posttoday

อุกฤษพงศ์ คงธนธรรม หนุ่มหล่อผู้รักเสียงเพลง

31 มกราคม 2561

หนุ่มหล่อวัย 33 ปี อุ้ย-อุกฤษพงศ์ คงธนธรรม เป็นทั้งวิศวกรและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับตำแหน่งกรรมการบริหาร

หนุ่มหล่อวัย 33 ปี อุ้ย-อุกฤษพงศ์ คงธนธรรม เป็นทั้งวิศวกรและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กับตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัทในเครือ ธนธรรม พร็อพเพอร์ตี้ นอกจากนี้เขายังทำตามหัวใจที่รักในเสียงดนตรี โดยร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ เปิดค่ายเพลง "ไฟว์ โฟร์ เรคคอร์ด" (Five Four Records)

“ผมเรียนจบปริญญาตรี สาขา Aerospace Engineering จาก Royal Melbourne Institution of Technology เมื่อเรียนจบก็ทำงานด้านที่เรียนอยู่สักพัก ก่อนจะผันตัวเองมาดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว นั่นคือโรงแรม Mii Hotel บนถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นบูติกโฮเต็ลระดับ 4 ดาว ขนาด 80 ห้อง ที่มีสระว่ายน้ำ ร้านกาแฟ และอื่นๆ ครบครัน ราคาไม่แพงมาก เหมาะกับคนรุ่นใหม่หรือนักท่องเที่ยว เพราะอยู่ไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิมากนัก นอกจากนี้ ผมยังดูแลเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ย่านบางแค และ จ.นครปฐม ด้วยครับ

ด้วยความที่ผมหลงใหลในเสียงดนตรีมานาน แม้โดยส่วนตัวแล้วจะไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านดนตรีมาก่อน แต่เพราะใจรักในเรื่องดนตรีและการแต่งเพลง ผมจึงศึกษาด้วยตัวเองเรื่อยมา เริ่มฝึกเล่นกีตาร์ตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นเครื่องดนตรีที่ถนัดที่สุด และผมมักร่วมเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ตามงานต่างๆ เป็นงานอดิเรกเสมอ ประกอบกับชอบฟังเพลงมากๆ ทุกแนว ทุกยุค ทำให้มีไอเดียทางด้านดนตรี และค่อยๆ เรียนรู้เทคนิคด้านการแต่งและร้องเพลงเรื่อยมา

กระทั่งได้มารู้จักกับ นิค-กีรติ พิทักษ์ธีระธรรม และ สัว-ศุภชัย กาญจนศักดิ์ชัย ทำให้ได้เล่นดนตรีจริงจังขึ้น และร่วมกันทำงานเพลง จนนำไปสู่การก่อตั้งค่ายเพลงอินดี้ที่ชื่อ ‘ไฟว์ โฟร์ เรคคอร์ด’ ขึ้นเมื่อ 2 ปีกว่าๆ ซึ่งได้ชื่อค่ายเพลงมาจากบ้านเลขที่ที่เราไปรวมตัวกันเล่นดนตรีนั่นแหละครับ เมื่อปีก่อนเราก็ได้เปลี่ยนโลโก้บริษัทใหม่ และได้ชักชวน กราฟ-โอสธี ซุ่นมงคล (วงแบล็ควนิลา) มาช่วยดูแลเรื่องครีเอทีฟให้ด้วย”

อุ้ยบอกว่า ตั้งแต่เปิดค่ายเพลงก็มีศิลปินช่วงเริ่มต้นคือ นิค-กีรติ สัว-ศุภชัย และ มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย รวมทั้งตัวเขาเอง ซึ่งทุกคนจะเล่นดนตรี แต่งเพลง และทำเพลงกันเองอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ทำเพลงเก็บๆ กันไว้หลายเพลง 

“วันหนึ่งเราก็มาคิดกันว่า น่าจะปล่อยซิงเกิ้ลออกมาให้คนฟังได้ลองฟังดูนะ ดังนั้นซิงเกิ้ลแรก เพลง ‘ถาม’ จึงถูกปล่อยออกมา ร้องโดย นิค-กีรติ ฟีเจอริ่งโดย กิ๊บซี่-วนิดา และป๊อก มายด์เซ็ต เป็นเพลงป๊อปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ดนตรีฟังง่าย ตอนนั้นผมเล่นเป็นพระเอกเอ็มวีให้ด้วยนะ ปล่อยไปเมื่อปลายปี 2015 บนยูทูบ ไอจูน และจูกซ์ ซึ่งมียอดวิวเยอะมากทีเดียว

 

อุกฤษพงศ์ คงธนธรรม หนุ่มหล่อผู้รักเสียงเพลง

  

หลังจากนั้นก็มีเพลง ‘หยุดก่อน’ ของ นิค-กีรติ ออกมาอีก คราวนี้เป็นเพลงช้า ตามด้วยเพลง `Lost Soul` ของดาต้า ดรัลชรัส เป็นเพลงบัลลาดเมโลดี้สวยงาม แต่บางคนอาจจะบอกว่าเข้าถึงยากสักนิดนึง ต่อมาคือเพลง ‘แค่เธอ’ ของดาต้า ดรัลชรัส อีกเช่นกัน แต่คราวนี้จะเป็นเพลงป๊อปเลย ตามด้วยเพลง ‘มัดใจ’ ของ มัดหมี่-พิมดาว ที่ร้องกับ วิน-รัตนพล (วงโปเตโต้) เพลงนี้จะเป็นเพลงรักที่มีคู่รักดาราดังๆ มาเล่นเอ็มวีให้หลายคู่เลยล่ะ”

อุ้ยบอกว่า ด้วยความที่ศิลปินในค่ายมีสไตล์เพลงที่แตกต่างกันไป แต่ละคนจึงมีแนวทางของตัวเองชัดเจนอยู่แล้ว แถมมีพื้นฐานด้านดนตรีกันมาพอสมควร ดังนั้นเวลาที่พวกเขาเข้ามาทำเพลงกับค่ายทาง ค่ายก็จะให้อิสระในความเป็นตัวของตัวเองของพวกเขาให้มากที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะทำได้ดี และมีผลงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

“เวลาที่มีศิลปินมานำเสนอเพลงที่ค่ายของเรา หุ้นส่วนทุกคน รวมทั้งโปรดิวเซอร์และครีเอทีฟก็จะออกความเห็นร่วมกัน ถ้าคุยกันแล้วคิดว่าโอเค ก็จะมีการนัดให้มาออดิชั่นและพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อดูแนวทางก่อน ถ้าคอนเซ็ปต์เพลงที่นำมาเสนอดี ทำเดโม่มาดี ทางเราก็พร้อมจะให้การสนับสนุน

นอกเหนือจากซิงเกิ้ลที่ผมกล่าวไปแล้ว เมื่อไม่นานนี้ก็มีซิงเกิ้ลของ วิน-รัตนพล ชื่อเพลง ‘เธอแค่รับไป’ ซึ่งจะเป็นเพลงแนวป๊อป ที่ฉีกจากแนวป๊อปร็อกตอนที่เขาอยู่กับวงโปเตโต้ เพลงของวินจะเป็นเพลงป๊อปที่มีไลน์กีตาร์เท่ๆ เข้ามาผสมผสาน เพลงนี้วินทั้งร้องทั้งเล่นเอง จึงดูเป็นตัวเขาได้อย่างเต็มที่”

อุ้ยเสริมว่า ยุคนี้การมีค่ายเพลงอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำเพลงเอง ข้อดีคือทำให้เจ้าของค่ายและศิลปินมีอิสระในการนำเสนอผลงานมากยิ่งขึ้น อย่างเมื่อก่อนจะมีแต่ค่ายใหญ่ๆ ซึ่งต้องมีการดูทิศทางการตลาด ดูฐานแฟนเพลง แถมยังต้องดูว่าลงทุนแล้วผลออกมาจะเป็นอย่างไร จึงมักมีกรอบกำหนดไว้ให้เดินตามค่อนข้างชัดเจน

“สำหรับการทำเพลงกับค่ายอินดี้ ผมว่าข้อดีของมันคือการรักษาความเป็นตัวตนของศิลปิน คอนเซ็ปต์ของเพลง และดนตรีที่ศิลปินผู้นั้นต้องการนำเสนอไว้ได้มากกว่า เรียกว่าสามารถให้อิสระกับศิลปินได้โชว์ผลงานอย่างเต็มที่ ค่ายเพลงอินดี้จึงเป็นตัวเลือกใหม่ให้คนฟังได้มีโอกาสเลือกในสิ่งที่พวกเขาชอบจริงๆ หรือเป็นผลงานที่ยูนีกจริงๆ

แม้เราจะเป็นค่ายอินดี้ แต่เราก็ยังคงใช้โปรดักชั่นที่มีคุณภาพไม่แพ้ค่ายเพลงใหญ่ๆ เหมือนกัน เพราะค่ายเราจะมีการลงทุนทำโปรดักชั่น เข้าห้องอัด รวมทั้งการนำเพลงไปมิกซ์เสียงเพื่อทำให้ต้นฉบับมาสเตอร์ออกมาดีที่สุด หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการทำเอ็มวี อย่างเพลงของ วิน-รัตนพล ที่ไม่ได้มีดารามาเล่นเอ็มวีให้ ก็จะใช้การลงทุนไม่มาก ในเอ็มวีจะเป็นตัววินเองเดินไปตามสถานที่ต่างๆ แล้วไปเจอคู่รักหลายคู่ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องของเพลง เอ็มวีเพลงหนึ่งถ้าอย่างไม่ลงทุนอะไรมากก็เสียค่าโปรดักชั่น 1 แสนบาทได้”

อุ้ยเสริมว่า การทำค่ายเพลงสำหรับเขาและเพื่อนๆ จะบอกว่ายากก็ไม่เชิง เพราะก็ถือว่าเป็นการทำธุรกิจอย่างหนึ่งเช่นกัน เรียกว่าสามารถใช้โมเดลธุรกิจที่คล้ายกับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเคยทำมาปรับใช้ได้

“สิ่งที่แตกต่างในการทำค่ายเพลงกับธุรกิจอื่นๆ ผมคิดว่ามันคือโปรดักต์ หรือเพลงนั่นเอง ฉะนั้นก่อนจะปล่อยเพลงหรือซิงเกิ้ลใหม่ๆ ออกไปสู่สาธารณะ เราต้องมีการสำรวจดูก่อนว่า ทาร์เก็ตคนฟังคือใคร ควรจะปล่อยบนช่องทางไหนถึงจะสามารถโดนใจคนฟังได้ถูกกลุ่ม อย่างถ้าเป็นช่องทางยูทูบก็อาจจะได้กลุ่มคนฟังทุกเพศทุกวัยที่สามารถเข้าถึงหรือแชร์เพลงต่อได้ ถ้าเป็นแอพพลิเคชั่น เช่น จูกซ์ (Joox) ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นกลางๆ ที่ชอบฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น ซึ่งทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ

 

อุกฤษพงศ์ คงธนธรรม หนุ่มหล่อผู้รักเสียงเพลง

ถามว่าที่เราเปิดค่ายเพลงขึ้นมา มันได้ผลตอบแทนคุ้มค่ามั้ย ผมก็ขอตอบว่า เหตุผลแรกที่พวกเราตัดสินใจร่วมกันทำค่ายเพลงอินดี้ เพราะเกิดจากความรักความชอบของแต่ละคนที่ล้วนหลงใหลในเสียงดนตรี เราจึงอยากทำผลงานใหม่ๆ ออกมาสู่คนฟัง หรืออยากจะเห็นศิลปินที่เป็นเพื่อนๆ ของเราได้มีผลงานใหม่ๆ ออกมานำเสนอแฟนเพลง ซึ่งเราก็พร้อมที่จะสนับสนุนพวกเขาเต็มที่

ในระยะยาวเราได้มองไปที่การรับงานโชว์ตามอีเวนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานจ้างโชว์หรืองานอะไรก็ตาม เราจึงไม่ได้ไปกำหนดกรอบไว้ว่า เพลงแบบนี้ไม่น่าจะมีคนฟังเยอะ หรือเพลงแบบนี้ไม่น่าจะทำรายได้ให้ค่ายสักเท่าไร สิ่งสำคัญคือเราอยากนำเสนอผลงานใหม่ๆ ให้แฟนเพลงได้รู้จัก และค่อยๆ ก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคต เท่านี้ก็ถือว่าโอเคแล้วครับ”

อุ้ยทิ้งท้ายว่า หลังจากเปิดค่ายเพลงมาสองปีกว่าๆ ก็ได้ปล่อยเพลงมาเกือบสิบเพลงแล้ว ล่าสุดทางค่ายก็มีงานใหม่ๆ คือการไปเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมและแต่งเพลงให้กับศิลปินเกาหลีด้วย และอาจจะไปเปิดตลาดในประเทศจีนด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่การโกอินเตอร์นี้จะเป็นในรูปแบบของโปรเจกต์ซะมากกว่า

“อย่างที่บอกนอกจากตลาดในเมืองไทยแล้ว เรายังมองตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ไว้ด้วย คือเราให้ความสำคัญกับโปรดักชั่นมาก เราเคยบินไปดูงานที่เกาหลี กลับมาวางแผนร่วมกันว่าเราต้องทำให้ได้คุณภาพดีใกล้เคียงงานของเขา เรียกว่าทำให้ได้มาตรฐานระดับเอเชียเลยครับ

ผมและเพื่อนๆ ที่เป็นหุ้นส่วนก็คาดหวังกันไว้ว่า เราอยากจะทำให้ ‘ไฟว์ โฟร์ เรคคอร์ด’ เป็นค่ายเพลงอินดี้ที่ติดอันดับท็อปเทนหรือท็อปไฟว์ของเมืองไทยให้ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ค่ายเพลงอินดี้ในเมืองไทยมีอยู่นับร้อย ผมว่าตอนนี้ค่ายเราเดินทางมาได้ครึ่งทางของจุดมุ่งหมายที่เราหวังไว้แล้วครับ

ในอนาคตเราก็จะยังคงเสนอความหลากหลายของบทเพลงต่อไปอีกเรื่อยๆ ทั้งศิลปินเดี่ยวและศิลปินวง รวมทั้งไปทำงานให้กลุ่มลูกค้าที่ต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในประเทศจีนที่คนของเขาจะชอบฟังเพลงไทยมาก จึงถือเป็นตลาดอีกกลุ่มที่ใหญ่มากเช่นกัน ผมว่าถ้าเรารักและมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เวลาเราลงมือทำเราก็ต้องตั้งใจทำให้เต็มที่ แล้วผลงานที่ออกมาก็จะดีและมีคนเห็นคุณค่าแน่นอนครับ”