posttoday

ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน

26 พฤศจิกายน 2560

“ก็ยังดีที่เป็นที่ขา ไม่ได้เป็นที่แขน เพราะในความคิดเรา แขนใช้ได้ทำหลายอย่างมากกว่าขา เราเสียขาก็ใส่ขาเทียม หรือไม่ได้เป็นอะไรที่เกี่ยวกับสมอง”

โดย  มัลลิกา นามสง่า ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข /FB : น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก

“ก็ยังดีที่เป็นที่ขา ไม่ได้เป็นที่แขน เพราะในความคิดเรา แขนใช้ได้ทำหลายอย่างมากกว่าขา เราเสียขาก็ใส่ขาเทียม หรือไม่ได้เป็นอะไรที่เกี่ยวกับสมอง”

“ทุกวันนี้รู้สึกว่าเราได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ และได้ทำประโยชน์แก่คนอื่นๆ ถ้าเราไม่มีบทเรียนในวันนั้นเราอาจไม่ได้เป็นวิทยากรพูดให้กำลังใจคนอื่นอย่างที่ทำอยู่”

ชุดความคิดนี้นี่เองที่ทำให้ “น้องธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์” ได้รับสมญานามว่า “น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก”

ย้อนกาลไปเดือน เม.ย. 2554 นักเรียนไทยเกิดอุบัติเหตุรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีอั้งม้อเกี้ยว ประเทศสิงคโปร์ บดขยี้ขา จนทำให้แพทย์ทำการรักษาต้องตัดขาทั้งสองข้าง ตั้งแต่หัวเข่าลงไปทิ้ง กลายเป็นผู้พิการทางขา ในวัยเพียง 14 ปี

“ตอนเกิดเหตุเหมือนมีแรงอะไรดึงเราลงไป จับที่หัวมีเลือดเต็มไปหมด แล้วก็เห็นขาตัวเองพาดบนรางรถไฟ เหมือนท่านั่งพับเพียบ ก็ยกออกมาจากตรงนั้น ตอนนั้นรู้แล้วว่าขาเราน่าจะไม่เหมือนเดิม”

ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน

ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากแผลกายใช้มอร์ฟีนช่วยยับยั้งความเจ็บปวดให้พอทุเลาได้บ้าง ซึ่งใช้อยู่นานหลายเดือน แต่ความบาดเจ็บทางใจถูกเยียวยาด้วยความรักและพลังอันเข้มแข็งจากคนในครอบครัวที่ให้กำลังใจ และชี้ทางที่ถูกที่ควรในการใช้ชีวิตต่อไป เพราะเด็กวัยรุ่น 14 ปี คงไม่สามารถก้าวผ่านความยากลำบากนี่ไปคนเดียวได้

จากอุบัติเหตุเป็นคดีความ ต่อสู้กันยืดเยื้อหลายปี จนเมื่อเดือน ต.ค. 2559 คดีสิ้นสุด แม้ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ จำนวนเงินประมาณ 4 ล้านบาท จะมีนักธุรกิจฮ่องกงเป็นผู้ใจบุญช่วยจ่ายให้ แต่ในส่วนค่าใช้จ่ายในการสู้คดีความเป็นเงินของครอบครัว ซึ่งค่าใช้จ่ายพอๆ กับค่ารักษา

“สู้มา 3 ศาล ชนะแล้ว 2 ศาล จนศาลสุดท้ายตัดสินเสมอไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายกัน ปีหนึ่งบินไปกลับไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง สู้มา 3-4 ปี

เรานั่งฟังอยู่ประมาณ 3 วัน พอวันสุดท้ายที่ตัดสินเราแปลสิ่งที่เขาพูดได้ น้ำตาก็ไหลออกมาเองไม่ใช่ร้องไห้สะอื้น รู้สึกแบบบอกไม่ถูก นี่คือที่ทำมาทั้งหมดมันพัง เหมือนต่อเลโก้เหลืออีกชั้นเดียวจะสำเร็จแต่มันถล่ม

แล้วถูกสภาวะกดดันด้วย เวลาอย่างนั้นอยากอยู่คนเดียวสักพัก รวบรวมสติทำความเข้าใจกับตัวเองหน่อย แต่แย่กว่านั้นกระแสของข่าวเรากลับบูมขึ้นในสิงคโปร์ 3 วัน เจอนักข่าวทุกวัน เราไม่สามารถพูดกับนักข่าวได้ ต้องหนีตลอด 3 วัน นักข่าวมารุมถามความรู้สึก เราไม่พร้อมคุยกับเขา ตอนนั้นอยากกลับบ้านมาก อยากออกไปจากประเทศนี้”

เสีย(แค่)ขา แต่ไม่ได้เสีย(การ)ใช้ชีวิต

ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน

หลังจากรักษาตัวที่ประเทศสิงคโปร์ กลับเมืองไทยน้องธันย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับเป็นคนไข้รักษาตัวที่ศูนย์สิรินธรฯ ทั้งทำกายภาพบำบัด และขาเทียม

ไร้ขาที่ช่วยพาก้าวเดินเป็นเวลา 4 เดือน น้องธันย์ก็ได้ใส่ขาเทียม แต่มันไม่ได้ง่ายเลย เมื่อครั้งแรกที่สัมผัสกันระหว่างขาเทียมกับเนื้อจริงบริเวณต้นขา ทุกการเคลื่อนไหวเพียงนิดก็เกิดการเสียดสีทำให้เกิดแผลถลอก

จนเธอมีคำไว้คอยปลอบตัวเองให้ขำขันว่า “ถ้าผู้หญิงพกเครื่องสำอาง ธันย์พกเบตาดีน แอลกอฮอล์ กับ สำลี”

แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ ความเจ็บไม่ได้ลดลงหรอก เธอไม่ได้ชินชาต่อความเจ็บปวดด้วย หากหัวใจที่เข้มแข็ง และการมองไปยังอนาคตนั่นต่างหาก ทำให้เธอค่อยๆ ฝึกเดินและค่อยๆ ปลดอุปกรณ์ในการช่วยเดินทีละอย่าง จนในที่สุดเหลือแค่ตัวเธอเองและขาใหม่ที่กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งกินระยะเวลานานกว่า 4 ปี

“จำความรู้สึกใส่ขาเทียมวันแรกได้ ตื่นเต้นมาก เพราะตั้งแต่เข้ารับการรักษาไม่เคยเอาอวัยวะที่เราเหลืออยู่ไปสัมผัส ค้ำยันกับอะไร ก็รู้สึกหวิวๆ แปลกๆ ฝึกทุกวัน จนตอนนี้เดินได้คนเดียว แต่ก็มีเดินขึ้นบันไดหรือทางไม่เรียบมีคนช่วยประคอง เพราะยังไงเราก็ไม่ได้กลับมาเดินได้ 100% วีลแชร์ก็ใช้บ้างสลับกันไป เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีแผลเสียดสีจากขาเทียมอยู่บ้าง”

ต้องใช้ชีวิตให้ดีกว่าเดิม

ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน

รอยยิ้มของน้องธันย์เป็นสิ่งที่ผู้คนเห็นอยู่เสมอ ในบางขณะที่หลายคนอาจมีใจประหวัดไปบ้างว่า เธอผ่านเคราะห์ร้ายมาจนสูญเสียขา 2 ข้าง ไม่สามารถใช้ชีวิตเยี่ยงวัยรุ่นคนอื่นๆ ทว่ารอยยิ้มและการใช้ชีวิตของน้องธันย์เป็นคำตอบให้ผู้คนภายนอกที่มองเธอมาว่า สามารถทำทุกอย่างได้ แม้บางอย่างจะไม่เต็มร้อย หากแต่ความพิการไม่ได้เป็นตัวหยุดการใช้ชีวิตแต่อย่างใด

“เราโชคดีที่ตั้งแต่เราตื่นขึ้นที่โรงพยาบาล (หลังจากหลับไปนานหลายวัน) คนรอบข้างไม่ได้ปิดบังความจริง เราไม่มีขาแล้วนะ เราต้องปรับตัว และครอบครัวไม่ได้มองว่าชีวิตเราลำบาก เราก็ใช้ชีวิตตามสภาพที่มี เดินไม่ได้ก็นั่งวีลแชร์ การไม่มีขาไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่ แต่ตอนนั้นเราไม่มีประสบการณ์ในการนั่งวีลแชร์ ไม่เคยมีคนใกล้ชิดไม่มีขา ไม่รู้ว่าปัญหาอนาคตมีมากน้อยแค่ไหน แต่เรามีวิธีคิด เราต้องพัฒนาตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อสอน คือ ทำอะไรให้มีเป้าหมาย ตั้งแต่เรายอมรับความจริงว่าเราไม่มีขาแล้วนะ ก็คิดเลยว่า เราจะยังไงต่อ สิ่งที่คิด คือ จะต้องไม่เป็นภาระของพ่อแม่ ต้องทำอะไรให้ได้มากกว่าตอนที่มีขา อย่างตื่นมาดื่มน้ำให้ได้ 3 แก้ว เดินได้ร้อยก้าว เป้าหมายไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่ง่ายๆ และทำให้มันชัดขึ้นๆ

ได้ออกกำลังกาย ได้วิ่งมาราธอน ได้ว่ายน้ำ ดำน้ำ ตีแบดมินตัน เข้าฟิตเนส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำสานต่อจากกายภาพบำบัด มันช่วยกล้ามเนื้อ ซึ่งกิจกรรมที่เราทำก็ย้อนกลับไปที่เป้าหมาย ไม่เป็นภาระของพ่อแม่

เราใช้ชีวิตปกติเลย สิ่งที่เกิด อุบัติเหตุมันไม่ได้อยู่กับเราทุกวัน เราเกิดวันนี้ผ่านไปคนเขาก็ลืม ไม่มีใครมาจดจำ ถ้าเรายังแย่อยู่กับวันที่เกิดเรื่องร้าย อนาคตเราก็แย่

มันอาจยากแค่จุดเริ่มต้น ถ้าเราจับทางได้ทุกอย่างจะพาเราไปทีละสเต็ป พอโตขึ้นเราก็จะเรียนรู้จากสิ่งที่เราเป็น ไม่ใช่ว่าเราสตาร์ทไม่ดีแล้วชีวิตที่เหลือจะไม่ดี ทุกคนสามารถทำให้มันดีได้ตลอดเวลา หรือเราสตาร์ทช้ากว่าคนอื่นแต่เราก็มีความสุขในสิ่งที่เราทำได้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้มองว่าแย่ ช่วงแรกมันยากอยู่แล้วในการทำใจยอมรับ แต่ตามสถิติร้องไห้น้อยลงทุกวันๆ เราเริ่มเรียนรู้ มีวิธีคิดใหม่ สามารถคอนโทรลตัวเองได้ดีขึ้น เพราะเราพัฒนาตัวเอง ความคิด อารมณ์ น้ำตาจะน้อยลงไปโดยปริยาย”

ผู้สำรวจความสุข

ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อุบัติเหตุไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน

น้องธันย์ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้สำรวจความสุขคนไข้” โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ได้รับเงินเดือน เดือนละ 1 ล้านบาท เป็นกำหนดระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุดเดือน ก.พ. 2561)

หน้าที่รับผิดชอบประจำทุกวัน คือ พูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อสำรวจความสุข สอบถามความพึงพอใจ พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มกำลังใจให้ผู้ป่วย

ต่อจากนั้นช่วงบ่าย นำข้อมูลที่ได้จากผู้ป่วยมาเรียบเรียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊ก ให้คนที่ติดตามได้อ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต หรือดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และอีกภารกิจสำคัญ คือ เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

“พูดคุยจากประสบการณ์ของเรา อย่างตอนเราเป็นคนไข้ เราต้องการกำลังใจ ต้องการคำแนะนำ อยากรู้ว่าใส่ขาเทียมแล้วเป็นยังไง ใช้ชีวิตได้ปกติไหม ตรงนี้เราก็ให้กำลังใจคนไข้ได้ อย่างน้อยๆ เราเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะแต่ละคนผ่านประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน

อาชีพตรงนี้นอกจากเราได้ช่วยคนไข้ เรายังได้รู้จักคอนเนกชั่น มีสังคมที่หลากหลาย โตขึ้น ได้มีโอกาสเป็นวิทยากรตามสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมามีโอกาสเป็นวิทยากร แต่ก็ยังเป็นในกลุ่มเล็กๆ เรารู้สึกว่าเราต้องการช่วยคนให้ได้มากกว่านี้”

ตอนนี้ความตั้งใจของน้องธันย์ก็เป็นรูปร่างอีกหนึ่งโครงการ นั่นคือ “วิ่งให้ทัน” จะจัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. 2561 รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่วมวิ่งเพื่อสร้างคุณค่าแก่คนพิการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล โรงพยาบาลในเครือ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และโรงพยาบาลการุญเวช

เส้นทางวิ่งโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล-สะพานพระราม 4-สะพานข้ามแยกถนนชัยพฤกษ์ ตัดถนนราชพฤกษ์ ระยะทาง 4 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร และ 21 กิโลเมตร เพื่อจัดหารายได้เข้ากองทุนนำไปมอบให้แก่ 3 มูลนิธิเพื่อคนพิการ ได้แก่ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