posttoday

ศรายุธ อัสสมกร เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาโรคพันธุกรรม

27 มกราคม 2561

ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2550

โดย ภาดนุ  ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

 ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 มี ศรายุธ อัสสมกร กรรมการผู้จัดการ และบอร์ด ออฟ ไดเรกเตอร์ ศูนย์ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที. (Superior A.R.T Group) เขาเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล อีกทั้งยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่พ่อแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยทั้งหาทางป้องกันและรักษาเท่าที่สามารถทำได้อย่างเต็มที่

 “ที่นี่คือศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน สำหรับช่วยเหลือพ่อแม่ยุคนี้ที่มีปัญหาเรื่องมีลูกยาก รวมทั้งเป็นศูนย์คัดกรองโรคพันธุกรรมต่างๆ กว่า 100 โรค อาทิ โรคธาลัสซีเมีย และเอสเอ็มเอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยยีนหรือโครโมโซม

 ยุคนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยโรคพันธุกรรมเหล่านี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโครโมโซมผิดปกติ เช่น กลุ่มคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วแท้งซ้ำซากซึ่งมีอยู่เยอะมาก โดยเราสามารถคัดกรองโครโมโซมในตัวอ่อนที่ปกติหรือผิดปกติได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ทั้งหลายสามารถตั้งครรภ์ และมีลูกที่ปราศจากความเสี่ยงจากโรคที่มีความผิดปกติจากโครโมโซมได้

 อีกกลุ่มเกิดจากยีนผิดปกติ โรคที่คนไทยรู้จักดีก็คือ ธาลัสซีเมีย (โรคโลหิตจาง) ซึ่งกลุ่มที่เป็นโรคนี้เกิดจากภาวะยีนผิดปกติ ถ้าพ่อแม่เป็นพาหะของโรค ลูกๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้หรือเป็นพาหะให้กับบุตรหลานในรุ่นต่อไปได้ ดังนั้นจึงต้องมีการคัดกรองเพื่อป้องกันโรคนี้ก่อนที่จะตั้งครรภ์

 เพราะเมื่อคัดกรองจนได้ตัวอ่อน (Embryo) ที่สมบูรณ์เป็นปกติแล้ว เด็กที่เกิดมาก็จะปราศจากโรค แล้วสมาชิกรุ่นต่อไปของครอบครัวนี้ก็จะไม่ถ่ายทอดโรคนี้ไปสู่รุ่นหลานด้วย เรียกว่าเราตรวจลึกไปถึงระดับโครโมโซมและยีนกันเลยละ”

 ศรายุธ บอกว่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียแล้ว ไม่สามารถทำอะไรได้มาก คงต้องรักษาไปตามอาการ แต่สิ่งที่ทำได้ดีก็คือ การป้องกันไม่ให้คนในเจเนอเรชั่นต่อไปเป็นโรคนี้ เพราะอยากให้ทุกครอบครัวมีลูกที่ปราศจากโรคทางพันธุกรรมซึ่งมีเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี

 “ตลอดระยะเวลา 10 ปี เราได้ช่วยเหลือผู้ที่มาปรึกษาหรือผู้ที่มีปัญหามาหลายเคสมากเลยครับ นอกจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เรามีแล้ว จุดประสงค์สำคัญก็คือต้องการเป็นฮับ (Hub) ในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นจะก้าวไกลกว่าแบบเดิมๆ ที่เคยมี จึงสามารถช่วยผู้คนได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญยังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอีกด้วย

 ช่วงที่ผมเริ่มเข้ามาเป็นผู้บริหาร ก็มีการคิดบิซิเนส โมเดล กันว่าเราจะทำให้ศูนย์นี้เป็นฮับของเอเชียได้อย่างไรบ้าง จากนั้นเราก็เดินตามโรดแมปนั้นมาตลอด ซึ่งจุดประสงค์หลักก็คือต้องการให้คนมีลูกที่ปราศจากโรคทางพันธุกรรม จากนั้นเราก็เริ่มขยายงานไปสู่ระดับภูมิภาค และมีเคสที่ประสบความสำเร็จให้เห็น พูดง่ายๆ ว่าเราพัฒนาทั้งด้านธุรกิจและวิชาการควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา

ศรายุธ อัสสมกร เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาโรคพันธุกรรม

 ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดก็คือ ศูนย์คัดกรองพันธุกรรมและตัวอ่อนในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทย ตอนนี้ยังไม่มีเลยนะ อาจจะมีแค่บางศูนย์ที่คัดกรองระดับโครโมโซมได้ แต่ถ้าลงลึกถึงการตรวจในระดับยีนจะมีแค่ในโรงเรียนแพทย์เท่านั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนไข้ที่มาตรวจ 1 คนนั้น ตรวจได้ทั้งโครโมโซมและยีนไปพร้อมกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น แต่เราสามารถคัดกรองได้ทั้งสองอย่าง จึงพูดได้ว่าเราเป็นแห่งเดียวในภูมิภาคนี้เลยก็ว่าได้”

 ศรายุธ เสริมว่า ปัจจุบันลูกค้าจะเป็นคนในประเทศแถบอาเซียนถึง 80% โดยหลักๆ แล้วจะรับเป็นที่ปรึกษาทั้งเรื่องทีมแพทย์และการบริหารโรงพยาบาลในต่างประเทศ อีกทั้งยังมีเครือข่ายในระดับภูมิภาคหลากหลายประเทศ ทั้ง จีน เวียดนาม บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย เมียนมา ไว้คอยให้คำปรึกษาและบริการด้วย

 “ต้องบอกก่อนว่า เทคโนโลยี อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบริหารงานเท่านั้น ทุกที่สามารถหาซื้อมาได้หมด แต่สิ่งที่หาซื้อไม่ได้ก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ฉะนั้นในการบริหารงาน ผมจึงให้ความสำคัญในเรื่องบุคลากรมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ประจำแล็บ หรือแม้แต่ทีมซัพพอร์ตเราก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

 รวมทั้งให้งบประมาณในการอบรมแก่พนักงานค่อนข้างเยอะ โดยมีการส่งบุคลากรไปอบรมในต่างประเทศ ในทุกๆ ทวีป ที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ของบุคลากรในทุกๆ ปี ที่สำคัญบุคลากรต้องมีผลงานตีพิมพ์ทางด้านวิชาการเพื่อแสดงถึงศักยภาพของตัวเอง ทีมงาน และองค์กร ในเวทีต่างประเทศด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน

 แนวทางในการบริหารงานของผมก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการทำงานแบบพี่แบบน้อง ซึ่งการทำงานมันจะมีระดับการบังคับบัญชาของมันอยู่แล้ว แต่เราจะเน้นการระดมสมองหรือเบรน สตรอม และแชร์ความคิดต่อกัน เพราะผมเองก็ไม่ได้รอบรู้ในทุกๆ เรื่อง ดังนั้นเราต้องให้เกียรติบุคลากรทุกหน้าที่ เพราะคือองค์ประกอบโดยรวมขององค์กร

 ในแต่ละปีเราก็จะมีการประชุมกันว่า ปีต่อไปจะดำเนินงานกันแบบไหน ทีมเวิร์กคือสิ่งสำคัญ การแชร์องค์ความรู้ก็สำคัญ ดังนั้นเมื่อเราครีเอทอะไรใหม่ๆ หรือมีปัญหาอะไรขึ้นมา ก็จะสามารถมาแชร์กันเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้”

 ผู้บริหารกล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกค้าของศูนย์ฯ จะเป็นวัยทำงานอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป โดยมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยากมีลูก แต่มีไม่ได้ และกลุ่มที่สอง คือ คนที่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม ก็จะรู้จักที่นี่เป็นอย่างดี โดย 80% จะมาจากแทบทุกประเทศในแถบอาเซียน และอีก 20% จะเป็นคนไทย

 “แม้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการจะเป็นชาวต่างชาติ แต่เราก็มีโครงการช่วยเหลือสังคมไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนที่ผมเข้ามาทำงานใหม่ๆ แล้ว ผมจึงสานต่องานมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่เราอยากช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหา เมื่อเราไปเจอลูกค้าสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เดินทางมาจากภาคใต้ของไทย แล้วมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งแพทย์ที่รักษาลูกเขาก็แนะนำให้มาที่นี่

 เมื่อเราได้เจอกันและมีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับเขา จึงรู้ว่าทั้งสองเป็นชาวบ้านธรรมดาที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ ฐานะไม่ได้ร่ำรวย คือเงินทั้งหมดที่มีพวกเขาก็นำมาหาทางรักษาลูกที่เป็นธาลัสซีเมีย ซึ่งวิธีที่จะรักษาธาลัสซีเมียได้นั้น คือการที่ต้องมีสเตมเซลล์ที่มีเนื้อเยื่อที่ตรงกัน เพื่อนำไปปลูกถ่าย โดยสามารถหาได้จาก 2 วิธี คือ 1.รับบริจาค และ 2.คัดกรองตัวอ่อนที่มีเนื้อเยื่อที่ตรงกันกับผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย

 ถ้าถามว่าโรคธาลัสซีเมียนี้ร้ายแรงไหม ก็ตอบได้เพียงว่าขึ้นอยู่กับระดับที่คนคนนั้นเป็น คือถ้าเป็นก็ถือว่าร้ายแรงแล้วนะ เพราะคุณต้องถ่ายเลือดอยู่ตลอดเวลา แล้วผู้ป่วยมักจะอายุไม่ค่อยยืน โดยจะมีอาการคือ โลหิตจาง เลือดออกง่าย หยุดยาก คุณภาพของเลือดจะไม่ค่อยดี จึงต้องถ่ายเลือดตลอดเวลา

ศรายุธ อัสสมกร เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาโรคพันธุกรรม

 นอกจากมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ค่าใช้จ่ายยังสูงมากด้วย เมื่อผมได้คุยกับครอบครัวนี้ ผมจึงไปปรึกษากับทีมแพทย์และผู้บริหาร แล้วตัดสินใจบอกพวกเขาว่า จะทำการตรวจคัดกรองให้ฟรีทั้งหมด จากเคสดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ตั้งแต่นั้นเราจึงให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยบางเคสที่มีลูกป่วยอยู่หลายปี และเพิ่งจะมาตั้งชื่อโครงการที่เราทำทุกปีนี้ว่า “ท้องปลอดโรค ลูกปลอดภัย” เมื่อปีกว่าๆ นี้เอง แต่ถ้านับตั้งแต่ช่วยผู้ป่วยรายแรก ปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ส่วนใหญ่เราจะช่วยเฉพาะคนไทย หรือคนที่ฐานะไม่ดี น่าเห็นใจ ซึ่งในอนาคตก็ตั้งใจว่าจะทำโครงการนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ”

 ที่ผ่านมา ที่นี่เคยได้รับรางวัล Best SMEs จากหอการค้าไทย-ออสเตรเลีย ศรายุธ ขยายความว่าสมัยที่เริ่มทำศูนย์ฯ นี้ใหม่ๆ ก็ได้รางวัล Best Innovation จากหอการค้าออสเตรเลีย ตามด้วยรางวัล Prime Minister Award จากประเทศไทย

 “สิ่งที่ภาคภูมิใจกว่ารางวัลใดๆ ก็คือเราได้ตีพิมพ์ผลงานวิชาการในต่างประเทศหลายครั้ง และได้ไปพรีเซนต์ในต่างประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐ ซึ่งถือเป็นเวทีระดับโลก จึงนับว่าเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจมากที่สุด หัวข้องานวิจัยที่เราได้ไปพรีเซนต์ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับงานวิจัยในแล็บและเคสของผู้ป่วยต่างๆ

 ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เช่น ปี 2554 เป็นปีที่ทำการคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนที่ปลอดโรคธาลัสซีเมียและมีเซลล์ที่เข้ากันได้ระหว่างพี่และน้อง เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคธาลัสซีเมียสำหรับพี่ที่เป็นโรคให้หายขาดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยได้สำเร็จ

 ต่อมาปี 2556 สามารถแมตช์ยีนส์และรักษาธาลัสซีเมียเคสแรกในเอเชียได้สำเร็จ (รักษาผู้ป่วยชาวไทย) และปี 2557 สามารถคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนปลอดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชนิดที่ 1 หรือ SMA type 1 เป็นเคสแรกของเอเชียที่รักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งถือเป็นโรคอันดับสองรองจากโรคธาลัสซีเมีย ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นต้น”

 ล่าสุด ผู้บริหารหนุ่มได้บินไปรับรางวัล Best Medical Practice จาก European Medical Association หรือสมาพันธ์ทางการแพทย์แห่งยุโรป ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะผู้ให้บริการทางการแพทย์ยอดเยี่ยมมาด้วย

 “พูดง่ายๆ ว่าจุดประสงค์หลักของศูนย์ฯ คือการที่คุณแค่มีลูกได้เท่านั้นมันยังไม่พอ แต่คุณต้องมีลูกได้โดยปราศจากโรคทางพันธุกรรมด้วย ไม่ว่าคุณจะมีบุตรยาก หรือมีความเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคทางพันธุกรรม เราก็จะช่วยป้องกันให้คุณเสร็จสรรพเลย เพราะการมีประชากรหรือบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากพวกเขาจะเป็นกำลังในการช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต”