posttoday

นลัท จิรวีรกูล ขนมคือรักจากวัยเยาว์

20 กรกฎาคม 2561

บุคลิกน่ารัก มีความเป็นธรรมชาติ น่าจะเป็นนิยามของ “ลัท” นลัท จิรวีรกูล รองแชมป์จากรายการ MasterChef Thailand ซีซั่น 2

เรื่อง ปอย

บุคลิกน่ารัก มีความเป็นธรรมชาติ น่าจะเป็นนิยามของ “ลัท” นลัท จิรวีรกูล รองแชมป์จากรายการ MasterChef Thailand ซีซั่น 2

ในวันนี้ที่ก้าวสู่วัย 30 ปี คือวันของการก้าวเข้าสู่อาชีพเชฟเต็มตัว จากอาชีพเป็นแม่ค้าขายขนมบราวนี่ทางอินสตาแกรม lamelobakestudio ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถนัดและรักที่สุด ลัท บอกว่าผ่านการค้นหาตัวเองที่ใช้เวลายาวนานพอสมควรเลยทีเดียว หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็เลือกยึดอาชีพฝ่ายผลิตแอนิเมชั่น ก่อนจะผันตัวมาเป็นเชฟหน้าสวยหวานไม่แพ้คุกกี้ ที่มีเอฟซีติดอกติดใจไปทั้งเมือง

“ก่อนการแข่งขัน บอกเลยนะคะขายบราวนี่ไม่ได้ดีอะไรมากเลยค่ะ (บอกพลางหัวเราะเสียงใส) ขายได้เดือนละ 20-30 กล่องเท่านั้น มีแต่ขาประจำสั่งกัน แต่พอไปออกรายการแข่งขันเข้ารอบลึกเรื่อยๆ ก็ต้องใช้คำว่ายอดสั่งเข้ามาถล่มทลาย แฟนๆ ที่ดูรายการก็บอกค่ะว่า อยากชิมขนมฝีมือลัท แต่ถึงจะสั่งขนมเข้ามาจำนวนมากขนาดไหน ลัทก็คือผู้ปรุงและกำหนดรสชาติด้วยตัวเองทุกชิ้นนะคะ โดยมีลูกมือช่วยแค่ 2 คนเท่านั้น มาช่วยยกของ ช่วยตักขนมใส่ถาด แพ็กกล่องส่ง ลัททำขนมด้วยความปลื้มใจที่มีแฟนๆ รอชิมขนมฝีมือเราค่ะ”

งานเพิ่มขึ้นอีกหลายๆ หน้าที่ ตามมาติดๆ ทันทีที่มีตำแหน่งรองแชมป์ แฟนๆ ได้ชมรายการคุกกิ้งมาสเตอร์คลาส กับ MasterChef Thailand ผลิตเป็นคลิปสอนการทำอาหารทั้งคาวและหวาน เชฟลัทบอกพร้อมโชว์รอยยิ้มที่เป็นบุคลิกประจำตัวไปแล้ว ว่าสอนผ่านคลิปออนไลน์ แฟนๆ ตามติดกันเพียบอีกเช่นเคย

“ลัทไม่ได้เริ่มต้นอาชีพเชฟ เรารักตัวการ์ตูนก็เลยเรียนการผลิตแอนิเมชั่น มีความสุขค่ะแต่สุขภาพไปไม่ไหวจริงๆ การทำงานแต่ละวันก็จ้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ขยับแค่นิ้วมือ เป็นวิถีชีวิตที่ไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย แล้วก็ป่วยบ่อย ก็ถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เรารัก คำตอบก็คือขนม ก็ความรักความชอบทำมาตั้งแต่เด็กๆ เลย เพราะว่าคุณแม่ชอบทำขนมแจกคนที่เป็นลูกค้าร้านค้าไม้ของครอบครัวเรา คุกกี้ฝีมือคุณแม่คือของสมนาคุณที่ทุกๆ คนชื่นชอบ ลัทก็ชอบเป็นลูกมือคุณแม่ค่ะ

นลัท จิรวีรกูล ขนมคือรักจากวัยเยาว์

พื้นฐานลัทเป็นชาวลำปาง ไม่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ถ้าแม่ไปช็อปปิ้งซื้อของทำขนม ก็จะไปที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นฮับของเบเกอรี่ฝีมือเด็ดๆ เจ้าดังๆ ของภาคเหนือเลยนะคะ ลัทมีความสุขมากเวลาไปเกาะตู้เลือกขนม ได้ชิมทั้งเจ้าอร่อย ไม่อร่อย ชอบขนมแบบไหนก็ลองทำดูค่ะ ตอนที่ช็อกโกแลตลาวากำลังฮิตๆ ก็ลองฝึกมือทำดู สนุกมากรู้สึกได้เลยว่ามันคือขนมพิเศษ ตักแล้วมีช็อกโกแลตทะลัก น่าตื่นเต้น พอต้องเลือกเส้นทางอาชีพใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยนะคะ อาชีพคนทำขนมผุดขึ้นมาทันทีค่ะ”

เชฟขนมหวานคนงามเล่าไปพร้อมรอยยิ้มสดใส ลัท บอกว่าเส้นทางในวงการอาหารเริ่มต้นที่เป็นเด็กเสิร์ฟ

“จากงานที่ต้องนั่งจุ่มปุ๊กอยู่กับโต๊ะคอมพิวเตอร์ ไปสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านคอฟฟี่บีน บาย ดาว เป็นงานที่มีความสุขมากๆ ค่ะ ยืนรอรับออร์เดอร์ก็ยืนยิ้มตลอดเวลา (คราวนี้บอกพลางหัวเราะ) แล้วก็กลายเป็นว่าสุขภาพที่ป่วยกระแสะ แข็งแรงขึ้นทันที เพราะทำงานเสิร์ฟก็ต้องเดินไปเดินมา ยกจานอาหารที่ค่อนข้างหนัก ก็ถือว่าออกกำลังอัตโนมัติ และกับการทำงานบนหลักเสิร์ฟสิ่งดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ก็คือการเปิดโลกกว้างให้เราที่เริ่มอยากอยู่ในวงการนี้เต็มตัว จึงขอคุณพ่อคุณแม่ไปเรียนที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ประกาศนียบัตรด้านการประกอบขนมอบ เริ่มต้นหลักสูตรระยะสั้นก่อนเพราะคุณพ่อไม่ยอม ท่านอยากให้ทำงานที่บ้านแล้วเปิดร้านขนมเล็กๆ ลัทก็แอบไปเรียนจนจบขั้นสูง คอร์ส 9 เดือน เพราะรู้สึกนี่คือสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกรักมันจริงๆ   

การเรียนทำให้ได้กระบวนการทางความคิด Mindset ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสูตรขนมที่วันนี้จะไปหาที่ไหนก็ได้นะคะ เชฟขนมหวานเป็นงานหนักมากๆ ค่ะ และจะต้องอยู่กับการฝึกฝน มีสมาธิที่ทุกขั้นตอนการทำงาน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ลัทชอบมากๆ ในการทำขนมอบ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเผลอใส่แป้งเกินไปสัก 20 กรัม เนื้อขนมก็ผิดไปเลยกลับมาแก้ไขอะไรไม่ได้ ความละเอียดถี่ถ้วนจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ค่ะ สำหรับคนที่มาทำงานตรงนี้”

นลัท เล่าที่มาที่ไปถึงการทำขนมออกมาได้อร่อยถูกปากเอฟซี และคณะกรรมการ ทุกครั้งที่เป็นโจทย์ของหวาน ส่วนอาหารคาวคือการเรียนรู้ด้วยตัวเองในระหว่างแข่งขัน และจะเป็นอีกก้าวต่อไปแน่นอนว่าต้องเป็นการเรียนอย่างจริงจัง เพื่องานในวงการอาหารที่เลือกแล้วด้วยความรัก