posttoday

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ กับหนังสือที่เขียนยามอยู่คนเดียว

21 พฤศจิกายน 2560

หนังสือรวม 50 ทวีตจริงที่อ้างอิงจากชีวิต 50 คนรอบตัวของ เบลล์-จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน 

หนังสือรวม 50 ทวีตจริงที่อ้างอิงจากชีวิต 50 คนรอบตัวของ เบลล์-จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ หรือ jirabell ผู้เขียน “เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว” ความเรียงถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยสายตาที่มองชีวิตธรรมดาผ่านมุมที่เห็นว่า ยังมีใครหลายคนที่อยู่คนเดียวเหมือนๆ กัน

เบลล์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของทั้ง 50 ความเรียงว่า ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งเขียนทีเดียว 50 เรื่อง แต่เป็นการรวบรวม 50 ทวีตจากทวิตเตอร์ jirabell ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดในแต่ละช่วงเวลา โดยเขาสารภาพว่า เริ่มใช้ทวีตเพราะคิดว่ามันเป็นบล็อก

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ กับหนังสือที่เขียนยามอยู่คนเดียว

 

“พอเราไปเจออะไรมาที่มันกระทบความรู้สึก เราจะสรุปมันหรือย่อยมันให้อยู่ใน 140 ตัวอักษร (ปัจจุบันสามารถทวิตได้ 280 อักษร) เพราะคิดว่ามันเป็นบล็อกที่ใครอยากอ่านต้องเสิร์ชเข้าไปดู ไม่รู้ว่ามีระบบไทม์ไลน์ที่ข้อความของเราจะไปปรากฏบนหน้าคนที่ตาม ทุกประโยคจึงมีเรื่องราวเบื้องหลังทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากการนั่งนึกว่าประโยคนี้เท่ดีแล้วพิมพ์มันลงไป ซึ่งคนที่เขียนไดอารี่อยู่เสมอๆ คงรู้สึกเหมือนกับเราว่า เวลาเราไปกลับไปอ่านประโยคเหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงประโยคสั้นๆ มีรายละเอียดไม่มากนัก ไม่บอกสถานที่หรืออะไรด้วยซ้ำ แต่เวลาเราอ่านมัน ทุกอย่างมันกลับมาหมดเลย เราจะจำได้ว่าไปเจอเหตุการณ์อะไรที่ไหนเมื่อไร เรารู้สึกในโมเมนต์นั้นได้ว่า เราแฮปปี้หรือเศร้าขนาดไหน มันบันทึกอยู่ในประโยคนั้นได้มากกว่าตัวประโยคเอง”

ทว่าครั้นจะรวมทุกทวีตในตอนนั้นให้กลายเป็นหนังสือก็จะเป็นได้แค่หนังสือรวมคำคม ซึ่งเขาในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการเห็นตรงกันว่าไม่อยากให้เป็นแบบนั้น สุดท้ายจึงเหลือเป็น 50 ทวีตและเบื้องหลังของทวีตที่เลือกมา โดยทั้งหมดมีสิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างคือ เป็นเรื่องราวที่เขาคิดถึงยามอยู่คนเดียว

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ กับหนังสือที่เขียนยามอยู่คนเดียว

 

“เวลาเราทวีต มันจะเกิดขึ้นตอนที่เราอยู่คนเดียวเสมอ ทุกทวีตจึงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว และเราคิดถึง และเราย่อยมันออกมา” เบลล์กล่าวต่อ “ไทม์ไลน์ในหนังสือกำลังเล่าเรื่องราวชีวิตในแต่ละช่วงเวลา โดยหลักในการเลือกอย่างแรกมันต้องทัชเราก่อน เป็นเรื่องที่เรารู้สึกอะไรบางอย่างกับมัน ไม่แฮปปี้มากๆ ตื้นตันมากๆ ก็เศร้ากับมันมากๆ เราต้องรู้สึกกับมันเพื่อที่จะได้เขียนให้สัมผัสใจคนอ่าน ส่วนวิธีเขียนคือจะเขียนยังไงให้คนอ่านรู้สึกร่วมไปด้วย เราจึงไม่ใช้วิธีเล่าที่เป็นส่วนตัวมาก หาจุดร่วมที่ทุกคนจะรู้สึกไปด้วยกัน แม้ว่าเรื่องมันจะส่วนตัวมากๆ ก็ตาม”

เราไม่ได้อยู่คนเดียว คือ หนังสือเล่มแรกในชีวิต ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นหนังสือที่เขียนยากที่สุด เพราะเป็นการเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ว่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอไหม

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ กับหนังสือที่เขียนยามอยู่คนเดียว

 

“ก่อนที่จะมีหนังสือเล่มนี้เราสงสัยตัวเองมาตลอดว่า แม้ปากจะบอกคนอื่นว่า วันหนึ่งเราจะมีหนังสือของตัวเอง เราอยากเขียนเพราะเราชอบอ่านชอบเขียน แต่ลึกๆ เราไม่เคยมั่นใจเลยว่าวันหนึ่งจะมีหนังสือเป็นของตัวเอง แต่แล้วพอมันพิมพ์เสร็จ พอเราเห็นมัน เรารู้สึกมั่นใจแล้วว่า เราเขียนหนังสือได้ มันเป็นเล่มที่สำคัญมากที่ทำให้เราเชื่อว่าเราเขียนหนังสือได้ จึงเกิดเป็นเล่มสอง สาม สี่ ห้า ตามมา หลังจากนั้นพอไปเจออะไร เราจะรู้สึกว่ามันเขียนได้นะ เรามีหนังสือของตัวเองได้นะ หนังสือเล่มแรกจึงทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนมากกว่าชีวิตเปลี่ยนซะอีก” เขากล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันเบลล์เป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์และครีเอทีฟไดเรกเตอร์ที่ เดอะ คลาวด์ (readthecloud.co) รวมถึงมีหนังสือในนาม jirabell อีก 3 เล่ม คือ ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น Lonely Land ดินแดนเดียวดาย และ รักเขาเท่าทะเล 

ขอบคุณสถานที่ One Day