posttoday

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์ชาชักชาวเรือ

03 มีนาคม 2561

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท ชาชักชาวเรือ 1 ใน 3 แฟรนไชส์ชาชักรายใหญ่ในประเทศไทย

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท ชาชักชาวเรือ 1 ใน 3 แฟรนไชส์ชาชักรายใหญ่ในประเทศไทยที่มีแฟรนไชส์กระจายทั่วทุกหัวมุมเมืองแถบภาคกลาง เหนือ และอีสาน 99 แฟรนไชส์ โดยแฟรนไชส์ลำดับที่ 99 เพิ่งเปิดดำเนินการไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา ที่จามจุรีสแควร์

ด้วยวัย 50 ปี วันนี้เรียกได้ว่ากิจการร้านชาชักชาวเรือของเขาถูกวางระบบไว้เสร็จสรรพพร้อมผู้สืบทอด โดยตัวเขาถอยฉากออกมาเป็นเพียงพี่เลี้ยง คอยดูการเติบโตของบริษัทนี้ นับได้ว่าเป็นการเกษียณด้วยวัยที่ยังไม่ถึงเกษียณ และประสบความสำเร็จในชีวิตเร็วกว่าคนรุ่นเดียวกัน

สมพงษ์ ถือกำเนิดที่ จ.สุพรรณบุรี ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน พ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะส่งให้เรียนหนังสือ ต้องหยุดเรียนช่วงอายุ 19 ปี แต่ความที่เขาเป็นคนทะเยอทะยาน ได้ใช้วุฒิ ม.6 ไปทำงานเสมียนทำหน้าที่เบิกจ่ายยาที่โรงพยาบาลธนบุรี แถวพรานนก ทำงานไปเรียนไป โดยเข้าเรียนที่คณะบัญชี มหาวิทยาลัยสยาม จนจบ 3 ปีครึ่ง

เมื่อเรียนจบลาออกไปเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ทำงานได้ 6 เดือน อยากได้เงินเดือนเพิ่มเปลี่ยนที่ทำงานไปเป็นหัวหน้าแผนกบัญชีที่ พงษ์ศิริชัย กรุ๊ป

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์ชาชักชาวเรือ

"ดร.ศุภภรณ์พงศ์ ชวนบุญ รับผมเข้าทำงาน ผมอยากเป็นนายคน ขอนอนบ้านตัวอย่างของบริษัท ขอเงินเดือนเพิ่ม และขอเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจ และได้ทุกอย่างตามต้องการ เพราะอยากหาเงินเลี้ยงครอบครัว"

สมพงษ์เป็นคนวางระบบบัญชีให้พงษ์ศิริชัยกรุ๊ป ให้สามารถคุมต้นทุนทุกด้านโดยนำเทคโนโลยีมาวางระบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นโปรแกรมที่บริษัทออกแบบเอง โดยเขาเป็นคนวางและให้ฝ่ายไอทีเป็นคนเชื่อมข้อมูลทุกสาขาของบริษัทเข้ามาประมวลที่ส่วนกลางให้สามารถคำนวณต้นทุนได้เป็นเรียลไทม์ ซึ่งในยุคนั้นปี 2537 ยังไม่มีบริษัทใดทำได้

เขาจบปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยสยามปี 2539 ชีวิตผกผันไปสมัครเป็นทหารเรือตามเพื่อน สุดท้ายสอบติดตั้งสองคน ได้ยศแรกเรือตรี อยู่กองค่าใช้จ่ายทั่วไป กรมการเงิน ทหารเรือเงินเดือนเริ่มต้น 6,350 บาท น้อยกว่าเอกชนหลายเท่า แต่ช่วงนั้นมีเงินเก็บระดับหนึ่ง จึงตัดสินใจเป็นทหารเรือตามความประสงค์ของมารดาที่มองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์ชาชักชาวเรือ

แต่เกิดอุบัติเหตุชีวิต พี่สาวหย่าขาดจากสามีทำให้เขาต้องมีภาระเลี้ยงดูลูกสาวสามคนและพี่สาวที่มาอยู่ด้วย นอกจากเป็นทหารเรือ เขายังรับเป็นที่ปรึกษาวางระบบบัญชีด้วยนำเทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลให้บริษัทเอกชนเป็นงานอดิเรกและความรู้ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์นี้ถูกนำมาใช้ในระบบการจัดการร้านชาชักชาวเรือในภายหลัง

ิหน้าที่การงานก้าวหน้าขึ้นตามลำดับจนกระทั่งได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนกทะเบียนกองบัญชีการเงินกรมการเงิน ทหารเรือ รับหน้าที่อยู่กิจการปลดหนี้สิน ในขณะที่พี่สาวที่อยู่ด้วยขายชาชัก

สมพงษ์เดินทางไปราชการที่นราธิวาสบ่อย เข้าออกจังหวัดมาเลเซียเป็นว่าเล่น เดินทางผ่าน อ.ตากใบ นราธิวาส มีร้านชากาแฟ โรตี มีความคิดอยากทำร้านชาชักเป็นแฟรนไชส์ ทำให้เป็นระบบ ชักชวนพี่สาว แต่พี่สาวไม่อยากทำ

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์ชาชักชาวเรือ

จึงชวนจ่าไก่ที่เป็นลูกน้องมาช่วยกันทำ จ้างแรงงานวันละ 500 บาท ชวนลูกของพี่สาวที่เขาเลี้ยงเหมือนลูก ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.1 และ ม.3 มาเป็นลูกจ้าง สาขาแรกเปิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ค่าเช่า 1 หมื่นบาท/เดือน ขายเดือนแรกมีกำไร 1.5 แสนบาท ทำสองคนกับจ่า ต่อมาเปิดอีกสาขาที่กรมสวัสดิการทหารเรือ

