posttoday

จันทิมา เลียวศิริกุล สนทนาท่ามกลางความหยุดนิ่งของหนังไทย

29 มกราคม 2561

หญิงเก่งแห่งวงการภาพยนตร์ไทย จันทิมา เลียวศิริกุล

 

หญิงเก่งแห่งวงการภาพยนตร์ไทย จันทิมา เลียวศิริกุล กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารงานสร้าง บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ ไนน์ กำลังอยู่ในภาวะท้าทายของสถานการณ์ความบันเทิงไทยที่แทบจะไม่ไหวติง แต่ระหว่างนี้เธอกลับกำลังทำบางสิ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง

เท้าความกลับไปก่อนรับหน้าที่เป็นผู้บริหารเอ็ม เทอร์ตี้ ไนน์ หรือ เอ็ม 39 เธอเคยเป็นหนึ่งในผู้บริหารค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ย่านลาดพร้าว ซึ่งคลุกคลีอยู่กับเพลงมานับ 10 ปี จนมองเห็นบางอย่างที่ทำให้เกิดความสนใจอยากลองทำภาพยนตร์ จึงได้เริ่มทำหนังในค่ายเพลงนั้น กระทั่งถึงปี 2552 จันทิมามองว่าธุรกิจหนังอยู่ในช่วงต่อสู้และเป็นรอบขาลง เธอจึงตัดสินใจลาออกมารวมตัวกับเพื่อนผู้กำกับและก่อตั้ง เอ็ม 39 โดยปัจจุบันนโยบายของบริษัทคือ การวางภาพรวมของทิศทางการตลาดและตัวหนัง รวมถึงบริหารการลงทุน ภายใต้ร่มการลงทุนของบริษัท เอ็มพิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ 

“เรายังเชื่อในเรื่องของภาพยนตร์อยู่ คือภาพยนตร์จะเป็นอุตสาหกรรมได้ก็ต่อเมื่อเรามีผู้ผลิตที่เข้าใจทิศทางที่ตัวเองจะทำเยอะๆ เพราะหนึ่งคนน่าจะบริหารหนังได้ 2 เรื่องต่อปีฉาย ฉะนั้นต่อปีจะบริหารหนังได้ 2-3 เรื่อง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ผู้กำกับที่เข้าใจทิศทางถึงจะเกิดอุตสาหกรรมนี้ได้

สิ่งที่พยายามทำตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันคือ เราไม่ได้มองว่าธุรกิจหนังจะแข่งขันกันในเชิงค่าย เพราะเราเคยอยู่ค่ายเพลงมาก่อน ซึ่งการแข่งขันเชิงค่ายทำให้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายด้านมาร์เก็ตติ้งสูง แต่เรามองเป็นเชิงความถนัด ลายมือใครลายมือมันว่าใครจะสามารถทำสินค้าที่เข้ากับตลาดได้หรือเปล่า และใครสามารถทำภาพยนตร์ที่มีความเป็นสากลได้หรือเปล่า หนังเรื่องนั้นก็จะมีแนวโน้มที่ดี” จันทิมา กล่าว

หลายคนมีคำถามว่า เอ็ม 39 เน้นผลิตหนังตลกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาภาพยนตร์สร้างชื่อส่วนใหญ่เป็นหนังคอมเมดี้ ทั้งสุดเขตสเลดเป็ด สาระแนโอเซกไก คุณนายโฮ และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมากับ สลัมบอย ซอยตื๊ด

เธออธิบายว่า บริษัทไม่ได้เน้นสร้างหนังแนวไหนแนวหนึ่งถึงโดนใจ แต่เน้นว่าผู้กำกับคนนั้นคมเรื่องอะไรแล้วจึงทำ อย่าง ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ คมเรื่องคอมเมดี้โชว์จึงเกิดเรื่อง 32 ธันวา หรือ เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล คมเรื่องสตอรี่ไลน์จึงเกิดเรื่อง เราสองสามคน

“เราไม่สามารถควบคุมใครให้มีรสนิยมตามโจทย์ที่ทุกคนบอกว่าตลาดต้องการได้ แต่แท้จริงแล้ว หนังเป็นเรื่องที่ว่าด้วยตลาดของคนผลิตและคนกำกับ คนมักจะมองว่าเราทำแต่หนังตลาด แต่เราคิดว่า ความเป็นหนังตลาด หัวใจมันอยู่ที่คนทำเป็นคนเข้าใจคนอื่น มันเลยออกมาเป็นหนังตลาด

เราพยายามที่จะละลายพฤติกรรมความคิดในเรื่องมุมมองที่มองว่า เราเป็นคอมเมอร์เชียล ใช่ เราเป็น เพราะเราดันมีความรู้สึกเข้าใจคนอื่น นอกจากนี้ การทำหนังแต่ละเรื่องมีความเสี่ยงถ้ามองในมุมของคำว่า ตลาด มองในมุมว่าฉันจะต้องทำเงินเท่านั้นเท่านี้ มันคือความเสี่ยง แต่ถ้ามองในมุมของคำว่า คุณกำลังทำผลงานที่คุณชื่นชอบที่สุด จะไม่มีคำว่าเสี่ยงเลย เพราะมันจะมีคนได้สักหนึ่งคนเสมอ และเราเองก็ศรัทธาคนที่มีผลงานที่ชัดเจนในการเป็นตัวตนของตัวเอง” เธอกล่าวเพิ่มเติม

จันทิมาอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานกว่า 20 ปี ทุ่มเทให้กับบริษัทนี้มานานถึง 9 ปี ซึ่งนานพอที่จะทำให้เธอเห็นการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารหญิงเปิดเผยว่า 3 ปีแรกบริษัทมีรายได้ดีและผู้คนก็ให้ความนิยมมาก แต่แทนที่จะเฉลิมฉลอง เธอกลับเรียกประชุมใหญ่เพื่อมองไปถึงอนาคต

“เรารู้ตัวล่วงหน้าอยู่แล้วว่าต่อไปต้องซบเซา ถ้าไม่อย่างนั้นเราคงไม่เตรียมตัว คงไม่คิดที่จะทำหนังแปลกแผลงขึ้นมาอย่างเรื่องมันเปลี่ยวมาก หรือโจหัวแตงโม หากหนังเรื่องไหนมันเกินคนดูไปเราก็หยุดเพื่อหาทางใหม่ ภายใต้ลายเซ็นที่คนดูยังชื่นชอบในความเป็นผู้กำกับ

เวลาหนังมันขึ้น มันขึ้นเพราะความสดใหม่ ความกระดี๊กระด๊าของผู้กำกับ ของคนทำ และของนักแสดงที่มารวมตัวกันอย่างเหมาะสม แต่พอมันลงมันจะลงเพราะความล้า ทั้งความล้าจากการคิดอะไรซ้ำซากอยู่ที่เดิม และความล้าจากการทะเลาะกันทางความคิด หนังไม่ใช่เรื่องของความถูกต้องหรือผิด คุณไม่ชอบอย่าด่า เพราะหนังสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนที่ชอบได้ดู”

เธออธิบายต่อว่า ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องประกอบด้วยคน 4 คน คือ คนลงเงิน คนที่ควบคุมมัน (โปรดิวเซอร์) คนที่สร้างมันขึ้นมา (ผู้กำกับ) และคนที่มาแสดงมัน (นักแสดง) โดยขั้นตอนของการทำหนังเหมือนคนที่ค่อยๆ รู้จักกัน ค่อยๆ จีบกัน “มันเป็นเรื่องของมนุษย์จริงๆ” เธอกล่าวเช่นนั้น

“เริ่มต้นจากการมาดูตัวหรือขายไอเดียกับนายทุน เมื่อคลิกกันก็ลองคบหากันดู ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็จบ แต่ถ้าเข้ากันได้ก็แต่งงานกัน จากนั้นก็จะมีค่าสินสอดหรืองบประมาณ ครองชีวิตคู่ไปด้วยกันจนกระทั่งมีลูกเป็นภาพยนตร์หนึ่งเรื่องที่เกิดจากความรัก และช่วยกันเลี้ยงดูลูกของเราให้โตขึ้นมาอย่างแข็งแรง”

 

จันทิมา เลียวศิริกุล สนทนาท่ามกลางความหยุดนิ่งของหนังไทย

 

ถามต่อว่า เวลานี้ถึงช่วงขาลงของหนังไทยแล้วหรือไม่ จันทิมาตอบไว้น่าสนใจว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนถ่าย ยุคของการเริ่มต้นใหม่ และยุคของการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เธอจึงต้องหยุด มอง และพักให้หายล้า แต่ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ให้ได้และแข็งแรงพอ

