posttoday

ชนกานต์ ชินชัชวาล โปรแกรมเมอร์ไอเดียดี

24 กุมภาพันธ์ 2561

โปรแกรมเมอร์หนุ่มผู้นี้เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม "ทีมแตงไทย"

เรื่อง : โยธิน อยู่จงดีภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

โปรแกรมเมอร์หนุ่มผู้นี้เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม "ทีมแตงไทย" ที่ได้คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันออกแบบโปรแกรมระดับโลกในรายการ "อิมเมจิ้น คัพ 2012" ของบริษัท ไมโครซอฟท์ รอบชิงชนะเลิศที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เมื่อปี 2555 หลังจากนั้นเขาก็คลุกคลีอยู่ในวงการไอที จนกลับมาเปิดบริษัทออกแบบระบบเอไอแชตบอต ที่หลายคนอาจเคยได้ใช้อย่างแชตบอตเฟซบุ๊ก จส.100 และแอพตุ้ยนุ้ย และแชตบอตของลูกค้าอีกหลายบริษัท เขาคือ ชนกานต์ ชินชัชวาล เจ้าของบริษัท ซีวิซดอทเอไอ (Zwiz.ai)

ชนกานต์ เล่าเส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์นักออกแบบเอไอของเขาว่า มีความสนใจในเรื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สมัยมัธยม เป็นเด็กที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป "รู้สึกว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าสนุก ทำให้เราอยากเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์

ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนๆ ส่วนใหญ่จะเลือกเข้าคณะวิศวะ หรือไม่ก็แพทย์ตามความนิยม ผมเองก็สอบติดคณะวิศวะอยู่หลายที่ แพทย์ก็สอบติดหลายที่ จนสุดท้ายด้วยความที่อยากเรียนด้านคอมพิวเตอร์มากกว่า จึงตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหิดล

ปีแรกเรารู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเรามากๆ เพราะเราไม่เคยเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาก่อน ช่วงมัธยมปลายก็เรียนคอมพิวเตอร์แบบพื้นฐานทั่วไป พอเข้ามาเรียนจริงจังในระดับมหาวิทยาลัย เราก็พบว่าการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นสามารถทำได้มากมายกว่าที่คิด พลิกแพลงเป็นได้ทั้งการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ หรือจะเป็นโปรแกรมประยุกต์การใช้งานด้านต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เป็นไปในรูปแบบไหน"

เมื่อ ชนกานต์ เริ่มเรียนรู้แล้วว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเริ่มเขียนจากอะไร เขาก็เริ่มทดลองสร้างเกมคอมพิวเตอร์เกมแรกจากโปรแกรมภาษาซี เป็นเกมแนวยิงรถถังเหมือนเกมในเครื่องแฟมิคอมยุค 80 เป็นการบ้านส่งอาจารย์ประจำวิชา และเปิดให้เพื่อนได้ทดลองเล่น

จนกระทั่งมีรายการแข่งขันอิมเมจิ้นคัพ ซึ่งเป็นการประกวดแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับโลกเขาก็ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมทีมลงแข่งในรายการนี้ เพื่อออกแบบโปรแกรมเกมที่ชื่อ Verdant Fantasy เกมวางแผนประเภท RST (Real-Time Strategy)

ชนกานต์ ชินชัชวาล โปรแกรมเมอร์ไอเดียดี

"ตอนนั้นโปรแกรมที่เราเขียนเป็นโปรแกรมเกมแนวปกป้องป่าไม้ เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับป่าไม้ของโลก ใช้เวลาสร้างจนแล้วเสร็จประมาณ 3 เดือน ก็ส่งเข้าแข่งขันผ่านรอบแรกก็พัฒนามาเรื่อยๆ เพื่อจะเข้าแข่งขันในรอบต่อไป จนกระทั่งถึงรอบชิงแชมป์โลกที่ออสเตรเลีย เราก็พัฒนาจนถึงเวอร์ชั่นสุดท้ายที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมาได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเราในการเป็นโปรแกรมเมอร์

หลังจากเรียนจบไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่ 2 ปี แล้วเรียนต่อปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ที่ต่างประเทศ แล้วกลับมาเปิดบริษัทเขียนโปรแกรมทางด้านเอไอ (AI - Artificial Intelligence) ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากโปรแกรมแชตบอตที่สามารถใช้งานได้จริง สาเหตุที่ผมเลือกที่จะเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับเครื่องเอไอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามีกระแสความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาระบบเอไอขึ้นมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แล้วเราก็เห็นว่าระบบเอไอนั้นสามารถทำงานได้กว้างกว่าที่เราคาดคิด

ผมเริ่มเขียนตั้งแต่ยังไม่มีสถาบันไหนเปิดสอน ไม่มีสูตรตายตัวในการเขียนโปรแกรมเอไอขึ้นมาเพราะว่ายังถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการคอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเริ่มเขียนระบบเอไอ เพราะตอนที่เริ่มเขียนโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ ก็ต้องมีการเขียนระบบเอไอให้เกมในการควบคุมระบบการเล่น เราก็ประยุกต์ใช้ความรู้ตรงนั้นเข้ามาใช้ในการพัฒนาเอไอโดยเฉพาะ"

โปรแกรมเมอร์หนุ่มเล่าอย่างเรียบง่าย ทั้งที่แท้จริงแล้วการเขียนโปรแกรมเอไอเต็มไปด้วยความซับซ้อน เมื่อเราถามสิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนโปรแกรม ชนกานต์ ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า สิ่งนั้นคือ "ไอเดีย"

"สิ่งสำคัญที่สุดในการที่เราจะสร้างโปรแกรมขึ้นมาสักตัวหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราใช้โปรแกรมอะไร แต่อยู่ที่ว่าเรามีไอเดียอะไรต่างหาก ไอเดียเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทาง รายละเอียด และการทำงานของโปรแกรมที่เรากำลังทำ

หลายคนมักจะบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการเขียนโปรแกรมก็คือการแก้ไขปัญหาเออร์เรอร์ที่เกิดขึ้นกับตัวโปรแกรม แต่สำหรับตัวผมแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาที่เป็นเหตุเป็นผล คือเมื่อเราเขียนโปรแกรมไปตามระบบอย่างถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล โปรแกรมก็จะสามารถทำงานได้อย่างที่ต้องการ แต่ถ้าเราเขียนโปรแกรมไม่อยู่ในความเป็นเหตุและเป็นผลก็จะเกิดความผิดพลาดฟ้องขึ้นมา โปรแกรมเมอร์ต้องไล่หาดูว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไร และเข้าไปแก้ไขปัญหาตรงนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ชนกานต์ ชินชัชวาล โปรแกรมเมอร์ไอเดียดี

ไอเดียจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ย้อนกลับไปในสมัยที่ผมเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ตอนที่เราสร้างเกมส่งเข้าแข่งขันนั้น เรามีไอเดียเดียวก็คือสร้างเกมเกี่ยวกับเรื่องการปกป้องป่าไม้ ตั้งเป็นแนวคิดหลักในการทำเกม เมื่อเรามีแนวคิดหลักว่าเราจะปกป้องป่าไม้ เราก็ต้องดูว่าอะไรที่เป็นภัยคุกคามป่าไม้แล้วการแก้ปัญหาตรงนั้น

หากเป็นเกมต่อสู้ทั่วไปก็เพียงแค่ต่อสู้เอาสนุกแต่ไม่ได้สาระความรู้ ไม่สามารถสร้างการรับรู้ถึงปัญหาตามจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ในเกม เราก็หารายละเอียดต่อไปว่าปัญหาของป่าไม้ก็คือการคุกคามจากอะไรบ้าง คุกคามจากมนุษย์ที่เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า สิ่งเหล่านี้ก็คือศัตรูที่คุกคามป่าไม้ของเรา และผู้เล่นจะต้องเป็นคนที่เข้าไปแก้ไขปัญหานั้น"

ท้ายสุด ชนกานต์ แนะนำถึงทุกคนที่อยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ประสบความสำเร็จว่า ถ้าอยากจะทำโปรแกรมให้สำเร็จขึ้นมาสักชิ้น สิ่งที่เราต้องมีก็คือความมุ่งมั่น และตั้งใจว่าจะต้องทำออกมาให้ดีที่สุด "ไม่ว่าจะเจอปัญหาและอุปสรรคอะไรก็ตาม คนที่มุ่งมั่นอยากจะทำโปรแกรมออกมาให้สำเร็จจะมีความตั้งใจไม่ว่าจะเจอปัญหามากขนาดไหน เขาก็จะหาทางแก้และพยายามทำออกมาให้สำเร็จจนได้

วงการเทคโนโลยีมีการแข่งขันกันสูง พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ต้องทำใจรับให้ได้กับเรื่องนี้ แม้เราจะพยายามก้าวตามแค่ไหนก็อาจจะไม่ทัน เพราะสิ่งที่เรารู้วันนี้จะใช้ไม่ได้ผลในวันพรุ่งนี้ ทุกครั้งที่ผมไปบรรยายให้น้องๆ นักศึกษา ผมจะบอกกับพวกเขาเสมอว่าเวลาที่พวกคุณเรียนอย่าคิดว่าเป็นช่วงเวลาของการเรียน แต่เป็นช่วงเวลาของการแสวงหาความรู้ในสิ่งที่คุณอยากจะทำ

หากคุณคิดว่าคุณกำลังเรียน คุณก็จะเข้าเรียน ตามหน้าที่ให้ผ่านไป ในขณะที่ความรู้ในวงการไอที นั้นมีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและผ่านไปอย่างรวดเร็ว การเรียนในห้องเรียนจะทำให้คุณไม่สามารถก้าวตาม โลกได้ทัน แต่หากคุณคิดว่ากำลังแสวงหาความรู้ จะทำให้คุณขวนขวายหาความรู้มากกว่าที่ได้รับในห้องเรียน เมื่อมีสิ่งใหม่ๆ จงลองเรียนรู้ว่าทำงานอย่างไรและทำได้อย่างไร โดยความรู้ในห้องเรียนเป็นพื้นฐานต่อยอดไป สู่สิ่งใหม่ๆ เราก็จะประสบความสำเร็จในการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดีได้" n