posttoday

10 ปีไม่สาย เพื่ออาชีพที่รัก

11 พฤษภาคม 2561

ภาษิตจีนว่าไว้ “ลูกผู้ชายสิบปีล้างแค้นก็ยังไม่สาย” แต่สำหรับ แต-จันทร์ชนก สุนทรญาณกิจ เชฟขนมหวานคนเก่งแห่งร้านอัญญาเพลส และอาร์ชี่ กลับมองว่า 10 ปีไม่สาย

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา, จุฑามาศ นิจประพันธ์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ภาษิตจีนว่าไว้ “ลูกผู้ชายสิบปีล้างแค้นก็ยังไม่สาย” แต่สำหรับ แต-จันทร์ชนก สุนทรญาณกิจ เชฟขนมหวานคนเก่งแห่งร้านอัญญาเพลส และอาร์ชี่ กลับมองว่า 10 ปีไม่สายกับการรอคอยที่จะได้ทำอาชีพที่รัก

แม้โชคชะตาจะทำให้เธอต้องพลัดพรากจากความฝันที่อยากจะทำงานในครัว หักเหเส้นทางชีวิตมาสู่โลกธุรกิจที่ไม่เคยคิดฝันตามความต้องการของครอบครัว แต่สุดท้ายอานุภาพของความรักที่มั่นคงต่อการทำขนม ก็พาให้เธอได้สมหวังในที่สุด

“ตั้งแต่เด็กชอบตามคุณแม่เข้าครัวตั้งแต่หัวยังไม่พ้นเตา (หัวเราะ) แต่มักจะโดนคุณแม่ไล่ออกมาจากครัวตลอด มารู้ตัวอีกทีว่าชอบทำขนมก็ตอนอายุ 10 ขวบ แรกๆ ก็เริ่มทำจากเมนูคุกกี้ ช็อกโกแลต อาศัยลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ตรงไหนไม่รู้ก็เข้าร้านหนังสือ หาตำราอ่าน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต”

ความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในจิตใจนี้ นับวันยิ่งมากขึ้น จนทำให้แตตัดสินใจเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นว่าจะเติบโตในสายอาหาร หลังจากเรียนจบเธอเลือกสมัครงานเป็นผู้ช่วยเชฟที่โรงแรมคอนราด ซึ่งแตโชคดีได้รับโอกาสที่รอคอย แต่สุดท้ายเธอกลับต้องยอมปล่อยให้หลุดลอย เพราะครอบครัวต้องการให้กลับมาช่วยสานต่อธุรกิจเสื้อผ้า

10 ปีไม่สาย เพื่ออาชีพที่รัก

“ถามว่าเสียใจมั้ย เสียใจนะ เศร้าไปพักหนึ่ง” แตบอกเล่าด้วยแววตาที่แอบซ่อนด้วยความเศร้านิดๆ “แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ท้อ เพราะคิดว่าชีวิตคนเรายังอีกยาวไกล วันนี้อาจจะยังไม่ใช่วันของเรา”

เมื่อตัดสินใจทำตามความต้องการของครอบครัว แตทุ่มเทให้กับธุรกิจเสื้อผ้าของที่บ้านอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่เคยทิ้งความรักในการทำขนม เพียงแต่ลดระดับจากที่คิดว่าจะทำขนมเป็นอาชีพ มาสู่การเป็นงานอดิเรกที่รักไม่เสื่อมคลาย

“ตอนที่มาทำธุรกิจก็สนุก เพราะต้องใช้ไอเดียใส่ความคิดสร้างสรรค์เยอะ ไม่ต่างกับการทำขนม เพียงแต่เป็นอีกศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ ช่วงที่ทำธุรกิจ ถ้ามีเวลาว่าง แตยังหมั่นหาเวลาไปเทกคอร์สเรียนทำอาหารและขนมเสมอ กระทั่งลงขันกับเพื่อนๆ ทำแบรนด์ไอศกรีม อะมอล์ตเทอรี่ (Amaltery) ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ทำจากเหล้า อารมณ์เหมือนค็อกเทล ขายอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และโรงแรมเอราวัณ แต่ตอนหลังปิดไปเพราะเจอช่วงวิกฤตการเมือง”

แม้ธุรกิจไอศกรีมจะไม่ได้ไปต่อ แต่ตัวสูตรไอศกรีมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ยังคงอยู่ ต่อมาเมื่อที่บ้านมีโปรเจกต์เปิดร้านอาหาร เลยนำสูตรไอศกรีมมาขายที่ร้าน ทำไปทำมา ปรากฏว่าลูกค้าเริ่มถามหาเมนูของหวานที่หลากหลายขึ้น เราก็เริ่มเข้ามาช่วย แรกๆ ก็เริ่มจากเมนูง่ายๆ อย่างคุกกี้ บราวนี่ จนต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีกองทัพเมนูของหวานมากมาย

10 ปีไม่สาย เพื่ออาชีพที่รัก

จากที่เคยฝันมาตลอดว่าอยากจะสวมผ้ากันเปื้อนเป็นเชฟขนมหวาน พอได้มาทำหน้าที่ตรงนี้จริงๆ แตบอกเล่าด้วยแววตาเป็นประกายว่า นี่คือใช่ “มันคือตัวเรา ทุกอย่างใช่ไปหมด เวลาที่อยู่ในครัวไม่เหมือนกำลังทำงาน เพราะต่อให้ต้องทำขนมทั้งวันก็ไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่เคยรู้สึกว่า ทำไมวันนี้เบื่อจัง ต้องมาทำอะไรแบบนี้ มีแต่คำถามในใจว่าจะทำอย่างไรให้ขนมที่ทำเก๋ขึ้นกว่านี้ แล้วถ้านำเมนูนี้ไปบวกกับเมนูนี้จะเป็นอย่างไร”

สำหรับแต ทุกวินาทีในห้องเบเกอรี่ ซึ่งเธอเปรียบเสมือนห้องแล็บส่วนตัว คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข ราวกับได้หลุดไปอยู่อีกโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าค้นหา แต่ยามเมื่อเดินออกมาพ้นจากคอมฟอร์ตโซน ได้เห็นลูกค้าอยู่ตรงหน้า เธอกลับรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่จะได้ฟังฟีดแบ็ก ทุกครั้งที่ได้ยินคำชม เธอรู้สึกไม่ต่างจากกำลังได้รับน้ำทิพย์ชโลมใจ

“สำหรับแตแค่นี้พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้ถ้วยรางวัลอะไร แค่ลูกค้ามีความสุข แตก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว”   

10 ปีกับการรอคอยเพื่อทำในสิ่งที่รัก แตยอมรับว่านาน แต่เป็นการรอคอยที่แสนคุ้มค่า

“ยิ่งได้มาเป็นเชฟขนมหวานเต็มตัว แตยิ่งรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เราตามหามาทั้งชีวิต กว่าจะเจอ อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี แต่แตว่าไม่สาย สำหรับแต ขนมไม่ใช่แต่ของหวานสำหรับกินล้างปากหลังมื้ออาหารคาว แต่ขนมคืออาหารตา ไม่ต่างจากงานศิลปะที่มีรสชาติที่ค้นหาและลิ้มลอง”

10 ปีไม่สาย เพื่ออาชีพที่รัก

ด้วยความเชื่อแบบนี้เองทำให้แตสนใจเทคนิคการทำขนมที่เรียกว่า น้ำตาลประดิษฐ์ (Sugar Showpiece) ซึ่งเป็นเทคนิคการทำขนมที่มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศส ซึ่งเธอได้มีโอกาสทำความรู้จักสมัยเทกคอร์สทำขนมที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิตธานี

แตบอกเล่าถึงความน่าสนใจของเทคนิคนี้อย่างออกรสว่า ก่อนจะรังสรรค์ขนมหวานที่สวยงาม ต้องเริ่มจากพระเอกของศาสตร์นี้ คือ น้ำตาล ที่ผ่านการต้มจนมีอุณหภูมิสูงถึง 160 องศาเซลเซียส จากนั้นหน้าที่ของเชฟคือใช้สองมือบรรจงรังสรรค์น้ำตาลนั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ที่ต้องการ

“เทคนิคนี้ไม่มีการใช้อุปกรณ์ใดๆ ช่วย แต่เชฟบางคนอาจจะเลือกใส่ถุงมือกันร้อน ขึ้นอยู่กับความอดทนของแต่ละคน แต่ยิ่งใส่ถุงมือหนามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ความประณีตในการรังสรรค์ชิ้นงานลดลง ถามว่าร้อนมั้ย ร้อนนะ เวลาทำคือ หนังหลุดเลย แต่แตรู้สึกว่าเราทนได้ มันเป็นการฝึกฝน ไม่ได้รู้สึกทรมานที่ต้องทำ แต่รู้สึกเป็นงานที่ทำแล้วผ่อนคลาย”

จากนี้ เชฟสาวผู้มีแพสชั่นในการทำขนมอยู่ล้นหัวใจบอกว่า จะเดินตามเส้นทางที่รักนี้ต่อไป สำหรับเธอความสุขของการทำขนมไม่จำเป็นต้องเป็นเชฟก็ได้ ขอแค่ความตั้งใจที่ส่งผ่านขนมทำให้คนที่ได้ชิมมีความสุขก็พอแล้ว

“ความสุขของเชฟ ไม่มีอะไรมากไปกว่าได้เห็นคนที่กินอาหารหรือขนมแล้วมีความสุข คำชมของลูกค้าคือกำลังใจให้เราไปต่อ” แตทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี