posttoday

การดี เลียวไพโรจน์ กับภารกิจปั้นไอซีโอ

31 มีนาคม 2561

เวลานี้เรื่องราวของคริปโตเคอเรนซี หรือที่ทางการเรียกว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีมูลค่าถือได้

โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

เวลานี้เรื่องราวของคริปโตเคอเรนซี หรือที่ทางการเรียกว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีมูลค่าถือได้ รวมถึงกระแสการเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้คนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอซีโอ) กำลังร้อนแรงติดลมบนสุดๆ ในโลกการเงิน กระทั่งทางการต้องเร่งประชุมและเร่งคลอดกฎหมายมาควบคุมดูแล

หนึ่งในคนที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับเรื่องร้อนแรงเหล่านี้ดีก็คือ การดี เลียวไพโรจน์ หรือ “ดร.อ้อ” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโครา ผู้ให้คำปรึกษาธุรกิจที่ต้องการเสนอขายไอซีโอ

ผู้หญิงเก่งที่ก้าวจากวงการวิชาการมาสู่วงการธุรกิจ น่าจะเป็นคนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวความเป็นมา และสิ่งที่จะเป็นไปของคริปโตเคอเรนซีและไอซีโอได้ดี เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับภารกิจที่เธอทำอยู่โดยตรง

ดร.อ้อ เป็นลูกสาวของ มนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ ผศ.ประภัสสร เลียวไพโรจน์ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวของ ดร.อ้อ เองก็เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะผันตัวมาสู่ภาคธุรกิจ

จุดที่ผลักดันให้ ดร.อ้อ ก้าวสู่งานด้านที่ปรึกษาธุรกิจที่ต้องการเสนอขายไอซีโอนั้น มาจากในอดีตเธอเคยทำงานวิจัยให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในไทย เกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตว่า ธุรกิจจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปทิศทางไหน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่เธอวิเคราะห์ออกมาได้ในงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตจะเกิดขึ้นจากการที่มีการใช้คริปโตเคอเรนซีอย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

การดี เลียวไพโรจน์ กับภารกิจปั้นไอซีโอ

ในเวลานั้นประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี จากนั้น ดร.อ้อ ก็ได้ติดตามเรื่องราวจากงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง แล้วก็พบว่า สิ่งที่มองไว้เกิดขึ้นเร็วกว่าคาดมาก ใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้นเอง จึงทำให้ ดร.อ้อ ยิ่งให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก

ขณะที่เดิมก็เคยให้คำปรึกษาบริษัทที่ต้องการระดมทุนในรูปแบบปกติที่ทำกัน ดังนั้นการมาทำไอโครา ก็เหมือนทำงานตามเนื้องานเก่าที่เคยทำมาก่อน เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการให้คำปรึกษามาสู่การปรึกษาธุรกิจที่อยากระดมทุนด้วยการออกไอซีโอ 

“ที่ผ่านมาเราทำสายงานด้านวิศวะ ดูเกี่ยวกับด้านนวัตกรรมอยู่แล้ว ทำวิจัยด้านเทคโนโลยีมาโดยตลอด และได้วิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) มองว่าวิวัฒนาการของมันจะเปลี่ยนเร็วมาก บางอย่างเราเคยคาดการณ์ว่าจะเกิดใน 3-5 ปี แต่กลับเกิดแพร่หลายใน 1 ปี ทุกอย่างเกิดเร็วกว่าที่คาดแทบทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)” ดร.อ้อ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.อ้อ มองว่า หากเราทุกคนมองว่าเทคโนโลยีทั้งหลายเป็นเรื่องไกลตัว ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเลย เทคโนโลยีทุกอย่างเหล่านี้ใกล้ตัวเรามาก และในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะเร็วยิ่งกว่านี้อีก เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน หรือเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลด้วยการเข้ารหัสแล้วกระจายข้อมูลในเครือข่าย ไร้ตัวกลาง วันนี้อาจจะมีคนกลุ่มน้อยมากที่เข้าใจ ซึ่งเราเองก็พอรู้ว่าโอกาสการใช้งานจะไปทางไหน และก็คิดว่ามันคงพัฒนาไปเร็วมาก

เช่นเดียวกันกับเรื่องของการใช้คริปโตเคอเรนซี ดร.อ้อ ก็มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ส่วนไอซีโอนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นกระบวนการระดมทุน ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบแพลตฟอร์มมาใช้เหรียญดิจิทัลเป็นเครื่องมือ ซึ่งการที่เธอร่วมก่อตั้งบริษัท ไอโครา ก็น่าจะถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำหน้าที่นี้ในเอเชีย

การดี เลียวไพโรจน์ กับภารกิจปั้นไอซีโอ

“การที่ได้มาร่วมก่อตั้งบริษัท ไอโครา นั้น ก็เป็นเพราะเคยทำงานร่วมกับทีมผู้ร่วมก่อตั้งมาก่อน รู้จักกันมาจากการทำงานวิจัยอื่นๆ โดยอ้อรู้จักกับทีมที่สิงคโปร์ ก็ได้คุยกันว่ามีโอกาสที่จะทำเรื่องไอซีโอนี้ และทุกคนก็มีความสนใจเหมือนกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะอยู่ในวงการธุรกิจเกิดใหม่บนพื้นฐานเทคโนโลยี (สตาร์ทอัพ) เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) มีประสบการณ์กันมาก่อน อย่างไรก็ดีเราต่างก็มองตรงกันว่าการทำเรื่องนี้ได้คงต้องใช้เวลา” ดร.อ้อ มอง

ดร.อ้อ ระบุว่า จากการที่เธอร่วมทำบริษัท ไอโครา ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานกำกับมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เธอตระหนักก็คือเรื่องราวของไอซีโอ หากจะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ส่วนช่วงนี้ที่คนเริ่มสนใจเรื่องไอซีโอกันมากขึ้น ก็เชื่อว่ากระแสในเวลานี้เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ทุกคนอยากรีบเข้ามาเป็นคนแรกๆ ในเรื่องไอซีโอ

ดร.อ้อ มองว่า จริงๆ แล้ว เรื่องการลงทุนและระดมทุนด้วยไอซีโอนั้น เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ศึกษา สร้างความมั่นใจผ่านการหาความรู้ไปเรื่อยๆ จึงจะทำให้วงจรเกี่ยวกับไอซีโอเกิดความยั่งยืน ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดมทุนด้วยไอซีโอ แบบที่ไอโครากำลังทำอยู่ ก็ถือเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทิศทางของไอซีโอหลังจากนี้   

ประเด็นที่น่าสนใจที่ ดร.อ้อ ในฐานะคนทำบริษัทที่ปรึกษาระดมทุนไอซีโอมองก็คือ การรับภารกิจเป็นที่ปรึกษาระดมทุนไอซีโอนั้น ต้องไม่ใช่แค่การทำหน้าที่เป็นแค่คนช่วยเขียนไวท์เปเปอร์แล้วจบกัน

"ไวท์เปเปอร์นั้นเป็นรายละเอียดโครงการที่จะระดมทุน ซึ่งมาพร้อมการอธิบายเงื่อนไขและการนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการระดมทุน การเป็นที่ปรึกษาที่ดีนั้น จะต้องทำงานร่วมกันกับบริษัทที่จะระดมทุนด้วยไอซีโอตั้งแต่ก่อนจะเขียนไวท์เปเปอร์โครงการออกมา ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาโครงสร้างธุรกิจลากยาวไปจนกระทั่งหลังออกไอซีโอไปแล้วก็ยังต้องติดตามดูอยู่"

การดี เลียวไพโรจน์ กับภารกิจปั้นไอซีโอ

ขณะเดียวกัน การมาทำหน้าที่ตรงนี้ ดร.อ้อ ก็มองว่า ไม่จำเป็นต้องเน้นรับเป็นที่ปรึกษาระดมทุนให้กับบริษัทจำนวนมากๆ เพราะการศึกษาในแต่ละโครงการอาจจะต้องใช้ความเข้าใจหลายๆ ด้านประกอบกัน ดังนั้นควรจะให้ความสำคัญในการศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนมากกว่า

ดร.อ้อ ประเมินว่า ในการให้คำปรึกษาธุรกิจที่จะระดมทุนด้วยไอซีโอนั้น แต่ละรายน่าจะต้องใช้เวลาทำงานร่วมกันนาน 3-4 เดือนขึ้นไปก่อนออกไอซีโอ โดยต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการทำความรู้จักตัวธุรกิจ โครงสร้างของธุรกิจเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้แค่ไหน จึงจะปล่อยผ่านออกมาระดมทุนด้วยไอซีโอ โดยจุดที่สำคัญที่สุดที่บริษัทที่ปรึกษาอย่างไอโคราต้องดูก็คือ สิ่งที่ทำออกมานั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ ของทางการด้วย

“ไอซีโอนั้น เป็นกลไกการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นว่ามีไว้เฉพาะสตาร์ทอัพใช้ อาจจะเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือบริษัทจดทะเบียนที่อยากขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ อยู่บนความเชื่อว่าเทคโนโลยีนั้นจะถูกใช้แพร่หลายก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกโครงการที่จะเหมาะกับการออกไอซีโอ” ดร.อ้อ กล่าว

ดร.อ้อ ฝากถึงเหล่าบรรดานักลงทุน ที่กำลังสนใจลงทุนในไอซีโอว่า ตัวไอซีโอนั้นเป็นกลไกการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง หากสนใจจะลงทุนจริงๆ จะต้องพิจารณาตั้งแต่พื้นฐาน ไปดูว่านวัตกรรมที่นำเสนออยู่นั้นมีความน่าสนใจ มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจหรือไม่ และสุดท้ายแล้วนักลงทุนก็ต้องกลับมาดูที่ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ ไม่ได้แตกต่างไปจากการลงทุนอื่นๆ

ทางด้านกระแสที่คนจำนวนมากตื่นตาตื่นใจอยากเข้ามาในช่องทางไอซีโอนั้น ดร.อ้อ ได้ฝากข้อคิดไว้ว่า การระดมทุนหรือลงทุนในไอซีโอ ไม่มีอะไรสายเกินไป เร็วเกินไป หรือช้าเกินไป ดังนั้นต้องทำความเข้าใจก่อนเข้ามา

"ส่วนคนที่กลัวในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา ก็อยากบอกว่า โลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นทุกวัน หากเราตัดโอกาสไม่รับรู้อะไรเลย ก็เหมือนกับเราตัดโอกาสที่ดีในอนาคตไปอีกมาก"

นี่คือหนึ่งในผู้หญิงเก่งที่กำลังจะมีบทบาทโดดเด่นในการปลุกปั้นไอซีโอมาให้เราได้ทำความรู้จักกันหลังจากนี้