posttoday

พัทธยศ ลิมปพัทธ์ ต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ

10 มกราคม 2561

เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่น่าจับตา สำหรับ ตูน-พัทธยศ ลิมปพัทธ์ วัย 34 ปี

 

เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารหนุ่มไฟแรงที่น่าจับตา สำหรับ ตูน-พัทธยศ ลิมปพัทธ์ วัย 34 ปี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์ ลูกชายคนโตของ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่มาช่วยคุณพ่อดูแลบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับฟู้ด เอ็กซ์โป ซึ่งถือว่ามาแรงและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้

“ผมเข้ามาช่วยคุณพ่อดูแลธุรกิจของบริษัท บอร์นฯ ทั้งหมด ยกเว้นธุรกิจที่เกี่ยวกับทีวี ซึ่งคุณพ่อจะดูแลเอง ธุรกิจใหม่ที่ผมรับผิดชอบเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดงานฟู้ด เอ็กซ์โป หรืออีเวนต์ออกบูธขายอาหารและขนม ซึ่งอีเวนต์ล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปก็คือการจัดงาน ‘ครัวคุณต๋อย รักษ์ขนมไทย’ ที่เดอะ มอลล์ บางกะปิ นอกจากนี้ยังมีโปรดักต์ ‘กล่องของขวัญครัวคุณต๋อย’ ที่มีขนมไทยจาก 9 ร้านดัง กล่องละ 9 ชนิด 3 เซต เช่น ทองเอก กลีบลำดวน สาลี่มะพร้าว ฯลฯ ออกมาขาย โดยสามารถสั่งแบบพรีออร์เดอร์ในช่วงเทศกาลได้ทั้งทาง Line : @kktshop, FB : ครัวคุณต๋อย และ Application : ครัวคุณต๋อย อีกด้วย

ธุรกิจนี้เราเพิ่งเริ่มได้แค่ 3-4 เดือนครับ ตอนแรกก็คิดว่าการทำกล่องขนมไม่น่าจะยุ่งยากมากนัก แต่พอทำจริงๆ แล้วยากทีเดียว เพราะขนมไทยส่วนใหญ่จะเป็นแฮนด์เมด แล้วการบรรจุลงกล่องก็ต้องใช้แรงงานคน แถมมีรายละเอียดของอาร์ตเวิร์กของบรรจุภัณฑ์อีกว่าแต่ละกล่องจะต้องมีรายละเอียดของชนิดขนม และที่อยู่ของร้าน ซึ่งเราต้องใส่ให้ครบ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับผม”

ตูนเล่าว่า แรกเริ่มเลยหลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านการเงิน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้บินไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการเงินและการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เมืองชิคาโก สหรัฐ เมื่อเรียนจบก็กลับมาเมืองไทยและเข้าทำงานด้านการเงินมาตลอด 9 ปีในแผนกธุรกิจตลาดทุน ของธนาคารไทยพาณิชย์

 

พัทธยศ ลิมปพัทธ์ ต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ

  

“อยู่มาวันหนึ่งผมก็มองเห็นโอกาสในธุรกิจที่คุณพ่อทำว่าน่าจะสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งได้ ผมจึงขอคุณพ่อว่าอยากจะมาช่วยดูแลธุรกิจนะ แต่ท่านกลับบอกว่าไม่ต้องมา ถ้าวันไหนคิดว่าถึงเวลาก็จะเรียกมาช่วยเอง

พอพ่อพูดแบบนั้น ผมก็ไปทำผังบิซิเนสโมเดลมาเลย แล้วก็นำมาพรีเซนต์ให้พ่อดูเลยว่า เราอยากจะต่อยอดธุรกิจแบบนี้นะ ไม่งั้นก็ไม่พร้อมสักที เพราะผมคิดว่าถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ ธุรกิจที่เราอยากทำมันก็ไม่เกิดใช่ไหมครับ พอพ่อเห็นการพรีเซนต์ของเรา ท่านก็บอกโอเคเลย ผมจึงลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจกล่องขนมครัวคุณต๋อยก่อน จากนั้นก็เข้ามาดูแลเรื่องโซเชียลมีเดียให้กับรายการ ‘ครัวคุณต๋อย’ ต่อไปก็อยากจะบุกในเรื่องคอนเทนต์ดิจิทัลและอีเวนต์เกี่ยวกับอาหารให้มากขึ้น

สำหรับงานครัวคุณต๋อย รักษ์ขนมไทยที่ผ่านมาถือว่าเป็นอีเวนต์ขนาดกลาง แต่ก็มีอีเวนต์ขนาดใหญ่เกี่ยวกับอาหารและขนมซึ่งเราจัดขึ้นทุกปี นั่นก็คือ ‘ครัวคุณต๋อย เอ็กซ์โป’ ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง โดยมีบูธอาหารและขนมถึง 200 บูธ และครั้งที่ 3 ก็จะจัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 1-4 มี.ค.นี้ นอกจากนี้เรายังมองอีเวนต์ขนาดเล็ก โดยจะจัดงานอาหารขึ้นตามออฟฟิศ ศูนย์ราชการ มหาวิทยาลัย สถานีรถไฟฟ้า และท่าเรือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ผมดูแลรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องแบรนด์ครัวคุณต๋อยให้กระจายออกไปมากขึ้น”

ตูนบอกว่า กลุ่มเป้าหมายหรือแฟนๆ ส่วนใหญ่ของครัวคุณต๋อยจะเป็นกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นเขาจึงอยากจะเปิดฐานแฟนๆ กลุ่มใหม่ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีลงมา ซึ่งเป็นหนุ่มสาวออฟฟิศที่อาจจะต้องบุกเข้าไปจัดอีเวนต์ถึงที่ ก็น่าจะช่วยเพิ่มกลุ่มแฟนๆ ของครัวคุณต๋อยได้มากขึ้น

“อย่างที่บอกว่าผมดูแลเรื่องโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็คือเฟซบุ๊กของครัวคุณต๋อยด้วย ก็พยายามนำคลิปวิดีโอของรายการไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพราะปัจจุบันมีคนตามอยู่ที่ 2 แสนกว่าคนเอง แต่เฟซบุ๊กดังๆ เกี่ยวกับอาหารนั้นมีคนตามเป็นล้านคน แต่พอลองนำคอนเทนต์จากรายการทีวีมาลงในเฟซบุ๊กจริงๆ ก็พบว่ามันไม่เวิร์ก เราก็เลยต้องพยายามปรับคอนเทนต์และวิธีการนำเสนอเพื่อไม่ให้ซ้ำกับทีวี กลุ่มแฟนๆ รุ่นใหม่ถึงจะหันมาสนใจ พูดง่ายๆ ว่าต้องปรับคอนเทนต์เพื่อรองรับพฤติกรรมของคนเสพสื่อออนไลน์ให้มากขึ้นครับ

การที่ผมเลือกต่อยอดขนมไทยในธุรกิจ ก็มาจากความชอบตอนเด็กๆ ของเราด้วย ถ้าอยากกินขนมไทย เช่น ปลากริมไข่เต่า สมัยนี้มันหาไม่ได้ง่ายๆ เหมือนตอนที่เราเด็กๆ แล้วไง พอมาดูจริงๆ ก็พบว่าขนมไทยจะไม่หายไปได้ยังไงล่ะ เพราะสมัยนี้มีแต่ขนมจากต่างประเทศเข้ามาขายเยอะมาก แม้ราคาจะแพง แต่คนกินก็ไม่มีปัญหา แต่พอเป็นขนมไทย ราคาเกิน 30 บาทก็บ่นว่าแพงแล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีผู้สืบทอดที่จะขายขนมไทย ผมจึงอยากปรับวิธีคิดและวิธีมองการตลาดตรงนี้ โดยเริ่มจากทำแพ็กเกจจิ้งที่คนเห็นคุณค่าขึ้นมาก่อน แต่มันยากตรงที่เราต้องไปปรับทัศนคติของผู้บริโภค โดยไม่ให้คิดว่าขนมไทยจะต้องเป็นของถูก ตรงนี้แหละสำคัญ”

 

พัทธยศ ลิมปพัทธ์ ต่อยอดธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ

 

ตูนเสริมว่า หากทำการตลาดให้ดี มีการนำเสนอที่ถูกต้อง และเลือกขนมคุณภาพดีจริง เขาคิดว่าธุรกิจขนมไทยจะสามารถอยู่ได้ไปจนถึงรุ่นลูกหลาน เพราะถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ที่สำคัญยังเป็นการอนุรักษ์ขนมไทยให้คงอยู่ต่อไปอีกด้วย

“หลังจากเข้ามาบริหารธุรกิจใหม่ได้ครึ่งปี ก็ย่อมแตกต่างจากงานประจำที่เคยทำแน่นอน ตอนที่มาดูแลงานนี้แรกๆ มันก็ไม่มีเวลาเลิกงานที่แน่นอนเหมือนตอนทำงานประจำ ช่วงแรกผมจึงต้องปรับตัวเยอะพอสมควร ถ้าพูดถึงอุปสรรคในการทำงาน ผมเชื่อว่าไม่ว่าเราจะทำงานอะไรเราก็ต้องเจอ สำหรับอุปสรรคของผม การทำธุรกิจขนมไทยถือว่าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างหนึ่ง บางครั้งเราคิดว่ามันควรจะออกมาแบบนี้ แต่พอทำจริงๆ แล้วมันออกมาอีกแบบหนึ่ง บางอย่างที่คิดว่ามันน่าจะง่าย มันก็ไม่ง่าย อีกอย่างคือเรากำลังสร้างทีมงานขึ้นมาใหม่ด้วย เพราะทีมงานเดิมส่วนใหญ่จะเป็นทีมผลิตรายการทีวีซะมากกว่า พวกเขาจึงไม่มีทักษะที่ตรงกับงานใหม่ของเรามากนัก แต่โชคดีว่าเรามีพาร์ตเนอร์ที่ดี ดังนั้นถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็สามารถพูดคุยกันและหาทางแก้ไขได้”

ตูนบอกว่า หลักในการทำงานที่เขายึดปฏิบัติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็คือต้องทำงานที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด เพราะโอกาสที่เข้ามาอาจจะมีแค่ครั้งเดียว ฉะนั้นต้องทำให้ดีที่สุดเหมือนเป็นงานสุดท้าย แล้วผลของงานที่ออกมานั้นก็จะดีเอง

“อย่างน้องๆ ทีมงานในบริษัท ก่อนจะส่งงานมาให้ผมดู ผมจะบอกเสมอว่าตรวจเช็กให้ดีก่อนนะ คือไม่อยากให้มองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่ตัวสะกดที่ผิดนี่ ถ้ามีก็อย่าเพิ่งส่งรีพอร์ตมาให้ผมดู ผมจะบอกเสมอว่าไม่ต้องรีบขนาดนั้น แต่ของานที่ดีที่สุด ที่เราดูแล้วว่าเขาตั้งใจทำเต็มที่เท่านั้นเอง ส่วนผลลัพธ์ออกมาก็ค่อยว่ากันอีกที

การที่ผมเป็นลูกชาย ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เป็นเรื่องที่ผู้คนพูดถึงกันตั้งแต่ผมเด็กๆ ว่าพ่อเราเป็นคนดัง ซึ่งผมบอกตามตรงเลยว่า ตั้งแต่เด็กๆ แล้วการเป็นลูกไตรภพก็ไม่ได้ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นทั่วไป เพราะคุณพ่อก็ไม่เคยให้ท้ายหรือคาดหวังอะไรจากลูกๆ นอกจากขอให้ลูกๆ เป็นคนดีแค่นั้น ส่วนเรื่องของการจะประสบความสำเร็จในชีวิตแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนอื่นในสังคม อันนี้ผมพูดได้เต็มปากเลยว่าคุณพ่อไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากมายเลย ดังนั้นการเป็นลูกไตรภพจึงไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกกดดันหรือรู้สึกว่าตัวเองพิเศษกว่าใคร เพราะการดีลธุรกิจนั้น คนที่ทำธุรกิจร่วมกับเราเขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวงานหรือธุรกิจที่เราทำซะมากกว่า”

ตูนทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ไม่ได้มีเวลาทำงานที่แน่นอนนักขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละวัน บางครั้งวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็อาจจะนัดคุยกับลูกค้าก็ได้ แต่หากวันไหนมีเวลาว่างจริงๆ เขาจะชอบอ่านหนังสือเพื่อหาความรู้ ออกกำลังกาย และพาลูกสาวฝาแฝดวัย 9 เดือน (น้องมะลิและน้องกะทิ) ไปเปิดหูเปิดตา หรือใช้เวลาเล่นกับลูกๆ ซะมากกว่า แค่นี้ก็ทำให้มีพลังในการใช้ชีวิตแล้วล่ะ