posttoday

พันชนะ ตันติพิสุทธิ์ สร้างความท้าทายสู่สิ่งที่ดีกว่า

09 เมษายน 2561

ตอนที่เข้ามาช่วยทำธุรกิจเหมืองแร่ของครอบครัวใหม่ๆ เราประสบปัญหาเรื่องระบบจีพีเอสในรถบรรทุกอย่างมาก

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

“ตอนที่เข้ามาช่วยทำธุรกิจเหมืองแร่ของครอบครัวใหม่ๆ เราประสบปัญหาเรื่องระบบจีพีเอสในรถบรรทุกอย่างมาก สัญญาณขาดหายไปตอนกลางคืน ซอฟต์แวร์เต็มไปด้วยข้อบกพร่องต่างๆ มากมาย พยายามติดต่อให้ช่วยแก้ก็ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี สุดท้ายเมื่อไม่มีบริษัทที่ให้บริการระบบจีพีเอส เจ้าไหนทั้งในและต่างประเทศที่ดีพอ ก็เลยเปิดบริษัทพัฒนาระบบจีพีเอสที่ใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นี้ขึ้นมาเอง” พันชนะ ตันติพิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวลาร์ เทค ย้อนความหลังถึงวันจัดตั้งบริษัท ที่เริ่มจากการแก้ปัญหาไปสู่บริษัทสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุดบริษัทหนึ่ง

เดิมทีหลังจาก พันชนะ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ เขาออกค้นหาความท้าทายสำหรับตัวเองดู ด้วยเข้าทำงานในสายงานอื่นที่ไม่ได้ตรงกับสายงานที่เรียน จนสุดท้ายแล้วเรารู้สึกว่ายังไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจึงตัดสินใจกลับไปทำงานกับครอบครัวด้วยการเข้าไปช่วยดูแลธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก ที่ จ.นครศรีธรรมราช เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่งานระดับล่างสุดจนไปถึงระดับผู้บริหาร ซึ่งทำให้เขาพบปัญหาหลายๆ อย่างในการทำงาน

“พอเราเริ่มเปิดเหมืองก็มีการจ้างรถบรรทุกจากหลายๆ เจ้าเพื่อเข้ามาขนถ่ายสินค้า ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีใช้ระบบจีพีเอสติดตามรถที่แตกต่างกัน ทำให้เราได้ทดลองใช้งานจีพีเอสหลายๆ เจ้า แต่ว่ามันมีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในแง่ของระบบบริหารการจัดการอย่างเช่นระบบจัดคิวรถ ระบบติดตามรถ อยู่ดีๆ ก็หายไปจากหน้าจอมอนิเตอร์ในช่วงเวลากลางคืนมักจะหายเป็นบ่อย แล้วเราก็ไม่สามารถติดต่อคนขับรถได้

พันชนะ ตันติพิสุทธิ์ สร้างความท้าทายสู่สิ่งที่ดีกว่า

รู้สึกว่าระบบเดิมที่ใช้อยู่อาจจะไม่ตอบโจทย์ที่เราต้องการ จึงติดต่อบริษัทต่างๆ ที่ทำเกี่ยวกับระบบจีพีเอส เพื่อดูว่าเขาสามารถเข้ามาปรับปรุงแก้ไขอะไรของเราได้บ้าง ในระหว่างนั้นก็หาข้อมูลเกี่ยวกับระบบจีพีเอสอย่างละเอียด ทำเราพบว่าระบบจีพีเอสส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยนั้น เป็นระบบจีพีเอสจากประเทศจีน แค่นำมาแปลเป็นภาษาไทยให้เราได้ใช้งาน เมื่อเกิดปัญหากับระบบจีพีเอส จึงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เราเคยแจ้งปัญหาไปแต่ผลตอบกลับมาก็ไม่ดีสักเท่าไหร่ แล้วก็ไม่ยินดีที่จะแก้ปัญหากับเรา เคยติดต่อบริษัทต่างประเทศให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้กับเราแต่ก็ทำไม่ได้

จึงตัดสินใจว่าจะต้องเปิดบริษัทเอาต์ซอร์สเป็นบริษัทลูกเพื่อรับงานให้กับบริษัทในเครือ เหตุผลที่ตัดสินใจว่าจะต้องทำเอาต์ซอร์สบริษัทตัวเองเนื่องจากว่าบริษัทตัวเองที่ตัวเองอยู่มีวัฒนธรรมการทำงานที่มีมานานกว่า 40 ปี ซึ่งทำให้ยากต่อการบริหารจัดการ ในการทำงานกับพนักงานรุ่นใหม่

พอเริ่มเปิดบริษัท เวลาร์ เทค ขึ้นมาก็มีการพัฒนาสินค้าแล้วก็โปรแกรมขึ้นมาใหม่ทั้งหมดแล้วนำไปใช้กับบริษัทในเครือ และให้เพื่อนๆ ได้ทดลองใช้ ทุกคนก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี มีกระแสตอบรับว่าทำไมเราลงทุนตรงนี้ไปค่อนข้างเยอะแล้วทำไมถึงไม่เข้ามาตีตลาดตรงนี้บ้าง

พันชนะ ตันติพิสุทธิ์ สร้างความท้าทายสู่สิ่งที่ดีกว่า

เราจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนมาทำการตลาดบุกเบิกวางขายสินค้ามากขึ้นซึ่งเราจะเน้นไปที่ระบบการขนส่งของโลจิสติกส์ในประเทศไทย รวมทั้งอาจารย์อนาคตอาจารย์ปรับพัฒนาไปสู่ระบบการติดตามด้วยระบบจีพีเอสอื่นๆ ซึ่งเราใช้ฮาร์ดแวร์ทั้งหมดจากต่างประเทศ ส่วนระบบซอฟต์แวร์ทั้งหมดพัฒนาโดยคนไทย เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไข ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาและผลตอบรับความต้องการของลูกค้าเป็นตัวพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าหลายๆ บริษัทที่เคยประสบปัญหาเดียวกันอย่างรวดเร็ว

ไม่เพียงแค่ทำออกมาเพื่อรองรับการใช้งานของตัวเองแล้วเราจะพอใจ ผมยังหาความท้าทายใหม่ๆ ของตัวเองด้วยการต่อยอดเทคโนโลยีเดียวกัน ขยายไปสู่ตลาดอื่นๆ ด้วยการทำระบบจีพีเอส ติดตามการทำงานของเครื่องจักรภายในเหมือง และระบบติดตามการทำงานอื่นๆ จากเดิมที่ต้องใช้คนจดบันทึกว่าวันนี้รถขุดวิ่งกี่รอบรถบรรทุกวิ่งกี่รอบ ข้อมูลทุกอย่างสามารถดูได้ผ่านสมาร์ทโฟน ให้เราตรวจสอบได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานในแต่ละวันนั้นเป็นอย่างไร

มีจุดบกพร่องตรงไหนที่เราสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาในจุดนั้นได้ จึงไม่ได้เพียงแค่ควบคุมเครื่องจักร แต่ยังสามารถควบคุมระบบสภาพแวดล้อมภายในเหมืองได้ทั้งหมด โปรแกรมในลักษณะการทำงานแบบเดียวกันนี้สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีระบบการผลิต หรือธุรกิจแวร์เฮาส์ ซึ่งมีระบบการทำงานใกล้เคียงกันก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที”

พันชนะ ตันติพิสุทธิ์ สร้างความท้าทายสู่สิ่งที่ดีกว่า

เมื่อเราถามว่านี่คือสิ่งที่ใช่ในเส้นทางของตัวเองหรือยัง ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงตอบอย่างสมาร์ทว่า “โดยธรรมชาติของผมชอบหาความท้าทายใหม่ๆ ตอนที่เรียนจบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ความคาดหวังของทุกคนก็คือคุณก็ต้องต่อปริญญาโท แต่เราก็รู้สึกว่ายังไม่มีความท้าทายสำหรับตัวเอง เราก็เลยตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อ หันมาทำงานให้ดีที่สุด

เหมือนเช่นตอนเรียนหนังสือ ผมไม่ใช่คนที่สามารถจดจำและเข้าใจทุกอย่างได้ในทันทีในห้องเรียน ผมจึงต้องใช้ความพยายามให้มากกว่าคนอื่น ทำงานหนักกว่าคนอื่น และที่สำคัญกว่านั้นคือเคล็ดลับในความสำเร็จของผมก็คือ เราไม่ได้เรียนหนังสือเพื่อให้เราได้รู้ในวิชา แต่เรียนเพื่อให้รู้ว่าทักษะการเรียนรู้ที่ดีนั้นคืออะไร แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาไปสู่องค์ความรู้อื่นในสาขาวิชาอื่น เพื่อเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ค้นหาความรู้นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้คำตอบที่ต้องการ แล้วลองเอามาปฏิบัติใช้จริงว่าใช้ได้หรือเปล่าถ้าใช้ได้ก็คือถือว่าองค์ความรู้นั้นเป็นความเรียนรู้ที่สามารถใช้ได้จริง เราจะเรียนรู้อะไรก็แล้วแต่เราต้องสามารถนำความรู้ตรงนั้นมาใช้จริง

พันชนะ ตันติพิสุทธิ์ สร้างความท้าทายสู่สิ่งที่ดีกว่า

การทำธุรกิจของผมก็เช่นกัน ผมไม่ได้ว่าเขาไปแล้วจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในสิ่งเดิมๆ ที่เขามีอยู่เพียงอย่างเดียว ผมเริ่มเข้าไปเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่การเป็นพนักงานระดับล่าง รู้จักพนักงานทุกคน รู้จักพื้นที่เดินดูสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในเหมืองเครื่องจักรทำงานอย่างไร เราต้องรู้ก่อนที่จะไปสั่งให้พวกเขาทำตามที่เราสั่ง เมื่อเรารู้จักสิ่งต่างๆ เป็นอย่างดีการทำงานก็จะง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ผมจะถือการทำงานอย่างหนึ่งก็คือเข้าก่อนออกหลัง คือเข้าไปถึงที่ทำงานก่อนลูกน้องเพื่อดูข้อมูลต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเริ่มงานวันใหม่ และกลับหลังเพื่อวางแผนงานบางส่วนเพื่อเตรียมงานในช่วงเวลาโอทีต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คืออย่าพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองเพราะไม่อย่างนั้นงานทุกอย่างก็จะเข้ามาหาตัวเราทั้งหมดจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น เราเพียงแค่ศึกษาในรายละเอียดให้มากที่สุดเพื่อที่จะทำงานได้อย่างราบรื่น เพราะเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เวลาไม่เคยรอใครเมื่อคิดอะไรใหม่ๆ ได้อยากทำก็ควรรีบทำเพราะไม่มีใครรอเราเช่นกัน”