ความสำเร็จของร้านชาชักของเขา เกิดจากรสชาติชาไม่หวานจัด แสบคอ วัตถุดิบคุณภาพ นำเข้าชาจากมาเลเซียและศรีลังกาแล้วนำมาปรับปรุงรสชาติจากประสบการณ์ของพี่สาวที่ขายชาอยู่แล้ว โดยมีการทดสอบจนได้รสชาติเป็นของตัวเองก่อนเปิดร้าน

"ผมเป็นคนชอบของดี กินดี อยู่ดี ชอบงานสบายใช้สมองทำงาน ไม่ชอบออกแรง เป็นคนจัดระบบแล้วให้จ่าไก่จัดการตามระบบที่วางไว้ ชาของร้านผมชงแต่ละครั้งได้ 15 แก้ว ลูกค้าไม่ต้องคอยนาน ขายแล้วก็หาโรตีมาขายพ่วงด้วยตระเวนหาสูตรมาทดลองปั้นจนได้ที่"

สมพงษ์เป็นนักคิด กำไร 5 หมื่นบาทขึ้นไป/เดือน แต่ไม่มีความสุขในการขาย 2 ปีที่เริ่มก่อตั้งด้วยการล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก จนกระทั่งก่อรูปร่างเป็นบริษัทชาชักชาวเรือ และเริ่มหาทางที่ถูกต้องเจอว่า ชาชักจะต้องมีทำเลที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีมนุษย์เดินเท่านั้น รวมถึงการวางระบบตั้งแต่เริ่มก่อตั้งร้านค้า ระบบจัดการคน ระบบการรับคำสั่ง ระบบการเช็กสินค้าและสั่งสินค้า

"กำไรดีแต่มีอุปสรรค อากาศร้อน ฝนตกต้องคอยหลบฝน สถานะไม่ค่อยดี ต้องการความมั่นคงยั่งยืน อยากได้ความมั่นคงของแบรนด์ ต้องการกำไรระยะยาว จึงจัดตั้งบริษัทชาชักชาวเรือเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2553 โดยมี 3 ครอบครัวถือหุ้นใหญ่ 1 ในนั้นคือ ครอบครัวโพธิ์ศรีถือหุ้น 29.5% โดยปัจจุบันเขาโอนหุ้นเกือบทั้งหมดให้ลูกสาว (ลูกพี่สาว) ที่รับช่วงงานต่อจากเขา"

นาวาโทสมพงษ์ โพธิ์ศรี ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์ชาชักชาวเรือ

เขาขอเกษียณอายุงานก่อนกำหนดในปีเดียวกันนั้นด้วยวัยเพียง 42 ปี เพื่อต้องการทำแบรนด์ให้ยั่งยืน โดยชาชักชาวเรือ มีเป้าหมายให้เจ้าของแฟรนไชส์มาร่วมแชร์วัตถุดิบ ต้นทุน

แฟรนไชส์ 99 สาขานั้น ส่วนใหญ่คนซื้อแฟรนไชส์เป็นข้าราชการและทหารเรือ โดยสมพงษ์มีสาขาแฟรนไชส์ของตัวเองที่สายใต้ใหม่ที่กำไรเดือนละเกือบแสนบาท มีระบบจัดการและการดูแลลูกจ้างที่ดี นอกจากมีเงินเดือนแล้วยังได้เปอร์เซ็นต์จากการขายด้วย ตามยอดขายในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยจะสับเปลี่ยนหน้าที่ของลูกจ้างกันทุกวัน

ค่าแฟรนไชส์ชาชักชาวเรือ 5 หมื่นบาท/1 สาขา โดยต้องซื้อชา นม แป้งโรตี แก้ว และกล่อง จากบริษัท และอบรมการชงชา ปั้นแป้งโรตีให้สามวัน รวมถึงแนะนำการวางระบบ เช็กสต๊อก ต้นทุน กำไร ทั้งนี้ หากลูกค้าจะขอคำแนะนำเรื่องการออกแบบร้าน ทางบริษัทก็สามารถให้คำแนะนำได้ โดยปกติการลงทุนต่อสาขาประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งเปิดในห้างสรรพสินค้า ตามประสบการณ์ 4 เดือนก็ถึงจุดคุ้มทุน

สำหรับสาขาที่เอสซี พลาซ่า ที่สายใต้ใหม่ของครอบครัวเขาดำเนินการเอง ค่าเช่าพื้นที่ 36-40 ตร.ม. ค่าเฉลี่ยกำไรเดือนละ 9 หมื่นบาท จากเดิมเช่าพื้นที่ 9 ตร.ม. ค่าเช่า 2.5 หมื่นบาท ได้กำไรเดือนละ 4-5 หมื่นบาท

"แถวนั้นเราต้องแข่งกับร้านหรูหลายร้าน ชาชักของเราแก้วละ 40 บาท ขนาด 16 ออนซ์ และ 22 ออนซ์ประมาณ 30 บาท โรตี 20 บาทขึ้นไปแล้วแต่รสชาติ เจ้าของที่เขาเห็นเราอยู่มานานเป็นสิบปี ในขณะที่ร้านหรูเจ๊งไปหมดจึงขอให้เช่าที่ที่ว่างเพิ่มในราคาพิเศษ แต่เมื่อเพิ่มพื้นที่ปรากฏว่าขายดีขึ้นมาก"

ชาชักชาวเรือ ตั้งเป้าหมายเปิดแฟรนไชส์เดือนละสาขา โดยเดือน มี.ค.จะเปิดที่แฮปปี้แลนด์เซ็นเตอร์บางกะปิ เป็นสาขาที่ 100