posttoday

ดร.พงศ์ทิพย์ อรุณวัฒนาพร ชีวิตไม่หยุดเคลื่อนไหวในธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง

12 มีนาคม 2561

ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งวงการไอที ดร.พงศ์ทิพย์ อรุณวัฒนาพร ทายาทแจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ได้ต่อยอดความสนใจส่วนตัวเรื่องเทคโนโลยีไปสู่การก่อตั้ง บริษัท อินเทกร้า 8 ที

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งวงการไอที ดร.พงศ์ทิพย์ อรุณวัฒนาพร ทายาทแจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) ได้ต่อยอดความสนใจส่วนตัวเรื่องเทคโนโลยีไปสู่การก่อตั้ง บริษัท อินเทกร้า 8 ที บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบนเครื่องมือเคลื่อนที่ และเป็นผู้พัฒนาอินเทกร้า 8 โมบาย เซลส์ มือที่สามของพนักงานขายที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อปฏิวัติการขายแบบดั้งเดิม

ผู้บริหารหนุ่มจบการศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เคยมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง ไอบีเอ็มนาน 3 ปี จากนั้นได้กลับมาพัฒนาธุรกิจของครอบครัวเกี่ยวกับระบบบัญชีและระบบการขาย ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดไปสู่การก่อตั้งบริษัทของตัวเอง โดย บริษัท อินเทกร้า 8 ที เป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท เบริล 8 พลัส ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสัญชาติไทย

“ส่วนตัวเป็นคนชอบคอมพ์มาตั้งแต่เด็ก พอได้โอกาสเรียนเขียนโปรแกรมก็รู้สึกว่าโปรแกรมมันไม่มีขีดจำกัด เราคิดอยากทำอะไรก็แค่เขียนโปรแกรมออกมาให้มันสร้างสิ่งที่เราต้องการ เหมือนกับเราวาดภาพที่อยากวาดอะไรก็ได้ตามจินตนาการ ผมเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งกับส่วนตัวเอง กับธุรกิจครอบครัว และกับบริษัทอื่นๆ ที่เราสามารถเข้าไปช่วยได้”

จากคนเขียนโปรแกรม เขายกระดับตัวเองขึ้นไปสู่การเป็นนักออกแบบวิธีแก้ไขปัญหา โดยการแก้ไขไม่ได้มาจากการเขียนโค้ดหรือเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องครอบคลุมไปถึงคน กระบวนการ และข้อมูลมหาศาลที่ต้องดูควบคู่กันไปเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

“จากการเข้าไปช่วยดูแลและพัฒนาระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะระบบการขาย เห็นชัดว่าการใช้เทคโนโลยีเข้าไปเป็นตัวช่วยในการทำงาน ทำให้การทำงานของบริษัทมีประสิทธิภาพขึ้นและคนคนหนึ่งสามารถทำงานได้มากขึ้น โดยระบบที่เอื้อต่อการทำงานและเป็นเทรนด์อยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้นโมบายเทคโนโลยีและคลาวด์เทคโนโลยี คือเมื่อพนักงานขายออกไปหาลูกค้า เขาแค่ถือโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตออกไปก็สามารถทำงานผ่านโปรแกรมได้ การทำงานจะเร็วกว่าเดิมเพราะทุกอย่างอยู่บนระบบออนไลน์ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางหรือส่งเอกสารเหมือนระบบดั้งเดิม”

ภาพพนักงานขายถือแคตตาล็อก สมุด กระดาษเปิดออร์เดอร์ เดินไปไปรษณีย์เพื่อส่งเอกสาร และลูกค้ารอสินค้านานร่วมเดือน เป็นกิจวัตรและกระบวนการทำงานรูปแบบเดิมที่ทำมานานถึง 50 ปี แต่ในวันนี้ทายาทรุ่นที่ 2 ได้เข้าไปพัฒนาเทคโนโลยีให้เหลือแค่แท็บเล็ตเครื่องเดียว โดยเขาเป็นเจ้าแรกในวงการธุรกิจยาและเครื่องมือแพทย์ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการขาย

ดร.พงศ์ทิพย์ อรุณวัฒนาพร ชีวิตไม่หยุดเคลื่อนไหวในธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง

“เราควรนำเทคโนโลยีมาช่วยให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น พนักงานขายควรโฟกัสที่การขายและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า อะไรที่เป็นงานเอกสารควรนำออกไปจากเขา

นอกจากนี้ สิ่งที่เกือบทุกบริษัทเจอเหมือนๆ กันคือ พอพนักงานขายเปลี่ยนคนหรือเปลี่ยนเขต ข้อมูลทั้งหมดจะหายไปกับพนักงานคนนั้น แต่เทคโนโลยีสามารถบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่พนักงานขายมีไว้ในระบบได้ เวลาเปลี่ยนคนก็สามารถรันงานต่อได้เลยเพราะข้อมูลยังมีอยู่ ที่สำคัญคือระบบยังช่วยให้การทำงานรัดกุม เพราะช่วยลดความผิดพลาดจากการทำเอกสาร ช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษด้วย”

คำว่า เปเปอร์เลส (Paperless) อาจฟังดูง่าย เพราะแค่ไม่ใช้กระดาษก็น่าจะเพียงพอ แต่กว่าจะเปลี่ยนจากงานเอกสารที่เคยทำให้มาอยู่ในรูปแบบของข้อมูลดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีต้องรองรับ และเปเปอร์เลสยังมีความหมายมากกว่าการทำงานที่ไม่ใช้กระดาษ เพราะยังหมายถึงการทำงานที่รวดเร็ว ทำให้พนักงานขายมีเวลาไปเยี่ยมลูกค้าและยอดขายก็สูงขึ้นตามมาด้วย

เมื่อประสบความสำเร็จกับธุรกิจของครอบครัว ทำให้พงศ์ทิพย์เห็นแล้วว่า “มาถูกทาง” และจากการศึกษาอุตสาหกรรมไทยจึงเห็นว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่พนักงานขายยังทำงานแบบดั้งเดิม เขาจึงริเริ่มก่อตั้งบริษัทและขายแพลตฟอร์มพร้อมคำปรึกษา ไปช่วยพัฒนาระบบการขายของบริษัทอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องมือแพทย์ ยา อาหารเสริม บริษัทฮาร์ดแวร์ ซึ่งครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากทุกองค์กรมักประสบปัญหาใกล้เคียงกัน คือ การทำงานของพนักงานขาย

“ถามว่าถ้าไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ไหม องค์กรนั้นก็ยังทำงานต่อไปได้ แต่หากองค์กรอื่นเขามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน แต่เรายังทำแบบเดิมอยู่ ยอดขายจะเป็นตัวกระตุ้นให้อยากเปลี่ยนแปลง อยากยกระดับองค์กรให้ทันสมัย เพื่อจะได้แข่งขันกับคู่แข่ง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงก็จะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังไปโดยปริยาย”

แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงเร็ว หรือที่หลายคนเรียกว่า มาไว ไปไว แต่ในความเห็นของผู้คลุกวงในวงการไอทีมองว่า โมบายเทคโนโลยียังคงไม่ตาย “แต่จะเป็นเทรนด์ที่จะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ภายใน 5 ปี 10 ปีนี้ คนเราก็จะยังติดกับสมาร์ทโฟน ติดกับแท็บเล็ต แค่เราต้องคิดว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรมาเสริมกับตัวโมบายนี้ได้บ้าง” เขากล่าวเพิ่มเติม

พงศ์ทิพย์ ยังมองว่า เทคโนโลยีเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะแม้ว่ามนุษย์จะเป็นคนควบคุมระบบและนำเทคโนโลยีมาใช้งาน แต่ระบบก็เป็นตัวผลักดันความคิดและการทำงานของมนุษย์

“ถามว่าคนที่ไม่ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีจะอยู่บนโลกยุคใหม่ได้ไหม เขาอยู่ได้ แต่จากประสบการณ์ของผม ผมยังไม่เคยเห็นใครไม่ปรับตัวหรือปฏิเสธการใช้เทคโนโลยี”

ดร.พงศ์ทิพย์ อรุณวัฒนาพร ชีวิตไม่หยุดเคลื่อนไหวในธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง

ผู้บริหารวัย 34 ปี ตั้งเป้าว่า จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ เพื่อนำมาช่วยให้คนทำงานมีประสิทธิภาพ และที่ขาดไม่ได้คือ ต้องพัฒนาคน เพราะองค์กรจะอยู่ได้เพราะทรัพยากรบุคคล ไม่ใช่เทคโนโลยี

“ที่ผ่านมาผมได้รับโอกาสที่ดีจากคุณตา คุณพ่อ คุณแม่ หรือพาร์ตเนอร์ในชีวิต เราก็ควรให้โอกาสคนในบริษัทเราด้วย โดยการกระตุ้นให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดในการพัฒนาระบบ พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพื่ออนาคตของพวกเขาเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนับสนุนในองค์กรมาก เราเปิดโอกาสให้ทุกคนมีข้อเสนอ ข้อคิดแล้วมาพูดคุยกันในองค์กร

อย่างหนึ่งที่เราให้พนักงานคิดอยู่เสมอคือ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว เพราะถ้าวันไหนที่คิดว่าเราเป็นน้ำเต็มแก้วคือจบแล้ว เพราะเราจะไม่พัฒนาตัวเองต่อ แต่ถ้าทุกคนในองค์กรคิดที่จะพัฒนาตลอดเวลา องค์กรก็จะไปข้างหน้าและไปอย่างยั่งยืน”

สำหรับเทรนด์ในอนาคต เขาเชื่อว่า คลาวด์เทคโนโลยีจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกองค์กร และเทคโนโลยีที่มาแน่ คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) เพราะเมื่อการทำงานมีประสิทธิภาพแล้ว ระบบต้องฉลาดขึ้นและต้องช่วยมนุษย์คิดได้

“การทำงานกับสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งอย่างเทคโนโลยีทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ เราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อจะได้นำเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่มาใช้ได้กับชีวิตประจำวัน กับงาน ผมจึงไม่ได้มองว่าเราเหนื่อยที่ต้องตามมัน แต่มันเป็นการผลักดันให้เราพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า ทำให้เรากลายเป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ”

ถามต่อว่ามีวันไหนที่อยากออฟไลน์บ้างหรือไม่ “อาจเป็นเพราะสิ่งที่ทำอยู่เป็นงานที่รักและสนใจ เราเลยไม่คิดว่ามันเป็นการทำงาน แต่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะทำตอนไหนก็ได้ เพราะเรารู้สึกสนุกที่ได้ทำมัน ดังนั้นเวลาเราจะทำอะไร เราต้องหาสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก อย่างผมชอบเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม เมื่อเราทำงานจะไม่รู้สึกเหนื่อย และจะทำให้การใช้ชีวิตในทุกวันเป็นเรื่องสนุก”

ทายาทธุรกิจร้อยล้านลุกขึ้นมาเปิดบริษัท เพราะความรักและหลงใหลในเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ทั้งคอยจุดไฟให้ไม่หยุดขับเคลื่อนองค์กร จากหนึ่งไปสองและเขาหวังว่าจะขยายใหญ่ไปถึงภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวทันอุตสาหกรรมโลก