posttoday

'จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง' ผู้ชี้ทางให้เด็กไทย สุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

13 มกราคม 2561

“บอกเลยว่าเป็นรางวัลที่สูงที่สุดเท่าที่ครูคนหนึ่งจะได้รับ เพราะฉะนั้นทุกคนที่ได้ตรงนี้ทุกคนภูมิใจ เพราะอย่างน้อยในการทำงานของเรามีคนมองเห็น” จิรัฏฐ์ บอกด้วยความปลื้มปีติ

โดย  อดิศร เงสันเทียะ / กันติพิชญ์ ใจบุญ 

 “บอกเลยว่าเป็นรางวัลที่สูงที่สุดเท่าที่ครูคนหนึ่งจะได้รับ เพราะฉะนั้นทุกคนที่ได้ตรงนี้ทุกคนภูมิใจ เพราะอย่างน้อยในการทำงานของเรามีคนมองเห็น” จิรัฏฐ์ บอกด้วยความปลื้มปีติ

 วาจาอันหนักแน่นของ จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูในวัย 60 ปี ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ครูไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2560 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลแก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 ท่าน จาก 11 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน

 จิรัฏฐ์ อำลาอาชีพครูในวัยเกษียณที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี เขาเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บุกเบิกให้มีหลักสูตรการสอนไอซีทีในโรงเรียน เพื่อเปิดโลกกว้างแก่นักเรียนให้เข้าถึงข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่นอกตำราเรียนมาตั้งแต่ปี 2528 และนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญของโลกอนาคตมาร่วมจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนพัฒนานวัตกรรมจนชนะการประกวดทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

'จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง' ผู้ชี้ทางให้เด็กไทย สุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

 จุดเปลี่ยนจากการสอนพลศึกษามาสอนไอซีที เกิดจากการดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ซึ่งได้เห็นการใช้ไอซีทีในชีวิตประจำวันแม้กระทั่งชาวนา จึงมองว่าหากนำไอซีทีมาใช้จัดการเรียนการสอนในประเทศไทยจะกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากขึ้น จึงหันมาพัฒนาความรู้ทางไอซีทีอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดโลกกว้างการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์

 จิรัฏฐ์ เป็นครูผู้ให้โอกาสและมีความรักลูกศิษย์ โดยดึงนักเรียนกลุ่มเสี่ยงให้หันมาสนใจการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ ระเบียบวินัย ความอดทน และการทำงานเป็นทีม เป็นครูผู้ทุ่มเทเวลาและกำลังทรัพย์ส่วนตัวในการส่งเสริมนักเรียนทำกิจกรรมนอกเวลาราชการอย่างสม่ำเสมอ 

 “สิ่งที่ทำให้ผมเป็นครูและอยู่ยาวมาถึงทุกวันนี้คือ ทุนภูมิพล ซึ่งเป็นทุนที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อผูกมัด แต่เป็นทุนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รับทุนเกิดสำนึกที่จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เป็นการใช้หนี้ทุนที่ไม่มีวันสิ้นสุด จึงขอเป็นครูที่ดี ขยันเรียนรู้ นำความรู้ใหม่มาพัฒนาส่งเสริมนักเรียนในทุกด้านจนกว่าจะหมดแรง”

ความยากจนไม่เป็นอุปสรรค 

 จิรัฏฐ์ เล่าย้อนให้ฟังถึงชีวิตวัยเด็กของเขาเริ่มต้นจากการที่มีฐานะยากจน มีปัญหาครอบครัว และใช้ชีวิตแบบค่อนข้างวุ่นวาย เรียกได้ว่าค่ำไหนนอนนั่น ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ส.ก.) แต่แล้วก็ได้ไปอาศัยกินนอนอยู่ที่สำนักดาบพุทไธสวรรย์เสมือนเป็นบ้านของตนเอง จึงทำให้กลายเป็นครูสอนฟันดาบตั้งแต่ตอนสมัยเรียนชั้นมัธยมฯ เพราะว่าเรียนฟันดาบที่นั่นแล้วนำมาสอนเพื่อนๆ จนกลายเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ จึงโดนปลูกฝังความเป็นครูมาตั้งแต่ตอนนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว

 หลังจากสอนอยู่ได้ไม่นาน ในปี 2518 สำนักดาบฯ จึงบรรจุให้เป็นครูด้วยวุฒิ ม.ศ.3 ซึ่งในสมัยนั้นสามารถทำได้ ก่อนจะถูกส่งให้ไปสอนตามโรงเรียนเอกชนต่างๆ ในวิชาพลศึกษาที่เป็นวิชาฟันดาบ จิรัฏฐ์ เล่าต่อว่า เมื่อมีอาชีพแล้ว แน่นอนว่าการทำงานขณะที่ยังเรียนย่อมทำให้เกิดชั่วโมงเรียนไม่พอ แต่โชคดีที่ครูในสมัยนั้นเข้าใจและมอบโอกาสให้เสมอทั้งตอนมัธยมฯ และมหาวิทยาลัย

 “ผมไปทำงาน ขาดเรียนบ่อย จนกระทั่งครูเห็นว่าเราขาดบ่อย เลยต้องไปต่อรองกับครูว่าเราขาดเรียน เพราะว่าเราไปทำงาน ถ้าไม่ให้เราทำงานเราก็ไม่มีปัญญาเรียน ครูก็ยอมแต่มีเงื่อนไขคือ งานต้องส่ง สอบต้องเข้า ครูสมัยก่อนไม่เช็กเวลาถ้าเข้าไม่ถึง 80% ไม่มีสิทธิสอบอะไรทำนองนั้น เราคุยกันได้ ครูสมัยนี้ก็คุยได้ถ้าเด็กไม่เกเร

 โดยส่วนตัวผมไม่ได้เกเร แต่เราขาดเรียนเสมือนเกเรเพราะเราต้องประกอบอาชีพ ครูสมัยนี้ชอบว่ามองเด็กที่ขาดเรียนไปคือไม่เคารพชั่วโมงของเขา แบบนั้นคือไม่ถามเด็ก ผมเคยโดนแบบนั้นตอนสมัยปริญญาตรี ผมโดนรองคณบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเรียกเข้าพบ เพราะขาดเรียนบ่อย ครั้งนั้นถ้าเขาตราหน้าว่าผมขาดเรียนบ่อยแล้วไล่ออก เขาทำได้นะ แต่เขาถามว่าหายไปไหนมา เราก็บอกว่าต้องทำงานหาเงิน ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ยอมก็จบ แต่โชคดีที่เขาเข้าใจ”

 นอกจากนี้ ขณะที่เรียนระดับอุดมศึกษา จิรัฏฐ์ ยังได้ทุนภูมิพลที่ช่วยให้เขาสามารถมาถึงฟากฝั่งได้ เพราะเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัด ไม่มีเงื่อนไข เป็นทุนที่ทำให้คนเกิดความสำนึกแล้วชดใช้เอง จึงเกิดจุดเปลี่ยนอยากเป็นครูมาจนทุกวันนี้

จาก “ครูพละ” สู่ “ครูไอซีที”

'จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง' ผู้ชี้ทางให้เด็กไทย สุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

 จิรัฏฐ์ เริ่มต้นด้วยการเป็นครูสอนพลศึกษา หลังจากจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเข้าสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี

 ต่อมาในปี 2528 มีโอกาสได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเปิดโลกทัศน์ทางด้านเทคโนโลยี จึงตระหนักว่าเด็กไทยจำเป็นต้องรู้เทคโนโลยี จึงอยากให้เกิดคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน

 “ปี 2528 คอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยมีแค่บางที่ แต่ในโรงเรียนมัธยมฯ แทบไม่ต้องหาเลย ประเทศญี่ปุ่นในปี 2528 แม้กระทั่งชาวนายังใช้คอมพิวเตอร์ ใช้อินเทอร์เน็ต โปรแกรมต่างๆ เพื่อคำนวณหาความน่าจะเป็นในการปลูกข้าวในแต่ละปี เก็บไว้เป็นฐานข้อมูล รถไฟฟ้ามีราว 10 สาย ขณะนั้นบ้านเรายังแทบไม่รู้จัก ตอนนั้นเลยมองว่าเด็กไทยต้องรู้เทคโนโลยี ไม่รู้ไม่ได้แล้ว” ครูจิรัฏฐ์ เล่า

 แม้ว่าจะมีคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน แต่ความยากลำบากขณะนั้น คือครูในโรงเรียนไม่มีความรู้ในด้านเทคโนโลยี จิรัฏฐ์ เล่าว่า ตนเองมีความรู้ด้านไอซีทีเป็นศูนย์หรือติดลบเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยภาระหน้าที่และความตั้งใจที่อยากให้เด็กได้รู้จักไอซีทีจึงออกอบรม ค้นคว้าหาความรู้อย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจ

 นอกจากนี้ ยังเข้าไปเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) หรือ AIT เรียนรู้กระบวนการจัดการ เทคโนโลยี รวมถึงวิทยาศาสตร์ แม้จะเป็นครูก็ต้องหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถชี้นำเด็กได้

'จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง' ผู้ชี้ทางให้เด็กไทย สุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

 ครูทุกคนมีกระบวนการคิดและวิธีการสอนที่แตกต่างกัน จิรัฏฐ์เป็นอีกหนึ่งท่านที่มีวิธีการสอนที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมพระบรมราโชวาทที่ว่าวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เพื่อให้มีอาชีพและเป็นคนดี แล้วย้อนมาทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองตามฐานะ ทำให้จิรัฏฐ์ยึดหลักตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

 “ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กของเราไปประกอบอาชีพได้และเป็นคนดีของสังคม ไม่ว่าหลักสูตรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผมก็ใช้กระบวนการนี้ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์จะตั้งไว้อย่างไร เดี๋ยวเราก็จะไปถึงเอง ใช้หลักนี้มาตลอด 30 ปี ผมใช้ 3 ข้อนี้ผนวกกับหัวใจของสิ่งที่กำลังจะทำ

 ถ้าจะสอนอะไรให้นึกถึงหัวใจของสิ่งที่เราจะสอน ถ้าเราจะสอนพละหัวใจของพละคืออะไร คือการออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นถ้าครูตีบทแตกเอาหัวใจของวิชาเป็นหลักก่อน เด็กทั้งห้องเราสอนด้วยหัวใจ เด็กทั้งหมดสอนด้วยเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อสอนแล้วพบว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งเก่ง เราค่อยเสริมให้เขาเป็นเลิศ เอาหัวใจเป็นรองเอาอาชีพเป็นหลัก

 ผมเคยสอนลีลาศแล้วเด็กคนหนึ่งบอกเต้นรำไม่ได้ แต่อยากอยู่ในห้องกับเพื่อน จึงให้เปิดเพลงแล้วบอกให้เขาฝึกเปิดให้ตรงจังหวะ ปัจจุบันก็ทำอาชีพคล้ายๆ ดีเจ สามารถหากินได้ แต่หากวันนั้นผมบังคับให้เต้นเขาคงตกวิชานี้ไปเลย ผมเป็นคนที่อยู่ในกฎระเบียบ เขาว่าไงเราก็ทำตามนั้น แต่ไม่มีกรอบ เดินทะลุกรอบไปพร้อมกับเด็ก ประตูทุกประตูต้องมีทางออก ไม่ใช่ว่าออกไม่ได้ 

 เวลาเด็กมาหารืออย่าตอบว่า ไม่ ไม่ใช่ ไม่ได้ ผิด ต้องหาทางให้มันทำได้ ครูต้องหาทางเลือกให้กับเด็ก ผมให้ทางเลือกกับเด็กไม่บอกถูกหรือผิด การประเมินแบบถูกกับผิดมันประเมินได้ในทางวิชาการ แต่ในทางการดำเนินชีวิตมันใช้ไม่ได้”

เด็กไทยเก่งไอซีทีแต่ถูกปิดกั้น

'จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง' ผู้ชี้ทางให้เด็กไทย สุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ

 นอกจากนี้ จิรัฏฐ์ ยังมีวิธีการสอนที่ให้เด็กรู้จักคุณค่าของกันและกัน โดยมักจะให้เด็กเก่งและเด็กอ่อนทำงานร่วมกัน ซึ่งให้เหตุผลว่าในทีมทีมหนึ่งจำเป็นจะต้องมีคนที่เก่งในแต่ละศาสตร์ แล้วมาผนวกรวมกันจะทำให้สามารถเกิดความหลากหลายทางความคิด

 ยกตัวอย่าง นาย ก. เขียนแผนวงจรได้ดี ออกแบบได้เยี่ยม แต่ไม่สามารถลงมือทำเองได้ ขณะที่นาย ข. ออกแบบไม่เก่งแต่หากเป็นเรื่องการลงมือทำ การใช้แรงเขาสามารถทำได้ดี คล้ายกับการตั้งทีมฟุตบอลเลยก็ว่าได้

 “ผมมีลูกศิษย์คนหนึ่ง เขาเรียนได้ 2.00 ถามว่าที่ไหนจะรับ แทบไม่มี ผมจึงสอนให้เขาบัดกรีซึ่งเขาทำได้ดี ลายบัดกรีเขาสวยมาก เพราะฉะนั้นแล้วผมพยายามดึงจุดเด่นของแต่ละคนออกมา และสอนให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ทุกวันนี้เขาได้งานเพราะลายบัดกรีที่เขาหมั่นฝึกฝนที่โรงเรียน อันที่จริงเขาไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราให้ทำมันจะเกิดผลเมื่อไหร่ แต่มันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความโดดเด่นและแตกต่าง โรงงานอาจจะไม่ได้รับเขาเพื่อให้มานั่งบัดกรีทั้งวัน แต่มันคือเครื่องเบิกทางให้สามารถเดินผ่านประตูนั้นเข้าไปได้”

จิรัฏฐ์ มองว่าเด็กไทยเก่งมากในเรื่องไอซีที แต่ถูกปิดกั้นความรู้ด้วยธุรกิจจึงไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญมากสำหรับเด็กไทย เพราะว่าทุกวันนี้สามารถใช้เทคโนโลยีดำเนินการไปได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่าในการสอนของครูนั้น จะใช้เทคโนโลยีในการสอนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไม่ลืมสัมพันธ์กับเด็กด้วย 

 เมื่อถามถึงสิ่งที่ยังอยากจะทำ จิรัฏฐ์ บอกว่า เป็นครูมา 30 กว่าปี สิ่งที่ยังห่วงตอนนี้ มีเด็กอีก 2 คนที่กลัวกว่าจะเรียนไม่จบ เพราะการเป็นเด็กหลังห้องมักไม่มีคนเข้าใจ แต่ก็ยังอุ่นใจที่มีครูในโรงเรียนรับปากว่าจะช่วยดูแลต่อให้

 นอกจากนี้ สิ่งที่เคยทำไว้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ สนับสนุนเด็กนักเรียนให้ใช้ในการเรียนรู้ โดยต้องอาศัยเรื่องของโซเชียลมีเดีย ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มี แต่ ณ ตอนนี้สิ่งที่เขาฝันไว้สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่ว

 “ตอนนี้มีทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาขอให้เป็นที่ปรึกษา ให้ช่วยบรรยายพิเศษ แต่เรายังไม่รับปากใคร เพราะว่าจะต้องเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ให้กับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทำงานตอบแทนรางวัลนี้ไปก่อนแล้วสักระยะหนึ่งจะย้อนกลับไปทำสิ่งเหล่านั้น แต่มีหนึ่งสิ่งที่บอกกับทุกที่คือ ผมไม่อยากเป็นครูสอนเด็กแล้ว เพราะแบบนั้นผมช่วยได้แค่สองมือ แต่ถ้าผมเป็นครูสอนครู ผมจะทำได้มากกว่าสองมือ สอนครู 10 คนก็ได้ 20 มือ ผมว่าแบบนี้ดีกว่า” ครูไทยที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวทิ้งท้าย