posttoday

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ในวันที่ค้นพบ ‘ความสุข’ ทางการเงิน

14 พฤษภาคม 2561

เขาไม่ใช่แค่คนปลดหนี้ 18 ล้านบาท แต่เขายังปลดล็อกความคิดด้านการเงินของคนนับไม่ถ้วน จนตอนนี้ใครๆ ก็เรียกเขาว่า “หนุ่ม เดอะ มันนี่ โค้ช”

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

เขาไม่ใช่แค่คนปลดหนี้ 18 ล้านบาท แต่เขายังปลดล็อกความคิดด้านการเงินของคนนับไม่ถ้วน จนตอนนี้ใครๆ ก็เรียกเขาว่า “หนุ่ม เดอะ มันนี่ โค้ช” วิทยากรด้านการเงินและไอดอลของคนที่อยากปลดหนี้และอยากประสบความสำเร็จทางการเงิน แต่ จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ยังเป็นผู้ชายคนเดียวกับที่เป็นหัวหน้าครอบครัววัย 44 ปี คุณพ่อที่ต้องการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี และสามีที่ไม่อยากมีเงินล้นฟ้า แต่อยากมีเวลาให้ครอบครัว

กว่าจะถึงวันนี้ได้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน เขาเคยเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่วาดฝันว่าจะได้ทำงานที่ดีหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่แล้วความฝันก็กระจุยเมื่อธุรกิจของครอบครัวล้มกระจาย พร้อมกับการมีหนี้ 18 ล้านบาท

“ตั้งแต่เด็กเราเป็นคนที่ใช้ชีวิตสบาย เพราะเติบโตมาในบ้านที่มีธุรกิจ” เวลานั้นคือช่วงปี 2540 ธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์และขายอะไหล่ของครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตต้มยำกุ้ง “ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโต เราต้องเข้าไปช่วยที่บ้านแก้ปัญหา ซึ่งเงินเดือนของวิศวกรมันไม่พอ แต่ที่หนักกว่านั้นคือ ความรู้เราไม่พอ ผมจึงกระโดดเข้าไปแก้ปัญหาด้วยความอยากเป็นลูกกตัญญูโดยไม่มีความรู้ ด้วยการใช้เครดิตส่วนตัวไปกู้เงินสินเชื่อบุคคลมาช่วยที่บ้าน ซึ่งยิ่งทำให้เพี้ยนหนักเพราะหนี้ธุรกิจที่มีอยู่ 18 ล้านบาท ต้องมาบวกกับหนี้ของตัวเองเข้าไปอีกล้านกว่าบาท ทุกอย่างจึงย่ำแย่กว่าเดิม”

เขาเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าหาเงินได้มากก็จะแก้ปัญหาเรื่องเงินได้ วิศวกรหนุ่มจึงทำงานหารายได้พิเศษทั้งรับของมาขาย ขายประกัน กระทั่งรับเป็นที่ปรึกษาให้โรงงาน ซึ่งเมื่อได้เงินมาก็นำไปปลดหนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังไม่หมดเสียทีเป็นระยะนานกว่า 7 ปี จนทำให้เขาเริ่มตั้งข้อสงสัยและเริ่มหาความรู้อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องการเงิน

“ตอนนั้นตำราในเมืองไทยยังไม่มี” เขาค้นหาหนังสือความรู้ทางด้านการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) และสั่งซื้อหนังสือจากเว็บไซต์ต่างประเทศ “เมื่อศึกษาจึงทำให้รู้ว่าการจัดการหนี้มันง่ายกว่าที่เราคิด เพราะวิธีแก้ที่ง่ายและตรงที่สุดคือ เดินเข้าแบงก์ คุยกับเจ้าหนี้ บอกตามตรงว่าผมไม่ไหวจะทำยังไงได้บ้าง และความรู้แรกที่ได้มาคือ ความรู้เรื่องบ้าน”

แม้ว่าเขาและครอบครัวจะทำใจได้ยากที่ต้องขายบ้าน แต่จำเป็นต้องทำ เพราะบ้านเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากกัดฟันผ่อนต่อไปจะกลายเป็นหนี้สิน แต่เมื่อตัดสินใจขาย วันนั้นเขารับเช็คเงินสดมา 1 ล้านบาท พร้อมกับความคิดที่ว่า สามารถตั้งต้นใหม่โดยที่ไม่มีภาระใหญ่อยู่กับตัว

“คนส่วนใหญ่เมื่อได้เงินก้อนใหญ่มาจะนำไปใช้หนี้ให้มากที่สุด ซึ่งนั่นผิด เราต้องกั๊กไว้บ้างเพราะการที่เราไม่มีเงินอยู่บนหน้าตักเลย หากวันหนึ่งต้องใช้เงินขึ้นมา สมองเราจะปั่นป่วนมาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีเงิน 1 ล้าน ผมก็เข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละราย และนำเงินตรงนี้ไปเป็นทุนทำอย่างอื่นด้วย”

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ในวันที่ค้นพบ ‘ความสุข’ ทางการเงิน

นอกจากนี้ หนุ่มยังค้นพบว่า คนที่เป็นหนี้อย่าจำกัดศักยภาพตัวเอง “บ้านเช่าดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะลงทุนได้กับคนที่การเงินพังหมดแล้ว แต่พอผมเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะเมื่อคนเราคิดจะสู้จริงๆ มันจะเห็นช่องทาง สิ่งที่ทำให้การเงินไม่เขยิบไปข้างหน้า เพราะเราชอบคิดว่าต้องรอให้มีเงินก่อนค่อยคิดว่าจะทำอะไรดี แต่ที่ถูกคือไม่ใช่ เราต้องคิดก่อนว่าจะทำอะไร พอเราเจอช่อง เราเห็นทาง สมองเราจะทำงานได้เองว่าเราจะหาเงินจากที่ไหน

ผมเองก็ศึกษาเรื่องการลงทุนก่อน ลงไปดูบ้านเช่าทั้งๆ ที่ไม่มีเงิน แต่เมื่อไม่สามารถกู้ธนาคารได้ก็หันไปกู้สหกรณ์ ใช้เงินค่าเช่ามาผ่อนบ้านและเหลือกำไรไว้ใช้ จากที่เคยพุ่งเป้าหาเงินให้ได้มากที่สุด ผมรู้แล้วว่าเงินคือความคิด เงินคือไอเดีย และจากนั้นทุกอย่างจะปลดล็อกได้เร็วขึ้นเพราะการต่อไอเดียไปเรื่อยๆ”

จากวันที่เดินเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้หรือเจรจา จากการตัดสินใจขายบ้านหรือตัดค่าใช้จ่าย จากความขยันหรือการหารายได้พิเศษ และจากไอเดียหรือการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรต่อเนื่อง ทำให้หนี้ทั้งหมดถูกปลดเป็นปลิดทิ้งภายในระยะเวลา 5 ปีแถมมีธุรกิจและทรัพย์สินติดมาด้วย

“วันที่เป็นหนี้ ไม่ต้องกลัว” เขามักพูดประโยคนี้ “ตอนที่เป็นหนี้สิ่งที่แย่ที่สุดไม่ใช่การไม่มีเงิน แต่มันคือความสูญเสียความภูมิใจในชีวิต เรื่องนี้เจ็บปวดมาก เมื่อเรามองเหลือบไปที่เพื่อนในรุ่นเดียวกันเขามีรถมีบ้าน แต่เราต้องเสียบ้าน และเมื่อความภูมิใจถูกบั่นทอนไปนานๆ ทำให้มันไปกระทบต่อความมั่นใจ ตอนนั้นผมจึงสู้ให้ตายกันไปข้าง เพราะผมไม่อยากเป็นหนี้ไปจนวันตาย แม้ว่าจะใช้เวลาแก้หนี้สิบปีหรือยี่สิบปี อย่างน้อยผมก็ยังเหลือเวลาในชีวิตให้มีความสุขได้ เมื่อคิดได้แบบนี้แล้วพลังมันมา ทำให้ผมสามารถทำหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ ที่สำคัญคือ ผมไม่อยากจนจนวันตายเพราะมันเป็นสิ่งที่น่ากลัว”

เมื่อแก้หนี้ของตัวเองและครอบครัวได้แล้ว เขาเริ่มให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ผู้อื่นที่มีปัญหาด้านการเงินผ่านสื่อออนไลน์ ขณะเดียวกันเขาก็ได้รับความรู้ด้านอื่นจากเพื่อนพ้องกลับมา และทำให้เข้าใจว่า โลกนี้เป็นโลกของโอกาสและเป็นโลกของความร่วมมือ

“คนที่คิดหรือทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียวอาจจะประสบความสำเร็จช้ากว่าคนที่รู้จักใช้ทรัพยากรรอบตัวให้มีประโยชน์” เขาอยู่ในชมรมพ่อรวยสอนลูก เพจเฟซบุ๊กของคนที่ชื่นชอบหนังสือชื่อเดียวกับชมรม และมีแนวคิดอยากสร้างเนื้อสร้างตัวเหมือนๆ กัน โดยระยะเวลา 7 ปีทำให้เขาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนจำนวนไม่น้อยก่อนที่แต่ละคนจะแยกย้ายไปทำภารกิจ เหลือเพียงเขาที่ตัดสินใจสืบสานต่อและเปลี่ยนชื่อเพจเป็น Money Coach

“ผมเคยพูดกับภรรยาในวันที่เป็นหนี้หนักๆ ว่า ถ้าเราผ่านมันไปได้ เราอยากจะช่วยให้คนอื่นผ่านพ้นไปได้เหมือนกัน โดยการทำให้พวกเขารู้ว่าต้องทำอย่างไร

สำหรับผมคำว่า โค้ช ไม่ใช่ผู้ทรงความรู้แต่อย่างไร เพราะคำว่าโค้ชที่ผมเลือกมาใช้มีที่มาจากโค้ชฟุตบอลที่ไม่ได้ลงไปเตะในสนาม แต่เป็นคนวางแผนให้ทีม ซึ่งการเงินก็คล้ายกันเพราะผมตัดสินใจแทนคุณไม่ได้ แต่ผมสามารถให้คำแนะนำได้ว่าทางเลือกไหนดี หรือทางเลือกไหนไม่ดีอย่างไร ผมจะบอกวิธีคิดแต่ไม่บอกคำตอบ และสุดท้ายคุณต้องเลือกเอง เพราะมันคือชีวิตคุณ และเงินจะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต”

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ในวันที่ค้นพบ ‘ความสุข’ ทางการเงิน

จากเพจเฟซบุ๊ก เขาต่อยอดไปสู่ยูทูบ จนถึงคอร์สสัมมนา โดยเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ เพื่อทดสอบกลายๆ ว่าสิ่งที่เขาพูดไปนั้นมันถูกต้องหรือไม่ ซึ่งโจทย์แรกที่เขาตั้งขึ้นมาคือ ถ้าอยากมีชีวิตทางการเงินที่มีความสุขต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

วิธีคิดของเขาประกอบด้วย 6 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง สภาพคล่องดี เพราะถ้าการเงินไม่ติดลบ สมองก็คิดทางออกได้ง่าย สอง ปลอดหนี้จน หมายถึงการหลีกเลี่ยงหนี้บริโภคต่างๆ สาม พร้อมชนความเสี่ยง คนคนนั้นต้องจัดการความเสี่ยงของตัวเองให้เป็น สี่ มีเสบียงสำรอง หรือมีเงินออมเพราะความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ห้า สอดคล้องเกณฑ์ภาษี คือต้องดูแลและรับผิดชอบเรื่องภาษี และหก บั้นปลายมีทุนเกษียณ ระหว่างทำงานจะรวยหรือเปล่าไม่สำคัญเท่าหลังจากไม่มีงานทำต้องรวยในระดับที่สามารถดูแลตัวเองได้

“หกข้อนี้มาจากการมองชีวิตคนคนหนึ่งว่าน่าจะต้องมีอะไร และอะไรที่ทำให้สภาวะทางการเงินของเขาเย็น”

หลังจากนั้นเขาได้ก่อตั้งมูลนิธิคนไทยฉลาดการเงิน ทำหน้าที่สอนและให้ความรู้ทางการเงินแก่คนไทยทั้งประเทศ โดยผู้ที่เข้ามาเรียนจะเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าอาหารและค่าเอกสาร ส่วนวิทยากรทุกคนไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบันเปิดสอนมาแล้ว 24 รุ่น

ถามเขาต่อว่า กลัวที่จะกลับไปเป็นหนี้เหมือนเดิมอีกหรือไม่ เขาตอบแทบจะทันทีว่า ไม่ แถมยังชอบเป็นหนี้อีกต่างหาก “ถึงวันนี้ผมพบว่า มันมีคำสอนทางการเงินอย่างหนึ่งที่ผิด นั่นคือคำพูดที่ว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ อย่าสอนลูกหลานแบบนั้นเพราะมันผิด ที่ถูกต้องพูดว่า การไม่มีหนี้จนเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะมันยังมีหนี้อีกประเภทหนึ่งคือ หนี้ของการลงทุนที่สามารถใช้หนี้เพื่อสร้างโอกาสในวันที่เราไม่มีเงินลงทุน อย่าใช้คำว่าหนี้มาปิดความคิดและปิดโอกาส สำหรับโลกยุคใหม่ ถ้าไม่ลงทุนถือว่าแย่มากและจะไม่รอด เพราะดอกเบี้ยเงินฝากช่วยเราไม่ได้แล้ว และการลงทุนโดยใช้เงินคนอื่นเป็นจะทำให้มั่งคั่งได้เร็วขึ้น ซึ่งนี่เป็นความรู้ทางการเงินขั้นสูงสุดแล้ว”

ในตอนนี้ชีวิตของโค้ชหนุ่มมีความสุข ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินซื้อความสุขได้ ทว่า ความสุขทั้งหมดไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อ “คนส่วนใหญ่มักมองว่าการประสบความสำเร็จทางด้านการเงินคือ การมีเงินเยอะ จับจ่ายใช้สอยอะไรก็ได้ แต่พอผมใช้ชีวิตมาถึงวันนี้ ผมมีความรู้สึกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ความสุขสูงสุดของเราที่เป็นเรื่องตัวเงินจริงๆ คือ ในวันที่มีคนในครอบครัวเจ็บป่วยแล้วเรามีเงินที่จะให้การรักษาอย่างเต็มกำลัง นั่นคือที่สุดของคำว่า ความสุขทางการเงิน”

ระยะเวลากว่า 13 ปีหลังจากเข้ามาอยู่ในแวดวงการเงินอย่างจริงจัง ถึงวันนี้เขาไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนวงโคจร ทั้งยังตั้งสองปณิธานสุดท้ายของชีวิตไว้ว่า จะเผยแพร่ความรู้ทางการเงินให้คนไทย และจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี

“เราทุกคนสามารถเป็นผู้นำกองทัพทางการเงินที่ไม่ต้องรอใครมาช่วยให้การเงินเราเปลี่ยนแปลง แต่เราสามารถมีชีวิตดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มต้นได้จากการปฏิวัติการเงิน ไม่ต้องรอให้เจ้านายขึ้นเงินเดือน ไม่รอให้เศรษฐกิจดีขึ้น หรือไม่รอให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามา แต่เราต้องปฏิวัติความคิด ความรู้ และวิธีการของตัวเอง”

ในเดือน มิ.ย.นี้ โค้ชหนุ่มจะเปิดทอล์กโชว์อีกครั้งเป็นปีที่ 4 กับ เอสซีบี พรีเซนต์ มันนี่โค้ช ออน สเตจ 4.0 เรโวลูชั่น ตอน การเงินมีปัญหา ถึงเวลาต้องปฏิวัติ

“ถึงเวลานี้ผมมั่นใจว่า ไม่ใช่เงินหรอกที่แก้ปัญหาเรื่องเงิน แต่ความรู้ทางด้านการเงินต่างหากที่จะแก้ปัญหา ซึ่งสิ่งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศขาดคือ ความรู้ทางด้านการเงิน มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกสอนในโรงเรียน เราไม่ถูกสอนเรื่องการบริหารเงินซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่เราถูกสอนมาเสมอว่าให้ตั้งใจเรียนจะได้มีงานดีๆ ทำ เราเรียนมานานเพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้ แต่กลับดูแลเงินที่หามาไม่ได้และดูแลมันไม่เป็น จึงทำให้ชีวิตมีปัญหา ซึ่งสุดท้ายนอกจากการปฏิวัติตัวเองแล้ว ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้ความรู้ทางด้านการเงินมันกระจายไปทั่วประเทศไทย เพราะเมื่อการเงินของคนในชาติดีขึ้น ประเทศชาติของเราก็จะดีขึ้น”

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ไม่แตกต่างจากการเงินที่ทุกคนต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในความรู้ทางด้านการเงิน และเชื่อมั่นว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร