posttoday

พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ เห็นจังหวะให้ทะลุถึงโอกาส

30 มกราคม 2561

สาวสวยนักธุรกิจมากความสามารถ ผู้เอาชนะตัวเองด้วยโจทย์และเป้าหมายในแต่ละจังหวะของชีวิต กว่าจะมาถึงวันนี้

 

สาวสวยนักธุรกิจมากความสามารถ พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม เอาท์เลต ผู้เอาชนะตัวเองด้วยโจทย์และเป้าหมายในแต่ละจังหวะของชีวิต กว่าจะมาถึงวันนี้ สาวสวยผู้มุ่งมั่น ปลดล็อกในแต่ละจังหวะและโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างไร

พิมพ์ฐดาเป็นคนกรุงเทพฯ เด็กๆ เรียนเซนต์หลุยส์ ต่อมาย้ายบ้านไปอยู่ฝั่งธนบุรี จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนบางมดใกล้บ้าน มีปัญหาปรับตัวอยู่หลายพัก ต้องกลับบ้านเป็นคนสุดท้ายของโรงเรียนทุกวัน ก็เพราะพ่อแม่ทำธุรกิจ กว่าจะมารับลูกสาวได้ก็เย็นย่ำค่ำมืด

“ยืนเกาะประตูรั้วโรงเรียนร้องไห้ ขณะที่น้องสาวซึ่งห่างกัน 5 ปี น้องสาวไม่สะทกสะท้านเลย คอยปลอบโยนเราซึ่งเป็นพี่สาว” พิมพ์ฐดาเล่า

สมัยเป็นเด็กพิมพ์ฐดาสุภาพเรียบร้อยมาก เป็นเด็กมารยาทดีของคุณครู เธอเก็บงำเสียงทุกชนิด ถ้าไม่จำเป็นจะไม่พูดหรือเอ่ยปากแม้แต่คำหนึ่ง แม้จะไม่ลงรอยนักกับเพื่อนใหม่ในโรงเรียน ด้วยโลกและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน พลอยทำให้ความเข้าใจกับเพื่อนฝูงเป็นเรื่องยาก พิมพ์ฐดายิ้มรับชะตา ช่วงม.ต้นเธอมีเพื่อนสนิทเพียง 3 คน

 

พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ เห็นจังหวะให้ทะลุถึงโอกาส

 

“อย่างไรก็ตาม ม.1-ม.3 ก็จบไปได้ด้วยดี ไปเรียนต่อพาณิชย์เพราะชอบยูนิฟอร์มของโรงเรียนใหม่ เสื้อสีขาว กระโปรงสีฟ้ายาว มีเนกไทสีฟ้าเข้าชุดกัน”

เรียนพาณิชย์เพราะชอบชุดยูนิฟอร์ม แต่ไม่ชอบตัวเลข ขนาดว่าใช้เครื่องคิดเลขก็ยังจิ้มผิดผิดถูก พิมพ์ฐดาเรียนบัญชีไทย/อังกฤษ มุ่งมั่นกับการเรียนแม้จะมั่นใจว่าตัวเองไม่ใช่เด็กเรียน แค่ว่าถ้ามีโจทย์อะไรผ่านเข้ามาในชีวิต ก็ขอทดลองทำโจทย์นั้นๆ ให้ถึงที่สุดเพื่อวัดตัวเองว่าไปถึงที่สุดได้แค่ไหน

“มีคนทักว่าเราเป็นพวกสมบูรณ์แบบหรือเพอร์เฟคชันนิสต์หรือ แต่ไม่ใช่หรอก ฉันก็แค่ทำในสิ่งที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ฉันก็จะตอบตัวเองว่า ทำไม่ได้” พิมพ์ฐดาเล่า

ถ้าทำไม่ได้ก็ตั้งสติ แก้ปัญหาแล้วไปต่อ แก้ไปทีละจุดๆ ไม่ยอมแพ้ สำคัญที่สติ ถ้าตั้งมั่นได้แล้วไม่หวั่นเกรงอุปสรรคปัญหา พิมพ์ฐดาเล่าว่า เธออาจไม่ใช่นักวางแผนระยะยาว แต่ถ้าได้ตั้งเป้าหมายแล้ว จะพยายามทำให้ได้

“ชีวิตเงียบๆ ของคนเงียบๆ ที่มีความสุขกับความสำเร็จของการเดินไปให้ถึงเป้าหมาย ก็ไม่เลวนักหรอก” พิมพ์ฐดาเล่า

ชีวิตคาดหมายอะไรบ้าง เมื่อเรียนจบเธอแค่หวังจะได้ทำงานในสถานที่ที่ถูกส่งตัวไปฝึกงาน ซึ่งเป็นเอเยนซีเฮาส์ในเครือสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง คิดในใจว่า “ฉันจะกลับมาทำงานที่นี่ก็แล้วกัน” สิ่งที่เธอพูดกับตัวเองทำให้รู้ว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้าต้องการอะไรขอให้มีความกล้า และเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น สุดท้ายจะได้สิ่งที่ต้องการนั้น

“ไม่คิดว่าจะมีโอกาสทำงานที่ตั้งใจ เพราะที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องไม่รับคนนอก แต่เพราะเรากล้าที่จะเดินตามฝัน โชคดีว่าเป็นจังหวะเดียวกับที่บริษัทแห่งนี้ต้องการสะสางระบบการทำงานเก่าๆ เขาจึงรับสมัครเด็กรุ่นใหม่ เราเป็นคนแรกๆ ที่เขารับเข้าทีม”

เจ้านายคนแรก พิมพ์ฐดาเล่าว่าคือผู้มีพระคุณ ที่ “เซ็ตซีโร่” ให้ทั้งรากฐานความคิด วิธีคิดวิธีทำงาน ให้ความกล้าหาญและความมั่นใจในตัวเอง สิ่งนี้สำคัญเพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำได้เพราะกล้าที่จะทำ อย่างไรก็ตาม เธอทำงานอยู่ที่นี่เพียง 3 ปีเท่านั้น

พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ เห็นจังหวะให้ทะลุถึงโอกาส

 

“วันหนึ่งดูทีวีแล้วได้เห็นงานแต่งงานที่สวยที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกงานหนึ่ง คืองานแต่งงานของราชวงศ์ดูไบแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประทับใจและเกิดเป็นแรงบันดาลใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำงานที่ทั้งได้ดูพลุ ดูโชว์ ไปเมืองนอก และเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์”

พิมพ์ฐดาลาออกเพื่อสมัครงานที่บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ บริษัทจัดงานอีเวนต์อันดับที่ 7 ของโลก และอันดับที่ 1 ของไทย ขณะนั้นคือตำแหน่งอีเวนต์ออกาไนเซอร์ ได้ทำงานสารพัดอย่างที่ใจหมาย สาวสวยมองทุกอย่างคือโอกาส ตำแหน่งที่ได้มาคือเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ สิ่งที่ทำมีตั้งแต่โครงการบางกอกเอ็กซ์ตร้า กรุงเทพเมืองแฟชัน และโครงการท่องเที่ยวระดับประเทศอีกมากมาย

“เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำอะไร ทำให้ดีที่สุด”การได้ทำงานประสานงานร่วมกับครีเอทีฟและหน่วยงานราชการต่างๆ ถือเป็นประสบการณ์ทรงคุณค่า ทำงานที่อินเด็กซ์ 4 ปีเต็ม จึงอยากเปลี่ยนบทบาทจากออกาไนเซอร์ผู้คิดหาคำตอบให้กับลูกค้า ก็อยากเป็นลูกค้าผู้ตั้งโจทย์บ้าง

พิมพ์ฐดาไม่รีรอ เธอลาออกอีกครั้งและเข้าทำงานในเครือซีพี ขายบัตรไทยสมาร์ทการ์ด มีหน้าที่จัดโปรโมชั่นและมาร์เก็ตติ้ง (Consumer Product) เพื่อขายบัตรที่ชื่อไทยสมาร์ท งานหลักคือการตั้งบูธขายบัตร ต้องทำยอดให้มากพอ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีสิทธิคิดทำอีเวนต์ใดๆ

“ตัวเองเปลี่ยนชีวิตของตัวเอง เพราะฉะนั้นก็หงุดหงิดไม่ได้”

ทำงานกับซีพีเพียง 1 ปีครึ่ง ก็ย้อนกลับมาทำงานกับอินเด็กซ์อีกครั้ง คราวนี้เป็นงานด้านเพอร์ซันนอล แบรนด์ดิ้ง (Personal Branding) สร้างมูลค่าเพิ่มบุคคล โจทย์คือ “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค โปรดิวเซอร์ใหญ่ของวงการ พิมพ์ฐดาสนุกกับงานใหม่ เธอทำทอล์กโชว์และคอนเสิร์ตมากมาย รวมทั้งค้นคว้าเรื่องคอสตูมด้วย

