posttoday

กฤษฎา ชัยรัตนศักดิ์ แชมป์ SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยคนล่าสุด

25 ธันวาคม 2560

การได้ทำสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ นับเป็นความสุข

 

การได้ทำสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ใช่ นับเป็นความสุข กฤษฎา ชัยรัตนศักดิ์  หรือปลื้ม วัย 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบตัวเองว่าชอบดนตรีตั้งแต่ ป.1 ล่าสุดคือเขาที่คว้ารางวัลชนะเลิศ เหรียญทองการแข่งขัน SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ปี 2560 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา

มองย้อนกลับไปคือความโชคดีที่ได้รู้จักตัวเอง ความโชคดียังหมายถึงการสนับสนุนจากคุณพ่อ-มนตรี ชัยรัตนศักดิ์ และคุณแม่-นภาพร วิทยานันท์ ที่ผลักดันให้ชายหนุ่มพาตัวเองมาอยู่บนเส้นทางสายดนตรี และคือความโชคดีที่ได้โอกาสพานพบกับครูบาอาจารย์มากมายผู้ถ่ายทอดวิชาดนตรีให้

ย้อนไปวัยเด็ก กฤษฎาเล่าว่า ความหลงใหลในดนตรีเกิดจากการซึมซับเสียงเพลงที่คุณแม่และคุณน้าเปิดฟังในทุกๆ วัน ไม่นับรวมเมื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ที่โรงเรียนหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ได้เห็นวงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ตั้งกองบรรเลงเพลงชาติหน้าแถวทุกวันแล้วรู้สึกดี

“ชอบดูวงโยธวาทิตเล่นหน้าแถวทุกเช้า มีทั้งกลองใหญ่ กลองเล็ก เครื่องเป่า ผมชอบกลอง ยิ่งเห็นก็ยิ่งรู้สึกว่าเท่ เลิกเรียนกลับบ้าน จะเอากลองเล็กๆ ที่พ่อให้ มาตีเล่นดังลั่น เป็นอย่างนี้ทุกวัน”

วันหนึ่งพ่อถามลูกชายตัวน้อยว่า อยากตีกลองจริงหรือ ถ้าจริงจะพาไปเรียน จำได้ว่าตื่นเต้น รุ่งขึ้นพ่อพาไปพบคุณครูชินกร โสมประภา คุณครูผู้ดูแลและอำนวยการวงโยธวาทิตของโรงเรียน คุณครูรับปากมั่นเหมาะ ทว่าเครื่องดนตรีชิ้นแรกกลับกลายเป็นกลองชุด ไม่ใช่กลองแต๊ก

“พอเปิดประตูห้องเรียนกลองเข้าไป อ้าว ไม่ใช่กลองแต๊กที่อยากเรียนหรอกนะ กลายเป็นห้องเรียนกลองชุด แต่ผมก็ยอม ลองเรียนไปก่อน ตอนนั้นขายังเหยียบไม่ถึงเลย ครูบอกดีแล้ว” กฤษฎาเล่า

พัฒนาการทางดนตรีของกฤษฎา ทำให้เด็กชายที่ขณะนั้นเพิ่งจบชั้น ป.3 มีกลองชุดอย่างดีฝึก นั่นเพราะคุณพ่อตัดสินใจลงทุนซื้อกลองชุดราคากว่า 5 หมื่นบาท มาให้ซ้อมที่บ้าน ลูกชายคนโปรดจึงได้ซ้อมกลองทุกวัน เงื่อนไขของคุณพ่อมีประการเดียว คือขอให้ฝึกฝนอย่างจริงจังและทำเต็มที่

 

กฤษฎา ชัยรัตนศักดิ์ แชมป์ SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยคนล่าสุด

 

 

ด้วยเหตุนี้ก็เลยช่วยไม่ได้ที่กฤษฎาจะกลายเป็นมือกลองสุดเท่ประจำโรงเรียน เขาได้รับโอกาสในการแสดงงานดนตรีของโรงเรียนบ่อยครั้ง เป็นช่วงเดียวกับที่คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจผลักดันให้ลูกชายไปต่อบนเส้นทางดนตรีแทนเส้นทางวิชาการ แม้เกรดเฉลี่ยจะไม่ธรรมดา 3.8-3.9 ก็ตาม

“ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ไม่มีหลักสูตรกลอง ทำให้ผมต้องเริ่มต้นจากศูนย์ โจทย์คือเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ที่จะหัดเล่น เพื่อเตรียมสอบเข้า”

เลือกแซ็กโซโฟนทั้งที่ไม่คุ้นเคย ทว่าคุณแม่ลองชวนเมื่อวันหนึ่งสองคนแม่ลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองและมีวงแซ็กโซโฟนมาบรรเลงโชว์ แม่ของกฤษฎาเอ่ยขึ้นว่านี่ไงแซ็กโซโฟน เครื่องดนตรีที่เด่นมากๆ แบบเดียวกับเพลงของเคนนี จี ที่แม่ชอบเปิดฟังบ่อยๆ ไง

คุณแม่ถามว่าอยากเล่นไหม ผมก็บอกอยาก ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากความปิ๊ง เครื่องดนตรีอะไรหนอช่างเป็นสีทองสวยงาม สะท้อนแสง สะท้อนความวาววาม ดูสวยดูดี แถมเสียงก็ไพเราะ คุณแม่เดินไปถามพี่ๆ นักดนตรีทั้ง 4 คนในวงนั้นว่า จะให้ผมเรียนดีไหม หน่วยก้านพอจะได้ไหม

“พี่ๆ ตอบว่า ก็ได้ แต่ต้องขยันซ้อมนะ ต้องขยันออกกำลังกายนะ ต้องขยันว่ายน้ำนะ ต้องอะไรอีกหลายต้อง เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่มีพลังมากพอที่จะเป่า พี่ๆ ทุกคนในวันนั้นก็ได้กลายมาเป็นอาจารย์ของผมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ด้วย”

ด้านคุณพ่อหนุนเต็มที่ ลงทุนซื้ออัลโตแซ็กโซโฟนให้ รวมทั้งพาไปเรียนพิเศษเพิ่มอีกต่างหาก มาถึงวันนี้คงไม่บ่อยเกินไปที่จะกล่าวคำขอบคุณ ทั้งคุณพ่อที่คอยผลักดัน ทำให้เติบโตและมีระเบียบวินัย คุณแม่ที่มองหาเส้นทางที่ดีที่สุดให้ และคุณครูที่ทำให้ลูกศิษย์ได้รับโอกาสและการฝึกฝนที่ยอดเยี่ยม

 

กฤษฎา ชัยรัตนศักดิ์ แชมป์ SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยคนล่าสุด

 

 

เมื่อกล่าวถึง “ครู” เริ่มจากครูคนแรกที่เพชรบูรณ์บ้านเกิด คุณครูชินกร ผู้สอนกลอง เรียนกรุงเทพฯ ได้พบคุณครูศิริวัฒน์ ฉัตรเมธี ผู้สอนแซ็กโซโฟน ได้ให้เทคนิคการเล่นเพื่อจะได้สอบเข้าให้ได้ก่อน ต่อเมื่อได้เข้าเรียนที่ดุริยางคศิลป์ ก็ได้โอกาสพบครูขั้นเทพอีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น “อาจารย์จอร์จ” วิศุวัฒน์ พฤกษวานิช และอาจารย์เชน ลี จากไต้หวัน เป็นต้น

“ไอดอลหรือศิลปินต้นแบบมีหลายคน รวมทั้งพี่โก้ มิสเตอร์แซกแมน ซึ่งให้คำแนะนำเดียวเลยคือ เล่นให้เต็มที่”

สำหรับถ้วยแชมป์ SET เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ระดับอุดมศึกษา ที่เพิ่งได้รับรางวัลมาแบบสดๆ ร้อนๆ  กฤษฎาได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปินดาวรุ่งที่น่าชื่นชม นอกจากจะมีทักษะความสามารถในการเล่นดนตรีสูง ยังมีพัฒนาการทางความคิดที่เติบโต

“กว่าจะคว้าชัยได้ ก็ผ่านความล้มเหลวหลายครั้ง เฉพาะกับเวทีนี้ผมประกวดมาแล้ว 4 ครั้ง ทั้ง 4 ครั้งไม่เคยเฉียด แต่ผมก็มองเป็นประสบการณ์ คว้าถ้วยชนะเลิศ ครั้งนี้ได้ดีใจที่สุด แต่เราก็ต้องพัฒนาต่อ”

รางวัลชนะเลิศทำให้รู้สึกว่าได้ก้าวไปอีกก้าว แต่แน่นอนที่ความสำเร็จจะไม่ทำให้หยุดแค่นี้ หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล เส้นทางดนตรีในอนาคตมองไปในระดับโกลบอล ในอนาคตวางแผนจะเป็นนักดนตรีอาชีพ เมื่อเรียนปริญญาตรีจบแล้วมีแผนจะเรียนต่อปริญญาโทหลักสูตร Perform (ปฏิบัติดนตรีคลาสสิก) 

“ในชั้นแรกนี้ก็อยากไปทำงานกับค่ายเพลงที่มีชื่อเสียง เป็นวงแบ็กอัพไปก่อน และก็คงจะเริ่มตั้งวงของตัวเอง หาประสบการณ์ 2-3 ปี ก่อนจะไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศต่อไป”

สำหรับวงการดนตรีในบ้านเรา กฤษฎาให้ความเห็นว่า พัฒนาขึ้นเยอะ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เล่นดนตรีเก่งขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีโรงเรียนดนตรีเปิดสอนมากขึ้น เด็กมีโอกาสได้เรียนดนตรีมากขึ้น นอกจากนี้คือเวทีมากมายที่เปิดโอกาสหลากหลาย เยาวชนจึงมีช่องทางในการแสดงออก ถือเป็นเรื่องที่ดี

“มาตรฐานการเล่นดนตรีก็ดีขึ้น เป็นเพราะเด็กๆ เขามีความใส่ใจ มีระเบียบ เห็นน้องมาเรียนดนตรีตั้งแต่เล็กๆ นับว่าดีมาก เพราะจะได้มีพัฒนาการทางดนตรี ได้มีการฝึกฝน ได้มาแข่งขันแล้วกลับไปประเมินตัวเองว่าพลาดอะไร”

สำหรับผู้สนใจดนตรี แชมป์คนใหม่แนะนำว่า การเล่นดนตรีให้ได้ดี นอกจากขยันซ้อม ยังต้องเข้าใจบทเพลงที่เล่นด้วย ต้องเข้าใจว่าเนื้อเพลงสื่อถึงอะไร บางคนซ้อมทุกวัน แต่ไม่อิน ก็เพราะเข้าไม่ถึง เป็นเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเพลงให้คนฟังได้สัมผัส...ท้าทายตัวเอง!