posttoday

เมลาณี ตันติวานิช สนุกท้าทายแบบมืออาชีพ

14 กุมภาพันธ์ 2561

ถึงเวลาของเจเนอเรชั่นใหม่ ไอเดียใหม่

 

ถึงเวลาของเจเนอเรชั่นใหม่ ไอเดียใหม่ เมื่อสาวน้อยหน้าตาเฉี่ยวเก๋ บุคลิกร่าเริง และมีแนวทางของตัวเอง อย่าง เมลตี้-เมลาณี ตันติวานิช Executive Producer บริษัท ดรอปโซน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ลุกขึ้นมาสร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีกับบิ๊กโปรเจกต์ ดรอปโซน เฟสติวัล แบงค็อก 2018 เทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มิวสิคระดับโลก ที่เตรียมสร้างปรากฏการณ์มิวสิคเฟสติวัลรูปแบบใหม่ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ในเทศกาลดนตรีระดับโลกครั้งนี้ สาวไทยหนึ่งเดียวในทีมคนนี้เป็น Project Director ของงานครั้งนี้

หลังจบการศึกษาสาขาภาพยนตร์ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย เพราะประสบการณ์ในต่างประเทศ ตั้งแต่อายุ 12 ปี และการเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทำให้เมลตี้มีโอกาสได้ทำงานในฝัน “ที่เลือกเรียนฟิล์มเพราะชอบหนัง รู้สึกว่ามันคือการสร้างโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมาใหม่ แต่พอมาเริ่มทำงานที่เกี่ยวกับหนังซึ่งเป็นงานในฝัน เริ่มต้นกับโปรเจกต์หนังระดับฮอลลีวู้ด เป็นการทำงานร่วมกับทีมลอสแองเจลิสกับปักกิ่ง แต่เหมือนเรายังรู้สึกไม่คลิกเท่าไหร่ เลยตัดสินใจร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัททำงานด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ก่อนจะริเริ่มโปรเจกต์มิวสิคเฟสติวัลรูปแบบใหม่ครั้งนี้

เริ่มแรกคือคิดคอนเซ็ปต์มิวสิคเฟสติวัลนี้ ตอนเริ่มก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันใหญ่ขนาดนี้ แค่คิดว่าอยากจะจัดปาร์ตี้อะไรสักอย่างและนำความชอบของทุกคนมาไว้ในโปรเจกต์ซึ่งก็คือหนังกับวิดีโอเกมมาผสมกับเทศกาลดนตรี จากนั้นก็กำหนดคอนเซ็ปต์เรื่องโลกใหม่ เป็นเฟสติวัลที่จัดต่อเนื่อง 5 ปี สำหรับสตอรี่ในปีแรกก็คือ คนทุกคนที่เดินเข้าไปในดรอปโซนคือผู้อยู่รอด เหมือนเป็นการแนะนำตัวของเรา ก็ยังไม่ได้ใส่เนื้อเรื่องเข้าไปเยอะ แต่แผนงานทั้งหมดเราวางไว้หมดแล้ว จากนั้นเราก็มาดูเรื่องทีมดนตรี ทีมออร์แกไนเซอร์ ทีมโปรดักชั่น ทีมมาร์เก็ตติ้ง เมลตี้มีพาร์ตเนอร์อีก

คนหนึ่ง มร.เฮอมาน พาเลา มาจากสเปน เขาดูแลเรื่องการเงิน และการติดต่อกับสื่อต่างประเทศ และงานที่ต้องประสานงานกับต่างประเทศ” เมลตี้ อธิบาย

 

เมลาณี ตันติวานิช สนุกท้าทายแบบมืออาชีพ

 

 

เพราะไม่เคยมีมาก่อนในโลก และเลือกมาจัดครั้งแรกในเมืองไทย เมลตี้จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เธอบอกว่า ทุกวันนี้ต้องทำงานอย่างน้อยวันละ 16 ชั่วโมง “นอกจากความชื่นชอบเมืองไทยของคนในทีมแล้ว พวกเรามองว่าเมืองไทยเป็นเหมือนฮับใหม่สำหรับเอนเตอร์เทนเมนต์เซ็กเตอร์ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ประเทศไทยกำลังเป็นที่นิยม ส่วนความยากของงานเป็นช่วงกลางๆ ของโปรเจกต์ เพราะตอนเริ่มเราแค่โยนไอเดียต่างๆ เข้าไปเป็นขั้นตอนที่สนุกที่สุด แต่ช่วงการทำงานจริงแม้ทีมงานบางส่วนที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว แต่กับทีมโปรดิวเซอร์ถือเป็นมือใหม่ทั้งหมด เหมือนหลับตาแล้วคลำทาง ไม่รู้ว่าจะต้องไปทางไหน จะต้องวางแผนอย่างไร นี่จึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ตอนนี้งานเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นทุกอย่างลงตัวพร้อมสำหรับมอบประสบการณ์ใหม่ๆ

เราเลือกสถานที่จัดงานเป็นวันเดอร์เวิลด์ เอ็กซ์ตรีมพาร์ค (Wonder World Extreme Park) สวนสนุกร้างที่ทีมของเราไปดูมาและคิดว่าสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด คือไม่ใช่พื้นที่ใหญ่อย่างเดียว แต่ว่าโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนทำมาเพื่อมิวสิคเฟสติวัลที่เป็นคอนเซ็ปต์ของเรา แต่ในทุกปีเราจะมองหาที่ใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าไปเริ่มที่ประเทศใดก็จะต้องเริ่มปฐมบทใหม่เสมอโดยที่เรื่องราวยังคงคล้ายกันแต่จะปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับประเทศนั้นๆ

ถามว่ากดดันไหมก็นิดหนึ่ง แต่เรารักที่จะทำ และเราก็เห็นว่าทุกคนในทีมต่างมีความรักที่ทุ่มเทให้กับดรอปโซนเหมือนกัน จากความกดดันพอทำไปเรื่อยๆ ก็กลายเป็นความสนุก เราต้องเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำงานถึงได้ออกมาดีอย่างนี้ ซึ่งบางครั้งพอว่างๆ ก็แอบภูมิใจในตัวเองนิดๆ ด้วยซ้ำว่าเรามีโอกาสได้ทำงานกับทีมงานระดับโลกเชียวนะ แต่ส่วนใหญ่จะมีเวลาว่างสำหรับรู้สึกแบบนี้น้อย (หัวเราะ)”

ทุกการทำงาน โดยเฉพาะกับทีมงานที่มีความเป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์ระดับโลก นี่จึงเป็นอีกบทพิสูจน์และเป็นความท้าทายของสาวน้อยวัยยี่สิบต้นๆ คนนี้ “ปัญหาในการทำงานก็มีนะคะ แต่มันคือสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้วเมื่อทำงานกับหลายคนหลายฝ่าย วิธีการรับมือของเราก็คือ ถ้าเกิดใครทำอะไรผิดห้ามเก็บไว้เด็ดขาดต้องบอก ต้องถามเลยไม่ใช่ว่าทำไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง การสื่อสารอย่าใช้อารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจคนในทีมด้วย อย่าไปหาคนทำผิด เรามีหน้าที่แค่อธิบายว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ผิด เราไม่มีเวลามาเถียงกัน พอมีปัญหาต้องรีบหาจุด แล้วไปแก้เลย ทีมเวิร์กที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานให้เดินหน้าต่อไป”

อีกหนึ่งสถานะที่เป็นบุตรสาวของ วิเชฐ ตันติวานิช อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจใหญ่หลายแห่งทำให้เมลตี้ถูกจับตามอง แต่เมื่อถามความรู้สึกเธอเกี่ยวกับการทำงานของเธอกับบทบาทลูกสาวของคุณพ่อ “ต้องยอมรับว่าคุณพ่อคุณแม่มีส่วนที่ทำให้เมลตี้เป็นคนที่ค่อนข้างอิสระ เนื่องจากทั้งสองท่านปล่อยให้เราคิดเอง ทำอะไรเองตั้งแต่เด็ก ไม่เคยบังคับ ทำให้โตขึ้นมาเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์สตรอง คิดอะไรคือจะพูดเลย ถ้าสมมติว่ามีอะไรที่ไม่เห็นด้วยเราก็จะแสดงออกว่าเราไม่เห็นด้วย ซึ่งพ่อกับแม่เขาก็เข้าใจว่าเราเป็นตัวของตัวเองมาก อย่างตอนที่กลับมาเมืองไทยและเริ่มทำงานคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้ว่าทำอะไร มารู้ช่วงก่อนจะเปิดตัวโปรเจกต์ ซึ่งพอท่านรู้ ท่านก็เป็นที่ปรึกษาได้อย่างดี”

เห็นบุคลิกสตรอง เฉี่ยว และเด็ดเดี่ยวแบบนี้ ก็ใช่ว่าเธอจะไม่มีมุมอ่อนโยนให้เห็น โดยเฉพาะกับเวลาเครียดหรือท้อใจ เมลตี้มีทางออกง่ายๆ แค่ได้กลับมากอดสุนัขที่เธอเลี้ยงไว้ถึง 4 ตัวที่บ้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีตัวหนึ่งที่อยู่กับเธอมานานเหมือนเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด อีกหนึ่งช่องทางคือเกมที่แม้จะมีเวลาเล่นเพียงอาทิตย์ละสองชั่วโมง แต่นั่นก็ทำให้เธอรู้สึกดีและได้แรงบันดาลใจสามารถนำมาใช้กับงานได้ด้วย

“เราชอบเกม ชอบดูหนัง และอีกหนึ่งอย่างก็คือการเดินทาง ซึ่งโชคดีว่างานของเมลตี้มีโอกาสได้ทำทุกอย่าง ถ้ามีตารางงานต้องไปต่างประเทศเมลตี้จะวางแผนการพักผ่อนด้วย หรือถ้าจะไปเที่ยวต่างประเทศเราจะต้องได้งานด้วย มันเหมือนอยู่ในสายเลือด และธรรมชาติของงานเราเอื้ออำนวยให้เราทำได้ หรือถ้ามีงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้ ถึงเราจะวุ่นวายกับการดูงาน ขอแค่ได้เห็นทุกคนในทีมสนุกก็เหมือนเมลตี้ได้พักแล้ว มันก็เลยสนุกไม่รู้สึกเหนื่อย” เมลตี้ เล่า

นอกจากจะโฟกัสเรื่องงานที่กำลังจะเกิดขึ้นเอ็กเซ็กคิวทีฟ โปรดิวเซอร์ แห่งบริษัท ดรอปโซน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ยังเล่าถึงเป้าหมายต่อจากนี้ว่า คาดหวังว่าโปรเจกต์จะสร้างปรากฏการณ์ให้กับเฟสติวัลทางดนตรี และให้คนที่มาร่วมงานได้ประสบการณ์ที่ดีกลับไป “ส่วนตัวก็ไม่ได้ตั้งเป้าการทำงานอะไรไว้เป๊ะๆ คิดว่าจะทำงานไปเรื่อยๆ แต่ที่แน่ๆ ก็คือโปรเจกต์นี้จะไม่ใช่สิ่งเดียวที่พวกเราจะทำ ตอนนี้ขอโฟกัสกับดรอปโซนก่อน พอโปรเจกต์นี้เริ่มเข้าที่ น่าจะประมาณปีที่สามเราอาจจะมีโปรเจกต์เพิ่มขึ้น นั่นก็แปลว่าเราได้เดินทางมากขึ้นด้วย ก็เลยไม่ห่วงเรื่องว่าจะไม่มีเวลาพักผ่อนค่ะ”

สำหรับใครที่สนใจอยากร่วมสนุกและสัมผัสกับบรรยากาศแสงสีตระการตาสุดยิ่งใหญ่ของทีมงานระดับโลก พร้อมให้กำลังใจสาวไทยเพียงหนึ่งเดียวในโปรเจกต์นี้ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.dropzonefestival.com หรือ Facebook/dropzonefestival