๆ เช่น ครูอ้อยชอบอ่านหนังสือ ชอบเดินทาง บ้านก็ต้องมีที่เก็บของเยอะๆ เพื่อไว้เก็บความทรงจำของการเดินทางเอาไว้ บ้านจึงถือเป็นสิ่งที่เล่าเรื่องของเจ้าของบ้านและสะท้อนว่า เจ้าของบ้านมีบุคลิกหรือชื่นชอบอะไร จึงทำให้บ้านแต่ละหลังพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน มีความชอบที่แตกต่างกัน อย่างคุณกาละแมร์ชอบทำอาหารคลีน ขวัญจึงเลือกออกแบบผนังด้านหลังห้องครัวติดวอลเปเปอร์สีสันสดใสตามแบบที่คุณกาละแมร์ชอบ เป็นต้น”

ปัจจุบันบริษัทที่ขวัญก่อตั้งมีพนักงานทั้งหมด 8 คน ไม่นับรวมเอาต์ซอร์สอีกมากมาย ด้วยต้องบริหารจัดการเองเกือบทั้งหมด บางครั้งอาจเจออุปสรรคในการทำงานบ้าง เจอปัญหาอะไรเธอก็ต้องใช้ความเด็ดขาดในการตัดสินใจ

“ผู้นำที่ดี ขวัญพยายามจะเป็นให้ได้ดีก็คือ ขวัญพยายามให้ทุกคนในทีมงานทำงานอย่างมีความสุข ใครสนใจด้านไหนส่งไปเรียนเสริมด้านนั้น เช่น ส่งไปเรียนโปรแกรมที่จะสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น รวมทั้งการผลักดันดูจุดเด่นของพนักงานว่าฉายแววในด้านใน เพื่อให้ลูกน้องทำงานได้อย่างเต็มที่มากที่สุด ลองดึงศักยภาพของเขาออกมาใช้ให้เต็มที่ แล้วขวัญจะช่วยไกด์ไลน์ในส่วนที่ลูกน้องขาดอยู่ เช่น ดีไซน์เรารู้สึกว่า เพิ่มเติมได้ แก้ไขได้นิดหน่อย ในแง่พนักงานที่มีประสบการณ์ เราสามารถไว้วางใจให้เขาช่วยดูแลงานบางส่วนได้ แต่เด็กรุ่นใหม่ มีข้อดีตรงไฟแรงหรือไอเดียสดใหม่ ต้องมีส่วนผสม 2 ส่วนอยู่ด้วยกัน ดังนั้นทั้งคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ขวัญเปิดโอกาสให้ทั้งหมด”

ขวัญ เกตุศิริ งานอินทีเรียร์ต้องใส่ใจในรายละเอียด

การได้ทำงานออกแบบไพรเวท เรสซิเดนซ์ ระดับลักซ์ชัวรี่ทั้งนั้น ถือเป็นความโชคดีที่นอกเหนือจากฝีมือแล้ว จำเป็นต้องมีคอนเนกชั่นที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากนั้นยังต้องรู้จักเลือกช่องทางในการเผยแพร่ผลงานออกสื่อต่างๆ ด้วย

“นอกเหนือไปจากฝีมือ เราจำเป็นต้องโปรโมทผลงานลงโซเชียลบ้าง ซึ่งแตกต่างจากยุคก่อนที่สมัยก่อนช่องทางคนจะรู้จักนักออกแบบได้คือ การอ่านแมกกาซีนตกแต่งบ้าน แต่ยุคปัจจุบันคนซื้อแมกกาซีนน้อยลง โทรศัพท์มือถืออยู่ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการที่ทำให้คนเห็นเราทางโซเชียลทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมสำคัญ ขวัญกึ่งๆ เป็นทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าผสมกัน เด็กรุ่นใหม่จะเก่งโซเชียลกว่าเรา แต่รุ่นเราก็มีความเข้าใจทั้งคนยุคเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งขวัญถือว่าเป็นข้อดีนะคะ”

หากถามถึงลายเซ็นที่ขวัญฝากไว้ในงานก็คือ ซูเปอร์ดีเทล คือการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ เช่น เมื่อเจ้าของบ้านเข้าบ้านไปแล้ว ต้องออกแบบจุดที่ลูกค้าจะสามารถวางกุญแจรถได้ แทนการเอาไปเก็บในห้องนอน ซึ่งในเวลาเร่งรีบ การวิ่งเข้าไปหากุญแจในห้องนอน ถือว่าเป็นการเสียเวลามาก ดังนั้นผลงานออกแบบบ้านของขวัญส่วนใหญ่เธอมักออกแบบสแตนด์เทเบิล เอาไว้เสมอๆ หรือการออกแบบที่เธอมักคำนึงถึงทุกสิ่งในการใช้ชีวิตของเจ้าของบ้าน เช่น โต๊ะทำงานก็ต้องมีจุดเสียบปลั๊กไฟบนโต๊ะและมีการออกแบบเส้นสายในการเดินสายไฟที่ดูไม่รกรุงรัง หรือการออกแบบฟิตเนสที่มีช่องใส่ไดรเป่าผมที่เมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องมีที่เก็บที่มิดชิด ไม่เกะกะสายตา เพื่อทำให้ห้องดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามแนวคิดไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถือเป็นหลักคิดในงานออกแบบตกแต่งภายในของขวัญ

อย่างไรก็ดี การหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ใส่ในงานออกแบบ เป็นสิ่งที่ขวัญให้ความสำคัญ วิธีที่ขวัญใช้หาอาหารสมอง ก็คือ การท่องเที่ยว เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยวในทวีปยุโรป ใน 1 ปีเธอมักออกแบบทริปราวๆ 6-8 ทริป เพื่อใช้ผ่อนคลายหัวสมองตนเอง

ขวัญ เกตุศิริ งานอินทีเรียร์ต้องใส่ใจในรายละเอียด

“เรื่องราวระหว่างการเดินทาง เช่น การไปยุโรป แค่ได้เห็นหน้าร้านค้าในเมืองใหญ่ๆ ขวัญก็สามารถเก็บมาใช้ในงานออกแบบบ้านได้ แม้กระทั่งการกินอาหารอร่อยๆ ก็ให้ประสาทสัมผัสที่ดี ดังนั้น การท่องเที่ยวการกินอาหารจึงให้ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง หรือแค่เราได้เปลี่ยนบรรยากาศ เราก็จะได้แนวครีเอทีฟใหม่ๆ ปีหนึ่งสัก 6-8 ครั้ง ต้องเดินทางไปยุโรป ทั้งไปเที่ยวและไปทำงาน ทั้งไปรับรางวัลก็ถือโอกาสเที่ยวไปด้วย อย่างเพิ่งไปมัลดีฟส์ขวัญก็ไปดูโรงแรมที่นั่นว่าเขาตกแต่งอย่างไร พบข้อดีข้อเสียในงานที่เขาตกแต่งไว้หรือไม่ แล้วขวัญก็นำมาปรับใช้กับงานของเราได้ด้วย”

สำหรับคำแนะนำน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ที่สนใจอยากทำงานด้านอินทีเรียร์ดีไซน์ พี่ขวัญอยากแนะนำว่า เด็กๆ รุ่นใหม่หากอยากประสบความสำเร็จในอาชีพนักออกแบบตกแต่งภายใน สิ่งที่ต้องมีอยู่ในตัวคือ ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ ติดตามเทรนด์เรื่องวัสดุใหม่ๆ ตลอดเวลา และอย่าหยุดที่จะเรียนรู้

“เราต้องมีอะไรใส่สมองตลอดเวลา เช่น ศึกษาเทรนด์วัสดุ วิธีการออกแบบในแบบใหม่ๆ เพราะโลกเราไปไกลมาก ทุกๆ คนมีสิ่งที่เท่าเทียมกันคือ การเข้าสื่อ เราต้องอยากเรียนรู้เป็นตัวผลักดัน เราต้องมีแพสชั่นเพื่อที่เราจะได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ขวัญยังต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างงานของนักออกแบบรุ่นพี่ๆ เราก็ยังต้องศึกษา แต่งานไอเดียยุคใหม่ๆ เราก็ต้องเรียนรู้ด้วย ต้องโอเพนมายด์ ขวัญอยากให้น้องๆ เปิดรับ ดูให้เยอะ ดูทั้งวิธีการออกแบบของนักออกแบบทั้งไทยและต่างประเทศคนที่เก่งๆ จะช่วยพัฒนางานไปได้ค่ะ”