วันนี้ในวัย 39 ปี เบื่อเป็นพนักงานกินเงินเดือนแล้ว ความใฝ่ฝันคือการทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เกิดเป็นโปรเจคท์วิ่งตามฝัน(ฮา) เมื่อ 2 ปีก่อนก่อตั้งบริษัท บลูเบอร์รี่ ครีเอชั่น ทำธุรกิจอีเวนต์ ออกาไนเซอร์ คือการนับหนึ่งที่นำพาตัวเองให้รู้จักกับแวดวงสตาร์ทอัพที่เปิดโลกและมุมมองแก่เธอ

“นักธุรกิจรุ่นใหม่ทำธุรกิจออนไลน์ ทำให้เห็นช่องทาง ได้รู้ว่าคนขายของออนไลน์เนี่ย เขาไม่มีที่จะเก็บของเป็นพันกล่องหมื่นกล่องหรอกนะ ถ้าวันหนึ่งเขาจะต้องส่งผ้าอ้อมเด็กให้ได้หมื่นแพ็ก ก็วันนั้นที่คอนโดห้องเล็กๆ ของเขาจะไม่มีที่นอน”

พิมพ์ฐดาเล่าว่า นี่คือโอกาสในการทำสิ่งที่เรียกว่า อี-ฟูล ฟิลเมนต์ (E-full fillment) ให้กับผู้ค้าสินค้าออนไลน์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีควาพร้อมเรื่องโกดัง ไม่มีความพร้อมเรื่องที่เก็บสินค้า ไม่มีช่องทางกระจายสินค้า คนพวกนี้ต้องการคลังสินค้าและบริการโลจิสติกส์อย่างด่วนที่สุด

พิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ เห็นจังหวะให้ทะลุถึงโอกาส

 

ในเดือน มิ.ย. 2558 พิมพ์ฐดาตัดสินใจทำธุรกิจแนวใหม่เต็มตัว ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรสำหรับกลุ่มแชตคอมเมิร์ซ (Chat Commerce) ประกอบด้วย ร้านค้าขายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและไลน์ ปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์ใช้บริการกว่า 300 ราย โกดังตั้งอยู่ย่านธนบุรี และพระราม 3

“เพียง 7 เดือนแรก ธุรกิจเติบโตถึง 400% สะท้อนธุรกิจออนไลน์ไทยที่เติบโตสูง สยามเอาต์เลตในอนาคต จะเป็นสต๊อกออนไลน์เรียลไทม์ที่ดีที่สุด”

จุดเด่นคือการพัฒนาพนักงานและระบบการทำงานที่ผสานกับเทคโนโลยี สร้างระบบซอฟต์แวร์เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและลดความผิดพลาดในทุกขั้นตอน ปัจจุบันลูกค้าหลัก 90% เป็นร้านค้าออนไลน์ หากปีนี้มีแผนปรับเพิ่มกลุ่มคอร์ปอเรทแบรนด์จาก 10% เป็น 20% และมีแผนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ภายในปี 2565

ด้านชีวิตส่วนตัว ชอบปฏิบัติธรรม ชอบทำอาหาร ชอบกินและชอบทำคือ บานานอฟฟี่ กับทดลองตำน้ำพริกทุกประเภท (ฮา) ปีหน้ามีแผนแต่งงานกับชายหนุ่มที่รู้จักกันเมื่อนานมาแล้ว สมัยเมื่อพิมพ์ฐดายังวิ่งขายบัตรไทยสมาร์ทการ์ดอยู่ริมฟุตบาธแถวๆ สีลม (“ใบละร้อยจ้ะ”) ว่าที่เจ้าบ่าวยังคงเก็บสมาร์ทการ์ดใบนั้นอยู่เลย

สุดท้ายเมื่อถามว่าชีวิตและการทำงานสอนอะไร ชีวิตและการทำงานของพิมพ์ฐดาสอนพิมพ์ฐดาว่า บางทีก็แค่ไม่ต้องกลัว บางทีก็แค่มั่นใจว่าเราต้องการอะไรแล้วแน่วแน่ไว้ เมื่อ “อะไรก็ตามนั้น” มาถึง ก็คว้าให้มั่น เห็นจังหวะและมองทะลุให้ถึงโอกาส...ง่ายๆ อย่างนั้น 

 

เอื้อเฟื้อสถานที่ : อาร์ติซาน คาเฟ (Artisan Cafe) นาคนิวาส ถนนเลียบด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์