posttoday

ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์ ไลฟ์สไตล์และหมวกใบเท่

19 ธันวาคม 2560

ในสมัยนั้น เบลอร์ บันโดห์ คือความดังแห่งยุค ใครก็ตามที่ชอบแต่งตัว ไม่มีใครไม่รู้จักเสื้อผ้าและหมวกวินเทจมือสองของที่นี่

 

วันนี้มีนัดกับผู้ชายที่หลงใหลใน 3 สิ่ง เสื้อผ้าฮาวาย ผ้าคราม และหมวก มนุษย์ผู้ชายผู้ได้ปลื้มต่อสรรพสิ่งอันเกี่ยวเนื่องและไม่เกี่ยวเนื่องกันนี้ คงต้องสารภาพว่าสร้างความน่าสนใจถึงขั้นสนเท่ห์ใจแก่ผู้เขียนไม่น้อย ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์ เขาคือผู้แปรความชอบส่วนตัวให้กลายเป็นแบรนด์หมวกสุดเท่ ปาลินี (Palini) ตามไปคุยกับเขากันเลยดีกว่า

ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากความทรงจำวัยเยาว์ ปัณณรุจน์เล่าว่า สมัยเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ทว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะตรงมาตลาดใหญ่กลางกรุง หรือสวนจตุจักร เพื่อรับจ๊อบแบบขอทำฟรีไม่มีค่าจ้าง เป็นพนักงานขายเสื้อผ้าและหมวกวินเทจแห่งยุคที่ร้านเบลอร์ บันโดห์ (Blur Bundoh)

“ในสมัยนั้น เบลอร์ บันโดห์ คือความดังแห่งยุค ใครก็ตามที่ชอบแต่งตัว ไม่มีใครไม่รู้จักเสื้อผ้าและหมวกวินเทจมือสองของที่นี่”

ค่าตอบแทนคือหมวก 1 ใบสำหรับการทำงานใน 1 วัน ปัณณรุจน์เล่าต่อไปว่า คงเพราะชอบแต่งตัวตั้งแต่นั้น หยิบจับสิ่งใดในร้านจึงเป็นความสุขไปเสียทั้งหมด ตกเย็นหมดเวลาทำงาน จะนัดเพื่อนฝูงออกมากินข้าวที่สวนจตุจักร สวมหมวกใบที่ได้รับเป็นค่าจ้างนั้นเองออกไปชิลล์ ภาพติดตาของเพื่อนๆ จึงเป็นภาพปัณณรุจน์กับหมวกแปลกๆ เท่ๆ ที่สวมติดหัวมาไม่ซ้ำ

ปัณณรุจน์จบปริญญาตรีคณะคอมมูนิตี้ อาร์ต ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (อินเตอร์เนชั่นแนล) จากนั้นทำงานเป็นคอลัมนิสต์และสไตลิสต์ที่ชีส ลุคเกอร์ แมกกาซีน (Cheeze Looker Magazine) ทำงานอยู่ที่นี่ 4 ปี ก่อนจะลาออกและเป็นคอลัมนิสต์รวมทั้งสไตลิสต์อีกหลายแห่ง รวมทั้งเคยเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาแฟชั่น ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลด้วย

ในวันที่อิ่มตัวจากการทำงาน ปัณณรุจน์หอบตัวเองไปเที่ยวพักผ่อนที่ชายทะเลหัวหิน ในหัวคือความโล่งว่าง ที่ไม่มีโจทย์ความคาดหวังใดๆ มีแต่ความสุขความสบาย หัวใจเปิดกว้าง เมื่อหนึ่งในเพื่อนรุ่นพี่ที่ไปด้วยกันเอ่ยปากถามทักถึงชีวิตข้างหน้า จึงนำมาซึ่งปฏิกิริยาฟิวชั่นแห่งจักรวาล เพราะอะไรๆ ก็เป็นไปได้หมด

“การทำหมวกใบแรกของผม เริ่มจากพื้นที่ว่างของตัวเอง เริ่มจากพื้นที่ว่างในหัว และเริ่มจากพื้นที่ที่ไม่ได้คิดจะทำอะไร”

เจ้าตัวพูดเล่า แม้เหตุผลเรื่องการอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองออกจะดูเชยๆ เหมือนกับทุกคนที่ไม่ว่าใครๆ ก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ความเชยที่ว่าก็เป็นบันไดที่จะก้าวไปสู่การเป็นตัวของตัวเองและการสร้างความปึกแผ่นแก่ครอบครัวได้ ปัณณรุจน์นึกถึง “คำ” 3 คำที่เขาจะอยู่กับมันได้ชั่วชีวิตว่ามีอะไรบ้าง

คำ 3 คำนั้นคือ คำว่าหมวก คำว่าอโลฮา และคำว่าผ้าครามไทย สามคำแห่งความชอบและความสนุกที่ปัณณรุจน์เชื่อยิ่งกว่าเชื่อว่า เขาจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ยาวนานและตลอดไป นำมาซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคำสามคำที่ว่าอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือการผลิตหมวกที่ตัดเย็บขึ้นด้วยผ้าลายฮาวายผสมกับผ้าครามไทย

“ผลผลิตชิ้นแรกไม่มีชื่อแบรนด์ ก็เพราะยังไม่ได้คิดถึงเรื่องแบรนด์เลยด้วยซ้ำ ปรากฏว่าหมวกแปลกๆ ออกมาได้แปลกตามโจทย์ แถมด้วยความเท่ของสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร” ปัณณรุจน์เล่า

หมวกใบเท่ถูกออกแบบให้ด้านหนึ่งเป็นผ้าฮาวายที่มีลวดลายเป็นทรอปิคอลสไตล์ สื่อความสดใสและความสดชื่นของเขตเส้นศูนย์สูตร ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นผ้าครามไทย โดยหมวกสามารถกลับด้านในกับด้านนอกและใช้ได้ทั้งสองด้าน ซึ่งด้วยลวดลายของผ้าจึงทำให้แต่ละใบออกมาไม่เหมือนและไม่ซ้ำ กลายเป็นความยูนีคเฉพาะตัวเฉพาะตนของผู้สวมใส่

“ด้านหนึ่งเป็นสากล เน้นความสดใสของบรรยากาศเส้นศูนย์สูตร อีกด้านหนึ่งเป็นไทย เน้นผ้าครามไทยที่มีสีสันเป็นเอกลักษณ์”

ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์มิกซ์คัลเจอร์ (Concept Mix Culture) ผสมผสานวัฒนธรรมและศิลปะในที่ต่างๆ การผสมผสานเข้าด้วยกันซึ่งความแข็งแกร่งแบบผู้ชายและความละเอียดอ่อนแบบผู้หญิง ทั้งหมดถ่ายทอดออกมาผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวกทรงบัทเก็ต เสื้อย้อมมะขาม เสื้อย้อมใบขี้เหล็ก นอกจากนี้ยังมีรองเท้าและกระเป๋าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหลากหลาย

 

ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์ ไลฟ์สไตล์และหมวกใบเท่

 

 

ทำไมต้องคอนเซ็ปต์มิกซ์คัลเจอร์ ผ้าครามไทยกับอโลฮามาเจอกันได้ ก็คงเพราะเขาและความชอบในลวดลายที่บอกเล่า ทั้งความแตกต่างที่มีเสน่ห์ โดยส่วนตัวชอบแม้กระทั่งกลิ่นคราม ชอบเรื่องราวที่ครามบอกเล่าผ่านลายของผ้า ส่วนเสื้อผ้าฮาวายเกิดมาชาตินี้ไม่เคยไปฮาวาย แต่ชอบความสดใส สีสันธรรมชาติและความมีชีวิตชีวาของสัตว์ เรื่องฮาวายนี้ยังกลายเป็นอัตลักษณ์ของชายหนุ่มในเวลาต่อมา

“เมื่อเพื่อนหรือใครก็ตามพูดถึงผม จะมี 4 อย่างที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ได้แก่ 1.ตัวเล็ก 2.ใส่แว่นกลม 3.มีหมวก และ 4.ใส่เสื้อฮาวาย” ปัณณรุจน์หัวเราะเมื่อพูดถึงตัวเองในสายตาคนอื่น

แล้วถ้าให้นิยามถึงตัวเองบ้างล่ะ ปัณณรุจน์ตอบทันทีว่า เขามี “พอยต์” ในการใช้ชีวิต มีประเด็นที่จะก้าวต่อ ส่วนนิสัยที่ไม่ดีนั้นมีแน่ อันดับแรกได้แก่นิสัยขี้ลืมเป็นประจำ แก้ไขด้วยการวางแผน กลายเป็นคนชอบวางแผน ที่วางแหลกทั้งแผนชีวิตระยะสั้นระยะกลางและระยะยาว

“ผมทำแผนวันต่อวัน ส่วนใหญ่ทำตอนก่อนนอน ตื่นขึ้นมาก็คว้า “รายการ” ขึ้นดูเลยว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ก็ดูเยอะนะ แต่ลงตัวสำหรับผม วางแผนได้แต่ก็ปล่อยวางได้ หลุดแผนบ้างไม่เป็นไร ปล่อยได้ และแก้ได้ในวันถัดไป” ปัณณรุจน์เล่า

ชื่อแบรนด์ปาลีนี นำมาจากชื่อมารดา ปาลิณีย์ เนติพีระพงศ์ เนื่องจากต้องการสร้างพลังในการทำงาน ปัณณรุจน์เล่าว่า แม่เป็นผู้หญิงที่แต่งตัวเก่งและแต่งตัวเป็น การแต่งตัวของแม่ใช้หลักเรื่องการคุมโทนสี ส่วนใหญ่แต่งสีเอิร์ทโทน ขณะเดียวกันก็ใช้แอกเซสซอรี่อย่างเหมาะเจาะ ไม่เยอะแต่ดูดี

“ถ้าไม่นับเรื่องการแต่งตัวของแม่ แม่ก็เป็นแม่เป็นแม่ที่ดูแลลูกชาย 3 คนมาได้อย่างดี ในช่วงแรกไม่ได้ใช้ชื่อแบรนด์ Palini แต่เปลี่ยนมาแล้วไม่รู้กี่ชื่อต่อกี่ชื่อ เท่าไรๆ ก็ยังไม่เหมาะใจ กระทั่งคิดว่าชื่ออะไรนะที่จะให้แรงบันดาลใจแก่เราได้ตลอดไป ลงตัวที่ชื่อแม่”

ปัณณรุจน์กล่าวว่า เขายังใช้ชื่อแม่เพื่อการผลักดันตัวเอง โจทย์เรื่องการทำธุรกิจเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ทว่าเรื่องใหญ่กว่านั้นคือการได้ดูแลตอบแทนบุพการี สร้างครอบครัวและสร้างฐานะเพื่อสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยเฉพาะแม่และพ่อ ปัณณรุจน์คิดว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องทำให้ดีที่สุด

ปัจจุบันของชายหนุ่ม นอกจากดูแลธุรกิจหมวกใบเท่ ก็ดูแลบิดามารดาซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกัน ทุกวันอาทิตย์มีนัดดื่มชาจีนเคล้าด้วยยูทูบเพลงดังในอดีตชรินทร์ นันทนาคร นักร้องคนโปรดของพ่อ-กิตติทัศน์ เนติพีระพงศ์ คุยเรื่องเดิมๆ แล้วหัวเราะกัน เป็นบ่ายวันอาทิตย์ที่มีความหมายทั้งกับพ่อและลูกชาย

สนใจดูรายละเอียดและรายการสินค้าได้ที่ IG : palini_bangkok