posttoday

ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม จากเด็กหลังห้อง สู่นักเรียนทุนอานันทมหิดล

30 พฤศจิกายน 2560

หากจะหา 3 คำเพื่อนิยามตัวตนของ ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม คงเป็นคำไหนไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “ตั้งใจเรียน ซื่อสัตย์ กตัญญู”


หากจะหา 3 คำเพื่อนิยามตัวตนของ ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม คงเป็นคำไหนไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ “ตั้งใจเรียน ซื่อสัตย์ กตัญญู” เพราะพลังของ 3 คำสั้นๆ แต่ได้ใจความนี้เอง คือแรงขับดันสำคัญที่ทำให้เด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ยอมรับอย่างไม่อายว่า ฐานะทางบ้านยากจนแทบไม่มีเงินเรียน แต่เพราะอาศัยความรักดี รู้คุณค่าของโอกาสที่เข้ามา และตั้งใจทำอย่างสุดความสามารถ ทำให้เขาสามารถพลิกชีวิตจากเด็กที่ผลการเรียนอยู่อันดับท้ายๆ กลายเป็นเด็กหัวแถว กระทั่งได้รับพระราชทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่เนเธอร์แลนด์ แถมเรียนจบยังได้เป็นนักวิจัยถาวรที่นอร์เวย์

ดร.ปัญญา ไม่เคยลืมว่า เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เขาบอกตัวเองเสมอว่า ในฐานะคนไทย ต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อได้รับโอกาสไปศึกษาต่อแล้ว ต้องรู้เสมอว่าความรู้ความสามารถที่ได้มาถือว่าเป็นของประเทศ

"เราอยู่ต่างประเทศอาจจะมีโอกาสมากมายที่เข้ามา แต่ต้องไม่ลืมว่า โอกาสที่เข้ามาได้นั้นมาจากไหน ผมบอกตัวเองเสมอว่า โอกาสที่เข้ามาจะดีเพียงใด แต่ก็เทียบไม่ได้กับการรู้หน้าที่ ต้องนำความรู้ความสามารถที่มีคืนสู่สังคม"

ในขณะที่หน้าที่การงานกำลังรุ่งเรือง อนาคตกำลังสดใส ดร.ปัญญา ตัดสินใจทิ้งทุนวิจัย 36 ล้านบาทที่ได้รับ เพื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย ด้วยหัวใจที่แน่วแน่ว่าจะนำความรู้ และความสามารถที่มีมาถ่ายทอด เพราะเชื่อว่าแม้มีความรู้ความสามารถขนาดไหน ตัวคนเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ จะทำได้ต่อเมื่อทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้เกิดผลแก่คนไทย เกษตรกรของไทย

ปัจจุบัน ดร.ปัญญาได้รับการบรรจุเข้าทำงานในกลุ่มวิจัยและพัฒนา ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกิจกรรมพิเศษ กรมประมง ควบคู่กับการเป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

 

ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม จากเด็กหลังห้อง สู่นักเรียนทุนอานันทมหิดล

 
เส้นทางนี้ไม่ได้หวานหอม

กว่าจะพาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ ชีวิตวัยเรียนของ ดร.ปัญญา ไม่ง่ายเลย นอกจากจะเริ่มต้นจากไม่ใช่เด็กเรียนดีแล้ว ฐานะทางบ้านยังไม่เอื้ออำนวย

“ตอนอยู่ ม.1 ผมจำได้ว่าจะเอาเงินไปจ่ายค่าเทอม ไปดูในกระป๋องเงินของแม่ปรากฏว่ามีเงินอยู่ไม่กี่ร้อย ไม่พอจ่าย ต้องไปหยิบยืมจากคนอื่น นาทีนั้น ผมเริ่มรู้แล้วว่าบ้านเราฐานะยากจนจริง แม่ก็เหนื่อยและลำบากมาก ตั้งแต่วันนั้น ผมบอกตัวเองว่าจะพยายามตั้งใจเรียน เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ผมจะทำเพื่อตอบแทนแม่ได้

ทุกวันหลังเลิกเรียนตอนบ่ายสาม ผมจะรีบไปตลาดบางนา เพื่อไปช่วยแม่หิ้วของที่ซื้อมาเตรียมทำขนมขาย เพราะแม่ผมเคยถูกรถสิบล้อเฉี่ยว จนเอ็นที่มือข้างขวาขาดเกือบหมด กำมือไม่ได้ได้แค่งอ”

หลังจากมารับแม่ที่ตลาด เด็กชายจะช่วยแม่ขูดมะพร้าว เตรียมทำขนมจนถึงสี่ห้าทุ่ม ถึงได้กลับเข้าห้อง เพื่อทำการบ้าน และทบทวนบทเรียนอยู่จนตี 2 ของอีกวัน ถึงเข้านอน และตื่นนอนตอนตี 4 ไปช่วยแม่ตั้งแผงขนมที่ตลาด จากนั้นจึงค่อยไปโรงเรียน

ชีวิตที่ต้องทั้งเรียนและช่วยแม่ทำงาน แม้จะเหนื่อย แต่ผลลัพธ์ก็คุ้ม ผลการเรียนในเทอมถัดมา ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และในปีการศึกษาถัดมา เขาก็สามารถคว้าที่ 1 ของห้องมาครองได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม แม้ผลการเรียนจะดีขึ้น แต่ฐานะทางบ้านยังไม่เอื้ออำนวย แต่ยังโชคดีที่ช่วงมัธยมเขาได้เงินช่วยเหลือค่าเทอมจากผู้ใหญ่ใจดี ที่ได้รับการแนะนำจากนักสังคมสงเคราะห์

“พอเอ็นทรานซ์ ผมสอบติดคณะประมงของ ม.เกษตร ผมเกือบไม่ได้เรียนต่อ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าหน่วยกิต ตอนแรกคิดจะสละสิทธิ ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ค่าหน่วยกิตถูกกว่านี้ แต่อาจารย์ที่โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย แนะนำให้ผมลองไปที่คณะประมง เพื่อไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยตรงๆ ว่าปัญหาของผมคืออะไร ผมก็ไป ตอนแรกที่ไปแจ้งฝ่ายธุรการว่าผมไม่มีเงินเรียน เขาก็งง (ยิ้ม) แต่ก็ยังให้ผมไปพบ รศ.ประไพสิริ สิริกาญจน หลังจากท่านทราบเรื่อง ท่านก็รับปากว่าจะช่วย แต่ขอให้ผมรับปาก 3 เรื่อง 1.ต้องขยัน ตั้งใจเรียน 2.ต้องซื่อสัตย์ และ 3.ต้องกตัญญู

พอผมรับปาก อาจารย์บอกว่าวันรุ่งขึ้นให้มาใหม่ พอผมกลับมาอีกครั้ง ปรากฏว่านอกจากอาจารย์จะให้ผมไปทำเรื่องเพื่อขอทุนเรียนฟรีกับมหาวิทยาลัย ยังเตรียมเครื่องแบบนักศึกษาให้ผมทั้งหมด พร้อมบอกให้ผมไปแนะนำตัวกับเจ๊เล็ก เจ้าของร้านอาหารหมายเลข 5 ที่โรงอาหารเกษตรกลาง 1 ซึ่งใจดีมากให้ผมมากินข้าวที่ร้านได้ฟรีตลอด 4 ปี ตอนนั้นผมขอเจ๊เล็กว่าจะมาช่วยล้างจานเป็นการตอบแทน แต่เจ๊เล็กปฏิเสธ บอกให้ผมแค่ตั้งใจเรียนก็พอ” ดร.ปัญญา ฉายภาพความทรงจำไม่ลืมที่ยังตราตรึงอยู่ในใจ

 

ดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม จากเด็กหลังห้อง สู่นักเรียนทุนอานันทมหิดล

 

ของฟรีไม่มีในโลก

จากวันนั้น ดร.ปัญญาใช้โอกาสที่ได้รับอย่างดีที่สุด เขาไม่เพียงตั้งใจเรียน แต่ยังใช้ความเพียรพยายามเป็นสองเท่าเพื่อให้สมกับโอกาสที่ได้รับ

“ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ผมเข้านอนตอน 6 โมงเย็น และตื่นเที่ยงคืนทุกวัน เพื่อลุกขึ้นมาทบทวนบทเรียนจนเช้า เพราะต้องเข้าใจว่า ผมไม่ใช่เด็กเรียนดี พื้นฐานไม่แน่น เพราะฉะนั้นผมต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจเป็น 2 เท่า จนในที่สุดผมเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ตอนนั้นผมมีเป้าหมายในใจว่าอยากจะเรียนต่อ ผมเคยได้ทุนเรียนต่อ แต่สุดท้ายมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงิน สุดท้ายอาจารย์ที่คณะเลยชักชวนให้ผมมาสมัครทุนอานันทมหิดล”

ด้วยความตั้งใจบวกกับความสามารถที่มี ทำให้ ดร.ปัญญาได้ทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ Wageningen University & Research ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ เกษตรและอาหาร เรียนอยู่นานถึง 6 ปี ดร.ปัญญาก็ไปเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก หรือโพสต์-ด็อกต่อที่นอร์เวย์ เพื่อหวังเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้มากขึ้น และได้เป็นนักวิจัยถาวรในที่สุด

“การไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกไม่ง่ายเลย ช่วงแรกที่ไปก็หนักเอาเรื่อง ผมต้องขยันให้มาก เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ตอนนั้นผมยึดในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแบบอย่างในเรื่องความเพียรพยายาม ความอดทน พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังทุกหนทุกแห่งเพื่อช่วยเหลือพสกนิกร ทรงศึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำความรู้เข้าไปพัฒนาชุมชน” ดร.ปัญญาบอกเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย พร้อมเฉลยถึงเป้าหมายในใจ...

“ผมอยากนำความรู้ที่มีกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ กลับมารับราชการ ถึงค่าตอบแทนที่ได้จะเทียบไม่ได้กับตอนที่ทำงานเป็นนักวิจัยถาวรอยู่ต่างประเทศ ควบคู่กับการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย แต่ผมไม่เสียดาย เพราะนี่คือเส้นทางที่ผมเลือก”