posttoday

‘มุ่งมั่นต่อยอดแบรนด์’ อัสสยา คงสิริ

10 พฤษภาคม 2561

โขม (Khom) แบรนด์เสื้อผ้าทันสมัย ที่แตกไลน์มาจากแบรนด์เสื้อผ้าเก่าแก่ของหัวหิน “โขมพัสตร์”

เรื่อง วราภรณ์ ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

โขม (Khom) แบรนด์เสื้อผ้าทันสมัย ที่แตกไลน์มาจากแบรนด์เสื้อผ้าเก่าแก่ของหัวหิน “โขมพัสตร์” ที่คิดต่อยอดแบรนด์มาจาก 2 ทายาท หนึ่งในนั้นคือ กระจง-อัสสยา คงสิริ เจเนอเรชั่นที่ 3 ที่นั่งในตำแหน่งเฮด ออฟ มาร์เก็ตติ้งแอนด์ ดีไซน์ ดูแลทั้งโขมพัสตร์และโขม โดยนำ โขม ขยายร้านขึ้นห้างสรรพสินค้าเป็นครั้งแรกที่สยามดิสคัฟเวอรี่

กระจง เล่าถึงความเป็นแบรนด์ที่มีความเป็นมาช้านานว่าจากอุตสาหกรรมในครัวเรือน ริเริ่มขึ้นโดย พลเอก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และ ม.จ.ผจงรจิตร กฤดากร แบรนด์ “โขมพัสตร์” ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงกลายมาเป็นอุตสาหกรรมทอผ้าและเขียนลายผ้าขนาดย่อม และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในด้านความชำนาญเรื่องการย้อมและพิมพ์ผ้าชั้นสูงแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นผู้เปลี่ยนผ้าม่านและผ้าบุเครื่องใช้ภายในพระที่นั่งวิมานเมฆ

ประวัติการสร้างแบรนด์ของโขมพัสตร์และโขมน่าสนใจมากโดยผ้าของโขมพัสตร์ เน้นธรรมชาติและลายไทยแทบทั้งสิ้น ส่วนผ้าอีกชนิดซึ่งขึ้นชื่อมากของโขมพัสตร์ และทำที่นี่ได้แห่งเดียวคือ ผ้าเกี้ยวพิมพ์ทอง เดิมเป็นผ้าภูษาทรงของรัชกาลที่ 4 เป็นการพิมพ์ด้วยขั้นตอนสลับซับซ้อน ปัจจุบันโขมพัสตร์ได้พยายามอนุรักษ์ รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าไทยโบราณต่างๆ และผ้าฝ้ายหัวหินพิมพ์ลายไทยไว้

“แบรนด์โขมพัสตร์ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1933 สมัยนั้นท่านตาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร ทรงเป็นทหาร ก่อนสงครามโลกหรือสมัยรัชกาลที่ 7 มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ท่านตาลี้ภัยไปเวียดนามและเขมร (กัมพูชา) คุณแม่ของกระจงจึงเกิดที่เวียดนาม ชีวิตของครอบครัวคุณแม่ค่อนข้างลำบาก ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการพิมพ์ผ้า นำผ้าแพรญวนมาย้อมเป็นสีๆ และขาย

นั่นคือจุดเริ่มต้น พอหมดสงครามท่านตาจึงย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ และย้ายไปอยู่หัวหิน ตอนนั้นคุณแม่ของกระจงอายุ 10 ขวบ ท่านตาจึงสร้างโรงงานพิมพ์ผ้า ซึ่งแนวคิดคือการนำลายไทยๆ มาพรินต์บนผ้าได้แทนการเขียนด้วยมือ เป็นการย่นเวลา และสร้างวอลุ่มได้

จุดเริ่มต้นของโขมพัสตร์ในช่วงเวลานั้นเป็นลายตะวันตก เพราะคนไทยไม่ซื้อผ้าลายไทย ท่านตาจึงต้องปรับเปลี่ยนลายประยุกต์ใช้ลายออกแบบเป็นลายวิถีไทย ลายไทยประยุกต์ เช่น เด็กหัวจุก งูกินหาง บ้านชาวนา จนกลายเป็นลวดลายที่คลาสสิกของโขมพัสตร์ในปัจจุบัน และทำโปรดักต์ดีไซน์ใหม่ นำวัฒนธรรมตะวันตกมาบ้าง เช่น การทำชุดชา ผ้าพันคอ ปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น ทำให้สินค้าขายดี นับรวมแบรนด์โขมพัสตร์มีอายุ 70 ปีแล้ว”

ท่านตาของอัสสยาสิ้นพระชนม์ปี 1953 หลังจากสร้างแบรนด์โขมพัสตร์ได้ 5 ปี ท่านยาย ม.จ.ผจงรจิตร กฤดากร จึงสานงานต่อและสร้างสรรค์ลวดลายผ้าเพิ่มเติม โดยออกแบบลวดลายมาจากใจ เช่น สิ่งรอบตัว นกย่านสีลมที่เกาะบนเสาไฟฟ้า เป็นต้น ในปี 1960 โรงละครแห่งชาติได้ให้โขมพัสตร์ทำลายผ้าเกี้ยว หรือผ้าลายไทยพิมพ์ทอง เป็นลายเก่าแก่สมัยก่อนมาจากอินเดีย ลายผ้าเกี้ยวจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของโขมพัสตร์ตราบจนทุกวันนี้

พอสิ้นท่านยาย 3 สาวทั้งคุณหญิงป้า (ม.ร.ว.วิภาสิริ วุฒินันท์) คุณหญิงแม่ (ม.ร.ว.อัจฉริยา คงสิริ) และคุณหญิงน้า (ม.ร.ว.ภรณี รอสส์)ของอัสสยาจึงเข้ามาสานต่องาน โดย ม.ร.ว.วิภาสิริ วุฒินันท์ เน้นออกแบบเสื้อผ้าตามแฟชั่นมากขึ้น และในปี 1970 คุณแม่ของอัสสยาเน้นหนักด้านการผลิตผ้า ดูแลเรื่องสีซึ่งการใช้สีถือเป็นหัวใจของการออกแบบผ้าลวดลายสวยๆ สีสดๆ ซึ่งกลายเป็นอีกเอกลักษณ์ของโขมพัสตร์

‘มุ่งมั่นต่อยอดแบรนด์’ อัสสยา คงสิริ

เมื่อถึงเจเนอเรชั่นที่ 3 ต้องเข้าดูแลแบรนด์ได้ไม่ถึง 10 ปี ซึ่งลูกๆ หลานๆ ส่วนใหญ่ศึกษาจบต่างประเทศและไปทำงานต่างประเทศได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น อัสสยา ที่ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 12 จนศึกษาจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จากลอนดอน และไปทำงานด้านไฟแนนซ์และเป็นโบรกเกอร์ให้สถาบันการเงินนาน 10 ปี

เมื่อเธอรู้สึกอิ่มตัวด้านการเงิน ประกอบกับแต่งงานมีครอบครัวแล้วเธอจึงคิดว่า ถึงเวลาที่จะกลับมาอยู่ดูแลคุณแม่ พร้อมกับสานต่อธุรกิจของตระกูลเสียที แต่ด้วยรู้ตัวว่าไม่มีความรู้ด้านธุรกิจผ้าเอาเสียเลย ก่อนกลับมาสานต่อธุรกิจอย่างจริงจัง อัสสยาจึงไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจผ้า และธุรกิจตกแต่ง สร้างสรรค์งานศิลป์ ที่กรุงลอนดอน และในปี 2006 จึงเข้ามาสานต่องานที่โขมพัสตร์โดยเรียนรู้งานทุกอย่างโดยเฉพาะดูแลด้านการพิมพ์ผ้า ที่ยังคงอนุรักษ์การพิมพ์ด้วยมืออยู่กลายเป็นเอกลักษณ์ให้สินค้าของโขมพัสตร์ โดยมีลายผ้ามากกว่า 1,000 ลาย

การแตกแบรนด์มาเป็น “โขม” ก็เพื่อลดอายุจากกลุ่มเป้าหมายวัย 50 ของโขมพัสตร์มาเป็น 30 ต้นๆ เพื่อเปิดตลาดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยการทำสินค้าให้ดูทันสมัยขึ้น

“จุดเปลี่ยนของการทำแบรนด์โขมคือ ยอดขายโขมพัสตร์เริ่มน้อยลง อีกจุดหนึ่งคือเราทำผ้า แต่ทำไมตัวเองจึงไม่ใส่ผ้าของตัวเอง ที่กระจงไม่ใส่เพราะมันดูไม่เหมาะกับวัยของเรา กระจงเลยอยากปรับ อยากทำเสื้อผ้าที่ตัวเราก็อยากใส่ เห็นแบบแล้วรู้สึกเหมาะกับตัวเอง เหมาะกับการใส่ในชีวิตจริงมากขึ้น กระจงจึงหันมาใช้ผ้าคอตตอนและนำผ้าเกรดพรีเมียมมาใช้ ด้วยเป็นผ้าคอตตอนจึงใส่สบาย แต่เรายังใช้ลายผ้าเดิมของโขมพัสตร์ออริจินอลอยู่ แต่ปรับสีสันให้สดใสขึ้น เช่น ใช้สีชมพูแทนสีเลือดหมูบานเย็นแมตช์กับเขียวตอง ฯลฯ เล่นสีมากขึ้น และดีไซน์ที่ทันสมัยกว่าเดิม เป็นเสื้อผ้าเรดดี้ทูแวร์ ใครใส่ก็ได้ เหมาะกับการใช้ชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น”

แบรนด์โขมทำมาได้ 1 ปีแล้ว ผลิตมาแล้ว 3 คอลเลกชั่น เสื้อผ้าดูสนุกและดูแนวมากขึ้น เพื่อตอบรับลูกค้าวัย 30-40 ปี ที่มีความสนุกอยู่ในตัว ดูเอกซ์โซติกส์ เรียบร้อยหน่อยๆ ซึ่งผลตอบรับดีมาก

“อุปสรรคการทำแบรนด์โขม เชื่อไหมคะว่าไม่มีเลย เพราะกระจงอยู่กับผ้ามา 10 ปี จะทำอะไรเราค่อยๆ ทำ ค่อยๆ คิด พอเราพร้อมปรับ เรารู้แล้วว่าโปรดักชั่นควรทำอย่างไร อุปสรรคข้อใหญ่ๆ คือการสื่อออกไปให้คนรู้มากกว่า โขมพัสตร์ที่หัวหินก็ยังมี แต่มีโขมด้วย ตอนนี้โขมมีร้านอยู่ที่ทั้งสุขุมวิท ซอย 40 และที่สยามดิสคัฟเวอรี่ คอลเลกชั่นที่เราวางจำหน่ายอยู่คือ Resort กระจงออกแบบให้เป็นลวดลายใหญ่ๆ ดูเป็นกราฟฟิกมากขึ้น แต่เรายังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์คือ การผลิตด้วยมือทั้งหมด ดังนั้นลวดลายผ้าจะมีความละเอียดประณีต แต่ไม่มากเท่าลายดั้งเดิม การใช้สีทำให้ลายดูกราฟฟิกแปลกตาไม่เหมือนในท้องตลาดค่ะ”

อัสสยาบอกว่า การปัดฝุ่นและแตกแบรนด์ใหม่ ถือเป็นความท้าทาย เพราะทุกอย่างต้องผ่านมือเธอทั้งหมด ท้าทายที่สุดคือ เธออยากสื่อสารกับคนถึงไดเรกชั่นของแบรนด์ให้ตรงวัตถุประสงค์ของเธอที่สุด

“เหนื่อยแต่ก็สนุกนะคะ เพราะท้าทายทั้งความคิด ต้องแก้ปัญหาต้องวางแผน ในการเลือกการพรีเซนต์ การสื่อสารมีเยอะ ต้องหยุดยืนในจุดของเรา และหนักแน่นกับไดเรกชั่นของเรามากๆ เพราะแม้ตลาดแบรนด์ไทยแข่งขันสูงมาก แต่กระจงคิดว่าตัวเองก็โชคดีที่แบรนด์มีแพลตฟอร์มอยู่แล้ว”

หลักในการทำงานของอัสสยา คือ อยู่หลักเดียวกับการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ยากเพราะการสร้างแบรนด์เกิดขึ้นจากใจเรา เป็นสิ่งที่เธอเชื่อมั่นในแบรนด์และการสื่อสารของเธอ

“เราจะผลักดันแบรนด์ออกไปอย่างมั่นคง อยากแนะนำคนรุ่นใหม่ หากอยากจะทำแบรนด์ต้องมีแรงปรารถนาในสิ่งที่ตัวเองทำขึ้นมา อย่าทำอะไรที่เล่นๆ ต้องทำอะไรที่อยู่ได้นานๆ อย่าฉาบฉวย ต้องสร้างจากความตั้งใจจริงๆ ให้ได้ก่อน คือสร้างจากแก่นแท้ของสินค้าจริงๆ ยกตัวอย่างตัวเอง เราต้องเริ่มที่ผ้าก่อนและคิดว่าผ้าเราจะทำของอะไรได้บ้าง และแนวไหน และตอบโจทย์สิ่งที่เราคิดคือ ไม่ใช่การจับกระแส เราทำในสิ่งที่เรามีต้นทุนอยู่แล้ว หนักแน่นในโปรดักต์ของเรา คนอื่นว่ายังไงอย่าไปสน
และอย่าทำตามใครค่ะ”