posttoday

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ มองเป้าหมายให้ชัดแล้วไปให้ถึง

21 พฤษภาคม 2561

การที่เราจะนำทีมให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน บางครั้งการที่องค์กรไม่เข้าใจว่าจุดหมายปลายทางของเราอยู่ตรงไหนก็จะไปไม่ถึง

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี  ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

“การที่เราจะนำทีมให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน บางครั้งการที่องค์กรไม่เข้าใจว่าจุดหมายปลายทางของเราอยู่ตรงไหนก็จะไปไม่ถึง” เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) กล่าวไว้ในงานแสดงสินค้านานาชาติด้านเทคโนโลยี แอลอีดี เอ็กซ์โป ไทยแลนด์ 2018 (LED Expo Thailand 2018) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

สำหรับเฉลิมพงษ์ นับเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ใช้ชีวิตการทำงานกับบริษัท ฟิลิปส์ฯ มาอย่างยาวนานมากกว่า 25 ปี เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งวิศวกรแสงสว่าง แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวจนเลื่อนขั้นเป็นกรรมการผู้จัดการวันนี้

“ในสมัยที่ผมเริ่มทำงานกับฟิลิปส์ฯ ผมมีอยู่ 2 เหตุผลที่เข้ามาทำงาน เหตุผลแรกก็คือตอนที่ผมเรียนจะมีอยู่วิชาหนึ่งที่เรียกว่า วิชาวิศวกรรมแสงสว่าง อาจารย์ที่ปรึกษาผมก็คืออาจารย์ประโมทย์ (ศ.ดร.ประโมทย์ อุณห์ไวทยะ) ตอนนั้นท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการแสงสว่างในเมืองไทย

ท่านได้เป็นนายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่รวมผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของหลอดไฟ และผู้ออกแบบระบบแสงสว่างภายในอาคารเข้ามารวมไว้ด้วยกัน และท่านก็ยังได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผม แล้วก็ได้สอนวิชาวิศวกรรมแสงสว่างให้กับผมในตอนนั้นด้วย ผมก็เลยเกิดความสนใจในเรื่องวิศวกรรมแสงสว่างขึ้นมา”

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือตอนนั้น เฉลิมพงษ์ บอกว่ามีบุคลากรอยู่ท่านหนึ่งที่อยู่ในบริษัท ฟิลิปส์ฯ ก็คือคุณประกรณ์ (ประกรณ์ เมฆจำเริญ อดีตกรรมการผู้จัดการ)

“ตอนนั้นพี่ประกรณ์เป็นหัวหน้าทีมเทนนิสในทีมมหาวิทยาลัย พี่เขาเรียนปริญญาโทปีสุดท้าย ส่วนผมเพิ่งเข้าไปเรียนแล้วก็ไปเจอกับพี่เขาเล่นเทนนิส พี่เขาก็เลยทราบว่าผมเรียนทางด้านนี้มา ก็ชักชวนมาทำงานด้วยกัน ซึ่งก็ตรงกับความสนใจของผมในเรื่องของแสงอยู่พอดี เลยมาเริ่มต้นด้วยตำแหน่งวิศวกรแสงสว่าง

ทำหน้าที่ในเรื่องของการออกแบบห้องหรือสถานที่ให้มีความสว่างที่เพียงพอ หรือทำให้ตึกภายนอกเปิดไฟแล้วดูสวยงาม ต้องใช้ไฟประเภทไหน กำลังไฟกี่วัตต์ ติดตั้งอย่างไร ตอนนั้นจะลงโปรแกรมแต่ละครั้งยังต้องใช้แผ่นฟล็อปปี้ดิสก์ในการติดตั้ง โปรแกรมหนึ่งจะใช้ข้อมูลประมาณ 10 แผ่น ใส่ติดตั้งไปทีละแผ่นจนกว่าเรียกครบ 10 แผ่น คอมพิวเตอร์ถึงจะเปิดโปรแกรมขึ้นมาได้

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ มองเป้าหมายให้ชัดแล้วไปให้ถึง

ผมจำได้ว่าสมัยนั้น หนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ที่ผมเป็นคนออกแบบไฟของสนามกีฬาเชียงใหม่ ต้องใช้โคมไฟประมาณ 300 โคม ผมก็ใส่ข้อมูลเข้าไปว่าแต่ละโคมจะต้องติดตั้งที่เสาไหนบ้าง กำลังไฟเท่าไหร่ ทำมุมกี่องศา จากนั้นกดให้คอมพิวเตอร์ประมวลผล ปล่อยให้คอมพิวเตอร์ที่ยังใช้ระบบดอสประมวลผลไป เดินไปกินข้าวกลับมาเครื่องคอมยังรันอยู่เลย กินกาแฟอีกแก้วหนึ่งถึงจะเสร็จ ใช้เวลาเป็นชั่วโมงแต่สมัยนี้ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็เห็นผลแล้ว”

 สำหรับเฉลิมพงษ์แล้ว เรื่องของแสงนั้นทำได้มากกว่าให้ความสว่าง

 “หากเป็นสมัยก่อนที่ยังใช้หลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นเหมือนระบบอะนาล็อกทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอมาเป็นแอลอีดี เราสามารถปรับแสงให้เป็นระบบดิจิทัล สามารถใส่ได้กระทั่งข้อมูลผ่านแสงไปยังสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ที่เราเรียกว่าระบบไล-ไฟ (Li-Fi) สามารถกำหนดไอดีของหลอดไฟในการปรับคลื่นแสงที่ตามนุษย์แยกไม่ออก แต่กล้องในสมาร์ทโฟนนั้นแยกออก ก็ใช้ในการนำทางลูกค้าให้เดินไปซื้อของที่ชั้นวางได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินหา สำหรับผมแสงจึงเป็นได้มากกว่าสิ่งที่เราคิดและสิ่งที่เราเห็น”

 เมื่อถามถึงแนวทางในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในสไตล์ของเขา เฉลิมพงษ์ ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า

“แนวคิดในการทำงานของผม อันดับแรกก็คือว่าเราต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างที่สองก็คือเราจะทำอย่างไรในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม จูงใจให้เขาไปกับเรา โดยไม่ให้เดินหลงออกนอกเส้นทางเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในข้อหนึ่ง

ต่อมาคือเรื่องของการสร้างทีม ผมคิดว่าปัจจุบันนี้เราต้องเลิกคิดแบบคนยุคก่อน ที่ต้องดึงคนเก่งๆ มารวมตัวกันถึงจะได้ผลงานที่ดี สมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว คนที่อยู่ในทีมผมมาต่างทิศต่างทางจากหลายสาขา คนเดิมที่อยู่มานานมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เราต้องการก็มี มีคนนอกสายที่เอาความรู้จากอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาเติมเต็มก็มี

เพราะปัจจุบันนี้มันไม่มีอะไรที่อยู่ในกรอบ 100 เปอร์เซ็นต์อีกต่อไปแล้ว ต้องมีการผนวกกับระบบอื่น ผนวกเข้ากับระบบอุตสาหกรรมอื่น แล้วต้องใช้อาศัยความรู้ในสาขาอื่นเข้ามาร่วมกัน สิ่งสุดท้ายก็คือต้องทำให้สำเร็จ โดยยังคงความสนุกอยู่ในนั้น”

สำคัญกว่านั้น เฉลิมพงษ์ ชี้ว่าคือการที่ต้องทำให้คนในองค์กรตระหนักว่า เราก็ต้องตามโลกภายนอกให้ทัน

“อย่าคิดว่าเราเป็นเบอร์หนึ่ง แล้วจะไม่มีใครล้มเราได้ เหตุการณ์นี้เคยเกิดกับหลายๆ บริษัทที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่มาก่อน แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งต้องล้มลง เพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ตรงนั้นเป็นเป้าหมายของหลายๆ บริษัทที่ต้องเปลี่ยนแนวคิดของคนที่อยู่ภายในองค์กร ให้ทันกับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนไป”

ส่วนปัญหาในการทำงานในมุมมองของเฉลิมพงษ์นั้น เขาไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา เพราะมองว่านั่นคือภารกิจที่เราต้องผ่านไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้

“จะมีเพียงอยู่อย่างเดียว ก็คือการปรับคนที่มีทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดี คนเก่าเป็นคนที่มีความรู้เยอะมีประสบการณ์ แถมมีความสัมพันธ์กับบิซิเนส พาร์ตเนอร์อย่างแน่นแฟ้นมากๆ แต่อาจจะขาดความรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งบางคนเติมได้ บางคนก็เติมไม่ไหว

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ มองเป้าหมายให้ชัดแล้วไปให้ถึง

ในขณะเดียวกัน คนใหม่ก็จำเป็นต้องเอาเข้ามาเพื่อมาเติมลมให้เต็มอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราจะปรับสมดุลในการบริหารคนตรงนี้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคน แต่เป็นเรื่องของความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาองค์กรอีกด้วย ซึ่งเราจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย

อย่างตัวผมเอง เทคนิคในการเสริมความรู้ใหม่ๆ ผมมองว่าเครือข่ายเพื่อนๆ หรือคนรู้จักเป็นสิ่งสำคัญ การพบปะสังสรรค์พูดคุยกับเพื่อนในหลายๆ วงการ บางอย่างเราก็เรียนรู้จากเขา และอีกหลายอย่างเขาก็สามารถเรียนรู้จากเรา แลกเปลี่ยนความรู้ความเห็น

การได้เจอกับคนที่มาจากต่างวงการ ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ผมคิดว่าเป็นวิธีที่ดีในการอัพเดทความรู้ใหม่ๆ อย่างที่สองก็คือเรื่องของการอ่าน ผมยังติดตามอ่านข่าวสารในหนังสือพิมพ์ อ่านข่าวสารบทความในอินเทอร์เน็ต ในแมกกาซีนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ ที่ช่วยให้เราอัพเดทเทรนด์เห็นโลกว่าไปถึงไหนกันแล้ว”

ในขณะเดียวกันแนวทางในการดำเนินชีวิต เฉลิมพงษ์จะพยายามบาลานซ์ระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องของงาน เพราะเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จได้ พื้นฐานครอบครัว ความสุขในครอบครัวคือสิ่งสำคัญ

“ฉะนั้นผมจะให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่ อีกเรื่องคือเรื่องของการออกกำลังกาย ผมพยายามสร้างเป้าหมายให้กับตัวเอง ตอนนี้ผมออกกำลังกายในตอนเช้าให้ได้ทุกวัน จะตื่นนอนเร็วหน่อยแล้วเข้าห้องยิมสักชั่วโมง กินข้าว อาบน้ำ ออกไปทำงาน ผมเริ่มออกกำลังกายแบบนี้มาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมหันมาออกกำลังกายก็คือเรื่องของอายุครับ (หัวเราะ)

อีกอย่างหนึ่งผมมองว่ามันเป็นเทรนด์ด้วย ไม่ว่ามองไปทางไหนก็จะเห็นคนหันมาออกกำลังกาย ตอนแรกๆ ผมก็ขี้เกียจจะออกกำลังกาย ผมไม่ชอบห้องยิมเพราะดูน่าเบื่อ สมัยก่อนผมเคยเป็นนักเทนนิสเยาวชนทีมชาติ ให้เล่นแบบนั้นผมชอบ เพราะเป็นกีฬาเอาต์ดอร์ ได้เล่นกับเพื่อน มีการโต้ตอบกัน มันสนุก

แต่พอเข้าห้องยิมมาเล่นคนเดียว อย่างมากก็ใส่หูฟังเพลง ดูหนังไป แต่มันก็ยังซ้ำซากจำเจ เกมมันไม่เปลี่ยนแต่กลับมามองที่เป้าหมายของเราในการรักษาสุขภาพก็ต้องทำให้ได้ มาถึงปัจจุบันหากวันไหนที่ไม่ได้ลงไปออกกำลังกายตอนเช้าจะรู้สึกอึดอัด

ตอนแรกผมก็กลัวว่าถ้าเราออกกำลังกายตอนเช้าก่อนมาทำงาน แล้วจะเหนื่อยจะง่วงจะพยายามไหมแต่กลับตรงกันข้ามเลย ผมกลับรู้สึกว่ามีความตื่นตัวในการทำงานมากกว่า ดังนั้น ผมมองว่าเป้าหมายในการทำงานสำคัญก็จริง แต่การรักษาสมดุลของชีวิต หน้าที่การงาน ครอบครัว และสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้”