“ตลาดหนังไทยกำลังแย่ เพราะเรากำลังเปลี่ยนถ่ายเหมือนแฟชั่น พอถึงวันที่มีคนชอบน้อยลง เราก็ต้องยอมรับสภาพ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้เสียใจ ไม่ได้ตกต่ำ แต่คือการยอมรับ และอย่าฝืน เพราะถ้ายังฝืนทำต่อทั้งที่มีคนชอบความเป็นตัวเราน้อยลงจะมีแต่พากันซวย แต่ก็ใช่ว่าคุณจะร่วงอยู่ตลอดเวลา เราแค่เชื่อคำว่า ล้า เพราะการทำงานมันใช้พลังจิตสูงมาก ใช้พลังงานสูงมาก ดังนั้นเราคิดว่าบางครั้งบริษัทหนังต้องเป็นบริษัทที่ยิปซีหน่อยๆ คือ เปิดปิดได้ อย่ายื้อให้มันล้า และอาชีพคนทำหนังเป็นอาชีพที่อย่ายึดเก้าอี้”

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ดูเหมือนว่ากระแสหนังไทยอินดี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งในทัศนะของจันทิมามองว่า “มีทั้งข้อดีและไม่ดีในย่อหน้าเดียวกัน” ข้อดีคือ ทำให้มีคนผลิตหลากหลายขึ้น และมีความเป็นตัวของตัวเองได้ยิบย่อยมากขึ้น แต่ข้อเสียคือ ทำให้เกิดความ “งง” ในการลงทุน

“จากเมื่อก่อนคนลงทุนรู้ชัดว่าต้องลงทุนกับอะไร กับช่องทางไหน แต่ปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางให้เลือก ซึ่งบางครั้งอาจเยอะเกินไปจนไม่รู้ว่าแบบไหนดี จนทำให้นักลงทุนล้า นักการตลาดก็ล้า และสุดท้ายผลลัพธ์มันจะน่ากลัวมาก เราเคยอยู่ในวงการเพลง เคยอยู่ในภาวะแบบนี้มาก่อน แต่เรายังเห็นว่าวงการหนังมันยังมีอนาคต มันยังมีแพลตฟอร์มที่ดี และในวงจรของความบันเทิง หนังยังอยู่บนห่วงโซ่บนสุด แต่ทุกอย่างต้องเปลี่ยนใหม่หมด ทั้งวิธีคิดเรื่องการลงทุน วิธีคิดเรื่องโปรเจกต์ เรียกได้ว่าต้องหาสูตรใหม่ จะมาเล่นสูตรเดิมในยุคนี้ไม่ได้แล้ว”

ทัศนะของเธอจึงเปลี่ยนการมองตลาดจากแบบเดิมมาเป็นแบบ “โลเกชั่น” ยกตัวอย่างว่าคนกรุงเทพฯ ชอบอะไร คนต่างจังหวัดชอบอะไร คนในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ชอบอะไร เป็นการเปลี่ยนจากอายุ ไปมองวัฒนธรรม นิสัย และพฤติกรรมของคนแต่ละพื้นที่

“ปีนี้เราจะมีหนัง 6-8 เรื่อง ซัดกันไปเลยว่าจะไปทางไหนเพราะมีครบทุกแนว ค้นหาให้เจอว่าเราจะคบหาและรักคนไหน” ปัจจุบันเอ็ม 39 มีผลงานจำนวน 27 เรื่อง “โดยกลยุทธ์ของปีนี้แตกต่างจากปี 2552 ตอนนั้นเรามองที่สินค้า แต่ชั่วโมงนี้เรามองภาพยนตร์เป็นมนุษย์ คนนี้หน้าตาแบบนี้หรือหนังลักษณะนี้เราควรนำไปอยู่โลเกชั่นไหน ซึ่งเรามองตั้งแต่เดือนที่จะฉาย พื้นที่ อุณหภูมิ เศรษฐศาสตร์ เพราะแต่ละเดือนพฤติกรรมของผู้บริโภคจะมีความซ้ำเดิมไม่รู้ตัว และหวังว่าปีนี้เราจะพบคนที่น่าคบหาจริงๆ จากนั้นปี 2562 เราเชื่อว่าวงการหนังไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง”

เบื้องหลังจอเงินไม่มีเพียงความบันเทิงเหมือนเบื้องหน้า แต่อบอวลไปด้วยความเครียดและความกดดัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่วงการหนังไทยกำลังนิ่งจนแทบหยุดชะงัก จึงได้แต่เพียงหวังว่าคนทำหนังจะยังไม่หมดกำลังใจ และคนไทยยังไม่หมดใจในการเสพความบันเทิงสัญชาติไทย เพื่อให้วงการภาพยนตร์บ้านเราไปต่อได้ถึงสากล