posttoday

วรุตน์ กฐินทอง เริ่มจากศูนย์สู่ความยั่งยืน

23 ธันวาคม 2560

โรงแรมสุดชิกริมหาดแหลมแม่พิมพ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด นาม “เซ็นทารา คิว ระยอง รีสอร์ท”

โดย/ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย 

 โรงแรมสุดชิกริมหาดแหลมแม่พิมพ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด นาม “เซ็นทารา คิว ระยอง รีสอร์ท”

 เป็นความสำเร็จของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง วรุตม์ กฐินทอง เจ้าของโรงแรม วัย 32 ปี ที่กล้ารุกธุรกิจโรงแรมทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์

 เขากล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้ารถแทรกเตอร์ แต่ด้วยแพสชั่นด้านสถาปัตยกรรมและการดีไซน์ของเขาและคุณพ่อ ทำให้แผนการสร้างบ้านพักตากอากาศบนที่ดินผืนนี้ ถูกขยายกลายเป็นโรงแรมขนาด 12 ห้อง

 โดยเขาเข้ามาดูแลตั้งแต่วันแรก บริหารจัดการเอง จนถึงวันนี้ที่เซ็นทาราเข้ามาบริหาร และกลายเป็นดีไซน์โฮเต็ลที่คนไทยรู้จักอย่างทุกวันนี้

 “ความคิดแรกที่จะเปิดเป็นโรงแรม เพราะคิดว่าน่าจะขายได้ เพราะดีไซน์และทำเลที่เงียบสงบ ซึ่งน่าจะเหมาะกับตลาดระยอง แต่พอถึงวันที่เปิดจริงทำให้รู้เลยว่า การบริหารโรงแรมมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ตอนนั้นออนไลน์บุ๊กกิ้งยังไม่เป็นที่นิยม คนยังเล่นเฟซบุ๊กไม่เยอะเท่าสมัยนี้ ทำให้การทำตลาดต้องอาศัยปากต่อปากและคอนเนกชั่น รวมถึงเรื่องบริหารคนที่เป็นอุปสรรคในการจัดการดูแลมาก” 

วรุตน์ กฐินทอง เริ่มจากศูนย์สู่ความยั่งยืน

 วรุตม์ เล่าย้อนกลับไปสมัยอายุ 26 ปี ซึ่งในตอนนั้นเขาถูกกดดันทั้งในฐานะผู้บริหารโรงแรม และฐานะลูกชายคนโตของบ้าน เนื่องจากโรงแรมกลับกลายเป็นแหล่งไม่สร้างรายได้ หนำซ้ำยังต้องมีรายจ่ายไม่เว้นวัน

 เมื่อต้องแก้ไขสถานการณ์ในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดและไม่เคยมีประสบการณ์ เขาจึงตัดสินใจหาตัวช่วยที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ด้วยการให้แบรนด์เข้ามาบริหาร โดยเซ็นทาราสามารถทำให้เกิดรายได้ภายใน 2 เดือน พลิกความกดดันของลูกผู้ชายให้เปลี่ยนเป็นความมั่นใจอีกครั้ง

 “ความท้าทายด้านตลาดโรงแรมในระยองยุคที่เปิดใหม่ๆ กับยุคนี้มันต่างกัน ตอนนั้นการท่องเที่ยวภาคตะวันออกจะเน้นไปที่พัทยากับเกาะช้าง ดังนั้นจึงท้าทายตรงที่เราต้องดีพอให้นักท่องเที่ยวไม่มองข้าม พอคิดถึงจุดนี้เราเลยต้องชูจุดเด่นเรื่องการดีไซน์ อาหาร ให้คนรู้สึกว่าโรงแรมจะอยู่ที่ไหนก็ช่าง แต่ฉันอยากขับรถมาที่นี่

 ความท้าทายในตอนนี้คือ อ.แกลง กลายเป็นเดสติเนชั่นที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้มีโรงแรมทั้งโลคัลและเชนโฮเต็ลเข้ามาเปิด แต่ผมคิดว่าเป็นความท้าทายที่ดีต่อธุรกิจมากกว่าสมัยก่อน เพราะจะยิ่งดึงดูดคนเข้ามา ซึ่งคนที่ต้องการดีไซน์โฮเต์ลก็ยังคงต้องคิดถึงเรา”

 กระทั่ง 2 ปีที่แล้วโรงแรมเปิดเฟสใหม่เพิ่มอีก 29 ห้อง เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และเพื่อความคุ้มทุนของธุรกิจในอนาคต ทำให้ปัจจุบันเซ็นทารา คิว ระยอง รีสอร์ท มีจำนวน 41 ห้อง ซึ่งเขามองข้อดีของโรงแรมขนาดเล็กมีข้อได้เปรียบจากโรงแรมขนาดใหญ่ ตรงที่สามารถให้การบริการทั่วถึง

 เพราะพนักงานหนึ่งคนสามารถดูแลลูกค้าได้เกือบหนึ่งต่อหนึ่ง ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงแรมได้ง่าย และสามารถควบคุมคุณภาพของทุกอย่างได้ดีกว่าโรงแรมขนาดใหญ่

 ระยะเวลา 6 ปีที่วรุตม์ก้าวมาสู่ธุรกิจโรงแรม เขายอมรับว่า อาจเร็วเกินไปที่จะยกตัวเองเป็นผู้เอกอุในวงการ เพราะธุรกิจโรงแรมยังมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมาก และเป็นการเรียนที่ไม่รู้จบ

 “แต่ถ้าถามว่ารู้ทุกเรื่องของโรงแรมไหม คงต้องตอบว่ารู้ทุกเรื่อง” เขากล่าวต่อ

 “เพราะผมลุยมาตั้งแต่วันแรก วันที่ต้องขับรถออกไปซื้อขนมปังเอง เปิดยูทูบดูวิธีปูเตียงเอง ดูบัญชีเอง ดูการตลาดเอง ดีลออนไลน์เอเจนต์เอง เหมือนเราสู้ตายมาก่อน จนทำให้เห็นทุกแง่มุมของการทำงานด้านบริการอย่างโรงแรม แต่ถามว่ายังมีเรื่องให้เรียนรู้อีกไหม ยังมีอีกเยอะมาก

วรุตน์ กฐินทอง เริ่มจากศูนย์สู่ความยั่งยืน

 ถ้าถามว่าหากย้อนกลับไปวันที่ขอคุณพ่อเปิดโรงแรมได้ ยังอยากทำโรงแรมอยู่ไหม ผมไม่เสียใจเลยที่ทำโรงแรม ซึ่งการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ยังทำให้ผมนำไปปรับใช้กับธุรกิจของครอบครัวได้ และทำให้ผมกล้าที่จะทำธุรกิจอื่นต่อไปด้วย”

 อย่างไรก็ตาม นอกจากธุรกิจโรงแรมแล้ว วรุตม์ยังเป็นเจ้าของธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ และมีโชว์รูมขายรถยนต์ 3 แห่ง เรียกว่าเป็นอีกธุรกิจที่เกิดจากแพสชั่น และเป็นธุรกิจที่ให้ผลประกอบการดี แม้ว่าจะอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยเขาได้แบ่งเวลาบริหารทั้งสองธุรกิจเท่าๆ กัน

 นอกจากนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ยังได้กล่าวเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจครอบครัวและธุรกิจขนาดใหญ่ว่า ธุรกิจครอบครัวมีข้อดีตรงที่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนจึงพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อครอบครัวของตัวเอง แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริหารจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกน้อง ซึ่งทำให้ศักยภาพของเจ้าของธุรกิจไม่ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่

 ทว่าในทางกลับกัน หากนำแนวคิดของธุรกิจครอบครัวไปใส่ในธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ก็จะยิ่งทำให้เป็นองค์กรที่ทุกคนทุ่มเทเพื่อบ้านหลังนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้การบริหารงานแบบมืออาชีพขององค์กร

 “ผมมักจะใช้คำว่า ผมไม่อยากทำธุรกิจให้แชร์โฮลเดอร์ (ผู้ถือหุ้น) มีความสุข แต่ผมอยากทำธุรกิจให้สเตคโฮลเดอร์ (ผู้ถือผลประโยชน์ร่วม) มีความสุข ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรา ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า หรือแม้กระทั่งชุมชนรอบข้าง ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจ ถ้าทำได้ ผมว่าองค์กรนั้นมันจะดีและดีที่สุด คือดีกว่าการทำธุรกิจแบบครอบครัว และการบริหารแบบองค์กรใหญ่ด้วยซ้ำ”

 เมื่อถามต่อว่า ในฐานะ “ผู้บริหาร” ตอนนี้เรียกว่าคุณประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง วรุตม์ตอบแทบจะในทันทีว่า

วรุตน์ กฐินทอง เริ่มจากศูนย์สู่ความยั่งยืน

 “ยัง และยังมีทางให้ไปต่ออีกมาก”

 ดังนั้น จุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จได้ เขาคิดว่าต้องเป็นจุดที่พนักงานทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทอย่างแท้จริง

 “คุณพ่อสอนผมว่า การทำธุรกิจอย่าคิดเรื่องแต่เรื่องตัวเลขอย่างเดียว ขอแค่มีกำไรพอให้ทำต่อได้ อย่าคิดถึงกำไรสูงสุด เพราะคำว่ากำไรสูงสุดมันไม่ยั่งยืน เช่นเดียวกับพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เป็นแบบอย่างในเรื่องของความพอดีและพอเพียง เพราะการเติบโตที่ยั่งยืนต้องพอดีและพอเพียงอย่างที่พระองค์สอนชาวไทยไว้ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกบริบทของชีวิต” เขากล่าวทิ้งท้าย

 ความไฟแรงของผู้บริหารรุ่นใหม่ทำให้ธุรกิจขยายและเติบโตภายในระยะเวลาที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันก็ไม่เร็วเกินไปจนทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 รวมถึงยังยึดจุดยืนเรื่องการเป็นเจ้าของร่วมกันเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ทุกคนในธุรกิจก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน