posttoday

ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ‘ฟาร์มสุข’ กับการฟังอย่างลึกซึ้ง

21 พฤศจิกายน 2560

ได้ชื่อว่าเป็นผู้มี “ฟาร์มสุข” เพราะทำโครงการชื่อฟาร์มสุข ไอศกรีมเพื่อน้องๆ ด้อยโอกาส

 

ได้ชื่อว่าเป็นผู้มี “ฟาร์มสุข” เพราะทำโครงการชื่อฟาร์มสุข ไอศกรีมเพื่อน้องๆ ด้อยโอกาส ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ เจ้าของโครงการฟาร์มสุข ที่ผลผลิตของฟาร์มคือไอศกรีมรสอร่อยและความสุขที่เปี่ยมล้น จากนักทำโฆษณาผู้เคยมุ่งแสวงหาแต่ความร่ำรวย เปลี่ยนตัวเองสู่การเป็นนักทำกิจกรรมจิตอาสาได้อย่างไร

ชัยฤทธิ์ เล่าว่า ฟาร์มสุขเป็นกิจการเพื่อสังคม ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) จุดเริ่มต้นมาจากจังหวะชีวิตที่ไม่ลงตัวแบบลงตัวของเขาเอง แต่เดิมนั้นชัยฤทธิ์เป็นนักโฆษณา ที่หายใจเข้าออกเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ  และความร่ำรวย

“อยากรวยเพราะอยากเอาชนะแม่ อยากตอกหน้าแม่ว่านี่ไงสิ่งที่แม่ต้องการ โจทย์เดิมในชีวิตผมคือ ความรวยและการต่อต้านแม่ รวมทั้งการไม่รู้จักโตของตัวเอง เพิ่งมาปรับความเข้าใจกันได้ ก็เมื่อมาทำฟาร์มสุขนี่แหละ”

โจทย์เดิมของชีวิตคือเงิน โจทย์ใหม่คือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเงิน ทำโฆษณาถึงจุดหนึ่งคือความเครียด เครียดแล้ววิ่งหาไอศกรีมกิน วิ่งหาความหวานและความเย็นเพื่อดับทุกข์ดับความหงุดหงิด มาวันหนึ่งถูกลูกค้าถามตอกหน้าว่าใช้มือหรือเท้าทำ คราวนี้สิ่งที่ดับทุกข์ในใจ จึงไม่ใช่แค่ไอศกรีม

สิ่งที่ต้องซื้อกินดับเครียดวันนั้น เป็นเครื่องทำไอศกรีมราคา 3 หมื่นบาท หายโกรธแล้วตกใจตัวเอง ประมาณว่าซื้อมาได้ไงเนี่ย กับคิดได้ว่าแม่ต้องต่อว่าแน่ที่ซื้อของราคาแพงแบบนี้ แล้วแม่ก็ตั้งคำถามจริงๆ ตอบแม่ไปว่า เพื่อจะมาทำไอศกรีมแจกเด็ก

กลายเป็นนักแจกไอศกรีมแห่งยุค ในช่วงแรกไปหมดทุกที่ที่มีเด็กให้แจก สถานสงเคราะห์ทุกแห่ง บ้านทุกบ้าน คนแก่ คนพิการซ้ำซ้อน ฯลฯ ผู้ด้อยโอกาสอยู่ตรงไหน ไปตรงนั้น กินอย่างไรแจกอย่างนั้น ไอศกรีมที่แจกเป็นเจลาโตชั้นดี ได้เห็นแววตาเด็กแล้วพูดกับตัวเองว่า นี่เรากำลังมีความสุข

 

ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ‘ฟาร์มสุข’ กับการฟังอย่างลึกซึ้ง

 

ความจับพลัดจับผลูจากการซื้อเครื่องทำไอศกรีมเครื่องแรก นำมาซึ่งการเดินทางบนเส้นทางสายบริจาค จนแพร่หลายไปว่าถ้าใครอยากบริจาคไอศกรีมก็ให้ติดต่อมาที่นี่ ครั้งหนึ่งรายการทีวีมาสัมภาษณ์ เทปออกอากาศในคืนที่หนีน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัด

“ปีน้ำท่วมใหญ่ 2554 ผมหนีไปอยู่ระยอง คืนนั้นคนก็กระหน่ำบริจาค มารู้อีกทีตอนเช้า ไม่รู้ว่าเงินใครเป็นเงินใคร เพราะบัญชีที่บอกออกอากาศไป มีเงินผมติดบัญชีอยู่จำนวนหนึ่งด้วย”

ด้วยความไม่สบายใจว่าเงินโอนมาทำบุญ จึงตัดสินใจทำโครงการอย่างจริงจัง เป็นจังหวะเดียวกับที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ กิจการใหม่เพื่อสังคมด้านสุขภาพ จาก สกส. เงินบริจาค 1 แสน รวมกับทุน สกส.อีก 1 แสน รวมทุนเริ่มต้นฟาร์มสุข 2 แสนบาท

ก่อตั้งฟาร์มสุขไอศกรีมในรูปเอสอี ผลิตไอศกรีมโฮมเมดระดับพรีเมียมเพื่อสุขภาพ มีรสหลากหลาย ทั้งอัลมอนด์ สตรอเบอร์รี่กล้วย รสชาเชียว รสนมสด ช็อกโกแลต คุกกี้แอนด์ครีม สตรอเบอร์รี่ เชอร์เบต ยอดขายปีแรก ไม่อยากจะนับ หากปีถัดๆ มาก็เริ่มดีขึ้น (Facebook.com/farmsookicecream Line id : 08-3137-9705)

แม้ช่วงแรกจะขลุกขลัก แต่เพราะความตั้งใจจริงก็ค่อยๆ ฝ่าด่าน ถึงปัจจุบันก็ยังต้องกัดฟัน อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันนี้ก็ยังอยากจะต่อยอดความช่วยเหลือเด็ก จะมีอะไรไหมที่ทำได้มากกว่านี้ จะมีอะไรไหมที่จะช่วยได้มากกว่านี้ โจทย์ยากขึ้นก็เพราะตัวเราเติบโตขึ้น

“จากการทำงานกับเด็กด้อยโอกาส บางทีผมต้องอึ้งเพราะคิดไม่ออกว่า อีกฝ่ายไปเจออะไรมา เด็กไปเจออะไรมา เขาถึงขนาดนี้ ผมไปเจอคนที่ผมไม่เข้าใจ ผมไปเจอโลกอีกโลก แล้วก็คิดขึ้นมาได้ว่า ที่ผมกำลังทำอยู่นี้ มันช่วยเขาได้น้อยมาก”

ปัญหาสังคมแก้ที่เด็กอย่างเดียวไม่ได้ ต้นตอของปัญหามาจากผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฟังอย่างลึกซึ้ง ชัยฤทธิ์ได้ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ในโครงการวิถีสุขภาวะทางปัญญา กลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงวัย ที่จะใช้การฟังให้เป็นเสมือนเครื่องมือชนิดหนึ่งเพื่อแก้ปัญหา

 

ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ‘ฟาร์มสุข’ กับการฟังอย่างลึกซึ้ง

 

“ฟังแต่ไม่ได้ยิน ก็เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้ฟัง” ชัยฤทธิ์ เล่า

จากการทำงานสังคมเรื่องเด็ก ชัยฤทธิ์ เล่าว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ของผู้ใหญ่ในสังคมนั้นเอง ถ้าผู้ใหญ่ฟังและได้ยินเสียงที่เด็กพูด จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ปัญหาของเด็กในสังคมจะลดน้อยลง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ปัญหาต่างๆ จะถูกทำให้ชัดเจนขึ้น แก้ไขได้มากขึ้นจากการฟัง

“จากแนวทางเรื่องปัญหาเด็ก ก็เริ่มเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่กลุ่มผู้สูงวัย”

การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ การรับรู้ผ่านการฟัง ทั้งเสียงภายในตัวเองและเสียงของคู่สนทนา รวมถึงเสียงของคนรอบข้าง ฟังเพื่อให้สัมผัสถึงความรู้สึก ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังเพื่อการนำไปสู่ความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ทางด้านสังคมและจิตใจ การฟังที่ลึกซึ้งจะช่วยให้ผู้ฟังรับมือกับสภาวะอารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

“ฟังด้วยความเข้าใจ ฟังทั้งเสียงที่ได้ยินและไม่ได้ยิน ผมใช้เครื่องมือนี้กับเด็กแล้วได้ผล ลองไปใช้กับแม่ของตัวเองบ้าง ก็เข้าใจแม่มากขึ้น”

ชัยฤทธิ์เชื่อในการฟัง เชื่อในความรู้สึก ความต้องการและการเห็นคุณค่า องค์ความรู้คือประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการทำงานกับเด็กด้อยโอกาสตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดเขาสร้างกิจกรรมเพื่อส่งต่อพลังแห่งการได้ยิน “ฟังอย่างลึกซึ้ง” หรือ Deep Listening ใช้การฟังในการดูแลความสัมพันธ์


ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ‘ฟาร์มสุข’ กับการฟังอย่างลึกซึ้ง

 

ชัยฤทธิ์ อธิบายการฟังในฐานะที่เป็นเครื่องมือของความสัมพันธ์ ว่า การฟังจะทำให้ได้ยินทั้งระหว่างตัวเราภายในกับภายนอก ได้เชื่อมโยงกับสิ่งรอบข้าง กิจกรรมออกแบบในการใช้การฟังให้สอดคล้องกับการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ผ่านการเรียนรู้แบบปัญญา 3 ฐาน เน้นการปฏิบัติที่ผสมผสานระหว่างดนตรี ศิลปะ การเคลื่อนไหว รวมทั้งการภาวนาเข้าไว้ด้วยกัน

“การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีส่วนร่วม ผ่อนคลาย มีความสุข ครั้งแรกจัดขึ้นที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7-8 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนครั้งถัดไปจะกำหนดขึ้นเร็วๆ นี้”

กลุ่มเป้าหมายคือผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และอาสาสมัครวัยรุ่นหรือวัยทำงาน (18-40 ปี) ที่จะต้องเข้าร่วมอบรมเป็นคู่ สุนทรียสนทนาที่ทั้งสองฝ่ายจะมีความรู้สึกเป็นสมาชิก (Membership) มีพื้นที่ส่วนกลาง (Space) รับฟังร่วมกัน (Interaction) และแบ่งปันประสบการณ์แก่กัน (Shared-experience)

“การฟังที่ลึกซึ้งจะนำไปสู่ความเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น ได้รับความสุขใกล้ตัวจากการมองเห็นและเข้าใจชีวิต สามารถรับมือกับสภาวะอารมณ์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม”

เข้าใจและมองเห็นความสำคัญของการฟัง แท้ที่จริงแล้วคือหลักการใช้สติ คือคุณภาพของการฟัง คือคุณภาพการเล่าเรื่อง คือความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันขณะ ความจริงแท้ที่เปิดเผยความรู้สึกแห่งโลกภายใน ผลลัพธ์ที่หวังได้คือคุณภาพความสัมพันธ์ในทุกมิติ

จุดอ่อนของสังคมไทยคือเราไม่ฟังกัน เราต่างเจอคู่สนทนาที่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราฟังได้ หากต่อไปนี้ลองกำหนดท่าทีใหม่ โดยให้คิดเสียว่า สิ่งที่อีกฝ่ายพูดไม่ได้ตำหนิเรา จึงไม่ต้องออกรับด้วยตัวเรา ลองคิดใหม่ว่าเราจะ “ดูแล” อีกฝ่ายด้วยการฟังในสิ่งที่เขาพูด เราจะดูแลเขาด้วยการหยุดพูด และฟัง

คุณสมบัติคือการเปิดใจของตัวเราเอง เปิดใจให้กว้างเพื่อยอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายประสงค์จะพูด ห้อยแขวนการตัดสินไว้ ห้อยแขวนเงื่อนไขไว้ ขอให้ฟังอย่างไม่ต้องตัดสิน ขอให้ฟังอย่างไม่ต้องสรุป เชื่อไหม...ว่าคุณจะได้ยินสิ่งที่คุณต้องได้ยิน

“มาดูแลสังคมของเรา ด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้งกันดีกว่าครับ”