posttoday

คงพล ชีพจำรูญ ‘ชีวิตผมเหมือนอาหารที่ครบรส’

17 พฤศจิกายน 2560

คงพล ชีพจำรูญ เริ่มต้นฝันจะเป็นเชฟจากเด็กผู้ชายที่ทำอาหารไม่เป็น แต่เป็นสายกิน ชอบคิดสร้างสรรค์เมนูแปลกใหม่ๆ


เห็นหน้าตายังวัยรุ่นแบบนี้ แต่ถ้าคุยถึงเรื่องราวประสบการณ์ในชีวิต ต้องบอกว่าโชกโชน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่รู้เท่าไร กว่าจะได้เดินตามเส้นที่ฝัน นอกจากแพสชั่นที่มีต่ออาชีพเชฟอย่างล้นเปี่ยม ต้องขอบคุณหัวใจนักสู้ที่พาให้เบียร์-คงพล ชีพจำรูญ มายืนอยู่ในจุดที่พอใจ และพร้อมจะก้าวต่อไปในโลกกว้าง

เชฟเบียร์ สารภาพตามตรงว่า เริ่มต้นฝันจะเป็นเชฟจากเด็กผู้ชายที่ทำอาหารไม่เป็น แต่เป็นสายกิน ชอบคิดสร้างสรรค์เมนูแปลกใหม่ๆ 

“ผมมักจะขอให้คุณแม่ทำเมนูแปลกๆ ตามที่ผมคิดขึ้นมา ถึงจะทำให้คุณแม่ปวดหัวหรือเจอบ่นบ้าง แต่ท่านก็ทำให้นะครับ” เบียร์ บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเล่าต่ออย่างออกรสว่า

“ตอนที่ผมตัดสินใจจะเอาดีด้านอาหารที่บ้านคัดค้านครับ เพราะมองว่าเป็นอาชีพของผู้หญิงและผมเองนอกจากชอบกินก็ไม่ได้มีพื้นฐานด้านอาหาร หั่นผักยังไม่เป็น ช่วงนั้นก็มีเขวๆ บ้าง เบนเข็มไปเรียนนิเทศ เพราะชอบด้านศิลปะ ออกแบบ แต่โชคดีที่คุณน้าผมเชียร์ให้ไปในสายที่ชอบจริงๆ คุณน้าบอกว่าสายอาหารจบมาก็กว้าง ไปทำงานตามโรงแรมได้ สุดท้ายผมเลือกเรียนคณะวิชาคหกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้”

เชฟหนุ่มยอมรับว่า ภาพที่คิดกับสิ่งที่เป็นต่างกันไม่น้อย เดิมทีเขาคิดว่า เรียนแค่ไม่นานก็น่าจะมีความรู้ติดตัวพอทำอาหารได้ แต่ปรากฏว่า ช่วงปีแรกๆ ของการเรียนเน้นการปูพื้นฐานเป็นหลัก กว่าจะเข้าสู่การทำอาหารได้แบบจริงจังก็ช่วงชั้นปีที่ 3

คงพล ชีพจำรูญ ‘ชีวิตผมเหมือนอาหารที่ครบรส’

 

 

“ภาควิชาที่ผมเรียนเน้นไปด้านกึ่งๆ นักโภชนาการด้วย ไม่ได้เน้นทำอาหารอย่างเดียว ผมได้เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานการหั่นผัก ล้างผัก โขลกน้ำพริก ช่วงแรกๆ ที่เรียนก็มีท้อนะครับ คิดว่าตัวเองมาผิดทางหรือเปล่า แต่พอเรียนไป ถึงเริ่มเข้าใจว่า ถ้าพื้นฐานเราแน่น ก็ไปต่อได้ โชคดีว่าตั้งแต่เรียน ปวส. ผมทำงานพิเศษมาตลอด ส่วนใหญ่ก็ทำตามร้านขนม โรงแรม พอมาเรียนสายตรง ก็เลยยิ่งเห็นภาพ ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ผมไปทำงานพาร์ตไทม์ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์”

ประสบการณ์ในการทำงานจริง สอนให้เชฟเบียร์ได้เรียนรู้ทางลัดว่า การทำงานในห้องครัวจริงๆ เป็นอย่างไร นอกจากทุกอย่างต้องเป๊ะยังต้องทำงานแข่งกับเวลา มีปัจจัยหลายอย่างให้ต้องคำนึง แม้ประสบการณ์นอกห้องเรียนจะไม่ได้หอมหวาน แต่เบียร์ยอมรับว่าเสียงดุ และเสียงตำหนิ ทำให้ได้เรียนรู้ ที่สำคัญยังเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้หลังเรียนจบ เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับเครือโรงแรมชื่อดังแห่งนี้ในฐานะกอมมีส์ เชฟ หรือผู้ช่วยเชฟ (Commis Chef) ทว่าหลังจากทำงานได้ 1 ปี เชฟเบียร์ตัดสินใจลาออกเพื่อเติบโตย้ายไปเป็นเชฟ เดอ ปาร์ตี้ หรือเชฟประจำสเตชั่นอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง (Chef de Partie) รับผิดชอบอาหารไทย ที่โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ

“ผมเรียนมาทางด้านอาหารนานาชาติ เพราะไม่ชอบกินอาหารรสเผ็ด แต่พอได้ทำงานที่นี่ต้องมารับผิดชอบอาหารไทย ข้อดีคือผมได้เรียนรู้เทคนิคหลายอย่าง เช่น การผัดข้าวผัดไม่ให้ข้าวแตก เรียนรู้วิธีการทำอาหารไทยที่ไม่เคยคิดว่าจะทำมาก่อน แต่ด้วยหลายๆ เหตุผล สุดท้ายผมอยู่ได้ 1 ปี ก็ตัดสินใจย้ายไปทำงานที่แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ คราวนี้ลดตำแหน่งลงมาเป็นกอมมีส์ เชฟเหมือนเดิม”

 

 

คงพล ชีพจำรูญ ‘ชีวิตผมเหมือนอาหารที่ครบรส’

 

 

หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไม? ย้ายงานทั้งทีถึงลดตำแหน่งตัวเองลง งานนี้เชฟหนุ่มมีคำตอบแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน “ผมคิดว่าตัวเองอาจจะยังมีความสามารถไม่พอกับการเป็นเชฟ เดอ ปาร์ตี้ ผมเลยเลือกกลับมาเรียนรู้ และฝึกฝนตัวเองจากเชฟเก่งก่อนๆ”

บทเรียนล้ำค่าที่เชฟเบียร์ได้รับจากการทำงานที่นี่คือ เทคนิคการทำอาหารแบบยุโรป หลังจากเรียนรู้อยู่ 1 ปี ครั้งนี้เชฟเบียร์ก้าวไปสู่การเป็นเชฟ เดอ ปาร์ตี้ อีกครั้งที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา ขณะที่กำลังสนุกกับงาน ราวกับฟ้าเล่นตลก เมื่อทำงานไปได้เพียง 4 เดือน ก็ต้องลาออกกะทันหัน เพื่อกลับมากรุงเทพฯ เนื่องจากมีปัญหาทางบ้าน

“ผมลาออกมาทั้งที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ ต้องทำงานพิเศษไปพร้อมกับหางาน จนในที่สุดได้รับโอกาสมาเป็นเชฟ เดอ ปาร์ตี้ ที่คัปปาเดลี (Kuppadeli) ซึ่งเป็นโอกาสที่ท้าทายอีกครั้ง เพราะถึงผมจะชอบกินพิซซ่า แต่ไม่เคยทำมาก่อน มาที่นี่ได้ไปเรียนทำพิซซ่ากับซูส์เชฟ (Sous Chef) ชาวฝรั่งเศส 2 วัน ก็ต้องทำงานจริง ตอนแรกผมประจำอยู่สาขาอโศก ทำได้ครึ่งวันก็ถูกเรียกตัวให้มาทำที่สาขาสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเป็นครัวเปิดต้องทำพิซซ่าโชว์ให้ลูกค้าดู แรกๆ ก็เขินครับ แต่ตอนนี้เริ่มชิน”

ถึงชีวิตจะล้มลุกคลุกคลานได้รับทั้งโอกาสเจอทั้งอุปสรรคมาไม่น้อย แต่เชฟเบียร์ยังยืนยันว่ามาถูกทาง เขาค้นพบแล้วว่า เชฟคืออาชีพที่รัก ทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มและความสุขของลูกค้าคือรางวัลจากการทำงาน จากนี้ความฝันของเขาไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องมีร้านอาหารของตัวเอง ขอแค่ได้มีโอกาสเรียนรู้ หาประสบการณ์ในโลกของอาหารไปเรื่อยๆ ก็มีความสุขแล้ว