posttoday

เข็มอัปสร สิริสุขะ เธอคือ ‘นางฟ้าแห่งผืนป่า’

18 พฤศจิกายน 2560

เธอเป็นคนเมืองที่ลุกขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำงานช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมในโครงการต่างๆ อย่างจริงจัง

โดย พุสดี สิริวัชระเมตตา

 เธอเป็นคนเมืองที่ลุกขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำงานช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมในโครงการต่างๆ อย่างจริงจัง ได้ออกเดินทางไปเขาหัวโล้น จ.น่าน เพื่อค้นหาความจริงของปัญหาป่ากับเมือง และกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ด้วยสองมือของตัวเอง

 หลายปีมานี้ แฟนๆ ของนักแสดงสาวใจดี “เชอร์รี่” เข็มอัปสร สิริสุขะ เริ่มออกอาการเซ็ง เพราะรอแล้วรอเล่าก็ไม่ได้ชมผลงานการแสดงของนักแสดงสาวหน้าหวานซะที แถมยังไม่ค่อยเห็นเธอปรากฏตัวออกสื่อ

 ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะเชอร์รี่ติสต์แตก หรือเบื่อวงการบันเทิงแต่อย่างใด

 เพียงแต่เธอหันมาทุ่มเทเวลาให้กับทำงานเพื่อสังคมอย่างมุ่งมั่น จนได้รับฉายาว่าเป็น “นางฟ้าแห่งผืนป่า” ไปแล้ว

 “ได้ยินมาบ้างเหมือนกันค่ะ สำหรับฉายานี้ต้องขอบคุณมากจริงๆ แต่ถึงจะเป็นนางฟ้า แต่นางฟ้าคนนี้ไม่มีเวทมนตร์นะคะ เชอร์รี่ยังต้องการอีกหลายแรงสนับสนุนเพื่อสานต่อความตั้งใจของเชอร์รี่ที่อยากฟื้นฟูป่า สร้างระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้งเป็นจริง” นี่คือเสียงสะท้อนจากใจของนักแสดงสาวชื่อดังที่ระยะหลังหายหน้าหายตาไปจากวงการ เพราะกำลังอินกับการสวมบทสาวนักอนุรักษ์ ตะเวนไปปลูกป่า สร้างฝายในพื้นที่ต่างๆ

เข็มอัปสร สิริสุขะ  เธอคือ ‘นางฟ้าแห่งผืนป่า’

 เชอร์รี่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำงานเพื่อสังคมอย่างออกรสว่า เธอมีโอกาสทำงานเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ได้ทำเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ คือ ตอนที่เนปาลเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

 เธอได้รวมตัวกับกลุ่มเพื่อนเข้าไปช่วยเหลือ ซ่อมแซมบ้าน โรงเรียน สร้างโรงทาน พอทำไปสักพัก เมื่อ 2 ปีก่อนก็เริ่มคิดว่าอยากจะกลับมาทำอะไรเพื่อช่วยคนไทยบ้าง เลยเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการ “ลิตเติล ฟอเรสต์ (Little Forest) ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ” ร่วมกับโรจน์-ภูวภวิศ กฤตพลนารา ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง ISSUE และ ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ รองหัวหน้าภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 “เวลาเห็นข่าวเกี่ยวกับการทำลายผืนป่า เชอร์รี่มักจะบ่นกับคนใกล้ตัวเสมอว่า อยากมีส่วนช่วย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเสียที เพราะเอาแต่บอกตัวเองว่าปัญหาป่าไม้เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่คนเล็กๆ อย่างเราจะทำอะไรได้” นักแสดงสาวถ่ายทอดความอัดอั้นในใจก่อนจะพบว่า พลังของคนเล็กๆ ก็ยิ่งใหญ่ได้

 แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2532 ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ถึงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการส่งเสริมให้สร้างฝายชะลอน้ำ โดยให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุ ราคาถูก และหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ช่วยปิดกั้นร่องนํ้ากับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักนํ้าและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยนํ้าที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถ ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นนํ้าลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ 

 เหตุนี้โครงการ “ลิตเติล ฟอเรสต์ จึงขอน้อมนำแนวทางพระราชดำรัสนี้มาใช้งานในด้านการอนุรักษ์ป่าไม้และการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างฝายมาเป็นทิศทางการดำเนินงานตามนโยบายของกลุ่ม คือ ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ เพราะเชื่อว่าปัญหาป่าไม้ ต้องพิจารณาให้ครบทุกมิติ ป่าไม้จะดำรงอยู่ได้ต้องมีคนในพื้นที่คอยดูแลรักษาและอยู่อาศัยร่วมกันอย่างสมดุล การดูแลรักษาป่าต้องใช้ใจ และความร่วมมือจากคนไทยทุกคน

เข็มอัปสร สิริสุขะ  เธอคือ ‘นางฟ้าแห่งผืนป่า’

 “จนพอตอนหลัง เชอร์รี่ได้ลองลุกขึ้นมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ถึงได้รู้ว่าที่ผ่านมาเราคิดผิด เพราะจริงๆ แล้วความช่วยเหลือเล็กๆ จากคนเล็กๆ อย่างเราก็สามารถเป็นพลังได้ ขอแค่เริ่มลงมือทำ ยกตัวอย่างโครงการที่เชอร์รี่ทำอยู่ตอนนี้ เราเริ่มจากศูนย์จริงๆ เราเริ่มจากคนที่ไม่รู้ อาศัยศึกษาข้อมูลสอบถามผู้รู้ ช่วงแรกๆ เชอร์รี่ไปขอลงพื้นที่กับกลุ่มแม่ฟ้าหลวงเพื่อศึกษาปัญหาในพื้นที่ต่างๆ และแนวทางการแก้ปัญหา”

 แม้หลงรักบทบาท "นักอนุรักษ์" เข้าอย่างจัง นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้พักหลังๆ หน้าของเธอไม่ค่อยปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์เหมือนอย่างเคย ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ว่า "ยังไม่มีบทที่เหมาะสม" เพราะบทบาทที่เหมาะสมในสายตาเธอ กลายเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ผ่านการพูด การปลูกป่า

 ถึงใจจะมาเต็มร้อย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว นางเอกคนสวย ยอมรับว่าไม่ง่ายเลย มีอุปสรรคและปัญหาเข้ามาท้าทายและให้แก้ไขทุกขั้นตอน

 “เชอร์รี่ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่บางครั้งก็เหนื่อยและท้อกับสิ่งที่ทำ แต่เชอร์รี่ไม่เคยคิดที่จะถอย เพราะเชื่อว่าทุกงานย่อมมีปัญหาให้แก้ไข”

 เชอร์รี่ บอกเล่าถึงภารกิจของคนเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ พร้อมเผยว่ายิ่งได้มีโอกาสศึกษาพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยิ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณได้รู้ว่าพระองค์ท่านทรงเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน เพราะพระองค์ต้องทรงแก้ปัญหาหลายด้านๆ ในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นปัญหาของมดงานตัวเล็กๆ อย่างเธอ จึงถือเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก

เข็มอัปสร สิริสุขะ  เธอคือ ‘นางฟ้าแห่งผืนป่า’

 “เชอร์รี่ไม่เคยตั้งเป้าว่า ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ต้องปลูกป่าได้กี่ต้น สร้างฝายได้กี่แห่ง แต่เชอร์รี่มองไปไกลกว่านั้น คิดว่าทำอย่างไรเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ขยายผลต่อไป แทนที่จะโฟกัสแต่จะเข้าสร้างฝาย ปลูกป่า เชอร์รี่มองว่าโจทย์ที่ใหญ่กว่านั้น คือเราต้องเข้าไปแก้ปัญหาปากท้องให้พวกเขา ถ้าพวกเขาท้องอิ่มก็จะหยุดทำลายป่า แถมยังพร้อมจะเข้ามามีส่วนร่วมกับเราและในที่สุดจะเกิดความรู้สึกหวงแหนเป็นเจ้าของ”

 ภารกิจดูแลธรรมชาติของเธอเริ่มต้นขึ้นหลังจากจบทริป “คนยืนได้ ไม้ยืนต้น” เมื่อต้นปีก่อนจากที่ได้มีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ใน จ.น่าน เพื่อตรวจสอบและหาทางแก้ปัญหาเขาหัวโล้น จึงได้เห็นรูปแบบโครงการที่สมเด็จย่าทรงเคยใช้แก้ปัญหาอย่างยั้งยืน ว่าต้องแก้ที่ “คน” เสียก่อน นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ที่จุดประกายความคิดในการช่วยกันอนุรักษ์ป่า

 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการปลูกป่า โดยการเชิญชวนทั้งบุคคลและบริษัทเป็นผู้อุปถัมภ์ป่าในปี 2559 ปลูกป่าไปแล้วจำนวน 200 ไร่ ในสวนป่าวังชิ้น จ.แพร่ และได้นำนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาลงพื้นที่ทั้งการปลูกป่าและศึกษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ จ.แพร่ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมปลูกใจให้คนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาป่าไม้และแหล่งน้ำ

 รวมทั้งมีการส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยปรับปรุงคุณภาพผ้าทอตีนจก และการแก้ปัญหาผลผลิตส้มเขียวหวานตกต่ำ ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเรื่องส้ม ช่วยวิเคราะห์และรวมกลุ่มชาวสวนส้มในการนำร่องแก้ปัญหา และสุดท้ายก็พบว่ารากเหง้าของปัญหาทั้งหมดมาจากการขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงสวนส้มอย่างสม่ำเสมอ

 ทุกวันนี้ แม้ผลของงานที่ออกมาจะมาไกลเกินกว่าที่คาดหวัง แต่เป้าหมายที่เธอตั้งใจนั้นยังอีกยาวไกล ปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อภาคการเกษตร ซึ่งมีแค่สองมือมนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟูรักษาธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน  

เข็มอัปสร สิริสุขะ  เธอคือ ‘นางฟ้าแห่งผืนป่า’

 “แต่ก่อนความสุขของเชอร์รี่เวลาลงพื้นที่คือ ภูมิใจที่ได้เห็นผลงานที่ทำสำเร็จ แต่ตอนนี้ความสุขของเชอร์รี่เปลี่ยนไป เราสุขใจที่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น และคนอื่นๆ เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ แต่เชอร์รี่จะไม่กดดันตัวเองเกินไป เพราะอยากช่วยสังคมแบบมีความสุข บางครั้ง ถ้าทำแล้วไม่ถึงเป้าก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง

 ตอนที่เชอร์รี่มาลุยงานปลูกป่าใหม่ๆ เพื่อนๆ ชอบแซวว่า อยู่สบายๆ ไม่ชอบมาลำบาก สิ่งที่เชอร์รี่อยากบอกคือ ไม่ใช่เลย เราไม่ได้ตั้งใจมาลำบาก แต่เรากำลังทำบางอย่างให้คนที่ลำบากมากว่าเรา บางครั้งจะให้อธิบายก็บอกไม่ถูกต้องลงมาทำงานในพื้นที่เองถึงจะเข้าใจ” นักแสดงสาวจิตอาสากล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มหวาน