posttoday

อรรควิชญ์ หาญนวโชค เดินทางมากขึ้น ตัวเรายิ่งเล็กลง

07 มกราคม 2561

เขาชื่อ โจ้-อรรควิชญ์ หาญนวโชค เขาเป็นหมอ หลายคนรู้จักเขาจากเพจ หมอๆ ตะลุยโลก

โดย มัลลิกา นามสง่า ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

เขาชื่อ โจ้-อรรควิชญ์ หาญนวโชค เขาเป็นหมอ หลายคนรู้จักเขาจากเพจ หมอๆ ตะลุยโลก (มีหมอวินอีกหนึ่งคน) แต่วันนี้เขาลุยเดี่ยวไปตะลุยโลกใหม่ คือประเทศแทนซาเนีย ที่เราต้องหาแผนที่มากางแล้วปักหมุดลงไปยังพื้นที่เล็กๆ ในทวีปแอฟริกา

ที่ผ่านมาหมอโจ้ได้ตะลุยไปทำความรู้จักมาแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่อายุ 19 ปี ผ่านเวลามานับ 10 ปีแล้ว เขาก็ยังไม่หยุดเดินทาง มีเวลาว่างจากงานที่ทำคือ ออกเดินทาง หรือบางทีงานนั้นแหละที่พาเขาออกเดินทาง

ท่องเที่ยว ตำราเรียนมหัศจรรย์

อรรควิชญ์ หาญนวโชค เดินทางมากขึ้น ตัวเรายิ่งเล็กลง

เด็กๆ มักถูกตั้งคำถามให้ตอบว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบของเด็กชายอรรควิชญ์ คือ อยากเป็นนักการทูต เพราะจะได้ท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ แต่ความฝันของเขาเป็นจริงเพียงครึ่ง เขาเลือกประกอบอาชีพหมอ แต่เป็นหมอที่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ มากกว่านักการทูตเสียอีก

“ผมชอบการเดินทางมาตั้งแต่เด็ก พอมาเรียนแพทย์ก็ยังมีความรู้สึกอยากเที่ยว ก็เลยต้องหาอะไรมาเติมเต็มความต้องการของเราตรงนี้

ผมเริ่มเดินทางจริงๆ ไปเองแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนเป็นนักศึกษาอยู่ปี 2 ตอนนั้นอายุ 19 แบ็กแพ็กไปลาวเอง เมื่อก่อนการเดินทางไปไหนไม่ได้ง่ายแบบนี้ ข้อมูลไม่ได้หาง่าย ต้องอาศัยถามหน้างานเอา

ผมไปรู้จักหนังสือ โลนลี แพลนเน็ต ที่ลาว นั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมสนใจเรื่องท่องเที่ยวมากขึ้น

ช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ ผมจะต้องเดินทางอย่างน้อยปีละครั้ง แต่ช่วงก่อนเริ่มทำงานมีช่วงเวลาว่าง 40 วัน ผมก็เดินทางจากปักกิ่งไปสวิตเซอร์แลนด์ ผ่าน 16 ประเทศ แต่เที่ยวจริงๆ ก็ 13 ประเทศ คือ จีน มองโกเลีย รัสเซีย ยูเครน โปแลนด์ เช็ก ออสเตรีย ฮังการี โครเอเชีย ซานมาริโน อิตาลี วาติกัน และสวิตเซอร์แลนด์”

ยิ่งเดินทางมากยิ่งสนุก ท้าทาย ยิ่งตระหนักได้ว่า โลกใบใหญ่ของเราคือ แหล่งเรียนรู้อันไม่จบสิ้น มีบทเรียน บททดสอบ ที่แปลกใหม่ ต่างสีสันน่าค้นหาอยู่เสมอ

“เมื่อก่อนผมคิดว่าภาษาอังกฤษของผมดีระดับหนึ่ง แต่พอผมเดินทาง ที่คิดว่าดีมันกลับแย่มากๆ ซึ่งจุดนี้เป็นแรงผลักดันให้ผมกลับมาพัฒนาตัวเองเรื่องของภาษา และด้านอื่นๆ อีกหลายอย่างจากการที่เราได้เห็นผู้คน”

แทนซาเนีย, Here I am.

อรรควิชญ์ หาญนวโชค เดินทางมากขึ้น ตัวเรายิ่งเล็กลง

แทนซาเนีย ดินแดนที่นักท่องเที่ยว ไกด์ทัวร์ยังไปไม่ถึงมากนัก เรื่องเล่าจากหมอโจ้จึงสดแปลก ยิ่งไปในฐานะแพทย์ ณ ศูนย์การแพทย์คิลิมันจาโร การเปิดดินแดนแห่งนี้จึงมีเสน่ห์ในอีกรูปแบบที่นักท่องเที่ยวยากจะได้สัมผัส ซึ่งหมอโจ้ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “Tanzania, Here I am. หมอๆ ตะลุยโลก”

“ที่ได้ไปแทนซาเนียเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนทราเวลศาสตร์ ผมมีเวลา 4-5 สัปดาห์ เลือกไปที่หนึ่งที่ใดก็ได้ในโลกแต่ต้องเป็นโรงพยาบาล ผมก็ยื่นไปหลายที่

เวลาเลือกเส้นทาง ผมชอบที่มันลำบาก หนึ่งได้ความท้าทาย สองได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเขียน

ตอนที่รู้ผลว่าได้ไปศูนย์การแพทย์คิลิมันจาโร แทนซาเนีย ก็มีกลัวนิดๆ เพราะมีคนผิวสี แต่พอได้ไปสัมผัสจริงๆ เป็นความคิดของเราเอง ที่จริงพวกเขาน่ารักมาก มีน้ำใจมาก ไม่ได้แตกต่างอะไรเลย จุดนี้ทำให้เราเริ่มมองคนเท่ากัน

ผมอยู่แทนซาเนีย 35 วัน ช่วงแรกอยู่ในโรงพยาบาลเป็นหลัก เราไปรวมทีมกับหมอท้องถิ่นที่นั่นกึ่งโรงเรียนแพทย์ ให้เราไปเรียนรู้การแพทย์ในแอฟริกา ไปเดินวอร์ด แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งผมได้รู้ว่าคนบ้านเขาไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน บัตรทองแบบบ้านเรา เขาต้องชำระเงินส่วนตัวเอง ทำให้บางคนเข้าไม่ถึงการรักษา

กว่าผมจะปรับตัวได้ก็ช่วงท้ายๆ แล้ว มีตื่นเต้นหลายเหตุการณ์ อย่างมีคนไข้เป็นโรคบางชนิดที่ไม่เจอในเมืองไทยมาก่อน เช่น พยาธิที่อยู่ตามทะเลสาบ ทำให้เกิดโรคตับแข็ง คนท้องถิ่นจะอาบน้ำตักน้ำมาใช้ เราเคยเรียนในหนังสือแต่ไม่เคยเห็นและไม่คิดว่าจะได้เห็นด้วยตาตัวเอง”

ส่วนเวลาหลังเลิกก็จะสำรวจบ้านเมือง วิถีชีวิต “ผมชอบเดินเข้ามาในเมือง เมืองที่อยู่เจริญในระดับหนึ่ง มีต่างชาติมาช่วยวางระบบต่างๆ เราได้เห็นว่าฝรั่งเขาคิดใหญ่ เวลาลงพื้นที่มาช่วยเหลือมาเป็นกลุ่มที่นั้นมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

ด้วยคนยุโรปอยู่เยอะ อาหารของเขาก็จะหนักไปทางนั้น กินสปาเกตตี กินข้าวมื้อเที่ยงมื้อเดียว ซึ่งไม่ค่อยถูกปากผมเท่าไร ผมก็ต้องซื้อข้าวเก็บไว้อุ่นกินตอนเย็น”

ยอดเขาสูง มีไว้พิชิตใจตัวเอง

อรรควิชญ์ หาญนวโชค เดินทางมากขึ้น ตัวเรายิ่งเล็กลง

นอกจากได้ไปเป็นแพทย์แล้ว อีกหนึ่งความตั้งใจของหมอโจ้คือ การได้เดินขึ้นภูเขาคิลิมันจาโร ได้ไปยืนบน Uhuru Peak จุดที่สูงที่สุดของแอฟริกา

“ผมเตรียมตัวตั้งแต่มาแล้วว่าเวลาช่วงสุดท้ายจะต้องเดินเขา ที่ทำงานผมมองเห็นภูเขาคิลิมันจาโร เห็นคนเดินขึ้นเขา มีทั้งคนที่พิชิตได้สำเร็จ และคนที่บาดเจ็บ ป่วยกลับลงมา ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทำให้สำเร็จ

ช่วงที่ทำงาน ผมก็วิ่งทุกวัน เตรียมตัวเองให้พร้อม เพราะคนที่ลงมาก่อนส่วนมากแพ้อากาศ ข้างบนออกซิเจนน้อย ผมเดินมีไกด์ท้องถิ่นนำทาง ผู้ช่วยไกด์ ลูกหาบอีก ใช้คนเกือบ 10 คน เพราะเสบียงทุกอย่าง เต็นท์ ต้องแบกไป

ระหว่างทางเดินอากาศ 20 องศา แต่ยิ่งเดินลดลงเรื่อยๆ วันที่ขึ้นยอดเขาอุณหภูมิลบ 10 องศา ความสูงทั้งหมด 5,800 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล”

หมอโจ้เล่าถึงการเดินขึ้นเขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา “จุดแรกเป็นต้นไม้ ป่าสน อากาศร้อนชื้นแบบเขาใหญ่บ้านเรา วันแรกนี้เดินง่าย

พอวันที่ 2 เรายิ่งเดินสูงขึ้นๆ ต้นไม้ยิ่งเตี้ยลงๆ อยู่ระดับสายตา อากาศแห้งแล้ง จุดนี้ความสูง 3,700 เมตร ช่วงนี้ต้นไม้จะหายไปแล้ว

น้ำในลำธารยังมีให้ลูกหาบเก็บได้ แต่ผมก็ไม่ได้เห็นนะว่าลำธารอยู่ตรงไหน ต่อจากนี้น้ำเราต้องใช้อย่างประหยัดแล้ว เพราะเป็นจุดสุดท้ายที่มีน้ำ

ยิ่งสูง อากาศจะเริ่มน้อย เราจะเริ่มเหนื่อยง่าย ถ้าร่างกายปรับไม่ดีพอ จะมีอาการปวดหัวเวียนหัว อาเจียน แต่ทีมเราเตรียมตัวมาดีมาก

วันที่ 3 เป็นวันอยู่เฉยๆ เดินขึ้นไปปรับอากาศที่สูงและลงมานอนต่ำ เป็นการกระตุ้นร่างกาย ปรับอุณหภูมิร่างกาย เราทำกิจกรรมน้อยมาก พักเยอะ

วันที่ 4 เดินทางไปเบสแคมป์ คือ จุดพักก่อนไปขึ้นยอด มีความสูง 4,700 เมตร อากาศน้อยมาก แค่พูดยังเหนื่อยเลย จะนอนก็ลำบากเหมือนเราหายใจลำบาก คืนนั้นให้อยู่เฉยๆ ผมนอนไม่หลับทั้งคืน อากาศหนาวด้วย ศูนย์องศา หายใจไม่เต็มปอด

พอถึง 5 ทุ่มต้องตื่น เป็นวันที่ 5 ใช้เวลาเดินขึ้นยอดเขา 6 ชั่วโมง สูงและหนาวมาก พอไปถึงยอดเขา ยอดเขาไม่เคยมีอะไรเลย (หัวเราะ) แค่รับรู้ว่าเราถึงยอด เป็นความรู้สึกของการพิชิตอะไรบางอย่าง

เดินตั้งหลายชั่วโมง ไปถึงถ่ายรูปไม่ถึง 10 นาที มันหนาวมาก อากาศติดลบ เดินก้าวสองก้าวก็เหนื่อย อากาศตรงนั้นถ้าจับคนที่อยู่กรุงเทพฯ ไปหย่อนลงยอดเขาแป๊บเดียวก็ตาย

การพิชิตยอดเขา นอกจากจิตใจ สิ่งสำคัญคือร่างกาย ต้องปรับตัว การเดินขึ้นเขาไม่ใช่เดินเร็วที่สุดคือเก่ง ยิ่งเดินเร็วยิ่งเสี่ยง แต่ถ้าเรามีเวลาเดินขึ้นนานเท่าไร เรายิ่งปลอดภัย”

หลงเสน่ห์การเดินเขาเพราะได้พิสูจน์กำลังกายและกำลังใจของตัวเอง “เมื่อก่อนผมไปเดินเขา ผมคิดว่าผมร่างกายแข็งแรง เพราะเราออกกำลังกาย แต่พอกลับมาร่างพังไปเป็นอาทิตย์ ซึ่งตอนนั้นยังหนุ่ม อายุ 20 เอง แต่ร่างกายเราไม่ไหว

จุดนี้ทำให้ผมชอบการเดินเขา ทำให้เราหันมาออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ทุกวันนี้ผมวิ่งทุกวัน เรายิ่งรู้สึกร่างกายมันดี ไปเดินเขาพิชิตยอดเขาเรายังยิ้มแฉ่งได้ในขณะที่เพื่อนเราหน้าบวม ไม่คุยไม่ยิ้มแล้ว”

หมอ(รักษาคน)เที่ยว

อรรควิชญ์ หาญนวโชค เดินทางมากขึ้น ตัวเรายิ่งเล็กลง

ในเมืองไทย คลินิกนักท่องเที่ยว (Travel Clinic) ณ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนั้น แต่นั่นละคือ สถานที่ทำงานของหมอโจ้ คลินิกที่รักษานักเดินทางจากทั่วโลกที่เดินทางมาสู่เมืองไทย และนักเดินทางชาวไทยที่จะไปต่างแดน คนที่มามีทั้งคนป่วยที่ต้องการรักษาและนักท่องเที่ยว นักศึกษา คนทำงานที่มาปรึกษาในการเตรียมตัวเดินทางไปยังภูมิประเทศต่างๆ

ดูสิแม้แต่ในหน้าที่การงาน หมอโจ้ยังได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยว อันเสมือนได้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านคำบอกเล่าจากคนไข้ของเขานั่นเอง

“ที่ผ่านมาผมเดินทาง ผมเองก็ยังไม่เคยต้องไปปรึกษาหมอว่าจะต้องเตรียมอะไร เราก็เตรียมตัวอย่างคนทั่วๆ ไป ยาแก้ปวด ท้องเสียทั่วไป

จนได้มารู้จักศาสตร์นี้และลงเรียน ตอนอายุ 30 ปี ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่เมืองไทยยังใหม่มาก ตอนนี้ก็กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะคนไทยเองนิยมเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นแต่ก่อนผมคิดเหมือนคนทั่วไป ไปอินเดียผมก็ไม่เคยไปหาหมอก่อน แต่พอเรามาเห็นผลวิจัยคนไทยไปแล้วป่วยกลับมามีจำนวนมาก มาเห็นตัวเลขโชคดีที่เราไม่ได้ป่วย ท้องเสียนี่ธรรมดา ที่จำเป็นคือเราต้องฉีดวัคซีนที่ป้องกันตับอักเสบเอ ไทฟอยด์ ฉีดก่อนไปก็ช่วยลดความเสี่ยงได้

ฝรั่งที่มาเที่ยวเมืองไทยเขาก็มาหา เขาจะต้องป้องกันโรคอะไรบ้าง ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเขาให้ความสำคัญตรงนี้อยู่แล้ว ถ้าป่วยส่วนใหญ่ท้องเสีย หรือโรคติดเชื้อ ไข้เลือดออก

ส่วนมากเราจะเป็นการป้องกันก่อนรักษา แนะนำก่อนการเดินทาง คนไทยจะไปต่างประเทศ ประเทศนั้นกำลังมีโรคระบาดอะไรบ้าง มีโรคเฉพาะถิ่นอะไร ต้องฉีดวัคซีนป้องกันก่อนไป อย่างไปแอฟริกาต้องฉีดไข้เหลือง บางคนจะไปเนปาล ภูเขาสูง มีอาการแพ้ความสูง ออกซิเจนน้อยก็มาปรึกษาว่าควรทำยังไงไม่ให้ป่วยระหว่างอยู่ในประเทศ”

ส่วนใหญ่คนที่ป่วยแล้วมารักษาคือคนไทยที่ไปทำงานที่แอฟริกา ไปไม่ได้เตรียมตัว บางคนกลับมาป่วยเป็นมาลาเรีย

การทำงานตรงนี้ตรงกับใจผมมาก ผมชอบเดินทางอยู่แล้วการทำงานตรงนี้ผมได้มีประสบการณ์ตรงมาบอกคนที่มาปรึกษา อย่างไปอยู่บนยอดเขาสูง หายใจไม่ออก รู้สึกเหนื่อยเหมือนจะขาดใจ ถ้าผมไม่ได้ปีนเขาเองคงจะแค่บอกว่าเป็นแบบนี้ๆ แต่ผมไม่ได้รู้จริงว่ามันรู้สึกยังไง แต่ผมเดินทางจริงก็รู้จริงแนะนำได้ ให้เขาป้องกันตัวเองก่อนได้

หรือบางทีผมก็ได้รู้จักประเทศใหม่ๆ จากนักท่องเที่ยวที่เขาไปมาแล้วมาเล่าให้ฟัง เราได้ขยายโลกทัศน์ของเราด้วยบางอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน เราก็เรียนรู้จากพวกเขามาอีกที”

โลกใบนี้ยังมีอีกหลายจุดให้เราได้ไปทำความรู้จัก และการวางแผนท่องเที่ยวอย่างรัดกุม จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวสนุกและปลอดภัย